ไดจอกซิน (Digoxin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 พฤศจิกายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาไดจอกซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาไดจอกซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไดจอกซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไดจอกซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไดจอกซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาไดจอกซินอย่างไร?
- ยาไดจอกซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาไดจอกซินอย่างไร?
- ยาไดจอกซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- หัวใจ: กายวิภาคหัวใจ (Heart anatomy) / สรีรวิทยาของหัวใจ (Heart physiology)
- ยาโรคหัวใจ หรือ ยารักษาโรคหัวใจ (Cardiac Medications)
- ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic drugs)
- ยาคาร์ดิแอกไกลโคไซด์ (Cardiac glycoside)
บทนำ
ยาไดจอกซิน (Digoxin) เป็นยาในกลุ่ม Cardiac Glycoside (กลุ่มยาที่เกี่ยวข้องกับการหดบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ) ถูกค้นพบครั้งแรกในศตวรรษที่ 18 โดย Willium Withering นำมา ใช้รักษาโรคหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Artrial Fibrillation) ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure) โดยหลังจากที่ได้รับยานี้เข้าสู่ร่างกาย ยานี้ส่วนหนึ่งจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ และระดับยาในกระแสเลือดจะถูกกำจัดออกประมาณ 50% ภายในเวลา 36 – 48 ชั่วโมง แต่ถ้าผู้ป่วยมีภาวะไตทำงานผิดปกติ อาจต้องใช้เวลาถึง 3.5 – 5 วัน
ยาไดจอกซิน จัดเป็นยาอันตราย การใช้ยาouhต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ยาไดจอกซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาไดจอกซิน เช่น
- รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
- รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
ยาไดจอกซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไดจอกซิน มีกลไกการออกฤทธิ์โดยจะไปเพิ่มแรงบีบตัวให้กับกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้ เพิ่มปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจ และทำให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง
ยาไดจอกซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไดจอกซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- จัดจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ด ขนาด 62.5 และ 250 ไมโครกรัม/เม็ด
- จัดจำหน่ายในรูปแบบยาน้ำ ขนาด 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
- จัดจำหน่ายในรูปแบบยาฉีด ขนาด 250 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
ยาไดจอกซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดรับประทานของยาไดจอกซิน เช่น
ก. กรณีที่ต้องการเพิ่มระดับยาไดจอกซินในกระแสเลือดอย่างรวดเร็ว (Rapid Digitalization): เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ที่อายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป: รับประทาน 0.75 – 1.5 มิลลิกรัมครั้งเดียว
- เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี: ขนาดรับประทานขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
- ผู้สูงอายุและผู้ที่มีความเสี่ยงต่อพิษ (ผลข้างเคียง) ของไดจอกซิน: รับประทานเริ่มต้น 0.5 – 0.75 มิลลิกรัม
ข. กรณีที่ต้องการเพิ่มระดับยานี้ในกระแสเลือดอย่างช้าๆ (Slow Digitalization): เช่น รับประทาน 0.25 – 0.75 มิลลิกรัม วันละครั้งเป็นเวลา 1 สัปดาห์
ค. สำหรับการคงระดับยาในกระแสเลือด: ให้รับประทาน 0.25 – 0.5 มิลลิกรัม/วัน
อนึ่ง:
- ยาไดจอกซินสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- การปรับขนาดรวมถึงระยะเวลาของการรับประทานยานี้ ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับการรับประทานหรือหยุดยานี้ด้วยตนเอง
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไดจอกซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไดจอกซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียง
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไดจอกซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาไดจอกซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
การใช้ยาไดจอกซิน อาจพบผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียง) เช่น
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ท้องเสีย
- อ่อนเพลีย
- ผื่นคัน
- การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน หรือเห็นภาพเป็นสีเหลือง
- เต้านมโตขึ้น
- มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (เลือดออกได้ง่าย)
- หัวใจเต้นช้า
มีข้อควรระวังการใช้ยาไดจอกซินอย่างไร?
ข้อควรระวังการใช้ยาไดจอกซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะของหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว (เต้นเบาและเต็นเร็วมาก )
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ป่วยเป็นโรคผนังหัวใจหนา
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดปกติ ชนิดที่เรียกว่า Wolff-Parkinson-White Atrial Fibrillation
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ใน ภาวะหัวใจหยุดเต้น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเฉียบพลัน ผู้ที่มี สภาวะตับ และ/หรือ ไต ทำงานผิดปกติ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไดจอกซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด ) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาไดจอกซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไดจอกซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ เช่น
- ยาบางตัวหากใช้ร่วมกับยาไดจอกซิน จะทำให้ระดับของยาไดจอกซินในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนอาจส่งผลให้ร่างกายได้รับพิษจากยาไดจอกซินมากขึ้น ยากลุ่มที่กล่าวถึง เช่นยา Quinidine, Verapamil, Spironolactone, Nifedipine
- ยาบางกลุ่มหากใช้ร่วมกับยาไดจอกซิน จะทำให้การดูดซึมของยาไดจอกซินลดลง อาจทำให้ประสิทธิผลของยาไดจอกซินด้อยประสิทธิภาพลง ยากลุ่มดังกล่าว เช่น ยาลดกรด, Aminoglycosides, Chlolestyramine, Colestipol, Kaolin-Pectin, Metoclopramide , Sulfasalazine
- การใช้ยาไดจอกซินร่วมกับยาบางกลุ่ม สามารถทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และมีความเสี่ยงต่อการได้รับพิษของยาไดจอกซินเพิ่มขึ้น ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา Aminoglycosides, Amphoteracin B, Carbenicillin, และ Corticosteroids
ควรเก็บรักษายาไดจอกซินอย่างไร?
สามารถเก็บยาไดจอกซิน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- บรรจุยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด
- เก็บยาในที่ที่พ้นแสง/แสงแดด หลีกเลี่ยงความร้อน และความชื้น และ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาไดจอกซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไดจอกซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cardial (คาร์ดิออล) | T. Man Pharma |
Grexin (เกรกซิน) | Pharmasant Lab |
Lanoxin (ลาน็อกซิน) | Aspen Pharmacare |
Toloxin (โทล็อกซิน) | T.O. Chemicals |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Digoxin [2020,Nov14]
- http://www.thaiheart.org/images/column_1354322775/Thai_AF_Guideline_2012.pdf [2020,Nov14]
- https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fdigoxin%3fmtype%3dgeneric [2020,Nov14]
- https://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fToloxin%2f%3fq%3ddigoxin%26type%3dbrief [2020,Nov14]
- https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682301.html#storage-conditions [2020,Nov14]