ไดเอทิลอีเทอร์ (Diethyl ether)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 21 มีนาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- ไดเอทิลอีเทอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- ไดเอทิลอีเทอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไดเอทิลอีเทอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไดเอทิลอีเทอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- ไดเอทิลอีเทอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไดเอทิลอีเทอร์อย่างไร?
- ไดเอทิลอีเทอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไดเอทิลอีเทอร์อย่างไร?
- ไดเอทิลอีเทอร์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยากดประสาทส่วนกลาง (CNS depressants)
- ไข้สูงอย่างร้าย (Malignant Hyperthermia)
- ภาวะหายใจล้มเหลว (Respiratory failure)
- เวียนศีรษะ (Dizziness)
- ความดันโลหิตต่ำ (Hypotension)
บทนำ
ยาไดเอทิลอีเทอร์(Diethyl ether หรือทั่วไปเรียกว่า Ether) เป็นสารประกอบอินทรีย์ประเภทหนึ่ง มีสูตรโมเลกุลคือ (C2H5)2O ลักษณะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี มีจุดเดือดต่ำ ไวไฟมาก ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ยาไดเอทิลอีเทอร์ถูกใช้เป็นยาสลบสำหรับการผ่าตัดโดยเข้ามาแทนที่ยาคลอโรฟอร์ม (Chloroform) ซึ่งถูกใช้เป็นยาสลบรุ่นดั้งเดิม ทางคลินิกพบว่ายาไดเอทิลอีเทอร์มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเหนือกว่ายาคลอโรฟอร์ม ครั้งหนึ่งยาไดเอทิลอีเทอร์ได้ถูกนำมาผสมกับแอลกอฮอล์ และได้สูตรตำรับที่รู้จักกันว่า “Spirit of ether หรือ Hoffman’s Anodyne หรือ Hoffman’s Drops” โดยนำมาใช้ดื่มจนเกิดเป็นการเสพติดขึ้น
ยาไดเอทิลอีเทอร์ยังมีฤทธิ์กดการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงส่งผลกระทบต่อการทำงานของ ตับ และไต และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ยาสลบกลุ่มIsoflurane และ Sevoflurane เข้ามามีบทบาทในการดมยาสลบที่ได้รับความนิยมมากกว่า
สำหรับข้อห้ามใช้และข้อควรระวังยาสลบประเภทไดเอทิลอีเทอร์ที่ควรทราบ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาไดเอทิลอีเทอร์กับผู้ป่วย โรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีแรงดันของน้ำไขสันหลังเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
- ระวัง/หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะมีไข้ ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยที่ได้ยาประเภท Atropine รวมถึงผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชัก
- ผู้ที่ได้รับยาไดเอทิลอีเทอร์อาจมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้หลายประการ เช่น มีน้ำลายไหล หลอดลมมีสารคัดหลั่งมากขึ้น เกิดความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลของ แพทย์ พยาบาล ขณะที่ใช้ยาไดเอทิลอีเทอร์จะได้รับการดูแลและเยียวยาอาการข้างเคียงต่างๆได้ทันท่วงที
- เนื่องจากสารประกอบไดเอทิลอีเทอร์เป็นสารไวไฟ จึงต้องหลีกเลี่ยงการเกิด ประกายไฟต่างๆระหว่างที่ใช้สารประกอบชนิดนี้ภายในห้องผ่าตัด
- การใช้ยาไดเอทิลอีเทอร์ปริมาณที่เหมาะสม จะต้องใช้ผ่านเครื่องพ่นยาโดยมีการคำนวณอัตราการให้ยานี้ต่อหน่วยเวลาอย่างแม่นยำ พร้อมกับการให้ออกซิเจนกับผู้ป่วยควบคู่กันไป
- *การได้รับยาไดเอทิลอีเทอร์เกินขนาดจะทำให้มีอาการกดการทำงานของสมอง การหายใจล้มเหลว อาจเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น การช่วยเหลือโดยแพทย์ต้องทำการให้ออกซิเจนโดยทันที
- การใช้ยาไดเอทิลอีเทอร์กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ต้องให้แพทย์เป็นผู้ตัดสินใจ โดยทางคลินิกได้ระบุห้ามใช้ไดเอทิลอีเทอร์เกิน 4% สำหรับสตรีมีครรภ์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่จะเกิดต่อทารกในครรภ์ เช่น กดการหายใจของทารกในครรภ์
- หลังได้รับยาไดเอทิลอีเทอร์ ห้ามมิให้ผู้ป่วยดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยยาไดเอทิลอีเทอร์จะทำให้เกิดการชะลอการทำลายแอลกอฮอล์ของร่างกาย รวมถึง*ยาบางประเภทที่ห้ามใช้ร่วมกับยาไดเอทิลอีเทอร์ ด้วยทำให้ตับทำลายยานั้นๆดังกล่าวได้น้อยลงจนอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยานั้นๆได้ เช่นยา Diazepam
ปัจจุบัน เราอาจพบเห็นการใช้ยาไดเอทิลอีเทอร์เป็นตัวทำละลายในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ เป็นส่วนประกอบในเชื้อเพลิงที่ผลิตโดยกลุ่มอุตสาหกรรมด้านพลังงาน
อนึ่ง การจัดเก็บไดเอทิลอีเทอร์ซึ่งเป็นสารไวไฟ เป็นประเด็นสำคัญอีกประการที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยเรื่องการจัดเก็บวัตถุอันตราย นอกจากนี้บุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับการฝึกฝนการใช้ยาไดเอทิลอีเทอร์ได้อย่างปลอดภัยและสามารถใช้เครื่องป้องกันที่เหมาะสมทุกครั้งที่ต้องทำงานกับสารประกอบชนิดนี้
ไดเอทิลอีเทอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาไดเอทิลอีเทอร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อใช้เป็นยาสลบสำหรับหัตถการการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยหมดสติและลดความรู้สึกเจ็บปวดขณะทำการผ่าตัด
ไดเอทิลอีเทอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไดเอทิลอีเทอร์เป็นสารประกอบที่ละลายน้ำได้ จึงสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งเมื่เลือดมีการลำเลียงยาไดเอทิลอีเทอร์ไปยังระบบประสาทส่วนกลาง จะเกิดภาวะกดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ส่งผลให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึกและหมดสติ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อของร่างกายผ่อนคลายลง ด้วยกลไกเหล่านี้ ทำให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึกเจ็บปวดและเป็นที่มาของสรรพคุณ
ไดเอทิลอีเทอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไดเอทิลอีเทอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายโดยรูปแบบเภสัชภัณฑ์จะเป็นสารประกอบชนิดสูดพ่นโดยผ่านเครื่องพ่นยาสลบ มีขนาดบรรจุ Diethyl ether ปริมาตร 946 มิลลิลิตร/ขวด
ไดเอทิลอีเทอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาไดเอทิลอีเทอร์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
- ผู้ใหญ่: นำไดเอทิลอีเทอร์ใส่เครื่องสูดพ่นยาสลบ (Vaporizer) โดยคำนวณความเข้มข้นการส่งผ่านไดเอทิลอีเทอร์ให้ผู้ป่วยไม่เกิน 15% กรณีใช้เพื่อเพียงสลบและไม่จำเป็นต้องทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ให้ใช้การส่งผ่านยาไดเอทิลอีเทอร์ที่ความเข้มข้น 3–5% สำหรับความเข้มข้นที่ 10% จะถูกใช้เพื่อทำให้ผู้ป่วยสลบในระดับลึก
- เด็ก: ไม่ควรใช้ยานี้ในเด็ก
อนึ่ง:
- ผู้ปฏิบัติการกับยาไดเอทิลอีเทอร์ต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยต่างๆ เช่น ถุงมือ แว่นป้องกันสารเคมี หน้ากากป้องกันรวมถึงชุดคลุมที่เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงมิให้ยาไดเอทิลอีเทอร์สัมผัสผิวหนังโดยตรง อวัยวะที่สัมผัสยาไดเอทิลอีเทอร์นานๆ อาจเกิดการตายของเนื้อเยื่อบริเวณนั้นได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาอีเทอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาอีเทอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
ยาไดเอทิลอีเทอร์เป็นยาสลบที่ใช้ในห้องผ่าตัด การใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ซึ่งมีบันทึกยืนยันเป็นหลักฐานชัดเจน ดังนั้นโอกาสที่จะลืมให้ยากับผู้ป่วยจึงเป็นไปได้น้อยมาก
ไดเอทิลอีเทอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไดเอทิลอีเทอร์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น น้ำลายมากขึ้น กล่องเสียงหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการชัก
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจหยุดเต้น
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ
- ผลต่อไต: เช่น ไตทำงานผิดปกติ
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ไข้สูงอย่างร้าย (Malignant Hyperthermia) น้ำตาลในเลือดสูง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีสารคัดหลั่งมากในหลอดลม การหายใจล้มเหลว
มีข้อควรระวังการใช้ไดเอทิลอีเทอร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไดเอทิลอีเทอร์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาไดเอทิลอีเทอร์กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีความดันของน้ำไขสันหลังเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ยาไดเอทิลอีเทอร์จะทำให้อาการป่วยดังกล่าวรุนแรงมากขึ้น
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สี และกลิ่นยาเปลี่ยนไป
- การใช้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ต้องเป็น ไปตามคำสั่งแพทย์
- หากพบความผิดปกติหลังการได้รับยานี้ให้รีบแจ้ง แพทย์ พยาบาล โดยเร็ว
- สวมชุดป้องกันการสัมผัสยาไดเอทิลอีเทอร์ตามมาตรฐานความปลอดภัย เช่น แว่นกันสารเคมี หน้ากาก ถุงมือ หมวกคลุมผม ชุดเสื้อผ้าที่ปกคลุมผิวหนัง ของร่างกายระหว่างใช้ยานี้
- ระหว่างทำงานเกี่ยวกับการใช้ยาไดเอทิลอีเทอร์ ต้องระวังป้องกันการเกิดประกายไฟในขณะปฏิบัติการด้วยสารประกอบชนิดนี้ไวไฟมาก
- ผู้ป่วยที่ได้รับการดมยาสลบ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมว่าสมควรพักดูอาการที่สถานพยาบาลหรืออนุญาตให้กลับบ้านได้เลยหลังหัตการผ่าตัด
- หลังได้รับยาไดเอทิลอีเทอร์ ต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาลอย่างเคร่งครัด
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไดเอทิลอีเทอร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไดเอทิลอีเทอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไดเอทิลอีเทอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบหลังได้รับยาไดเอทิลอีเทอร์ ด้วยร่างกายจะกำจัดแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดได้ช้าลง ทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน ได้มากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไดเอทิลอีเทอร์ร่วมกับยากลุ่ม ACE inhibitors, MAOIs, TCAs, ยาลดความดันโลหิต, ยาบำบัดโรคจิต/ยารักษาทางจิตเวช, ยากลุ่มBeta-blockers, รวมถึงยาที่มีฤทธิ์เป็นยากดระบบประสาทส่วนกลาง/สมอง, ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
- ห้ามใช้ยาไดเอทิลอีเทอร์ร่วมกับยากลุ่ม Sympathomimetics ด้วยอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
ควรเก็บรักษาไดเอทิลอีเทอร์อย่างไร?
ควรจัดเก็บยาไดเอทิลอีเทอร์ในสถานที่ที่มีอุณหภูมิเย็น อากาศไหลเวียนได้สะดวก เก็บยาในภาชนะเดิมที่บรรจุยา ภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ไดเอทิลอีเทอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาอีเทอร์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ETHER ANAESTHETIC (อีเทอร์ อะนาสเทติก) | J.T Baker |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Diethyl_ether [2017,March4]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/diethyl%20ether/?type=brief&mtype=generic [2017,March4]
- http://apps.who.int/medicinedocs/en/d/Jh2929e/4.3.html [2017,March4]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18175089 [2017,March4]
- http://www.bddrugs.com/product5.php?idn=505 [2017,March4]