ไซคลิดรอล (Cyclidrol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไซคลิดรอล(Cyclidrol) หรือในเยอรมันเรียกว่า ซอบรีรอล(Sobrerol) เป็นยาละลายเสมหะ ช่วยบรรเทาอาการไอ/ยาแก้ไอ มีหลายกรณีที่แพทย์ใช้ยานี้ร่วมรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นหลอดลมอักเสบทั้งชนิดเรื้อรังหรือเฉียบพลัน ไซนัสอักเสบ ปอดบวมที่มีอาการหอบหืดร่วมด้วย ถุงลมโป่งพอง ตลอดจนกระทั่งใช้ลดเสมหะให้กับผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัด ทั้งนี้แพทย์มักจะใช้ยาปฏิชีวนะเป็นตัวหลักโดยมียาไซคลิดรอลเป็นตัวเสริมฤทธิ์และสนับสนุนการรักษา

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาไซคลิดรอลเป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยามีการดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาในกระแสเลือดจะถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะ ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคไตโดยเฉพาะอย่างยิ่งไตล้มเหลว จะะต้องระวังการใช้ยาไซคลิดรอลเป็นอย่างมาก

ยาไซคลิดรอลจัดเป็นยาอันตรายและมีจำหน่ายตามร้านขายยาโดยใช้ชื่อการค้าว่า “Mucoflux” คนไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศอาจมีความสับสนกับ ยาชื่อการค้านี้ กล่าวคือ

  • ในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง ฮอนดูรัส กัวเตมาลา โดมินิกัน และเอลซาลวาดอ Mucoflux จะใช้ตัวยาสำคัญคือ Cyclidrol จึงอาจเขียนในฉลากยาว่า Mucoflux/Cylidrol
  • ในบราซิล Mucoflux ใช้ตัวยาสำคัญคือ Carbocisteine จึงอาจเขียนในฉลากยาว่า Mucoflux/ Carbocisteine
  • ในเม็กซิโก Mucoflux ใช้ตัวยาสำคัญคือ Albuterol จึงอาจเขียนในฉลากยาว่าMucoflux/ Albuterol

นอกจากนี้ยังมีสูตรตำรับผสมระหว่างยาไซคลิดรอลกับยาชนิดอื่น อย่างเช่น กับยา Paracetamol

ทั้งนี้ การใช้ยาต่างๆที่รวมถึงยาไซคลิดรอลตามคำสั่งแพทย์ จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับตัวยาที่ปลอดภัยและเหมาะสมต่ออาการโรคของตนเอง ซึ่งผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถขอคำแนะนำการใช้ยาไซคลิดรอลได้จาก แพทย์ และจากเภสัชกรประจำร้านขายยาทั่วไป

ไซคลิดรอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไซคลิดรอล

ยาไซคลิดรอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาละลายเสมหะ ลดอาการไอ/ยาแก้ไอ
  • ใช้เป็นยาร่วมในการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจหลายชนิด เช่น หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ ถุงลมโป่งพอง ปอดบวม คออักเสบ ตลอดจนกระทั่งวัณโรค

ไซคลิดรอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไซคลิดรอลเป็นยามีกลไกการออกฤทธิ์ที่ช่วยทำให้เสมหะถูกขับออกจากหลอดลมได้ง่ายขึ้น(เป็นยาละลายเสมหะ) ส่งผลให้ภายในหลอดลมมีช่องว่างให้อากาศไหลเวียนเข้า-ออกได้สะดวก จึงเป็นเหตุผลลดอาการไอจากเสมหะเป็นเหตุ

ไซคลิดรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไซคลิดรอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Cyclidrol ขนาด 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำเชื่อมชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Cyclidrol ขนาด 80 มิลลิกรัม/ 10 มิลลิลิตร

ไซคลิดรอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไซคลิดรอลมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ขึ้นไปหรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เด็กอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป: รับประทานยาครั้งละ 80 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
  • เด็กอายุตั้งแต่6ปีลงมา: การใช้ยานี้และขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • เคยมีรายงานจากผู้ที่ใช้ยานี้พบว่า หลังรับประทานยา 1–2 วัน อาการไอ จากเสมหะดีขึ้นก็สามารถหยุดใช้ยาชนิดนี้ได้ทันที ผู้ป่วยสามารถสอบถาม จากแพทย์ว่าถ้าอาการไอทุเลาเป็นปกติ สามารถหยุดใช้ยานี้ได้เลยหรือไม่

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไซคลิดรอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไซคลิดรอลอาจ ส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไซคลิดรอลสามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

ไซคลิดรอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

สำหรับผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของยาไซคลิดรอลอาจพบได้บ้างเล็กน้อย เช่น มีความรู้สึกปวดท้องหลังรับประทานยานี้ อาจพบผื่นคันตามผิวหนังได้บ้าง

มีข้อควรระวังการใช้ไซคลิดรอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ไซคลิดรอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตล้มเหลว
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์
  • การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไซคลิดรอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไซคลิดรอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

จากสถิติทางการแพทย์ ยังไม่พบยาอื่นๆที่สามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาไซคลิดรอล

ควรเก็บรักษาไซคลิดรอลอย่างไร?

ควรเก็บยาไซคลิดรอล ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไซคลิดรอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไซคลิดรอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Mucoflux (มิวโคฟลักซ์)MEDA Pharma

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/hongkong/drug/info/mucoflux?type=full [2018,March24]
  2. https://www.mims.com/thailand/drug/info/cyclidrol?mtype=generic [2018,March24]
  3. https://www.drugs.com/international/sobrerol.html [2018,March24]
  4. https://www.wdrugs.com/?s=sobrerol [2018,March24]