ไกลโฟเสท (Glyphosate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สารไกลโฟเสท (Glyphosate)มีชื่อทางเคมีอีกอย่างหนึ่งว่า N-(phosphonomethyl)glycine (C3H8NO5P) เป็นสารประกอบสังเคราะห์ที่ใช้เป็นยากำจัดวัชพืช แต่ก็สามารถทำลายพืชผลทางการเกษตรได้เช่นเดียวกัน ไกลโฟเสทเป็นสารอินทรีย์ที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบและมีจัดการจัดเรียงโครงสร้างโมเลกุลที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ฟอสโฟเนท (Phosphonate) สารประกอบนี้สามารถเข้ายับยั้งการทำงานเอนไซม์ในพืชที่มีชื่อว่า 5-enolpyruvylshikimate-3-phosphate synthase ทำให้ปฏิกิริยาเคมีที่ช่วยในการเจริญเติบโตของพืชเสียไป

ไกลโฟเสทถูกคิดค้นเมื่อปี ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) โดยบริษัทมอนซานโต(Monsanto) สหรัฐอเมริกา และวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Roundup

มีการใช้ไกลโฟเสท เป็นเวลาหลายสิบปีจนกระทั่งปี ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้ออกประกาศว่า สารประกอบไกลโฟเสทมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นการเกิดมะเร็งในมนุษย์ ภายใน 1 ปีต่อมา นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการพิสูจน์อย่างแน่ชัดว่าสารประกอบชนิดนี้ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดมะเร็ง แต่จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ ‘ตา’อย่างรุนแรง และก่อให้เกิดพิษต่อสัตว์น้ำ

นอกจากนี้ ไกลโฟเสท ยังทำให้แบคทีเรียบางชนิดในดินลดจำนวนลงจนเกิดการเสียสมดุลและส่งผลให้แบคทีเรียบางประเภทเพิ่มปริมาณมากขึ้น

ไกลโฟเสทสามารถส่งผลกระทบต่อสัตว์ที่จัดว่าเป็นเกษตรกรตามธรรมชาติ อย่างเช่น ไส้เดือน รวมถึงแมลงที่ช่วยผสมเกสรดอกไม้อย่างเช่น ผึ้ง

ปัจจุบันภาคเกษตรอินทรีย์เข้ามามีบทบาทและเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภค การไถ่กลบวัชพืชเพื่อหมุนเวียนให้กลับมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์แทนการใช้สารเคมีเป็นวิธีลดการปนเปื้อนและได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งเรามักจะคุ้นเคยกับคำพูดที่ว่า ‘ผักปลอดสาร/ ผักปลอดสารพิษ’นั่นเอง

ประโยชน์ของไกลโฟเสทมีอะไรบ้าง?

ไกลโฟเสท

ไกลโฟเสท ใช้เป็นยากำจัดวัชพืชจำพวกหญ้าชนิดต่างๆ โดยมากให้ใช้ในพื้นที่ที่ไม่ได้ทำการเกษตร เช่น พื้นดินในบริเวณโรงงานอุตสาหกรรม การนำไปใช้กับแปลงเกษตรโดยไม่มีการศึกษาประโยชน์และโทษอย่างชัดเจน สามารถส่งผลกระทบต่อพืชที่เพาะปลูกตลอดจนเกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในดินและแหล่งน้ำตามมา

ผลเสียของไกลโฟเสทต่อมนุษย์มีอะไรบ้าง?

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการตัดต่อพันธุกรรมพืชหลายชนิดซึ่งทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ๆที่ทนต่อไกลโฟเสท เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด คาโนลา อัลฟาลฟา บีท ฝ้าย สำหรับข้าวสาลียังอยู่ในช่วงพัฒนาสายพันธุ์

กรณีที่ใช้ ไกลโฟเสท ในฟาร์มเกษตรของถั่วเหลือง ข้าวโพด คาโนลา ที่เป็นพืชตัดแต่งพันธุกรรม และมนุษย์หรือสัตว์นำมาใช้บริโภคก็มีโอกาสที่จะได้รับไกลโฟเสทเข้าสู่ร่างกายจนก่อให้เกิดอาการพิษดังนี้

  • การสัมผัสโดยตรงที่ผิวหนังจะทำให้รู้สึกระคายเคือง แสบร้อน
  • กรณีเข้าช่องปาก จะทำให้เกิดอาการแสบคัน ระคายเคือง
  • หากไกลโฟเสทเข้าตาจะเกิดการระคายเคืองและเยื่อตาอักเสบตามมา
  • กรณีสูดดมสามารถทำให้เกิด ภาวะน้ำท่วมปอด
  • กรณีร่างกายดูดซึมไกลโฟเสทเป็นปริมาณมากๆจะทำให้เกิดอาการช็อก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไตวาย มีระดับเกลือโปแตสเซียมในเลือดสูง เกิดภาวะเลือดเป็นกรด และเสียชีวิตในที่สุด

*****ดังนั้น หากพบอาการข้างต้นหลังการใช้ไกลโฟเสท ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือทันที ขึ้นกับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น

ใช้ยากำจัดวัชพืชอย่างไรจึงปลอดภัย?

วิธีใช้ยากำจัดวัชพืชที่รวมถึง ไกลโฟเสท ให้ปลอดภัย ได้แก่

1. อ่านคู่มือการใช้งานโดยละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

2. ผสมสัดส่วนหรือเตรียมยากำจัดวัชพืชอย่างเหมาะสมเพื่อเกิดประสิทธิภาพ ทำลายวัชพืชและก่อพิษต่อผู้ใช้งานน้อยที่สุด

3. สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลขณะเตรียมผสมและขณะใช้งาน เช่น

  • ใส่ถุงมือป้องกันสารเคมี
  • สวมแว่นป้องกันละอองเคมีเข้าตา
  • ใส่เสื้อผ้าหรือชุดคลุมสำหรับฉีดพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันการซึมผ่านเสื้อผ้า และเข้าสัมผัสกับผิวหนัง
  • ใส่หน้ากากกรองสารเคมีเพื่อป้องกันการสูดดมยากำจัดวัชพืชขณะทำงาน
  • สวมหมวกคลุมผม

4. ขณะฉีดพ่นยากำจัดวัชพืชควรอยู่เหนือทิศทางลม

5. อาบน้ำ สระผม ฟอกสบู่ ชำระร่างกายให้ทั่ว เพื่อชำระ ยากำจัดวัชพืชที่ติดค้างตามร่างกาย

6. ซักเสื้อผ้าชุดทำงานที่สวมใส่ขณะทำงานกับยากำจัดวัชพืช ห้ามซักล้างในคูคลอง ตามธรรมชาติโดยตรง

ควรเก็บรักษายากำจัดวัชพืชอย่างไร?

ควรเก็บยากำจัดวัชพืชที่รวมถึง ไกลโฟเสท ดังนี้ เช่น

  • เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด และความร้อน
  • สามารถเก็บภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็นและควรต้องอยู่ในสถานที่ที่ระบายอากาศได้ดี
  • เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ห้ามเก็บปะปนกับอาหารของมนุษย์หรืออาหารสัตว์
  • ห้ามทิ้งยากำจัดวัชพืชลงแม่น้ำหรือคูคลองตามธรรมชาติ หรือทิ้งลงพื้นดินโดยตรง

มีขั้นตอนปฐมพยาบาลอย่างไรเมื่อได้รับพิษจากยากำจัดวัชพืช?

มีขั้นตอนปฐมพยาบาลเมื่อได้รับพิษจากยากำจัดวัชพืชที่รวมถึง ไกลโฟเสท ดังนี้ เช่น

ก. กรณีรับประทาน:

  • หากผู้ป่วยยังมีสติ อาจให้รับประทาน ยาถ่านกัมมันต์ นม หรือทำให้อาเจียน ตามคำแนะนำของยากำจัดวัชพืชแต่ละชนิด แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที หากทำได้ ให้โทรแจ้งโรงพยาบาลล่วงหน้าว่า กำลังพาผู้ป่วยมาส่งหรืออยู่ในระหว่างการเดินทาง

ข. กรณีเข้าตา:

  • ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดต่อเนื่องนาน 15 นาที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันทีหลังจากนั้น เพื่อประเมินอาการของตา

ค. กรณีสัมผัสผิวหนัง:

  • ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนยากำจัดวัชพืชออกโดยเร็ว ล้างผิวหนังด้วยน้ำสะอาดเป็นปริมาณมากๆ การใช้สบู่ฟอกทำความสะอาดผิวหนังจะทำให้ปราศจากยากำจัดวัชพืชได้มากยิ่งขึ้น

ง.กรณีสูดดม:

  • รีบนำผู้ป่วยออกจากพื้นที่ที่มียากำจัดวัชพืชฟุ้งกระจายปนเปื้อนเพื่อให้ได้รับอากาศบริสุทธิ์โดยเร็ว สังเกตอาการผู้ป่วย ถ้าดูแล้วไม่ดีขึ้น ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที

*****ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย ต้องกระทำโดยเร็ว ไม่ปล่อยทิ้งเป็นเวลานานจนกระทั่งเกินเยียวยา

บรรณานุกรม

  1. http://www.pan-uk.org/glyphosate/ [2018,Oct20]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Glyphosate#Uses [2018,Oct20]
  3. https://www.westernfarmpress.com/grapes/herbicide-drift-how-avoid-it [2018,Oct20]