ไซเลียม (Psyllium)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 ตุลาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาไซเลียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาไซเลียมออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาไซเลียมมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาไซเลียมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาไซเลียมมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
- ยาไซเลียมมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
- มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาไซเลียม?
- ควรเก็บรักษายาไซเลียมอย่างไร?
- ยาไซเลียมมีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาแก้ท้องผูก (Anticonstipation)
- ท้องผูก (Constipation)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- ยาเบาหวาน หรือ ยารักษาโรคเบาหวาน (Antidiabetic agents)
- ลำไส้อุดตัน (Intestinal obstruction)
บทนำ
ยาไซเลียม (Psyllium) เป็นยาตัวหนึ่งในกลุ่มยาแก้ท้องผูก (ยาระบาย) ที่เพิ่มเนื้ออุจจาระให้มีมากขึ้นและเกิดการกระตุ้นให้อยากขับถ่าย
ยาไซเลียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาไซเลียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- ช่วยระบายอุจจาระ ใช้เป็นยาระบายในหญิงตั้งครรภ์ ช่วยระบายในผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดลำไส้ใหญ่
ยาไซเลียมออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาไซเลียมออกฤทธิ์โดยเพิ่มปริมาณกากใยให้กับลำไส้ ทำให้เกิดการกระตุ้นการอยากถ่าย อุจจาระ
ยาไซเลียมมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาไซเลียมมีรูปแบบจัดจำหน่าย เช่น
- ยาผงขนาด 283, 425 และ 528 กรัม โดยผสมน้ำก่อนรับประทานในปริมาณตามคำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกร หรือเอกสารกำกับยา
ยาไซเลียมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
การรับประทานยาไซเลียมมีขนาดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ ลักษณะอาการป่วย, เพศ, และ อายุ ดังนั้นเพื่อความถูกต้องและเหมาะสมควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งจ่ายขนาดรับประทานในผู้ป่วย แต่ละคน ไม่ควรซื้อยากินเอง
อนึ่ง:
- สำหรับผู้ใหญ่ ขนาดสูงสุดที่รับประทานแก้ท้องผูกไม่ควรเกิน 3.5 กรัม/ครั้ง จำนวนครั้งต่อวันขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ โดยเมื่อกระจายผงยาลงในน้ำแล้วควรดื่มยาทันที
- สำหรับในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) การใช้ยานี้ควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาไซเลียม ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด และอาการจากการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไซเลียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาหลายตัวสามารถผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาไซเลียม สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาไซเลียมมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
ยาไซเลียมมีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
- อาจก่อให้เกิดภาวะอึดอัดในช่องท้องจากการพองตัวจากกากใยของยาที่รับประทาน
ยาไซเลียมมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
การกินยาไซเลียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นได้ เช่น
- เมื่อกินร่วมกับยารักษาเบาหวาน อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งกลุ่มยารักษาเบาหวาน เช่นยา ไกลมีไพไรด์ (Glimepiride) และ ยาอินซูลิน (Insulin)
มีข้อควรระวังไหมเมื่อกินยาไซเลียม?
ข้อควรระวังเมื่อกินยาไซเลียม เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยเบาหวาน ด้วยยานี้มีผลกับระดับน้ำตาลในกระแสเลือดดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ ปฏิกิริยากับยา’ตัวอื่นๆ
- ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีสภาวะทางเดินลำไส้อุดตัน เพราะอาจเพิ่มอาการลำไส้อุดตันให้รุนแรงขึ้น (ปวดท้องและอาเจียนรุนแรงขึ้น)
- การกินยาไซเลียม ควรต้องดื่มน้ำตามให้มากเพียงพอ เพื่อป้องกันการอุดตันของตัวยาในช่องทางเดินอาหาร
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาไซเลียมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษายาไซเลียมอย่างไร?
สามารถเก็บยาไซเลียม เช่น
- เก็บยาในอุณหภูมิห้อง
- เก็บยาให้พ้นความชื้น ห่างแสง/แสงแดด และ
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาไซเลียมมีชื่ออื่นๆไหม? ผลิตโดยบริษัทอะไรบ้าง?
ยาไซเลียม มีชื่อยาทางการค้า และมีบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
AGIOLAX (อะจิโอแลค) | Madaus |
DETOLAX (ดีโทแลค) | Madaus |
FYBOGEL (ไฟโบเจล) | Reckitt Benckiser Healthcare |
IGOL (ไอกอล) | Raptakos |
METAMUCIL (เมตามิวซิล) | Pfizer |
MUCILIN (มูซิลิน) | Berlin Pharm |
บรรณานุกรม
- นพ. สมชาย ลีลากุศลวงศ์. (2551). แนวทางในการดูแลผู้ป่วยโรคท้องผูก ท้องเสีย และ IBS (ดีวีดี). กรุงเทพฯ: โรงแรมสยามซิตี้
- http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2f [2020,Oct10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Laxative [2020,Oct10]
- https://www.drugs.com/ppa/psyllium.html [2020,Oct10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Psyllium [2020,Oct10]