ไซโคลเซรีน (Cycloserine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 23 พฤศจิกายน 2558
- Tweet
- บทนำ
- ไซโคลเซรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ไซโคลเซรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ไซโคลเซรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ไซโคลเซรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ไซโคลเซรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ไซโคลเซรีนอย่างไร?
- ไซโคลเซรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาไซโคลเซรีนอย่างไร?
- ไซโคลเซรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- วัณโรค (Tuberculosis)
- วัณโรคปอดในเด็ก (Childhood tuberculosis)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อดื้อยา ซูเปอร์บั๊ก (Superbug)
บทนำ
ยาไซโคลเซรีน (Cycloserine) เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งซึ่งสามารถผลิตได้จากแบคทีเรียที่อยู่ในกลุ่ม Streptomyces orchidaceus การนำมาใช้ทางคลินิกจะเป็นตัวยาที่นักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาการติดเชื้อวัณโรคที่ดื้อต่อยาอื่น รวมถึงเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองกับยานี้ทั้งชนิดแกรมบวกและชนิดลบอย่างเช่น เชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคต่อระบบทางเดินปัสสาวะ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาไซโคลเซรีนจะเป็นยารับประทาน ตัวยาสามารถดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร ระดับยานี้จะเพิ่มขึ้นสูงสุดหลังการรับประทานยาไปแล้วประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง ตัวยานี้สามารถกระจายตัวเข้าไปยังเนื้อเยื่อส่วนต่างๆของร่างกายรวมถึงน้ำไขสันหลัง รก และน้ำนมของมารดา ตับจะมีหน้าที่คอยทำลายโครงสร้างของยานี้ก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะ
มีข้อจำกัดบางประการที่แพทย์ต้องนำมาพิจารณาก่อนสั่งจ่ายยาไซโคลเซรีนให้กับผู้ป่วยเช่น
- เคยมีประวัติแพ้ยานี้มาก่อนหรือไม่
- มีอาการของโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคลมชัก หรือโรคไตระยะรุนแรงหรือไม่
- ติดสุราหรือดื่มสุราเป็นประจำหรือไม่
- หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่
- มีการใช้ยาอื่นอยู่ด้วยหรือไม่อย่างเช่น Ethionamide (ยารักษาวัณโรค), Isoniazid ซึ่งเป็นยาที่จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้สูงขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยาไซโคลเซรีน
ทั้งนี้เมื่อมีการสั่งจ่ายยาไซโคลเซรีนกับผู้ป่วยเป็นที่เรียบร้อย แพทย์จะแจกแจงถึงวิธีรับประทานเช่น ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยระหว่างการใช้ยานี้ และกำชับผู้ป่วยให้รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาไซโคลเซรีนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติและจัดให้อยู่ในหมวดของยาอันตราย และการใช้ยาที่ถูกต้องเหมาะสมปลอดภัยควรต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
ไซโคลเซรีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไซโคลเซรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อวัณโรคปอดและวัณโรคที่อวัยวะอื่นของร่างกาย
ไซโคลเซรีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาไซโคลเซรีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบโตและไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ ส่งผลให้แบคทีเรียตายลงในที่สุด จากกลไกเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาติดตามมา
ไซโคลเซรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไซโคลเซรีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม /แคปซูล
ไซโคลเซรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาไซโคลเซรีนมีขนาดรับประทานสำหรับรักษาการติดเชื้อวัณโรคเช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 500 มิลลิกรัม - 1 กรัม/วัน อาจรับประทานเพียงครั้งเดียวหรือแบ่ง เป็น 2 ครั้งก็ได้
- เด็ก: รับประทาน 10 - 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 1 กรัม/วัน
*อนึ่ง:
- สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคไตแพทย์อาจต้องปรับขนาดรับประทานลง
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไซโคลเซรีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาไซโคลเซรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนเกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไซโคลเซรีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาไซโคลเซรีนให้ตรงเวลา
ไซโคลเซรีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาไซโคลเซรีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น มีอาการวิตกกังวล รู้สึกสับสน วิงเวียน ง่วงนอน กระสับกระส่าย ซึมเศร้า หงุดหงิดบ่อย ฝันร้าย การพูดจาติดขัด อาจเกิดความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรือถึงขั้นฆ่าตัวตาย บางกรณีอาจพบอาการชักกับผู้ป่วยบางรายได้ รวมถึงอาจมีผื่นคันร่วมด้วย
มีข้อควรระวังการใช้ไซโคลเซรีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาไซโคลเซรีนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยานี้ที่มีสภาพลักษณะยาที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยมิได้รับคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวลระยะรุนแรง รวมถึงผู้ที่ติดสุราเรื้อ รัง ด้วยอาจทำให้อาการโรคต่างๆเหล่านั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น
- ต้องหยุดยานี้ทันทีเมื่อพบอาการแพ้ยาหรือมีอาการชัก ซึมเศร้า ปวดศีรษะ ตัวสั่น วิงเวียนเกิดขึ้น และต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินเมื่อพบอาการดังกล่าว
- ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้มากกว่า 500 มิลลิกรัม/วัน หรือการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไต แพทย์จะเฝ้าตรวจสอบความเป็นพิษที่อาจเกิดกับระบบประสาท/สมอง รวมถึงต้องเฝ้าระวังการทำงานของอวัยวะต่างๆอีกเช่น ตับ
- เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดเชื้อดื้อยานี้ แพทย์จะใช้ยาไซโคลเซรีนร่วมกับยาอื่นในการรัก ษาวัณโรคด้วย
- มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไซโคลเซรีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ไซโคลเซรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาไซโคลเซรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาไซโคลเซรีนร่วมกับยา Bupropion และ Tramadol ด้วยจะก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคลมชักโดยเฉพาะการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มกับผู้สูงอายุ
- ห้ามใช้ยาไซโคลเซรีนร่วมกับการใช้วัคซีนบีซีจี/BCG vaccine (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor. com บทความเรื่อง วัคซีน) ด้วยจะทำให้ผลการกระตุ้นร่างกายของวัคซีน BCG ด้อยประสิทธิภาพลงไป
- การใช้ยาไซโคลเซรีนร่วมกับยา Isoniazid อาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอนเพิ่มมากขึ้น กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาไซโคลเซรีนอย่างไร
ควรเก็บยาไซโคลเซรีนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ไซโคลเซรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไซโคลเซรีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cycloserine Meiji (ไซโคลเซรีน เมจิ) | Meiji |
Hawon Cycloserine (ฮาวอน ไซโคลเซรีน) | Hawon Pharm |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cycloserine [2015,Nov7]
- http://www.drugs.com/pro/cycloserine-capsules.html [2015,Nov7]
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Cycloserine [2015,Nov7]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/92#item-8636 [2015,Nov7]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/cycloserine-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Nov7]