ไซเคเดลิก (Psychedelic drug)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 กุมภาพันธ์ 2561
- Tweet
- บทนำ
- ไซเคเดลิกแสดงฤทธิ์ในลักษณะใด?
- กลไกการออกฤทธิ์ของไซเคเดลิกเป็นอย่างไร?
- ประโยชน์ของไซเคเดลิกมีอะไรบ้าง?
- บทสรุปของไซเคเดลิก
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาหลอนประสาท
- ยาเสพติด (Narcotic drug)
- ประเภทยาเสพติดให้โทษ ยาเสพติด (Illegal drugs)
- วัตถุออกฤทธิ์ (Psychotropic substances)
- โรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster Headache)
บทนำ
สาร/ยาไซเคเดลิก(Psychedelic drug) หรือ “สารหลอนประสาทแบบคลาสสิก (Classical hallucinogens)” เป็นกลุ่มสารประกอบที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางส่งผลต่อการทำงานของสมองได้หลายส่วน และเป็นเหตุให้มีการแปลคำสั่งของกระแสประสาทที่เกี่ยวข้องกับสมองส่วนนั้นๆต่อการรับรู้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม นักวิทยาศาสตร์จัดให้ยาไซเคเดลิก เป็นสารหลอนประสาท(Hallucinogen)ชนิดที่มีอิทธิพลหรือผลกระทบต่อสมองน้อยที่สุดจากสารหลอนประสาท 3 ประเภท คือ Psychedelics, Dissociative และ Deliriant กล่าวคือ ผู้ที่ได้รับยาไซเคเดลิกยังสามารถรับรู้สิ่งเร้าภายนอก มีความรู้สึกทางด้านอารมณ์ และการจดจำเหตุการณ์ต่างๆได้ตามปกติ แต่จะมีบางสภาวะที่แตกต่างออกไป เช่น หูแว่ว หรืออาจเห็นภาพแสงสีต่างจากคนทั่วไป ทั่วไป ยาไซเคเดลิกจะไม่ทำให้เกิดภาวะเสพติด แต่จะออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับ(Receptor)ในสมองที่มีชื่อว่า ซีโรโทนิน รีเซพเตอร์(Serotonin receptor) หรือ อาจกล่าวได้ว่า ยาไซเคเดลิก เป็นสาร/ยาประเภท Serotonin/ 5-HT2A receptor agonist ก็ได้ หากใช้อย่างเหมาะสม ยานี้จะทำให้สมองรู้สึกสงบ คลายความตึงเครียดซึ่งจะช่วยปกป้องความรู้สึกที่น่ารำคาญภายนอกให้ลดน้อยลง
นักวิทยาศาสตร์ได้สังเคราะห์หรือค้นพบสารไซเคเดลิกตามธรรมชาติอยู่หลายรายการที่พอจะหยิบยกมาเป็นตัวอย่าง เช่น สารประกอบประเภท Alkylated tryptamine, Lysergamide, และ Alkoxylated phenethylamine เป็นต้น ในกลุ่มของสารประกอบที่กล่าวมาสามารถแยกตัวยาที่มีความโดดเด่นออกมาได้ดังนี้ เช่น LSD, Mescaline, Psilocin N, N-Dimethyltryptamine , Bufotenin, และ Psilocybin ซึ่ง อย่างไรก็ตาม กฎหมายของไทย จัดให้ยาที่กล่าวมา อยู่ในประเภทยาเสพติด หรือไม่ก็เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและไม่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไปหรือแม้แต่ในสถานพยาบาลหลายแห่งก็ไม่มีการใช้ยาไซเคเดลิก
ไซเคเดลิกแสดงฤทธิ์ในลักษณะใด?
กลุ่มยาไซเคเดลิกสามารถกระตุ้นให้เกิดผลกระทบ/ผลข้างเคียงต่อสมองได้คล้ายและแตกต่างกันตามโครงสร้างเคมีและขนาดยาแต่ละชนิดที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย ขอยกตัวอย่างเพียงสังเขปดังนี้
1. LSD หรือ Lysergic acid diethylamide: ในอดีต LSD ถูกใช้ในกลุ่มนักดนตรีประเภทเพลงป๊อป มีสรรพคุณเป็นยาบำบัดอาการทางจิตประสาท แก้ปวดศีรษะคลัสเตอร์ แต่การใช้ผิดขนาดจะแสดงให้มีผลกระตุ้นอารมณ์รู้สึกวิตกกังวลและหวาดระแวงขึ้นมา
2. Psilocybin mushrooms: เป็นเห็ดที่สามารถผลิตสาร Psylocybin ที่มีฤทธิ์กระตุ้นสมองให้เกิดอารมณ์ร่วมต่อการทำพิธีกรรมของบางกลุ่มชน ทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้มและมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด แต่ก็มีผลข้างเคียงบางประการที่ต้องระวังคือ ทำให้ มีอาการชักเกิดขึ้น ผู้ที่บริโภคเห็ดที่มีสาร Psylocybin จะรู้สึกง่วงนอนด้วยมีฤทธิ์สงบประสาท รูม่านตาขยาย อัตราการเต้นของหัวใจเปลี่ยนแปลง ความดันโลหิตผิดปกติ และมีอาการตัวสั่น
3. N,N-Dimethyltryptamine (DMT) เป็นสารประกอบที่มีการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ ถูกค้นพบในพืชประเภท Anadenanthera peregrina และ Anadenanthera colubrina บางชนเผ่าในอเมริกาใต้ได้ใช้ DMT เพื่อกระตุ้นอารมณ์ให้เคลิบเคลิ้ม และรู้สึกสงบโดยนำพืชดังกล่าวมาปรุงเป็นเครื่องดื่มที่เรียกว่า Ayahuasca ทำให้ผู้ที่ได้รับมีการตอบสนองของโสตประสาทหรือการรับรู้เปลี่ยนไป หากรับประทานในขนาดที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดอาการประสาทหลอน วิตกกังวล รู้สึกว่าตนเองติดต่อกับสิ่งที่ไม่พบเห็นบนโลก เช่น มนุษย์ต่างดาว คนแคระ หรือสัตว์ในเทพนิยายตามมา
4. Mescaline: ถูกพบในต้นตะบองเพชร เคยใช้เป็นยารักษาการติดสุราเรื้อรังและบำบัดภาวะซึมเศร้า มีฤทธิ์ทำให้เคลิบเคลิ้ม และเคยนำมาใช้กับพิธีกรรมทางศาสนา มีผลข้างเคียงโดยทำให้เกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน แต่มีฤทธิ์เสพติดต่ำ
5. Bufotenin: เป็นสารประเภทอัลคาลอยด์ (Alkaloid) พบได้ในผิวหนังของคางคกโดยใช้เป็นสารพิษเพื่อปกป้องไข่ของมัน นอกจากนี้ยังพบในเห็ดและพืชชั้นสูง Bufotenin จะมีโครงสร้างคล้ายเซโรโทนิน(Serotonin) การได้รับ Bufotenin เพียง 1 มิลลิกรัมจะทำให้รู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มในหน้าอก และมีอาการอาเจียนเล็กน้อย หากได้รับ Bufotenin เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจะทำให้การไหลเวียนเลือดทำได้ไม่สะดวก ใบหน้าคล้ำขึ้น มีอาการอาเจียน และเกิดภาวะหลอนประสาท/ประสาทหลอน ส่งผลให้การมองเห็นสีและแสงผิดไปจากปกติ
กลไกการออกฤทธิ์ของไซเคเดลิกเป็นอย่างไร?
ยาไซเคเดลิกเป็นกลุ่มยา/สารประกอบที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกับสารเซโรโทนิน (Serotonin) ประกอบกับกลไกการออกฤทธิ์ของยาไซเคเดลิก จะเริ่มโดยเข้ารวมตัวกับตัวรับ Serotonin receptor ในสมอง ทำให้เกิดการกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านการรับรู้และความเข้าใจมากเกินปกติที่เป็นเหตุให้มีอาการหลอนประสาท เช่น เห็นภาพหรือแสงสีที่เปลี่ยนไป อาจเกิดหูแว่วได้ยินเสียงที่คนปกติไม่ได้ยิน แต่ผู้ที่ได้รับกลุ่มยาไซเคเดลิกจะยังคงมีสติ และไม่ได้สูญเสียการรับรู้สภาพแวดล้อมภายนอก ยังมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้เหมือนปกติ
ประโยชน์ของไซเคเดลิกมีอะไรบ้าง?
ยาไซเคเดลิกเป็นกลุ่มสารประกอบที่มีจำนวนมาก และยังต้องรอการวิจัยค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางคลินิก อย่างไรก็ตาม ยาไซเคเดลิกมักถูกลักลอบนำมาใช้เป็นยากระตุ้นความบันเทิง หรือตั้งใจใช้เพื่อให้เกิดอาการหลอนประสาทด้วยวัตถุประสงค์ในเรื่องพิธีกรรมต่างๆ ในอดีตเคยใช้เป็นยาสงบอารมณ์ของนักดนตรีบางกลุ่ม
เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย ประชาชนควรหลีกเลี่ยงและไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาไซเคเดลิกด้วยจะมีผลต่อสภาพจิตและไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด
บทสรุปของไซเคเดลิก
สารประกอบหรือยาในกลุ่มไซเคเดลิก จัดว่าเป็นสารหลอนประสาทแบบคลาสสิก ด้วยมีกลไกหลอนประสาทแต่ไม่ทำให้เกิดภาวะเสพติด นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับยังมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้อย่างปกติ การใช้สารหรือยาประเภทนี้ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ห้ามลักลอบหรือแอบใช้เพราะผู้ที่ได้รับยาไซเคเดลิกเกินขนาดจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาท หรืออาจเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุจนถึงขั้นเสียชีวิต ตามมา
บรรณานุกรม
- https://www.sciencedaily.com/terms/psychedelic_drug.html [2018,Feb10]
- https://nootriment.com/serotonin-agonist/[2018,Feb10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Psychedelic_drug [2018,Feb10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_psychedelic_drugs[2018,Feb10]
- http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/wp-content/uploads/2016/08/NARCO-list-update-26.08.2016.pdf [2018,Feb10]
- http://narcotic.fda.moph.go.th/welcome/wp-content/uploads/2015/11/table-PHYCHO-list-update-21.12.2015.pdf [2018,Feb10]
- https://oceanbreezerecovery.org/blog/psychedelic-drugs/[2018,Feb10]
- https://oceanbreezerecovery.org/blog/psilocybin-spores/ [2018,Feb10]
- https://oceanbreezerecovery.org/blog/dmt-trips/ [2018,Feb10]