ไซพราซิโดน (Ziprasidone)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไซพราซิโดน (Ziprasidone หรือ Ziprasidone hydrochloride หรือ Ziprasidone mesylate) เป็นยาที่ใช้บำบัดอาการทางจิตเภท ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการในหลายลักษณะ ตั้งแต่ คุ้มคลั่ง ประสาทหลอน ได้ยินเสียงแว่ว/หูแว่ว รวมถึงมีภาวะ/โรคอารมณ์สองขั้วหรือที่เรียกว่าโรคไบโพลาร์(Bipolar disorder) ยาไซพราซิโดนมีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมองตรงบริเวณตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อเรียกว่า โดพามีน รีเซพเตอร์ (D2/Dopamine2 receptors) และ 5-เฮชที2A รีเซพเตอร์ (5-HT2A receptors, 5-hydroxytryptamine 2A receptors ) แล้วส่งผล เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทอย่างเช่น โดพามีน ได้อย่างเหมาะสม รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้ มีทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีด

สำหรับยาไซพราซิโดนชนิดรับประทาน จะมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดประมาณ 60% จากนั้นเอนไซม์ในตับ จะคอยทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตัวยานี้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 7–10 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาไซพราซิโดนออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ ด้วยกลไกทางเภสัชจลนศาสตร์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เพื่อสามารถควบคุมอาการทางจิตได้ตลอดทั้งวัน

มีผู้ป่วยด้วยโรคประจำตัวบางประเภท จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงและไม่เหมาะที่จะใช้ยาไซพราซิโดนเป็นอย่างยิ่งด้วยจะเกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยานี้ เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวระดับรุนแรง ผู้ที่หัวใจเต้นผิดปกติ รวมถึงสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร

ทางคลินิก ยังพบว่ายาไซพราซิโดนก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาหลายรายการ และถือเป็นข้อห้ามใช้ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มยาต่อไปนี้ เช่นยา Amiodarone, Chlorpromazine, Disopyramide, ,Dofetilide, Dolasetron, Dronedarone, Droperidol, Gatifloxacin, Halofantrine, Ibutilide, Levomethadyl, Mefloquine, Mesoridazine, Moxifloxacin, Pentamidine, Pimozide, Probucol, Procainamide, Quinidine, Sotalol, Sparfloxacin, Tacrolimus, และThioridazine เป็นต้น

นอกจากนี้ แพทย์จะต้องขอความร่วมมือจากญาติให้ช่วยเฝ้าระวังสังเกตผู้ป่วยว่าระหว่างได้รับยาไซพราซิโดน ผู้ป่วยมีพฤติกรรมทำร้ายตนเองหรือไม่ เพราะเป็นอาการที่อันตราย กรณีที่พบเห็นอาการดังกล่าว ควรต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาหาแนวทางการรักษาและป้องกันโดยเร็ว

ผู้ที่รับยาไซพราซิโดนอาจได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้บางประการ เช่น วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)เหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นหากผู้ป่วยได้รับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม และถือเป็นข้อห้ามมิให้ผู้ป่วยทางจิตเวชที่รวมถึงผู้ป่วยจิตเภทดื่มเครื่องดื่มดังกล่าว นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจ มีความสามารถในการทนอุณหภูมิในสภาพที่ร้อนๆได้ไม่ดีเหมือนเดิม จึงไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนอบอ้าวเป็นเวลานานๆ ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยเป็นลมได้ง่าย

ตัวยาไซพราซิโดน ยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายอ่อนแอลงจนทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่าย จึงไม่ควรนำผู้ป่วยที่ใช้ยานี้ไปอยู่ในบริเวณที่มีผู้คนแออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า

ระหว่างที่ใช้ยาไซพราซิโดน ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจร่างกาย/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายเป็นระยะๆ และอาจได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดว่าสูงเกินปกติหรือไม่ ด้วยจัดเป็นอาการข้างเคียงอีกหนึ่งประการของยานี้

*ผู้ที่ได้รับยาไซพราซิโดนเกินขนาดจะพบอาการผิดปกติหลายอย่าง ที่เด่นชัด อาทิเช่น พูดจาไม่ชัด เกิดความดันโลหิตสูง ง่วงนอน ตัวสั่น และมีอาการวิตกกังวล กรณีมีอาการเหล่านี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ซึ่งโดยทั่วไป แพทย์จะช่วยเหลือรักษาพยาบาลโดยใช้ยาถ่านกัมมันต์ พร้อมกับยาระบาย(ยาแก้ท้องผูก) และ/หรือกระตุ้นให้อาเจียนเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระเพาะอาหาร จากนั้นจะให้ออกซิเจนเพื่อช่วยให้ร่างกายผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว

การใช้ยาไซพราซิโดน ส่วนมากต้องเริ่มที่สถานพยาบาลและอาจกล่าวได้ว่า ยานี้มีข้อห้าม-ข้อควรระวังที่ต้องพิจารณาหลายประการ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจคัดกรองจากแพทย์ก่อนที่จะใช้ยานี้เสมอ ซึ่งในประเทศเราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาไซพราซิโดนภายใต้ชื่อการค้าว่า Zeldox

 

ไซพราซิโดนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไซพราซิโดน

ยาไซพราซิโดนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการทางจิตเภทและ
  • รักษาอาการไบโพลาร์/โรคอารมณ์สองขั้ว

ไซพราซิโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาไซพราซิโดน มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ในสมองที่ชื่อ D2 receptor และ 5-HT2A receptor จึงก่อให้เกิดการปรับสมดุลของปริมาณ/ระดับ สารสื่อประสาทในระบบประสาท/สมอง ให้กลับมาใกล้เคียงกับระดับปกติ จึงส่งผลให้อาการผู้ป่วยดีขึ้น

 

ไซพราซิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไซพราซิโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Ziprasidone ขนาด 20 , 40 , 60, และ 80 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาฉีด: ซึ่งใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น จึงขอไม่กล่าวถึงในบทความนี้

 

ไซพราซิโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไซพราซิโดนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับบำบัดอาการทางจิตเภท (Schizophrenia):

  • ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทานยาครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานทุก 2 วันตามการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

ข. สำหรับบำบัดอาการไบโพลาร์/อารมณ์สองขั่ว (Bipolar disorder):

  • ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทานยาครั้งละ 40 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หลังการรับประทานยาที่ขนาดเริ่มต้นไปแล้ว 2 วัน แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเป็น 60 หรือ 80 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ทางคลินิก พบว่า การใช้ยาขนาด 40–80 มิลลิกรัม เป็นขนาดรับประทานที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคไบโพลาร์

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • กรณีผู้ป่วยมีอาการทางจิตเภทแบบเฉียบพลัน แพทย์อาจตัดสินใจใช้ยาไซพราซิโดนชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

 

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไซพราซิโดน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต โรคเบาหวานรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไซพราซิโดน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไซพราซิโดน สามารถให้ผู้ป่วยรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานในขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี กรณีหยุดรับประทานยาไซพราซิโดนทันที อาจเกิดอาการถอนยาตามมา

ไซพราซิโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไซพราซิโดนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ กระหายน้ำมากขึ้น น้ำตาลในเลือดสูง หิวอาหารบ่อย เกลือโปแตสเซียม/โพแทสเซียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ ง่วงนอน วิงเวียน ตัวสั่น อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือท้องเสีย ปากแห้ง คลื่นไส้ ลิ้นแข็ง อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องอืด กระเพาะอาหารอักเสบ เลือดออกทาง ช่องทวารหนัก/ อุจจาระเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดช่องทางเดินหายใจอักเสบ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้ง่าย ไอ เยื่อจมูกอักเสบ เกิดแผลในคอ ปอดบวม
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น มีอาการเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นช้า กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ มือ-เท้าบวม
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผื่นผิวหนังอักเสบ ผิวหนังเกิดผื่นแพ้แสงแดดง่าย เหงื่อออกมาก ผมร่วง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ตัวสั่น วิตกกังวล ฝันร้าย นอนละเมอ
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า การมองภาพไม่ชัดเจน
  • ผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว ข้อเข่ามีอาการผิดปกติ
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ประจำเดือนขาด(ในสตรี) ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเลือดจาง/โลหิตจาง
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น มีการติดเชื้อได้ง่าย

 

มีข้อควรระวังการใช้ไซพราซิโดนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไซพราซิโดน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยมีประวัติป่วยด้วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยความจำเสื่อม
  • การรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะก่อให้เกิดอาการวิงเวียนมากและทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไซพราซิโดนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมถึงควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองทุกครั้ง

 

ไซพราซิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไซพราซิโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยาไซพราซิโดนร่วมกับยา Amiodarone ด้วยจะทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยาไซพราซิโดนร่วมกับยา Ketoconazole เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากไซพราซิโดนมากขึ้น
  • ห้ามการใช้ยาไซพราซิโดนร่วมกับยา Carbamazepine ด้วยทำให้ประสิทธิภาพ การรักษาของยาไซพราซิโดนด้อยลง

ควรเก็บรักษาไซพราซิโดนอย่างไร?

ควรเก็บยาไซพราซิโดน ในช่วงอุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ไซพราซิโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไซพราซิโดน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Zeldox (เซลดอกซ์) Pfizer

 

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Geodon, Zipsydon,Azona

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/ziprasidone/?type=brief&mtype=generic[2017,May20]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Ziprasidone#Pharmacokinetics [2017,May20]
  3. https://www.drugs.com/cdi/ziprasidone.html[2017,May20]
  4. http://www.pfizer.ca/sites/g/files/g10017036/f/201411/Clean%285%29.pdf[2017,May20]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/ziprasidone-index.html?filter=3&generic_only=[2017,May20]