ไดโนพรอสโทน (Dinoprostone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 เมษายน 2561
- Tweet
- บทนำ
- ไดโนพรอสโทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไดโนพรอสโทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไดโนพรอสโทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไดโนพรอสโทนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- ไดโนพรอสโทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไดโนพรอสโทนอย่างไร?
- ไดโนพรอสโทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไดโนพรอสโทนอย่างไร?
- ไดโนพรอสโทนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- การคลอด การคลอดบุตร (Childbirth)
- คลอดบุตรยาก (Fetal dystocia)
- การชักนำให้เจ็บครรภ์คลอด(Labor induction)
บทนำ
ยาไดโนพรอสโทน(Dinoprostone) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ โพรสตาแกลนดิน อีทู (Protaglandin E2 ย่อว่า PGE2) ถูกนำมาใช้เป็นยากระตุ้นการคลอด/เร่งคลอด นักวิทยาศาสตร์ได้นำยานี้มาใช้ทางคลินิกครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1977(พ.ศ.2520) ยาไดโนพรอสโทนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ยาเหน็บช่องคลอด/สอดช่องคลอด ยาเจลสำหรับใส่ช่องคลอด ยาเม็ดรับประทาน และยาฉีด
ข้อมูลสำคัญที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบเกี่ยวกับยาไดโนพรอสโทน มีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้ยาไดโนพรอสโทน เมื่อทราบว่ามีประวัติหรือเคยมีอาการแพ้ยาชนิดนี้/ยานี้
- ห้ามใช้ขณะที่มีรอยโรคของโรคเริมบริเวณช่องคลอด
- ห้ามใช้เมื่อพบว่าถุงน้ำคร่ำแตก/น้ำเดิน(Water has broken)
- ห้ามใช้เมื่อตรวจพบว่ามารดามีภาวะรกเกาะต่ำ(Placanta previa)
- ห้ามใช้เมื่อเด็กในครรภ์ไม่ได้อยู่ในท่ากลับหัวมาทางปากมดลูก
- ห้ามใช้กับสตรีที่เคยผ่านการผ่าท้องคลอดบุตร
- ห้ามใช้กับสตรีที่มีภาวะคลอดบุตรยาก
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มี โรคตับ โรคไต โรคต้อหิน โรคหืด
- ระหว่างที่มารดาได้รับยานี้จะมีอาการปวดมดลูก เพราะเกิดการบีบตัวของมดลูกและมีเลือดหลั่งออกมาทางช่องคลอด อาจพบอาการ ปวดท้อง เจ็บหน้าอก กรณีนี้สูตินารีแพทย์จะเป็นผู้ดูแลอาการได้อย่างเหมาะสมและเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย
- ห้ามใช้ร่วมกับยาOxtocinในเวลาเดียวกัน
- ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์/มีครรภ์ที่มีเลือดไหลซึมออกจากช่องคลอดโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ
- ห้ามใช้กับผู้ที่ไม่เชื่อมั่นในวิธีการใช้ยาสอดช่องคลอดเพื่อเร่งการคลอดบุตร
- ห้ามใช้กับมารดาที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป หรือมีอายุครรภ์มากกว่า40 สัปดาห์ ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดกระจายตัวในหลอดเลือดหลังการคลอด
- ห้ามใช้กับผู้ที่ผ่านการคลอดบุตรมาแล้วตั้งแต่ 6 ครั้งขึ้นไป
การใช้ยาไดโนพรอสโทน มีใช้แต่ในสถานพยาบาลที่มีเครื่องมือทางการแพทย์ครบครัน และต้องอาศัยแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางเป็นผู้ทำคลอดเท่านั้น
องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาไดโนพรอสโทนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลต่างๆควรมีสำรองไว้ให้บริการแก่ประชาชน สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้กำหนดให้ตัวยาไดโนพรอสโทนเป็นยาควบคุมพิเศษที่สั่งจ่ายโดยแพทย์แต่เพียงผู้เดียว
ไดโนพรอสโทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไดโนพรอสโทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ใช้เป็นยากระตุ้นการคลอด(ยาชักนำให้เกิดการคลอด/ยาเร่งคลอด) และมีใช้แต่ในสถานพยาบาล
ไดโนพรอสโทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
สารไดโนพรอสโทนเป็นสารชีวภาพเหมือนฮอร์โมนที่ร่างกายมนุษย์สังเคราะห์ขึ้นได้เอง แต่ก็มีอายุเพียงสั้นๆ กล่าวคือ สารไดโนพรอสโทนจะถูกปลดปล่อย/หลั่งออกมาจากตัวทารกและรกของมารดาเพื่อกระตุ้นให้มดลูกมีการบีบตัว ขณะเดียวกันจะทำให้ปากมดลูกคลายตัว สำหรับมารดาที่มีกลไกตามธรรมชาติดังกล่าวบกพร่อง เมื่อแพทย์พิจารณาและเห็นสมควรให้ใช้ตัวยาไดโนพรอสโทนซึ่งมีกลไกเลียนแบบสารไดโนพรอสโทนตามธรรมชาติที่ร่างกายมนุษย์สังเคราะห์ขึ้น ทำให้การคลอดบุตรเป็นไปได้ง่ายสะดวกและเป็นที่มาของสรรพคุณ
ไดโนพรอสโทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไดโนพรอสโทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาสอดช่องคลอด ที่ประกอบด้วย Dinoprostone ขนาด 10 และ 20 มิลลิกรัม
- ยาสอดช่องคลอดแบบออกฤทธิ์นาน ที่ประกอบด้วย Dinoprostone 10 มิลลิกรัม
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Dinoprostone ขนาด 0.5 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเจลสำหรับใส่ช่องคลอด ที่ประกอบด้วย Dinoprostone ขนาด 0.5, 1, 2 และ 5 มิลลิกรัม
ไดโนพรอสโทนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไดโนพรอสโทนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับกระตุ้นให้คลอด เช่น
- ผู้ใหญ่: สอดยาขนาด 10 มิลลิกรัมเข้าช่องคลอด อัตราการปลดปล่อยตัวยาอยู่ที่ 0.3 มิลลิกรัม/ชั่วโมง ให้นำยาออกเมื่อมารดามีความรู้สึกได้ว่ากำลังจะคลอดบุตร หรือทิ้งไว้เป็นเวลา 12 ชั่วโมง แล้วจึงนำยาออกจากช่องคลอด
- เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกในการใช้ยานี้กับเด็ก
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไดโนพรอสโทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไดโนพรอสโทนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ไดโนพรอสโทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไดโนพรอสโทนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
ก. ผลต่อทารกในครรภ์: เช่น หัวใจของทารกเต้นผิดปกติ มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของทารก
ข. ผลต่อมารดา: เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า ใบหน้าแดง เจ็บแน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ข้ออักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ วิงเวียน ตัวสั่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย : เช่น เกิดภาวะสูญเสียน้ำของร่างกาย/ภาวะขาดน้ำ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจภาวะลิ่มเลือดกระจายในหลอดเลือด เม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น หายใจขัด ไอ คอหอยอักเสบ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจมีผื่นคัน
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า ปวดตา
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น มดลูกถูกกระตุ้นจึงบีบตัวอย่างรุนแรง รู้สึกอุ่น-ร้อนภายในช่องคลอด
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น เกิดภาวะเครียด
มีข้อควรระวังการใช้ไดโนพรอสโทนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไดโนพรอสโทน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ระหว่างที่ได้รับยาไดโนพรอสโทน แพทย์ พยาบาล จะเฝ้าระวังสัญญาณชีพต่างๆของมารดา เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต อาการของระบบทางเดิน อาหาร ระบบทางเดินหายใจ กรณีมารดาที่เตรียมคลอดรู้สึกผิดปกติ ไม่ว่าจะเกิดจาก ระบบอวัยวะใดๆของร่างกาย สามารถแจ้งบุคลากรทางการแพทย์ได้ทันที เช่น รู้สึกใจสั่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ปวดท้อง เจ็บท้อง หรือรู้สึกว่าตนเองกำลังจะคลอดบุตรแล้ว
- ผู้ป่วย/มารดาควรเรียนรู้ถึงผลข้างเคียงต่างๆที่อาจเกิดขึ้นขณะที่ได้รับยาไดโนพรอสโทนจาก แพทย์ พยาบาล เพื่อทำความเข้าใจและเฝ้าระวังอันตรายที่อาจเกิดจากผลข้างเคียงนั้นๆได้อย่างรวดเร็ว
- ระหว่างที่ใช้ยาไดโนพรอสโทนต้องระวังภาวะลิ่มเลือดกระจายในหลอดเลือด ซึ่งมักจะเกิดกับสตรีที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือที่มีอายุครรภ์มากกว่า 40 สัปดาห์
- หลังการใช้ยานี้และผ่านการคลอดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไดโนพรอสโทนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไดโนพรอสโทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไดโนพรอสโทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาไดโนพรอสโทนร่วมกับยา Carbetocin (ยาทำให้มดลูกบีบตัว) ด้วยจะทำให้เกิดการบีบตัวของมดลูกอย่างรุนแรง(Oxytocic effect)
- ห้ามใช้ยาไดโนพรอสโทนร่วมกับ ยาMisoprostol เพราะจะทำให้เกิดอาการเป็นตะคริวอย่างรุนแรง หรือมีภาวะเลือดออกจากช่องคลอดตามมา
- ห้ามใช้ยาไดโนพรอสโทนพร้อมกับ ยาOxytocin เพราะจะเป็นเหตุให้มดลูกแตก กรณีที่แพทย์สั่งจ่ายยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน จะต้องมีการปรับขนาดและระยะเวลาของการใช้ยา ทั้ง 2 ชนิดอย่างเหมาะสม
- ห้ามใช้ยาไดโนพรอสโทนร่วมกับยา Ergonovine และ Methylergonovine เพราะจะทำให้เกิดภาวะเป็นตะคริวอย่างรุนแรง และเกิดภาวะเลือดออกง่าย
ควรเก็บรักษาไดโนพรอสโทนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาไดโนพรอสโทนดังนี้ เช่น
- ยาสอดช่องคลอด ให้เก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ -20 ถึง -10 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ยาเจล ให้เก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส
- ยาเม็ดแบบรับประทาน ให้เก็บในตู้เย็นอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส
- ยาทุกรูปแบบ: ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาไดโนพรอสโทนในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไดโนพรอสโทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไดโนพรอสโทน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cervidil (เซอร์วิดิล) | Ferring Pharmaceuticals |
Prepidil (เพรพิดิล) | Pharmacia & Upjohn Inc |
Prostin E2 (พรอสติน อีทู) | Pfizer |
Primigyn (พริมิกิน) | Brassica Pharmaceuticals |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/mtm/dinoprostone-topical.html [2018,March31]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/dinoprostone/?type=brief&mtype=generic [2018,March31]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00917 [2018,March31]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Prostaglandin_E2 [2018,March31]
- https://www.drugs.com/dosage/dinoprostone-topical.html [2018,March31]
- https://www.drugs.com/ppa/dinoprostone.html [2018,March31]
- https://www.rxlist.com/cervidil-drug.htm#overdosage_contraindications [2018,March31]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/dinoprostone-topical-index.html?filter=3&generic_only= [2018,March31]
- https://www.google.co.th/search?q=DINOPROSTONE+10mg+in+241mg+imag&tbm=isch&tbo=u&source=univ&sa=X&ved=0ahUKEwiQyubH3rvZAhUCmZQKHWI5B74QsAQIJw&biw=1920&bih=949#imgdii=ES-vA3QRuG5zUM:&imgrc=eoundYTpIVd5QM: [2018,March31]