ไกลโคไพโรเลต (Glycopyrrolate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไกลโคไพโรเลต(Glycopyrrolate หรือ Glycopyrronium หรือ Glycopyrronium bromide หรือ Glycopyrronium Br)เป็นยาประเภทแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic drugs) มีฤทธิ์ลดสารคัดหลั่งของร่างกาย เช่น น้ำลาย เมือก/ เสมหะในช่องคอ การหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร รวมถึงการหลั่งเหงื่อของร่างกาย ยานี้มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่แตกต่างกันออกไปตามวัตถุประสงค์ทางคลินิก อาทิ ยาไกลโคไพโรเลตในรูปแบบยาฉีดจะใช้กับผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัดเพื่อช่วยลดสารคัดหลั่งใน ช่องปาก ช่องคอ กระเพาะอาหาร และมีส่วนช่วยให้ทางเดินหายใจเปิดโล่งขณะที่ผู้ป่วยได้รับยาสลบ นอกจากนี้ผู้ป่วยด้วยแผลในกระเพาะอาหารยังใช้ฉีดหรือใช้แบบยารับประทานเพื่อลดการหลั่งกรดที่มากเกินไป หรือใช้เป็นยาสูดพ่นเพื่อบรรเทาอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ยานี้สามารถใช้ได้ทั้งกับผู้ใหญ่และกับเด็ก แต่ขนาดการใช้ยาต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ ทั้งนี้ ตัวยาไกลโคไพโรเลตสามารถอยู่ในร่างกายได้นาน 0.6–1.2 ชั่วโมง ก็จะถูกกำจัดออกโดยผ่านทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะเสียเป็นส่วนมาก

มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่เหมาะกับการใช้ยาไกลโคไพโรเลต เช่น

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วย โรคต้อหิน ผู้ป่วยทางเดินปัสสาวะปิดกั้น/ทางเดินปัสสาวะอุดตัน ผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินอาหารอุดตัน/ลำไส้อุดตัน ผู้ป่วยภาวะลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง ผู้ป่วยด้วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ห้ามใช้ยาไกลโคไพโรเลตกับผู้ที่ใช้ยาโปแตสเซียมชนิดรับประทาน เช่น Potassium chloride ด้วยจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร นอกจากจะมีคำสั่งจากแพทย์

ทั้งนี้ ยังมีข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่ได้รับยาชนิดนี้ที่ควรปฏิบัติเพื่อลดผลข้างเคียง และเป็นการหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้ยาไกลโคไพโรเลต อาทิ

  • หากมีอาการวิงเวียนเกิดขึ้นหลังใช้ยาผู้ป่วย ต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่พาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามรับประทานยาไกลโคไพโรเลตร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์เพราะจะ ทำให้มีอาการวิงเวียนอย่างรุนแรงตามมา
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีอากาศร้อนจัด ด้วยยาไกลโคไพโรเลตจะทำให้การหลั่งเหงื่อน้อยลงจนก่อให้เกิดอาการไข้ หรือทำให้เกิดภาวะลมแดด
  • กรณีที่รู้สึกปากแห้งหลังได้รับยานี้ สามารถดื่มน้ำตามเพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว
  • กรณีใช้ยาไกลโคไพโรเลตกับผู้สูงอายุ ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษด้วยเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • ห้ามใช้ยาไกลโคไพโรเลตชนิดฉีดกับทารกแรกเกิด ด้วยในสูตรตำรับมีส่วนผสของเบนซิล แอลกอฮอล์(Benzyl alcohol) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อระบบประสาทของทารกอย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้รักษาอาการแผลในกระเพาะอาหารกับผู้ป่วยเด็ก เพราะถึงแม้ยาไกลโคไพโรเลตช่วยยับยั้งการหลั่งกรดได้ก็จริง แต่ขนาดยาที่ใช้กับเด็กเพื่อลดการหลั่งกรดใน กระเพาะอาหารยังไม่ได้รับการยืนยันความปลอดภัย
  • *กรณีผู้ป่วยได้รับยาไกลโคไพโรเลตเกินขนาดจะเกิดอาการตาพร่า มีลมชัก หายใจขัด/หายใจลำบาก ปากแห้ง รูม่านตาขยาย กระหายน้ำมาก ใบหน้าแดง ตัวร้อน ผิวแห้ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้ กระสับกระส่าย วิงเวียนมาก ง่วงนอนและอาเจียน ซึ่งหากพบเหตุการณ์ดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

ในประเทศไทยเราจะพบเห็นยาไกลโคไพโรเลต เป็นลักษณะยาฉีด ซึ่ง คณะกรรมการอาหารและยา ได้ระบุให้ยาไกลโคไพโรเลตอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ โดยการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่เพียงผู้เดียว

ไกลโคไพโรเลตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ไกลโคไพโรเลต

ยาไกลโคไพโรเลตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้ลดสารคัดหลั่งของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ด้วยมีฤทธิ์ลดการหลั่งกรดของกระเพราะอาหาร
  • ลดการหลั่งน้ำลายมากเกินไปของต่อมน้ำลาย

ไกลโคไพโรเลตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาไกลโคไพโรเลตมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Acetylcholine มีผลลดสารคัดหลั่งต่างๆของร่างกาย อาทิ น้ำลาย น้ำเมือกในช่องคอรวมถึงเสมหะในช่องทางเดินหายใจ นอกจากนี้ยังส่งผลลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ลดการขับเหงื่อของต่อมเหงื่อที่ผิวหนัง จากกลไกนี้เองจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

ไกลโคไพโรเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไกลโคไพโรเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Glycopyrrolate ขนาด 1 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดที่ประกอบด้วย Glycopyrrolate ขนาด 0.2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ไกลโคไพโรเลตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดการใช้ยา/การบริหารยาไกลโคไพโรเลต เฉพาะชนิดที่มีจำหน่ายในประเทศไทย คือ ยาฉีด ดังนี้ เช่น

ก. สำหรับฉีดให้ผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยา 0.004 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้ากล้ามเนื้อก่อนวางยาสลบประมาณ 30–60 นาที และในระหว่างการผ่าตัด อาจฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดดำ ขนาด 0.1 มิลลิกรัม โดยฉีดให้ผู้ป่วยทุกๆ 2–3 นาที เท่าที่จำเป็นตามดุลพินิจของแพทย์
  • เด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: ฉีดยา 0.004 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้ากล้ามเนื้อก่อนวางยาสลบประมาณ 30–60 นาที และในระหว่างการผ่าตัดอาจฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดดำขนาด 0.004 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมแต่ห้ามใช้ยาเกิน 0.1 มิลลิกรัม โดยฉีดให้ทุกๆ 2–3 นาที เท่าที่จำเป็นตามดุลพินิจของแพทย์
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ฉีดยา 0.009 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้ากล้ามเนื้อประมาณ 30–60 นาที ก่อนเข้ารับการผ่าตัด

ข.สำหรับรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยา 0.1 มิลลิกรัม เข้าหลอดเลือดดำ หรือเข้ากล้ามเนื้อทุกๆ 4 ชั่วโมง วันละ 3 – 4 ครั้ง
  • เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาไกลโคไพโรเลต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคต้อหิน โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคทางเดินอาหาร/ลำไส้อุดตัน ลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไกลโคไพโรเลตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ไกลโคไพโรเลตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไกลโคไพโรเลตสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการท้องผูก ท้องอืด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย วิงเวียน นอนไม่หลับ รู้สึกสับสน
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะช้า ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น จมูกแห้ง ไซนัสอักเสบ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ลดการหลั่งเหงื่อ ผิวแห้ง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า รูม่านตาขยาย
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น สำหรับสตรีในภาวะให้นมบุตรที่ได้รับยานี้จะทำให้การหลั่งน้ำนมลดลง

มีข้อควรระวังการใช้ไกลโคไพโรเลตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไกลโคไพโรเลต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีผงในน้ำยา
  • ห้ามใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกินคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็กแรกเกิด
  • ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไกลโคไพโรเลตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ไกลโคไพโรเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไกลโคไพโรเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาไกลโคไพโรเลตร่วมกับยา Topiramate , Zonisamide, ด้วยจะทำให้การขับเหงื่อของร่างกายลดลงจนเป็นเหตุให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจนอาจเกิดอาการไข้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไกลโคไพโรเลตร่วมกับยา Clemastine , Diphenhydramine, Hyoscyamine, ด้วยจะทำให้มีอาการ ง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง ใบหน้าแดง เกิดอาการไข้ ปัสสาวะขัด และเป็นตะคริวบริเวณช่องท้องตามมา
  • ห้ามใช้ยาไกลโคไพโรเลตร่วมกับยา Fentanyl ด้วยจะทำให้มีอาการวิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ และสูญเสียการครองสติตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไกลโคไพโรเลตร่วมกับยา Phenylephrine ด้วยจะทำให้ ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจ ผิดปกติ

ควรเก็บรักษาไกลโคไพโรเลตอย่างไร?

ควรเก็บยาไกลโคไพโรเลตภายใต้คำแนะนำของเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

ไกลโคไพโรเลตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไกลโคไพโรเลต มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น ชื่อการค้า

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Glyco-P (กลายโค-พี)Klab
Robinul (โรบินูล)First Horizon Pharmaceutical Corporation

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Robinul forte, Cuvposa, Glycate, Glyprolate

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/glycopyrrolate.html[2017,Sept23]
  2. https://www.drugs.com/pro/glycopyrrolate-injection.html[2017,Sept23]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/glycopyrrolate-index.html?filter=3&generic_only=[2017,Sept23]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/glyco-p/?type=brief[2017,Sept23]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Glycopyrronium_bromide[2017,Sept23]