ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) เป็นกลุ่มยาขับเสมหะที่มีขายในร้านขายยาทั่วไป และมีการ ใช้มานานร่วม 6 ทศวรรษ โดยช่วยบรรเทาอาการไอชนิดมีเสมหะ รักษาและบรรเทาอาการโรคเก๊าต์ ในบางครั้งยังเป็นที่นิยมใช้ในหมู่นักร้อง อย่างไรก็ตามจัดเป็นยาอันตราย และต้องได้รับคำ แนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้เสมอ

ยาไกวเฟนิซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไกวเฟนิซิน

ยาไกวเฟนิซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • เพื่อบรรเทาอาการไอจากโรคหวัด และไอมีเสมหะ

ยาไกวเฟนิซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไกวเฟนิซินคือ การกระตุ้นขับสารคัดหลั่งออกมาจากหลอดลม และทำให้เสมหะอ่อนตัวไม่ข้นเหนียว จึงง่ายในการขับออกจากหลอดลม ลำคอ และโพรงจมูก กลไกอีกชนิดคือช่วยขับเสมหะ โดยหลังจากได้รับยาไกวเฟนิซิน ขนกวัดหรือขนเซลล์ (Cilia) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเซลล์ท่อทางเดินหายใจจะพัดโบกได้ดีขึ้น และสามารถพัดโบกเอาสิ่งแปลก ปลอม/เสมหะออกจากท่อทางเดินหายใจได้ดีขึ้น

ยาไกวเฟนิซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไกวเฟนิซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลเจลในรูปผสมกับยาอื่น ขนาด 200 มิลลิกรัม
  • ยาเม็ดในรูปผสมกับยาอื่น ขนาด 50, 100 และ 200 มิลลิกรัม
  • ยาน้ำในรูปผสมกับยาอื่น ขนาด 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)

ยาไกวเฟนิซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

มีขนาดการใช้ยาไกวเฟนิซินที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นกับ อายุ, ความรุนแรงของอาการ,

และสภาวะความเจ็บป่วยของร่างกาย, ดังนั้นจึงควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยสั่งจ่ายยาที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อยากินเอง

อนึ่ง:

  • ขนาดสูงสุดของยาไกวเฟนิซินที่รับประทานในผู้ใหญ่ต้องไม่เกิน 2.4 กรัม/วัน โดยแบ่งรับ ประทานทุก 4 ชั่วโมง แต่
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้ควรต้องเป็นคำแนะนำจากแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาไกวเฟนิซินควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาไกวเฟนิซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดและอาการจากการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่นหรือ แน่น/หายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • โรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไกวเฟนิซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาหลายชนิดอาจผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนมมารดา และเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้

หากลืมรับประทานยาไกวเฟนิซินควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไกวเฟนิซิน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไปให้รับประทานขนาดปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาไกวเฟนิซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)จากยาไกวเฟนิซิน เช่น

  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • อาจพบ
    • ผื่นคัน
    • อาการบวม และ
    • เพิ่มโอกาสเกิดนิ่วในไตได้

มีข้อควรระวังการใช้ยาไกวเฟนิซินอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาไกวเฟนิซิน เช่น

  • ระวังการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในสภาวะให้นมบุตร
  • การใช้ยานี้กับผู้ที่มีอาการไอจากการสูบบุหรี่มักจะไม่ค่อยได้ผล
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาไกวเฟนิซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไกวเฟนิซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยังไม่พบว่า ยาไกวเฟนิซินมีปฏิกิริยาระหว่างยาร่วมกับยาอื่น

ควรเก็บรักษายาไกวเฟนิซินอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาไกวเฟนิซิน เช่น

  • เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด
  • เลี่ยงการเก็บยาในที่ชื้น
  • สามารถเก็บยาที่อุณหภูมิห้องได้
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
  • ไม่ควรเก็บยาที่หมดอายุ ควรทำลายทิ้ง และ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาไกวเฟนิซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ชื่อทางการค้าของยาไกวเฟนิซิน และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
ALLERIN (อัลเอลริน)United American
ANTUSSIA (แอนทัสเซีย)Asian Pharm
ANTUSSIA SYRUP (แอนทัสเซีย ไซรัป)Asian Pharm
ASIABRON (เอเซียบรอน)Asian Pharm
ASMALINE (แอสมาไลน์)Polipharm
BEPENO – G (เบพพีโน – จี)Milano
BIOVENT (ไบโอเวนท์)Biomedis
BROMESEP (บรอมมีเซพ)Siam Bheasach
BROMTUSSIA (บรอมทัสเซีย)Asian Pharm
BRONCHIL (บรอนซิล)Siam Bheasach
BRONCHONYL (บรอนโคนิล)Pharmasant Lab
BRONCHOPREX (บรอนโคเพรกซ์)Kenyaku
BRONPECT – D (บรอนเพกซ์ – ดี)Kenyaku
CO – COF (โค – คอฟ)Millimed
COFBRON (คอฟบรอน)Macro Phar
COHISTAN EXPECTORANT (โคฮีสแทน เอกซ์เพกโทแรนท์)Pediatrica
D – COATE (ดี – โคท)B L Hua
DEXTRO COUGH SYRUP (เดกซ์โทร คอกซ์ ไซรัป)Osoth Interlab
FARTUSSIN (ฟาร์ทัสซิน)Farmaline
GENTUSSIN (เจนทัสซิน)General Drugs House
GLYCOLATE (ไกลโคเลท)Pharmasant Lab
GLYRYL (ไกลริล)Pharmasant Lab
ICOLID CPM (ไอโคลิด ซีพีเอ็ม)Greater Pharma
ICOLID EXPECTORANT (ไอโคลิด เอ็กซ์เพกโทแรนท์)Greater Pharma
KUPA (คูปา)M & H Manufacturing
MEDITAPP (เมดิแทป)Medifive
NEOPECT (นีโอเป็กซ์)Masa Lab
POLYPHED (โพลีเฟด)Pharmasant Lab
QUALITON (ควอลิตัน)T.O. Chemicals
ROBITUSSIN (โรบิทัสซิน)Wyeth Consumer Healthcare
ROBITUSSIN DM (โรบิทัสซิน ดีเอ็ม)Wyeth Consumer Healthcare
ROBITUSSIN ME (โรบิทัสซิน เอ็มอี)Wyeth Consumer Healthcare
ROBITUSSIN PS (โรบิทัสซิน พีเอส)Wyeth Consumer Healthcare
ROPECT (โรเป็กซ์)R P Scherer
ROTUSS (โรทัสส์)R P Scherer
SALMOL EXPECTORANT (ซัลมอล เอ็กซ์เพกโทแรนท์)Biolab
TERCO – C (เทอร์โค – ซี)B L Hua
TERCO – D (เทอร์โค – ดี)B L Hua
TUSNO (ทัสโน)Milano
TUSSA (ทัสซา)Silom Medical
VENTOLIN EXPECTORANT (เวนโทลิน เอ็กซ์เพกโทแรนท์)Glaxo Smith Kline

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Guaifenesin [2020,Oct10]
2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/guaifenesin/?type=brief&mtype=generic[2020,Oct10]