ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ไซโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) คือ ยาใช้เป็นยาต้านเชื้อราที่บริเวณผิวหนัง ส่วนใหญ่นำมารักษาโรคเชื้อรา ที่เล็บ หนังศีรษะ เท้า, และมีวางจำหน่ายทั่วโลก, ยานี้ไม่เหมาะที่จะใช้กับ ตา จมูก ปาก/ช่องปาก และบริเวณช่องคลอด, รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และสตรีตั้งครรภ์ ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยานี้เสมอ

 บางสูตรตำรับยานี้ ได้ถูกพัฒนาให้มีลักษณะเหมือนยาทาเล็บเพื่อใช้รักษาอาการติดเชื้อราทั้งเล็บมือ-เล็บเท้า,  สำหรับสูตรตำรับยานี้ที่เป็นยาครีม แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยล้างผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อราด้วยน้ำสบู่และเช็ดให้แห้งเสียก่อน จากนั้นจึงทายาให้ทั่วบริเวณที่มีการติดเชื้อราเพียงเบาๆและให้เป็นฟิล์ม (Film) บางๆ ห้ามใช้ผ้าพันแผลปิดทับหากไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา

ยังมีข้อปฏิบัติของการใช้ยาไซโคลพิรอกซ์รักษาเชื้อราที่ทางคลินิกได้ยึดเป็นหลักปฏิบัติมาตลอด เช่น

  • ผู้ป่วยจะต้องใช้ยานี้ให้ครบคอร์ส (Course) ตามแพทย์กำหนด ถึงแม้อาการจะดีขึ้นหลังจากใช้ยานี้เพียงไม่กี่วันก็ตาม
  • กรณีที่ยาไซโคลพิรอกซ์สัมผัส ตา ปาก/ช่องปาก หรือโพรงจมูก ให้รีบล้างยานี้ออกด้วยน้ำสะอาดทันที
  • *การใช้ยานี้ไปแล้ว 4 สัปดาห์อย่างต่อเนื่องแล้วอาการติดเชื้อรายังไม่ดีขึ้น, ผู้ป่วยควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • *ยาไซโคลพิรอกซ์เป็นยาต้านเชื้อราเท่านั้น จึงไม่เหมาะและถือเป็นข้อห้ามที่จะนำยานี้มารักษาอาการทางผิวหนังที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือโรคติดเชื้อไวรัส
  • ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาชนิดอื่นใดๆทาร่วมกับยาไซโคลพิรอกซ์โดยมิได้มีการปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน
  • *การใช้ยานี้ในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ยาไซโคลพิรอกซ์ สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงได้บ้างเล็กน้อย เช่น อาจ ทำให้เกิดอาการคันเล็กน้อยบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับตัวยานี้ *อย่างไรก็ตามหากใช้ยานี้แล้วมีอาการคล้ายแพ้ยานี้เกิดขึ้น (เช่น ผื่นขึ้นทั่วตัว หายใจลำบาก) *ควรต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ถึงแม้ยาไซโคลพิรอกซ์จะถูกออกแบบมาเป็นยาทาภายนอกก็จริง แต่เพื่อประสิทธิภาพของการรักษา ก็ควรต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์เสมอ และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยาไซโคลพิรอกซ์ ผู้ป่วย/ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรโดยทั่วไป

ไซโคลพิรอกซ์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ไซโคลพิรอกซ์-01

ยาไซโคลพิรอกซ์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เพื่อรักษาโรคเชื้อราบางประเภท เช่น

  • เชื้อราที่เล็บมือ (Onychomycosis - Fingernail)
  • เชื้อราที่เล็บเท้า (Onychomycosis - Toenail)
  • รังแคที่ศีรษะ (Seborrheic Dermatitis)
  • เชื้อราชนิดแคนดิดา/ แคนดิไดอะซิส/ Candidiasis ที่ผิวหนัง
  • เชื้อราบริเวณขาหนีบ (Tinea Cruris)
  • โรคเกลื้อน (Tinea Versicolor)
  • โรคกลากที่ลำตัว (Tinea Corporis)
  • โรคกลากที่ขา-เท้า (Tinea Pedis) หรือ ฮ่องกงฟุต/โรคน้ำกัดเท้า (Hong Kong foot)

ไซโคลพิรอกซ์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไซโคลพิรอกซ์ มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ยังไม่แน่ชัด แต่มีการศึกษาที่ทำให้แพทย์เชื่อว่าตัวยาจะรบกวนการส่งผ่านสารอาหารที่จำเป็นในเซลล์ของเชื้อรา, รบกวนการสังเคราะห์สารโปรตีน, รวมถึงทำให้สารพันธุกรรมดีเอ็นเอ/DNAและอาร์เอ็นเอ(RNA)ของเชื้อราไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างปกติ,  จากกลไกดังกล่าวจึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ไซโคลพิรอกซ์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไซโคลพิรอกซ์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น              

  • แชมพูสระผม ขนาดความเข้มข้น 1%
  • ยาครีม หรือ เจล หรือ สารแขวนตะกอน หรือ สารละลาย ขนาดความเข้มข้น 0.77%
  • สบู่เหลว ขนาดความเข้มข้น 1.5%
  • ยาทาเล็บ หรือ แลคเกอร์ (Lacquer) ขนาดความเข้มข้น 8%

ไซโคลพิรอกซ์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาไซโคลพิรอกซ์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาขึ้นกับชนิดของโรคที่เป็นสาเหตุ ในบทความนี้ขอยกตัวอย่าง เช่น

ก. สำหรับการรักษาโรคเชื้อราที่เล็บมือ-เล็บเท้า: เช่น

  • ผู้ใหญ่ และ เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป: ใช้ยาทาเล็บไซโคลพิรอกซ์ทารอบบริเวณเล็บที่ติดเชื้อรา วันละ1ครั้งก่อนนอน, และทำการเช็ดทำความสะอาดยาออกด้วยแอลกอฮอล์ทุกๆ 7 วัน, ระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นกับคำสั่งของแพทย์
  • เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี: การใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี ยังไม่มีการจัดทำในทางคลินิก การใช้ยาในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข. รักษารังแคที่ศีรษะ: เช่น

  • ผู้ใหญ่: ใช้แชมพูไซโคลพิรอกซ์ (1%) 5 - 10 มิลลิลิตร, สระผมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์, การสระผมแต่ละครั้งควรเว้นระยะเวลา 3 วัน, หรือใช้ไซโคลพิรอกซ์เจล (0.77%) ทาที่หนังศีรษะในบริเวณที่เป็นรังแควันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 4 สัปดาห์
  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็ก ยังไม่มีการจัดทำในทางคลินิก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ค. สำหรับการติดเชื้อราชนิดแคนดิดา/แคนดิไดอะซิสที่ผิวหนัง เชื้อราบริเวณขาหนีบ ที่ลำตัว เท้า และเกลื้อน: เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป: ทาไซโคลพิรอกซ์ครีม/โลชั่น (0.77%) ในบริเวณที่ติดเชื้อราวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี: การใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี ยังไม่มีการจัดทำในทางคลินิก การใช้ยาในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

 *อนึ่ง: การใช้ยานี้รักษาเชื้อราแบบต่างๆ อาจมี ขนาดยา, วิธีใช้ยา, และระยะเวลาการรักษาที่แตกต่างกัน, แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาการใช้ได้อย่างเหมาะสม

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไซโคลพิรอกซ์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น   

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไซโคลพิรอกซ์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?

หากลืมใช้ยาไซโคลพิรอกซ์ สามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้ง ถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ไซโคลพิรอกซ์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไซโคลพิรอกซ์อาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) : เช่น

  • กับผิวหนังที่มีการสัมผัสยา: เช่น มีอาการคัน หรือ เกิดผื่นคัน บางครั้งทำให้ผิวเกิดรังแคมากขึ้น (กรณีใช้กับหนังศีรษะ)
  • อาการอื่นๆ: ที่อาจพบได้กับบางผู้ป่วย *ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นและมีอาการรุนแรง *ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน  เช่น
    • ปวดหัว
    • เป็นลม
    • หัวใจเต้นผิดปกติ

มีข้อควรระวังการใช้ไซโคลพิรอกซ์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไซโคลพิรอกซ์: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้ยากับ หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามรับประทาน หรือให้ยาสัมผัสกับตา หรือทายาในจมูก หรือทาในปาก/ช่องปาก
  • *หากพบอาการแพ้ยานี้เช่น มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม *ให้หยุดใช้ยานี้ทันทีแล้วพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • การใช้ยาไซโคลพิรอกซ์รักษาการติดเชื้อราจะต้องใช้ยาจนครบคอร์สของการรักษา ถึงแม้อาการจะเริ่มดีขึ้นในสัปดาห์แรกของการใช้ยาก็ตาม
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาลอย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไซโคลพิรอกซ์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด   สมุนไพรต่างๆ  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไซโคลพิรอกซ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยยาไซโคลพิรอกซ์เป็นยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอก (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม) จึงยังไม่มีรายงานพบปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานใดๆ

ควรเก็บรักษาไซโคลพิรอกซ์อย่างไร?

ควรเก็บผลิตภัณฑ์ยาไซโคลพิรอกซ์: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไซโคลพิรอกซ์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไซโคลพิรอกซ์  มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต  เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Loprox (โลพรอกซ์) sanofi-aventis
Stieprox (สตีพรอกซ์) Stiefel

อนึ่ง: ยาชื่อการค้าของยาไซโคลพิรอกซ์ในประเทศตะวันตก เช่น Penlac,  Penlac nail lacquer

 

บรรณานุกรม

  1. https://www.pdr.net/drug-summary/Ciclopirox-Olamine-Cream-ciclopirox-olamine-3124 [2022, Aug13]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Ciclopirox  [2022, Aug13]
  3. https://www.drugs.com/dosage/ciclopirox-topical.html  [2022, Aug13]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/ciclopirox/?type=brief&mtype=generic  [2022, Aug13]
  5. https://www.drugs.com/sfx/ciclopirox-topical-side-effects.html  [2022, Aug13]
  6. https://www.mims.com/thailand/drug/info/stieprox/  [2022, Aug13]