ไกลซีน (Glycine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไกลซีน (Glycine) เป็นกรดอะมิโนหรือหน่วยย่อยของโปรตีนที่ร่างกายมนุษย์สามารถสัง เคราะห์ได้เองจากสารอาหารที่รับประทานเข้าไปเช่น เนื้อสัตว์และถั่วต่างๆ ยาไกลซีนถูกนำมาใช้ในทางคลินิกเพื่อรักษาอาการจิตเภท โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคต่อมลูกหมากโต บางกรณีถูกนำไปใช้ป้องกันไม่ให้ไตได้รับอันตรายจากยาต่างๆที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่ บางกรณีใช้ยาไกลซีนทาที่ผิวหนังโดยตรงเพื่อบำบัดอาการของบาดแผล

การออกฤทธิ์ของยาไกลซีนในร่างกายที่พบเห็นได้ง่ายจะเกิดที่สมอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการส่งสัญญาณของสารสื่อประสาท ทำให้เกิดการวิจัยการใช้ยาไกลซีนเพื่อช่วยฟื้นฟูความจำ และนำไปรักษาอาการของจิตเภท บางงานวิจัยจะพยายามใช้ยาไกลซีนรักษาอาการของโรคมะเร็งด้วยคุณสมบัติของไกลซีนที่ป้องกันการส่งเลือดไปหล่อเลี้ยงเนื้อร้ายหรือเซลล์มะเร็งนั่นเอง

นอกจากประโยชน์ด้านรักษาโรคแล้ว ยาไกลซีนยังก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงในแง่มุมของสารอาหารด้วยเช่นกันเช่น

  • ไกลซีนเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการชีวะสังเคราะห์ของสาร Creatine ซึ่งเป็นสารตัวที่ผลักดันและเป็นแหล่งสนับสนุนพลังงานให้กับกล้ามเนื้อทำให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงและมีปริมาณมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น
  • มีคุณสมบัติช่วยชะลอวัยด้วยจำนวน 1 ใน 3 ของคอลลาเจนในร่างกายประกอบด้วยไกลซีน คอลลาเจนเป็นกลุ่มโปรตีนจำเป็นที่ทำให้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันและผิวหนังมีความยืดหยุ่น
  • จากงานวิจัยพบว่ายาไกลซีนมีคุณสมบัติป้องกันภาวะช็อกของร่างกายเช่น กรณีเกิดการเสียเลือดอีกด้วย
  • ยาไกลซีนช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่ช่วยการเจริญเติบโตของร่างกาย

ทั้งนี้ ภาวะบางอย่างสามารถทำให้ร่างกายขาดสารไกลซีนได้เช่น ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบดูดซึมอาหาร การป่วยด้วยโรคมะเร็งหรือโรคเอดส์ ล้วนแล้วมีผลกระทบต่อสารไกลซีนในร่างกายทั้งสิ้น

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาไกลซีนมีลักษณะเป็นยาสารละลายน้ำปราศจากเชื้อโรคที่ใช้สวนล้างบาดแผลในระหว่างผ่าตัด ซึ่งมักพบการใช้ยาอยู่ในสถานพยาบาลเท่านั้น บางสูตรตำรับยาใช้ยาไกลซีนเป็นส่วนประกอบในยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดรับประทานอีกด้วย

ไกลซีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไกลซีน

ยาไกลซีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้โดยใช้เป็นเภสัชภัณฑ์ปราศจากเชื้อสำหรับสวนล้างทำความสะอาดระหว่างการผ่าตัดต่อมลูกหมากหรือผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะ

ไกลซีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ในบทความนี้จะขอกล่าวถึงกลไกการทำงานที่เด่นเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ใช้ล้างทำความสะอาด(Glycine irrigation) ระหว่างผ่าตัดเท่านั้น โดยยาสารละลาย/ยาไกลซีนที่ปราศจากเชื้อเป็นสารที่ไม่ก่อให้เกิดพิษกับเนื้อเยื่อของร่างกาย ไม่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ไม่ใช่สารละลายที่เหนียวข้น มีความใสใกล้เคียงกับน้ำ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวทำให้สารละลายไกลซีนเหมาะสมที่จะใช้สวนล้างอวัยวะภายในระบบทางเดินปัสสาวะ และเหมาะในการล้างทำความสะอาดบาดแผลระหว่างการผ่าตัดต่อมลูกหมากหรือผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะ

ไกลซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไกลซีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาสารละลายปราศจากเชื้อที่มีความเข้มข้น 1.5% ขนาดบรรจุ 2,000 และ 4,000 มิลลิลิตร
  • เป็นส่วนประกอบในยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาอื่นเช่น Aspirin 100 มิลลิกรัม + Glycine 50 มิลลิกรัม/เม็ด (เช่น ยา Caparin; ยาแก้อักเสบในกลุ่มยา NSAID)

ไกลซีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ในบทความนี้ขอกล่าวถึงเฉพาะการบริหารยา/การใช้ยาสารละลายไกลซีนเฉพาะที่ใช้สำหรับการสวนล้างในระหว่างการผ่าตัดเท่านั้น โดยให้ปฏิบัติตามคู่มือการใช้ที่แนบมากับผลิตภัณฑ์ประกอบกับใช้หัตถการที่มีมาตรฐานและเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ การใช้สารละลายไกลซีนต้องอยู่ในสถานพยาบาลที่ควบคุมสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไกลซีน/ยาสารละลายไกลซีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาไกลซีน/ยาสารละลายไกลซีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

ไกลซีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาสารละลายไกลซีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในบริเวณเนื้อเยื่อที่มีการสัมผัสกับสารละลายนี้จึงอาจก่อการระคายเคืองได้ อาจทำให้เกิดสภาวะปัสสาวะคั่ง มีอาการบวม และเกิดภาวะสูญเสียน้ำจากเซลล์ บางกรณีอาจทำให้เกิดภาวะของเหลวคั่งในถุงลมในปอดจนส่งผลให้หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เกิดความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอก ตาพร่า ชัก คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย วิงเวียน และเกิดลมพิษ

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ายานี้ทำให้เกิดภาวะพร่องเกลือโซเดียมในร่างกาย และมีแอมโมเนียเพิ่มขึ้นในกระแสเลือดจนถึงขั้นเกิดอาการโคม่า กรณีที่แพทย์พบอาการข้างเคียงดังกล่าว แพทย์จะสั่งให้หยุดการใช้สารละลายไกลซีนและประเมินสถานการณ์ของการรักษาใหม่

มีข้อควรระวังการใช้ไกลซีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาสารละลายไกลซีนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้สารละลายไกลซีนฉีดเข้าร่างกายผู้ป่วย
  • ห้ามใช้สารละลายไกลซีนกับผู้ที่ปัสสาวะไม่ออก
  • ห้ามใช้สารละลายไกลซีนหากพบว่าผลิตภัณฑ์มีสีที่แตกต่างไปจากเดิม เกิดตะกอน หรือภาชนะบรรจุฉีกขาด
  • ห้ามอุ่นสารละลายไกลซีนเกินอุณหภูมิ 66 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ระวังการใช้สารละลายไกลซีนกับผู้ที่มีภาวะโรคหัวใจอย่างรุนแรง หรือผู้ป่วยมีภาวะโรคไต
  • หากร่างกายมีการดูดซึมสารละลายไกลซีนเข้าสู่กระแสเลือดเป็นปริมาณมาก อาจทำให้เกิดภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ (อาการเช่น มึนงง วิงเวียน ความดันโลหิตต่ำ โคม่า) ได้ ดังนั้นการใช้สารละลายนี้ต้องคำนวณปริมาณการใช้อย่างเหมาะสมไม่มากเกินไปจนก่อผลเสียดังกล่าว
  • หลังเปิดภาชนะบรรจุสารละลายไกลซีนควรใช้ทันทีไม่ควรเปิดทิ้งค้างไว้นาน เพราะอาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนจากแบคทีเรียด้วยสารละลายชนิดนี้ไม่มีสารยับยั้งเชื้อที่เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมสารละลายไกลซีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ไกลซีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีรายงานพบปฏิกิริยาระหว่างยาของยาสารละลายไกลซีนกับยารับประทานใดๆ

ควรเก็บรักษาไกลซีนอย่างไร?

ควรเก็บยาสารละลายไกลซีนภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง

ไกลซีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไกลซีนีจำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Caparin (คาพาริน) Osotspa
1.5% Glycine Irrigation USP (1.5% ไกลซีน เออริเกชั่น ยูเอสพี) B. Braun Medical Inc

บรรณานุกรม

1.http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-1072-glycine.aspx?activeingredientid=1072&activeingredientname=glycine [2015,Sept26]
2.http://examine.com/supplements/glycine/#summary2-0 [2015,Sept26]
3.http://aminoacidstudies.org/glycine/l[2015,Sept26]
4.http://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/archives/fdaDrugInfo.cfm?archiveid=8230 [2015,Sept26]
5.http://www.drugs.com/drug-interactions/glycine-topical.html[2015,Sept26]