ไซคลาเมต (Cyclamate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สารไซคลาเมต(Cyclamate หรือ Sodium cyclamate)เป็นสารให้ความหวานชนิดสังเคราะห์ ถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1937(พ.ศ. 2480) ที่มหาวิทยาลัย อิลลินอยส์โดยนักศึกษาที่ชื่อว่า Michael Sveda จัดเป็นสารที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 30-50 เท่า แต่มีราคาถูกกว่าน้ำตางทราย 90 % งานวิจัยด้านอาหารและโภชนาการของบางประเทศได้ตีพิมพ์เรื่องพิษวิทยาพบว่า ไซคลาเมต ไม่กระตุ้นการเกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองแต่อย่างใด จึงอาจใช้เป็นเหตุผลประกอบและทำให้ไซคลาเมตสามารถวางจำหน่ายใน 130 ประเทศทั่วโลก อีกทั้งมีการยอมรับจากหน่วยงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยอย่างเช่น คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ของสหภาพยุโรป องค์การอนามัยโลก ให้ใช้เป็นสารเพิ่มความหวานในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม

ไซคลาเมตเป็นสารที่ไม่ให้พลังงานกับร่างกาย และไม่ก่อให้เกิดฟันผุ มีคุณสมบัติทนความร้อน และมีอายุการเก็บรักษาได้นาน ดังนั้นจึงเหมาะที่จะใช้ไซคลาเมต ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร

ในเชิงพาณิชย์ จะใช้สารไซคลาเมตที่เป็นวัตถุดิบในลักษณะของเกลือที่มีชื่อเรียกว่า โซเดียม ไซคลาเมต(Sodium cyclamate) รูปแบบผลิตภัณฑ์มักจะผสมไซคลาเมต ร่วมกับสารให้ความหวานชนิดอื่น เช่น แซกคาริน(Saccharin) โดยมีอัตราส่วนไซคลาเมต ต่อ แซกคาริน เป็น 10 ต่อ 1 อย่างไรก็ตามไซคลาเมตก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับจากบางประเทศทางซีกโลกตะวันตกเช่นกัน ด้วยมีข้อโต้เถียงว่า ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดว่า ไซคลาเมตสามารถกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้หรือไม่นั่นเอง

ไซคลาเมต มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไซคลาเมต

ไซคลาเมต มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นสารเพิ่มความหวานทดแทนน้ำตาลทรายในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม
  • ไม่กระตุ้นการเพิ่มน้ำหนักตัวและไม่ก่อให้ฟันผุ

ไซคลาเมต มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของการใช้สารไซคลาเมต ในปริมาณความเข้มข้นที่เหมาะสม จะทำให้ระบบการรับรสชาติ/ลิ้น ของมนุษย์แปลผลเป็นรสหวานในที่สุด

ไซคลาเมต มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ไซคลาเมต มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นผงแกลนูล(Granule,เม็ดเล็กๆ)ที่บรรจุซองที่ผสมสารเพิ่มความหวานชนิดอื่น เช่น สาร Saccharin โดยมีชื่อการค้า เช่น Sucaryl

ไซคลาเมต มีขนาดรับประทานอย่างไร?

สหภาพยุโรป ได้มีการกำหนดระดับการบริโภค/ขนาดรับประทานของสารไซคลาเมตที่ยอมรับได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยต่อวัน(ADI, Acceptable daily intake) อยู่ที่ไม่เกิน 7 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/ต่อวัน

ไซคลาเมต มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้สารไซคลาเมตต่อการบริโภคแต่ละครั้งมีปริมาณต่ำ รวมถึงการศึกษาผลกระทบ/ผลข้างเคียง/ผลไม่พึงประสงค์ต่อมนุษย์ยังไม่มีข้อสรุปอย่างชัดเจน ด้วยมีข้อโต้แย้งที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงใดๆจากการบริโภคไซคลาเมตในระดับที่ไม่สูงกว่าค่า ADI ที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม *หากพบอาการแพ้ยา/แพ้ไซคลาเมต เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ผื่นขึ้นเต็มตัว หลังการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีไซคลาเมตเป็นส่วนประกอบ ให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์นั้นทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยมาส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ ไซคลาเมต อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ สารไซคลาเมต เช่น

  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามใช้เกินขนาดรับประทานที่ระบุมากับผลิตภัณฑ์
  • ไม่ควรเก็บผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุแล้ว

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพร สารปรุงแต่งรสชาติต่างๆ อย่างสารไซคลาเมต ด้วยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาหรือสารปรุงแต่งทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไซคลาเมต มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยสารไซคลาเมต ใช้เป็นสารให้ความหวาน ไม่ใช่ยา ปัจจุบันจึงยังไม่มีการศึกษาหรือรายงานที่พบปฏิกิริยาระหว่างยารับประทานกับสารไซคลาเมต อย่างไรก็ตาม หากพบว่าการรับประทานยาร่วมกับสารไซคลาเมตแล้วเกิดอาการผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย ให้หยุดการใช้ยาและผลิตภัณฑ์ไซคลาเมตทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว

ควรเก็บรักษาไซคลาเมตอย่างไร?

สามารถเก็บผลิตภัณฑ์ไซคลาเมต ในอุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ห้ามเก็บในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บผลิตภัณฑ์ไซคลาเมตให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ไซคลาเมต มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ไซคลาเมตที่จำหน่ายในประเทศไทย มีชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Assugrin(แอสสุกริน)MCM Klosterfrau

อนึ่ง ชื่อการค้าของสารไซคลาเมตที่จำหน่ายในประเทศตะวันตก เช่น Sweet N' Low, Sucaryl, Assugrin, Sugromax

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_cyclamate [2016,Aug13]
  2. http://www.cyclamate.org/regulatorystatus.html [2016,Aug13]
  3. http://www.sugar-and-sweetener-guide.com/cyclamate.html [2016,Aug13]
  4. http://ec.europa.eu/food/fs/sc/scf/out53_en.pdf [2016,Aug13]