ไดคลอร์เฟนาไมด์ (Dichlorphenamide/Diclofenamide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 21 กุมภาพันธ์ 2564
- Tweet
- บทนำ: คือ ยาอะไร?
- ไดคลอร์เฟนาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- ไดคลอร์เฟนาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไดคลอร์เฟนาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไดคลอร์เฟนาไมด์มีขนาดรับประทานยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไดคลอร์เฟนาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไดคลอร์เฟนาไมด์อย่างไร?
- ไดคลอร์เฟนาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไดคลอร์เฟนาไมด์อย่างไร?
- ไดคลอร์เฟนาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ต้อหิน (Glaucoma)
- ต้อหินเฉียบพลัน (Acute glaucoma)
- ต้อหินเรื้อรัง (Chronic glaucoma)
- โรคตา โรคทางตา (Eye disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา (Anatomy and physiology of the eye)
- การตรวจตา การตรวจสุขภาพตา (Eye examination)
- ความดันตาสูง(Ocular hypertension)
บทนำ: คือ ยาอะไร?
ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ (Dichlorphenamide/Diclofenamide) คือ ยาในกลุ่ม Carbonic anhydrase inhibitor, ประโยชน์ทางการแพทย์ได้นำยานี้มารักษาโรคต้อหิน (Glaucoma) ด้วยกลไกลดการผลิตของเหลว/สารน้ำในลูกตาจนส่งผลให้ความดันลูกตาลดลง สำหรับ บางประเทศได้นำยานี้ไปใช้รักษาอาการป่วยของสัตว์ รูปแบบของยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ของ ยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน
อนึ่ง การจะใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น และผู้ป่วยต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
ไดคลอร์เฟนาไมด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาไดคลอร์เฟนาไมด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาโรคต้อหิน (Open-angle glaucoma)
- รักษาโรค/อาการความดันลูกตาสูง
ไดคลอร์เฟนาไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไดคลอร์เฟนาไมด์คือ ตัวยาจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์คาร์บอนิก แอนไฮเดรส (Carbonic anhydrogenase, เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางเคมีระ หว่างคาร์บอนไดออกไซด์/carbon dioxide และน้ำ) ด้วยกลไกทางเคมีที่ติดตามมา จึงทำให้การ สร้างของเหลว/สารน้ำที่ไหลเวียนในลูกตาลดลงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
ไดคลอร์เฟนาไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50 มิลลิกรัม/วัน
ไดคลอร์เฟนาไมด์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 100 - 200 มิลลิกรัมเช้า - เย็น โดยขนาดยาที่ใช้คงระดับการรักษารับประทาน 25 - 50 มิลลิกรัมวันละ2 - 3ครั้ง ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษา
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้กับเด็กไม่ได้จัดทำขึ้นด้วยยังขาดข้อมูลทางการแพทย์มาสนับสนุน
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไดคลอร์เฟนาไมด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไดคลอร์เฟนาไมด์อาจส่งผลให้ อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไดคลอร์เฟนาไมด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ไดคลอร์เฟนาไมด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไดคลอร์เฟนาไมด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย
- การรับรสของลิ้นเปลี่ยนไป
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- อ่อนแรง
- อ่อนเพลีย
- อาจมีภาวะตัวสั่น
- ปวดหัว
- สับสน
- แพ้แสงแดดได้ง่าย
- อาจทำให้อาการของผู้ป่วยโรคเกาต์ กำเริบได้ง่าย
- ได้ยินเสียงก้องในหู
- ตาพร่า
*****อนึ่ง: สำหรับอาการผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด จะพบอาการ ง่วงนอน, เบื่ออาหาร, วิงเวียน, มึนงง, ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้- อาเจียน, ที่ค่อยๆมากขึ้น และหากมีอาการแพ้ยาสามารถพบอาการอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก, ใบหน้า - ปาก – ลิ้นมีอาการบวม, อาจเจ็บคอและมีไข้ร่วมด้วย, หรืออาจพบอาการเลือดออกง่าย, มื้อเท้าสั่น, และมีผื่นคันตามตัว, หากพบอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ไดคลอร์เฟนาไมด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
- ห้ามใช้ยานี้ใน ผู้ป่วยโรคตับ, ผู้ที่มีภาวะเกลือแร่ในเลือดไม่สมดุล, ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/ โรคซีโอพีดี
- ระหว่างการใช้ยานี้ให้ระวังการขับขี่ยวดยานพาหนะและการทำงานกับเครื่องจักรจากผลข้างเคียงของยานี้ที่ทำให้ง่วงนอนจึงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- การใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ผิวหนังของผู้ป่วยที่ใช้ยานี้มีการแพ้แสงแดดได้ง่าย
- ระวังการเกิดภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (อาการ เช่น อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ) เมื่อเกิดอาการ ให้หยุดใช้ยานี้และรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไดคลอร์เฟนาไมด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไดคลอร์เฟนาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไดคลอร์เฟนาไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ ร่วมกับ ยา Cyclosporine อาจทำให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงจากยา Cyclosporine มากยิ่งขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ ร่วมกับ ยา Primidone (ยากันชัก) จะทำให้การออกฤทธิ์ของยา Primidone ด้อยประสิทธิภาพลง ควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกันหรือแพทย์ปรับขนาดรับประทานเป็นกรณีไป
- การใช้ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ ร่วมกับ ยาแก้ปวด Aspirin อาจทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาไดคลอร์เฟนาไมด์ด้อยประสิทธิภาพลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ ร่วมกับ ยา Lithium จะทำให้ระดับยา Lithium ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนอาจส่งผลต่อการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะ สมเป็นกรณีๆไป
ควรเก็บรักษาไดคลอร์เฟนาไมด์อย่างไร?
สามารถเก็บยาไดคลอร์เฟนาไมด์:
- เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไดคลอร์เฟนาไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไดคลอร์เฟนาไมด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Anterin (แอนเทอริน) | Fu Seng, Taiwan |
Daranide (ดาราไนด์) | Taro, United States |
Dicloberl retard (ดิโคลเบอร์ล รีทาร์ด) | Menarini, Geogia |
Fenamide (เฟนาไมด์) | Famigea, Italy |
Oratrol (ออราโทรล) | Alcon |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Diclofenamide [2021,Feb20]
- https://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?setid=17f2f05d-7375-4d7d-8083-174ed27e736f [2021,Feb20]
- https://www.rxwiki.com/daranide [2021,Feb20]
- https://www.drugs.com/mtm/dichlorphenamide.html [2021,Feb20]
- https://www.wikidoc.org/index.php/Diclofenamide [2021,Feb20]