ไดเอทิลโพรพิออน (Diethylpropion)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 21 กุมภาพันธ์ 2560
- Tweet
- บทนำ
- ไดเอทิลโพรพิออนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไดเอทิลโพรพิออนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไดเอทิลโพรพิออนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไดเอทิลโพรพิออนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไดเอทิลโพรพิออนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไดเอทิลโพรพิออนอย่างไร?
- ไดเอทิลโพรพิออนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไดเอทิลโพรพิออนอย่างไร?
- ไดเอทิลโพรพิออนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาลดความอ้วน (Diet pill or Weight loss drug)
- ลมพิษ (Urticaria)
- ยากระตุ้นประสาทส่วนกลาง (CNS stimulants)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
- โรคลิ้นหัวใจ (Valvular heart disease)
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
บทนำ
ยาไดเอทิลโพรพิออน(Diethylpropion หรือ Diethylpropion hydrochloride)หรืออาจเรียกว่า แอมฟีพราโมน (Amfepramone) ถูกใช้เป็นยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วนในรูปแบบยารับประทาน ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ การออกฤทธิ์ของตัวยานี้จะเป็นลักษณะกดการทำงานของศูนย์หิวในสมอง ทำให้ผู้ที่ได้รับยานี้ไม่รู้สึกอยากอาหารเป็นเวลาชั่วคราว
ข้อห้ามใช้ยาไดเอทิลโพรพิออนบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบมีดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ร่วมกับยาลดน้ำหนักชนิดอื่นๆ ยาลดความดันโลหิต อย่างเช่นยา Guanethidine, Guanadrel, หรือยาบำบัดอาการท้องเสีย อย่างเช่น Furazolidone
- ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs เช่น Phenelzine ด้วยจะทำให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มขึ้น หรือถ้ามีควาจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน การใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มควรเว้นระยะห่างของการใช้ยา 14 วันเป็นอย่างต่ำ
- ห้ามใช้ยาไดเอทิลโพรพิออนกับผู้ที่มีโรคประจำตัวต่อไปนี้ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคสมอง โรคไขสันหลัง โรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ โรคความดันโลหิตในปอดสูง โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคต้อหิน รวมถึงผู้ที่มีประวัติการติดยา
- สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก/ผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปีลงมาจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาลดน้ำหนักด้วยจะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
ด้วยยาไดเอทิลโพรพิออนมีการออกฤทธิ์คล้ายกับยา Amphetamine ทางคลินิกจึงแนะนำให้ใช้ยาไดเอทิลโพรพิออนนี้เพียงระยะสั้นๆเท่านั้นเพราการใช้ยานี้เป็นเวลานานต่อเนื่อง จะทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และอาจเกิดการเสพติดยานี้ตามมา
ขนาดรับประทานของยาไดเอทิลโพรพิออนยังแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ ยาประเภทที่ออกฤทธิ์ทันทีซึ่งต้องรับประทานยาประเภทนี้วันละ 3 ครั้ง ส่วนยานี้ประเภทที่ออกฤทธิ์ได้นานสามารถรับประทานเพียงวันละ1ครั้งก็เพียงพอ
การรักษาโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักตัวเกินโดยใช้ยาไดเอทิลโพรพิออนนั้น แพทย์มักจะใช้เป็นยาเดี่ยว และหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาลดน้ำหนักชนิดอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)นั่นเอง
ทั่วไป การรับประทานยาไดเอทิลโพรพิออนภายใน 4 สัปดาห์แรก ก็จะเริ่มเห็นประสิทธิผลโดยทำให้น้ำหนักตัวลดลง กรณีที่รับประทานยานี้ต่อเนื่องไปสักระยะหนึ่งตามคำสั่งแพทย์แล้ว ปรากฏว่าประสิทธิผลของการลดน้ำหนักเริ่มไม่ได้ผล ห้ามผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานเพิ่มด้วยตนเอง ซึ่งแพทย์จะสั่งหยุดการใช้ยานี้เพราะการเพิ่มขนาดรับประทานจะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยมากกว่าประโยชน์จากการลดน้ำหนัก
ผู้ที่ได้รับยาลดน้ำหนักชนิดใดๆก็ตามที่รวมถึงยาไดเอทิลโพรพิออน จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยอื่นเข้ามาร่วมในการรักษาด้วย เช่น การออกกำลังกาย การจำกัดปริมาณอาหารอย่างเหมาะสมตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ รวมถึงการพักผ่อนนอนหลับที่เพียงพอ ซึ่งจะช่วยทำให้ร่างกายไม่ทรุดโทรมจนเกินไป
นอกจากนี้ แพทย์ผู้รักษาจะคอยตรวจสอบระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย อย่างเช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบการเผาผลาญอาหาร การทำงานของไต เพื่อให้เป็นปกติตลอดเวลา หากพบอาการผิดปกติของระบบอวัยวะต่างๆภายในร่างกายดังกล่าว แพทย์ จะรีบดำเนินการแก้ไข บำบัดรักษาโดยเร็ว
ตามกฎหมายไทย ได้ระบุให้ยาไดเอทิลโพรพิออนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 2 การซื้อและจัดจำหน่ายยานี้ ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้รับมอบหมายเท่านั้น
ไดเอทิลโพรพิออนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไดเอทิลโพรพิออนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ ใช้เป็นยาลดน้ำหนัก/ยาลดความอ้วน ที่มีฤทธิ์เป็นยากระตุ้นประสาทส่วนกลาง
ไดเอทิลโพรพิออนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไดเอทิลโพรพิออน มีกลไกการออกฤทธิ์เป็นยากระตุ้นประสาทส่วนกลาง คล้ายกับยา Amphetamine โดยตัวยาจะส่งผลให้สมองมีการหลั่งสารสื่อประสาทประเภท Catecholamine รวมถึง Dopamine และ Norepinephrine การมีสาร Catecholamine เป็นปริมาณมาก จะทำให้กดการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมความอยากรับประทานอาหารหรือเรียกง่ายๆว่า “ศูนย์หิว(Hunger center)” จากกลไกนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ที่รับประทานยาไดเอทิลโพรพิออน มีอาการเบื่ออาหาร และรับประทานอาหารได้น้อยลง ร่างกายจึงทำการชดเชย โดยดึงไขมันที่สะสมตามส่วนต่างๆของร่างกายออกมาเผาผลาญและเปลี่ยนเป็นพลังงานในการดำรงชีวิต ผลที่ตามมาคือทำให้น้ำหนักตัวลดลง
ไดเอทิลโพรพิออนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไดเอทิลโพรพิออนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ออกฤทธิ์ทันที ที่มีส่วนประกอบของ Diethylpropion HCl/Hydrochloride ขนาด 25 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์นาน ที่มีส่วนประกอบของ Diethylpropion HCl ขนาด 75 มิลลิกรัม/เม็ด
ไดเอทิลโพรพิออนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไดเอทิลโพรพิออน มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่/ผู้มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป: รับประทานยาชนิดออกฤทธ์ทันที ครั้งละ 25 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือรับประทานยาชนิดออกฤทธิ์นานครั้งละ 75 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ในช่วงเช้า
- เด็กและผู้มีอายุต่ำกว่า 16 ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาลดน้ำหนักชนิดอื่น
- ระยะเวลาการรับประทานยานี้ ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์โดยเคร่งครัด
- กรณีที่ร่างกายเริ่มดื้อยานี้ หรือฤทธิ์การลดน้ำหนักของตัวยานี้เริ่มใช้ไม่ได้ผล แพทย์จะไม่ปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นแต่จะหยุดการใช้ยานี้แทน
- การใช้ยานี้ต้องกระทำควบคู่ไปกับ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนที่เหมาะสม ตัวยาจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการลดน้ำหนัก
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไดเอทิลโพรพิออน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคลมชัก รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไดเอทิลโพรพิออน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไดเอทิลโพรพิออน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า
*แต่การลืมรับประทานยานี้ อาจก่อให้เกิดอาการถอนยาตามมา
ไดเอทิลโพรพิออนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไดเอทิลโพรพิออน สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดการทำงานของไขกระดูก เกิดภาวะ Agranulocytosis (เม็ดเลือดขาวชนิดGranulocyteต่ำ) และ Leukopenia(ปริมาณเม็ดเลือดขาวโดยรวมต่ำ)
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาเจียน ท้องเสีย รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง ปากแห้ง การรับรสชาติเปลี่ยนไป คลื่นไส้ ท้องผูก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น กล้ามเนื้อกระตุก หงุดหงิด กระวนกระวาย วิงเวียน ง่วงซึม ปวดศีรษะ
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น โรคลิ้นหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ค่า ECG ผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ชีพจรเต้นผิดปกติ
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น สมรรถนะทางเพศลดลง เต้านมโตในผู้ชาย ปวด ประจำเดือนในผู้หญิง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ ผมร่วง เหงื่อออกมาก
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะมาก
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า รูม่านตาขยาย
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ เคลิบเคลิ้ม ง่วงซึม
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ความดันโลหิตของปอดสูงขึ้น หยุดหายใจ
มีข้อควรระวังการใช้ไดเอทิลโพรพิออนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไดเอทิลโพรพิออน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ผู้ป่วยต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่มีประวัติติดยา ผู้ป่วยด้วยความดันโลหิตในปอดสูง ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงขั้นรุนแรง ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ ผู้ป่วยด้วยอาการทางจิต/ผู้ป่วยทางจิตเวช
- ห้ามใช้ร่วมกับยาลดน้ำหนักชนิดอื่น
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และ กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปี
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาแปลี่ยน เม็ดยาแตกหัก
- การใช้ยานี้เป็นเวลานานเกินไป อาจก่อให้เกิดการเสพติด และส่งผลให้มีอาการ ถอนยาตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้นานกว่า 3 เดือน และควรใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด
- เมื่อใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก ต้องระวังการเกิดภาวะลมชักตามมา
- ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไดเอทิลโพรพิออนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
ไดเอทิลโพรพิออนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไดเอทิลโพรพิออนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไดเอทิลโพรพิออนร่วมกับยากลุ่ม MAOIs, Beta-blockers, TCA, อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- ห้ามรับประทานยาไดเอทิลโพรพิออนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้ หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตผิดปกติคืออาจสูงหรือต่ำก็ได้
- ห้ามใช้ยาไดเอทิลโพรพิออนร่วมกับยา Phenylpropanolamine ด้วยจะทำให้มีอาการหายใจขัด/หายใจลำบาก เจ็บแน่นหน้าอก วิงเวียน และเป็นลมตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไดเอทิลโพรพิออนร่วมกับยา Tramadol ด้วยจะทำให้เกิดภาวะลมชักได้ง่าย หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาไดเอทิลโพรพิออนอย่างไร?
ควรเก็บยาไดเอทิลโพรพิออน ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
ไดเอทิลโพรพิออนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไดเอทิลโพรพิออน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Tenuate (เทนูเอท) | Aventis |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/cdi/diethylpropion.html [2017,Feb4]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/amfepramone/?type=brief&mtype=generic [2017,Feb4]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/regenon%20retard/ [2017,Feb4]
- http://www.pha.nu.ac.th/practice/dis1/extend/Psychotropic%20drugs.html [2017,Feb4]
- http://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1060 [2017,Feb4]
- https://top100dietpills.com/regenon-review/ [2017,Feb4]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00937 [2017,Feb4]