ไข้กระต่าย (Rabbit fever) ทูลารีเมีย (Tularemia)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 14 มีนาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- โรคไข้กระต่ายมีสาเหตุจากอะไร? ติดต่อได้ทางไหน?
- โรคไข้กระต่ายก่อโรคได้อย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้กระต่าย?
- โรคไข้กระต่ายมีอาการอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยโรคไข้กระต่ายได้อย่างไร?
- รักษาโรคไข้กระต่ายอย่างไร?
- โรคไข้กระต่ายมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- โรคไข้กระต่ายมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
- ป้องกันโรคไข้กระต่ายอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ไข้ อาการไข้ (Fever)
- ไทฟอยด์(Typhoid fever)
- เลือดออกในทางเดินอาหาร(Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)
- ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ(Infectious disease)
- แบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคไข้กระต่าย (Rabbit fever) หรืออีกชื่อคือ “โรคทูลารีเมีย (Tularemia)” คือโรคจาก ร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงชนิดหนึ่งจากสัตว์ที่ส่วนใหญ่อยู่ในประเภทสัตว์ฟันแทะ พบบ่อยจากกระต่าย เป็นโรคติดต่อที่สามารถก่อให้เกิดโรคระบาดได้จากเชื้อแบคทีเรียนี้ชื่อ Francisella tularensis (F. tularensis)
ทั้งนี้ร่างกายสามารถรับเชื้อแบคทีเรียนี้ได้จากหลายทาง เช่น ถูกหมัดสัตว์ที่เป็นโรคนี้กัด, ถูกสัตว์กลุ่มนี้กัดโดยตรง, ผ่านทางผิวหนังโดยผิวหนัง/เยื่อเมือกสัมผัสสารคัดหลั่งจากสัตว์ติดโรค, กินเนื้อสัตว์ติดโรคที่ไม่ปรุงสุกทั่วถึง เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไป ‘สาเหตุ และการติดต่อของโรค’) โดยอาการหลักมักเกิดหลังรับเชื้อประมาณ 3-5วัน(นานได้ถึง 21วัน) คือ ไข้สูงเฉียบพลัน, ปวดหัว, อาจมีต่อมน้ำเหลืองบวม/โตทั่วตัว
โรคไข้กระต่าย/ทูลารีเมีย เป็นโรคติดต่อจากสัตว์ประเภทสัตว์ฟันแทะสู่คน โดยส่วนใหญ่คือจากกระต่าย จึงได้ชื่อว่า “โรคไข้กระต่าย” ส่วนชื่อ “ทูลารีเมีย” ได้มาจากเมืองชื่อ Tulare ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาที่เป็นเมืองแรกที่รายงานโรคนี้โดยพบโรคในกระรอกในปี ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2454)
โรคไข้กระต่าย/ทูลารีเมีย เป็นโรคพบบ่อยใน อเมริกาเหนือ ยุโรป ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย และ บางประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น, มีรายงานน้อยมากถึงไม่พบโรคในอัฟริกา และในอเมริกาใต้
ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนถึงการเกิดโรคนี้ แต่มีรายงานพบผู้สงสัยเป็นโรคนี้ 1 รายและเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2550 ที่ประจวบคีรีขันธ์โดยเชื่อว่าอาจเกิดจากการสัมผัสกระต่ายที่สั่งมาจากต่างประเทศ
โรคไข้กระต่าย/ทูลารีเมีย พบเกิดในทุกเพศ ผู้ชายพบสูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย พบทุกวัยแต่วัยที่มีโอกาสสัมผัสโรคสูงกว่า คือ วัยหนุ่มสาว และ ผู้ใหญ่
โรคไข้กระต่ายมีสาเหตุจากอะไร? ติดต่อได้ทางไหน?
โรคไข้กระต่าย/ทูลารีเมีย เกิดจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ Francisella tularensis (F. tularensis)ซึ่งแบ่งเป็น 4 ชนิดย่อยที่มีความรุนแรงโรคต่างกัน ได้แก่
- Subtype A (Biovar tularensis)
- Sub type B (Biovar palearctica)
- Subtype Novicida
- Subtype Biovar mediasiatica
โดย :
- เชื้อชนิด เอ/A เป็นชนิดรุนแรงที่สุด และเป็นสาเหตุให้ตายได้จากการก่อให้เกิดปอดอักเสบ/ปอดบวม
- ส่วนชนิด บี/B และชนิด Novicida เป็นชนิดไม่รุนแรง และ
- ชนิด Biovar mediasiatica เป็นชนิดที่แพทย์มีข้อมูลที่ไม่แน่ชัด
แต่อย่างไรก็ตาม ทุกชนิดของเชื้อที่ก่อโรค มีธรรมชาติของโรคเหมือนกัน ต่างกันแต่ที่ความรุนแรง (การพยากรณ์โรค)
เชื้อโรคไข้กระต่าย สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานใน ดิน โคลน ซากสัตว์ และอยู่ได้เป็นปีเมื่อถูกแช่แข็ง
ทั้งนี้ เชื้อถูกทำลายได้ในน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วๆไป เช่น 70% แอลกอฮอล์, และ Formaldehyde, และจากความร้อนที่อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียส (Celsius)นานประมาณ 15 นาที, หรือจากการอบที่อุณหภูมิ 100 - 170 องศาเซลเซียสนานประมาณ 1 ชั่วโมง
โรคไข้กระต่าย/ทูลารีเมีย มีสัตว์ฟันแทะเป็นรังโรคทั้งที่เป็นสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง (เช่น กระต่าย กระรอก หนู บีเวอร์) แต่พบบ่อยจากกระต่าย
อย่างไรก็ตาม สามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิด เช่น กวาง วัว ควาย แกะ และสัตว์กินเนื้อต่างๆ เช่น แมว โดยมีหมัด เห็บ ไร ของสัตว์เหล่านี้เป็นพาหะโรค
โรคไข้กระต่าย/ทูลารีเมีย เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ไม่ติดต่อจากคนสู่คน โดยคนติดโรคได้จาก
- ถูกหมัด เห็บ ไร สัตว์ กัด
- การสัมผัสทางผิวหนังและ/หรือทางเนื้อเยื่อเมือก (เช่น ใช้มือที่สัมผัสโรคเช็ดตา) จากสัมผัสตัวสัตว์โดยตรง, เนื้อสัตว์, สารคัดหลั่งของสัตว์ที่ติดโรค, ทั้งจากที่เรามีแผลหรือไม่มีแผล รวมถึงการสัมผัสซากสัตว์ของสัตว์ติดโรค
- การสัมผัส ดิน โคลน แหล่งน้ำ ที่ปนเปื้อนอุจจาระ ปัสสาวะ สารคัดหลั่ง ซากสัตว์ ที่ติดโรค
- ทางการหายใจ รวมทั้งจากฝุ่นละอองที่เชื้อโรคปนอยู่
- ทาง อาหาร น้ำดื่ม การกินเนื้อสัตว์ติดโรค และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงสุกๆดิบๆ
- ถูกสัตว์ติดโรคกัด
- จากการใช้เชื้อนี้เป็นอาวุธสงคราม
โรคไข้กระต่ายก่อโรคได้อย่างไร?
แปลกปลอมรวมถึงเชื้อโรคที่ชื่อว่า ‘Macrophage’ และเชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากมายในเม็ดเลือดขาวนี้
ต่อจากนั้นเชื้อในเม็ดเลือดขาวเหล่านี้ จะแพร่กระจายตามเม็ดเลือดขาวเข้าสู่กระแสโลหิตและระบบน้ำเหลืองที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เช่น ปอด ตับ ม้าม และต่อมน้ำหลืองทั่วตัว ซึ่งก่อให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆทั่วตัวและอาจเกิดเป็นหนองได้ ซึ่งถ้าเกิดการอักเสบในอวัยวะสำคัญ เช่น ปอด จะก่อให้เกิดปอดอักเสบ/ปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุให้ตายได้สูงถึงประมาณ 50% ของผู้ป่วย
ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคไข้กระต่าย?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไข้กระต่าย/ทูลารีเมีย คือ ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรีย F. tularensis ได้สูง เช่น
- ผู้เลี้ยงสัตว์ ทำฟาร์มสัตว์
- ทำสวน เพราะเชื้อที่ปนเปื้อนจากสารคัดหลั่งของสัตว์อาจปนเปื้อนในดิน
- นักล่าสัตว์
- คนขายเนื้อ ขายสัตว์
- ผู้ขนส่งสัตว์ /เนื้อสัตว์
- สัตวแพทย์
- ผู้ทำงานในห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับเชื้อนี้
- ผู้เดินทางท่องเที่ยวในถิ่นของโรคนี้
โรคไข้กระต่ายมีอาการอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
โรคไข้กระต่าย/ทูลารีเมีย มีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 3 - 21 วัน แต่โดยทั่วไปจะประมาณ 3 - 5 วัน ทั้งนี้อาการและอาการแสดง พบได้ 6-7 แบบ/ลักษณะ ได้แก่
ก. Ulceroglandular form: เป็นการติดเชื้อในแบบมีแผลที่ผิวหนังและมีต่อมน้ำ เหลืองโตคลำพบได้ เป็นแบบที่พบบ่อยที่สุดประมาณ 75-80% ของผู้ป่วยทั้งหมด เป็นแบบที่เกิดจากติดเชื้อทางผิวหนัง จากถูก หมัด เห็บ ไร สัตว์ป่วยกัด หรือติดเชื้อจากการเกา ผิวหนังมีแผล โดยเชื้อจะเข้าสู่ผิวหนังและเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองโดยตรง อาการที่พบคือ
- มีไข้สูงเฉียบพลัน
- หนาวสั่น
- ปวดหัว
- อ่อนเพลีย และ
- ตรวจร่างกายพบมีแผลที่ติดเชื้อ และมีต่อมน้ำเหลือง อาจทั่วตัว โตและเจ็บ
ข. Glandular form: เป็นการติดเชื้อเฉพาะต่อมน้ำเหลือง/ต่อมน้ำเหลืองบวม พบอาการและอาการแสดงเช่นเดียวกับแบบ Ulceroglandular form ยกเว้นไม่พบแผลที่ผิวหนัง อาการกลุ่มนี้พบได้น้อย
ค. Oculoglandular form: เป็นการติดเชื้อที่ตาร่วมกับมีต่อมน้ำเหลืองโต เป็นการติดเชื้อแบบที่พบได้น้อย โดยเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อตา มักจากการขยี้ตาจากมือที่ติดเชื้อ หรือสิ่งของที่ติดเชื้อสัมผัสตา เช่น ผ้าเช็ดหน้า บางครั้งจากสารต่างๆที่ติดเชื้อกระเด็นเข้าตา เช่น เลือด น้ำมูก น้ำลายสัตว์ อาการและอาการแสดงที่พบได้คือ
- ปวดตา
- ตาแดง
- ตาบวม
- มีขี้ตา
- ตาพร่า
- อาจเห็นภาพผิดปกติ (พบน้อย)
- พบแผลติดเชื้อที่เยื่อตา
- มีต่อมน้ำเหลือโต เจ็บ มักเป็นต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอ และ/หรือที่หน้าใบหู
ง. Oropharyngeal form: เป็นการติดเชื้อที่มีรอยโรคในช่องปากและคอหอย เป็นโรคแบบที่พบได้น้อยเช่นกัน โดยติดเชื้อจากการบริโภค ซึ่งอาการและอาการแสดงที่พบได้แก่
- มีไข้สูงเฉียบพลัน
- เจ็บคอ
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ท้องเสีย
- พบแผลในช่องปาก คอหอย ลำคอ
- ถ้าอาการรุนแรง อาจพบมีเลือดออกในทางเดินอาหาร รวมทั้งอาจมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโต เจ็บ
จ. Pneumonic form: เป็นการติดเชื้อที่ปอด เป็นโรคในแบบที่พบได้น้อย ติดเชื้อจากทางการหายใจ มักพบในผู้สูงอายุ คนที่ทำงานในห้องปฏิบัติการ และมักเกิดร่วมกับการติดเชื้อนี้ในกระแสเลือด/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด/ ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ เป็นโรคที่รุนแรงที่สุด และเป็นสาเหตุตายสูง อาการและอาการแสดงที่พบได้คือ
- ไข้สูง
- ไอมักไม่มีเสมหะ (แต่มีเสมหะก็ได้)
- เจ็บหน้าอก
- หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- เอกซเรย์ปอดพบปอดบวม เป็นจุดๆกระจายได้ทั่วทั้งปอด และ/หรือปอดบวมทั้งกลีบ (Lobar pneumonia) และมักพบมีภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (มักเป็นน้ำเลือด)
ฉ. Typhoidal form หรือ Septicemia form: เป็นการติดเชื้อที่โรคกระจายทั่วตัวตามกระแสโลหิต/ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ที่มีอาการคล้ายโรคไทฟอยด์ เป็นโรคแบบที่พบได้ประมาณ 10 - 15% ของผู้ป่วย เป็นการติดเชื้อที่รุนแรงที่สุดเช่นกัน มักพบร่วมกับการติดเชื้อที่ปอด/ปอดบวม เชื่อว่าเป็นการติดเชื้อจากการบริโภคแล้วเชื้อผ่านจากลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด อาการและอาการแสดงจะคล้ายกับในโรคไข้ไทฟอยด์ คือ
- มีไข้สูงเฉียบพลัน
- อ่อนเพลียมาก
- อาเจียน
- ท้องเสีย
- ตับโต
- ม้ามโต และ
- มักมีปอดอักเสบ/ปอดบวมร่วมด้วย
ช. แพทย์บางท่านแบ่งเพิ่มอีกลักษณะ คือกลุ่มที่มีอาการทางระบบทางเดินอาหารเด่นกว่าอาการอื่น(Intestinal form) เช่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย
นอกจากการติดเชื้อในแบบ/ลักษณะดังกล่าวทั้ง 6-7 แบบแล้ว ยังสามารถพบการติดเชื้อนี้ได้ใน
- ในระบบประสาท (เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และ/หรือ ฝีในสมอง)
- ในช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ)
- เยื่อหุ้มหัวใจ (เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ)
- เยื่อบุหัวใจ (เยื่อบุหัวใจอักเสบ)
- กระดูก (กระดูกอักเสบ)
- การติดเชื้อในประสาทตา (ประสาทตาอักแสบ) ร่วมด้วยเพียงแต่พบได้น้อย
อนึ่ง เมื่อมีประวัติสัมผัสสัตว์ทุกชนิดโดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะที่ป่วย และผู้สัมผัสเกิดมีอาการผิดปกติดังกล่าว เช่น มีไข้เฉียบพลัน มีแผลและ/หรือมีต่อมน้ำเหลืองโต ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยโรคไข้กระต่ายได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไข้กระต่าย/ ทูลารีเมีย ได้จาก
- การซักประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ ประวัติอาการ ประวัติการสัมผัสโรค การงาน อาชีพ
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อการสืบค้นตามอาการและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- ตรวจเลือดหา สารภูมิต้านทาน และ/หรือ สารก่อภูมิต้านทานของโรคนี้
- การเพาะเชื้อ (แต่โอกาสไม่พบเชื้อสูง)จากเลือด, เสมหะ, น้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด, และ/หรือจากต่อมน้ำเหลืองที่โต,
- การตัดชิ้นเนื้อจากแผลและ/หรือจากต่อมน้ำเหลืองที่โตเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาโรคไข้กระต่ายอย่างไร?
การรักษาโรคไข้กระต่ายคือ การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ และการรักษาประคับประคองตามอาการ (การรักษาตามอาการ)
ก. ยาปฏิชีวนะ: ที่ใช้รักษาโรคนี้ได้ผลดีมีหลายชนิด เช่นยา Streptomycin, Tetracycline และ Amikacin
ข. การรักษาตามอาการ: เช่น
- การให้ยาลดไข้ กรณีมีไข้
- การให้สารน้ำ/สารอาหารทางหลอดเลือดดำกรณีบริโภคได้น้อย
- การทำแผล/รักษาความสะอาดแผลกรณีมีแผลที่ผิวหนัง
โรคไข้กระต่ายมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้จากโรคไข้กระต่าย/ทูลารีเมีย ได้แก่
- ภาวะไตวายเฉียบพลัน และ
- การติดเชื้อในระบบต่างๆของร่างกายดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ เช่น ติดเชื้อใน ปอด กระดูก ระบบประสาท เยื่อหุ้มหัวใจ และประสาทตา
โรคไข้กระต่ายมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของโรคไข้กระต่าย/ ทูลารีเมีย ขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ
- ชนิดของเชื้อสายพันธุ์ย่อย
- จำนวนเชื้อที่ร่างกายได้รับว่ามากหรือน้อย
- ชนิดของอาการ/ของการติดเชื้อว่าเป็นแบบไหน ดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’
- อายุ (ผู้สูงอายุโรครุนแรงกว่า)
- การมีโรคประจำตัว และ
- การพบแพทย์เร็วหรือช้า
โดยทั่วไป ถ้าไม่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรครุนแรง เมื่อได้รับยาปฏิชีวนะ โรคหายได้ภายในระยะเวลาประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ ซึ่งอัตราตาย อยู่ที่ประมาณ 2 - 5%
แต่ถ้าเป็นโรคที่มีการติดเชื้อที่ปอด และ/หรือมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด มีโอกาสตาย ได้สูงขึ้น คือ ประมาณ 10 - 50% ขึ้นกับปัจจัยต่างๆดังกล่าวในตอนต้นหัวข้อนี้
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยด้วยโรคไข้กระต่าย/ ทูลารีเมีย คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา กินยาให้หมดตามที่แพทย์สั่ง ถึงแม้อาการจะหายแล้ว
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัด
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง
- มีอาการที่ผิดไปจากเดิม และ/หรือ
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคไข้กระต่ายอย่างไร?
ทั่วไป การป้องกันโรคไข้กระต่าย/ทูลารีเมีย ได้แก่
- รักษาความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะมือเมื่อสัมผัสสัตว์รวมถึงสัตว์เลี้ยง
- ดูแลสัตว์เลี้ยงไม่ให้มี หมัด เห็บ ไร รวมทั้งหาทางป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงสัมผัสสัตว์ป่วยหรือสัตว์อื่นที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยง
- เมื่อมีสัตว์ป่วย ต้องดูแลรักษาความสะอาดให้ดี ป้องกันการติดเชื้อต่างๆจากสัตว์
- ระมัดระวังการถูกกัดจาก หมัด เห็บ ไร โดยเฉพาะในการเดินทางท่องเที่ยวหรือไปในถิ่นของโรค
- รักษากฎในการป้องกันการติดโรคอย่างเคร่งครัดเมื่อมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสัตว์
- ในการทำสวนที่บ้านควรต้องใช้ถุงมือยางและถุงเท้ายางเพื่อป้องกันการสัมผัสดินที่อาจปนเปื้อนเชื้อ
- ปัจจุบันมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคนี้ แต่แพทย์แนะนำฉีดเฉพาะคนกลุ่มเสี่ยงและเฉพาะ เท่าที่จำเป็น เพราะเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live attenuated vaccine) จึงอาจมีผลข้างเคียงได้สูงโดยเฉพาะการติดเชื้อนี้จากวัคซีนที่ฉีด และเนื่องจากเป็นโรคพบ ได้น้อยในคนทั่วไป การใช้วัคซีนในคนทั่วไปจึงไม่คุ้มค่าและอาจเสี่ยงจากผลข้าง เคียงของวัคซีนโดยไม่จำเป็น
บรรณานุกรม
- วิมล เพชรกาญจนาพงศ์: http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_nih/a_nih_1_001c.asp?info_id=1390 [2021,March13]
- Bratton,K. et al. (2005). Tick-borne disease. Am Fam Physician. 71,2323-2330 [2021,March13]
- https://emedicine.medscape.com/article/230923-overview#showall [2021,March13]
- https://www.wikidoc.org/index.php/Tularemia_pathophysiology [2021,March13]
- https://www.cdc.gov/tularemia/ [2021,March13]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Tularemia [2021,March13]
- https://www.pidst.or.th/userfiles/f23.pdf [2021,March13]