ใหลตาย (Sudden arrhythmic death syndrome)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 15 พฤษภาคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
- โรคใหลตายมีอาการอย่างไร?
- โรคใหลตายมีสาเหตุจากอะไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดใหลตาย?
- อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดใหลตาย?
- แพทย์วินิจฉัยโรคใหลตายได้อย่างไร?
- รักษาโรคใหลตายอย่างไร?
- ป้องกันโรคใหลตายได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- ใหลตายในทารก (Sudden infant death syndrome: SIDS)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- หัวใจหยุดเต้น (Cardiac arrest)
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาแอนติฮิสตามีน (Antihistamine drug)
- ยาแก้หวัด (Cold medication)
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อีเคจี อึซีจี (Electrocardiogram หรือ EKG หรือ ECG)
บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
ใหลตาย(Sudden arrhythmic death syndrome)คือ การตายกะทันหันที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน มักเกิดในช่วงเวลาหลับของคนวัยหนุ่มสาวและวัยทำงานที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีโรคประจำตัว โดยสาเหตุการตาย คือ หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะรุนแรงจากการทำงานผิดปกติรุนแรงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ควบคุมการเต้น/การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้อวัยวะต่างๆในร่างกายรวมถึง สมอง หัวใจ และระบบหายใจ ขาดเลือดกะทันหัน ส่งผลให้หัวใจหยุดเต้น และเป็นเหตุให้ตายได้รวดเร็วหรือทันทีถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการช่วยเหลือด้วยการปั้มหัวใจ(ซีพีอาร์/CPR/Cardiopulmonary resuscitation)
อนึ่ง:
- ชื่อย่อของ Sudden arrhythmic death syndrome คือ โรคหรือกลุ่มอาการ เอสเอดีเอส (SADS)
- ชื่ออื่นของโรคกลุ่มนี้ คือ Sudden unexplained nocturnal death syndrome ย่อว่า เอสยูเอ็นดีเอส(SUNDS)
- ชื่ออื่นของโรคใหลตายในคนไทยและคนเชื้อชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้คือ ‘โรค/กลุ่มอาการบรูกาดา(Brugada syndrome)’ โดยตั้งชื่อตามนายแพทย์โรคหัวใจชาวสเปนสองพี่น้องคือ นพ. Josep และ นพ. Pedro Brugada ที่ได้ร่วมกันศึกษาและรายงานเกี่ยวกับโรคนี้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1992
- ประเทศไทย มีรายงานทางการแพทย์โรคใหลตาย/เอสเอดีเอส/บรูกาดาครั้งแรกๆช่วงปี ค.ศ. 1993-1997
- คำว่า’ใหล’ที่เป็นชื่อ’โรคใหลตาย’ โดย ‘ราชบัณฑิตยสถาน(1)’ ให้ใช้สะกดด้วย’ใ’
โดยใหลตาย มาจากภาษาลาว แปลว่า ‘หลับใหล หรือ ละเมอ’ เพราะโรคนี้มักพบในคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคนเชื้อชาติลาว ชาวม้ง และก่อนหยุดหายใจผู้ป่วยมักส่งเสียงครางคล้ายคนละเมอ
โรคใหลตาย/โรคบรูกาดา/โรคเอสเอดีเอส พบทั่วโลก แต่มักพบในผู้คนบางเชื้อชาติ โดยเฉพาะในคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย, และคนเชื้อชาติลาว, ม้ง, พบได้ตั้งแต่วัยรุ่นขึ้นไป ทั่วไปมักพบในวัยหนุ่มสาวและผู้ใหญ่วัยทำงาน มักเป็นเพศชายสูงกว่าเพศหญิง
ในคนไทย อายุเฉลี่ยผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 38 ปี สูงสุดในช่วง 45-49 ปี อาชีพคือ ทำงานหนัก มักเป็น เกษตรกร และ/หรือผู้ใช้แรงงาน ที่มีรายได้ต่ำ อัตราเกิดโรคที่ศึกษาย้อนหลังมีรายงานพบประมาณ 20.8-38 รายต่อประชากรไทย 1 แสนคน
โรคใหลตายมีอาการอย่างไร?
ทั่วไปผู้ป่วยใหลตาย/โรคบรูกาดา/โรคเอสเอดีเอส มักไม่มีอาการอะไรนำมาก่อน ผู้ป่วยจะไม่มีโรคประจำตัว จะแข็งแรง อยู่ในวัยและสุขภาพร่างกายที่ไม่น่าตาย
แต่ในผู้ป่วยบางราย อาจเคยมีอาการนำก่อนเกิดใหลตายภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ที่อาการเกิดเป็นช่วงสั้นๆ เช่น
- เจ็บหน้าอกโดยเฉพาะเมื่อทำงานหนักหรือออกแรงมาก
- มีปัญหาทางการหายใจ เช่น หอบเหนื่อย
- อาจเป็นลมโดยหาสาเหตุไม่ได้
- รู้สึกหัวใจเต้นเร็วผิดปกติโดยไม่รู้สาเหตุ
- วิงเวียนศีรษะโดยไม่รู้สาเหตุ
โรคใหลตายมีสาเหตุจากอะไร?
ใหลตาย/โรคบรูกาดา/โรคเอสเอดีเอสในประเทศไทย มักมีสาเหตุจากผู้ป่วยมีความผิดปกติทางพันธุกรรม(มีหลายชนิดย่อยของพันธุกรรม)ซึ่งเกี่ยวกับการทำงาน/การไหลเข้าออกเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของเกลือแร่สำคัญ 3 ชนิดคือ ‘โซเดียม โพแทสเซียม และ แคลเซียม (รวมเรียกว่า Ion channels)’ ที่ควบคุมการส่งกระแสไฟฟ้าควบคุมการเต้น/การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจโดยเฉพาะห้องล่างซ้าย
ซึ่งถ้าแร่ธาตุทั้ง3ตัวดังกล่าว เกิดขาดสมดุล/มีปริมาณผิดปกติในการไหลเวียนเข้าออกเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ จะเป็นผลให้การส่งกระแสไฟฟ้าฯผิดปกติ ส่งผลให้ ’กล้ามเนื้อหัวใจ เต้นเร็ว เต้นแผ่ว เต้นระริก และผิดจังหวะ อย่างรุนแรง’ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาทันทีจะส่งผลให้หัวใจหยุดเต้น และผู้ป่วยจะตายในระยะเวลาเป็นนาที ซึ่งการรักษาหลักที่อาจช่วยชีวิตผู้ป่วยได้คือการปั๊มหัวใจ(ซีพีอาร์/CPR)
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดใหลตาย?
ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการเต้นผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจในลักษณะดังกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุฯ’ หรือเกิดโรคใหลตาย/โรคบรูกาดา/เอสเอดีเอสในคนไทย ได้แก่
- การมีพันธุกรรมผิดปกติชนิดถ่ายทอดได้และชนิดที่เกี่ยวข้องกับการไหลเวียนเข้าออกเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของแร่ธาตุ/เกลือแร่ 3 ตัวดังกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ’ ที่พบสูงในคนถิ่นอาศัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในประเทศไทย คือ คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, คนเชื้อสายลาว, และเชื้อสายม้ง, เช่นมี จีน/ยีน/Gene SCN5A, HCN4, TRPM4
- มีคนในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรง(พ่อ แม่ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน)มีอาการ โรคใหลตายเมื่ออายุต่ำกว่า 40ปี
- เป็นลม และ/หรือชักระหว่างออกแรงที่รวมถึงการทำงานและกีฬาที่หนัก/หักโหม
- มักเจ็บหน้าอกผิดปกติระหว่างออกแรงที่รวมถึงการทำงานและกีฬาหนัก/หักโหม
อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดใหลตาย?
ปัจจัยกระตุ้น/ตัวกระตุ้นให้เกิดใหลตาย/โรคบรูกาดา/โรคเอสเอดีเอส โดยเฉพาะในคนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวใน’หัวข้อ ผู้มีปัจจัยเสี่ยงฯ’ ได้แก่
- ดื่มสุราจัดก่อนนอน
- กินอาหารมื้อหนัก/อิ่มมากโดยเฉพาะอาหารแป้ง(เช่น ข้าวเหนียว)ก่อนนอน
- มีภาวะขาดน้ำ
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- มีความเครียดสูง
- มีไข้
- กินยาบางชนิด เช่น
- ยาแก้หวัด เช่น ยาแก้แพ้/ ยาลดน้ำมูก(Antihistamine) เช่นยา คลอเฟนิรามีน /ซีพีเอม/CPM, ยาแก้คัดจมูก (Decongestant) เช่นยา Pseudoepredine
- ยาจิตเวช เช่น ยาลิเที่ยม (Lithium), ยาต้านเศร้า
- ยาขับปัสสาวะ
แพทย์วินิจฉัยโรคใหลตายได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคใหลตาย/โรคบรูกาดา/โรคเอสเอดีเอส ได้จาก
ก. กรณีเป็นผู้ป่วยที่ไม่มีมีปัจจัยเสี่ยง: การวินิจฉัยมักเกิดหลังผู้ป่วยตายแล้ว จากการสอบถามประวัติปัจจัยเสี่ยงและตัวกระตุ้นจากญาติ, และการตรวจศพ/การชันสูตรพลิกศพ (Autopsy)
ข. กรณีเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวใน’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ แพทย์มักแนะนำการตรวจเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงเพื่อ ดูแล แนะนำ ป้องกันก่อนเกิดอาการ ถึงแม้จะป้องกันได้ไม่เต็มร้อย แต่ก็สามารถลดอัตราตายลงได้เป็นอย่างมาก เช่น
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี โดยอาจตรวจพร้อมให้ยากระตุ้นให้เกิดอาการที่จะช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าลักษณะเฉพาะโรคได้ ที่เรียกว่า ‘Provocation testing’
- การตรวจทางพันธุกรรมหาจีน/ยีนที่ผิดปกติ
รักษาโรคใหลตายอย่างไร?
การรักษาโรคใหลตาย/โรคบรูกาดา/โรคเอสเอดีเอส กรณีพบผู้ป่วยมีอาการที่ยังไม่เกิดการตาย คือ
- การปั๊มหัวใจ/ซีพีอาร์
- หลังจากนั้นแพทย์อาจ
- ให้ยาควบคุมรักษาอาการหัวใจเต้นหิดจังหวะ และ/หรือ
- การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า(Implantable cardioverter defibrillator ย่อว่า ICD)
- การจี้กล้ามเนื้อหัวใจบริเวณผิดปกติผ่านสายสวนด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง(Radiofrequency catheter ablation ย่อว่า RFCA/อาร์เอฟซีเอ) ที่แพทย์จะพิจารณาใช้รักษากรณีผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า
- ที่สำคัญที่สุดเมื่อรอดตายแล้ว คือ ร่วมกับการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เพื่อเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและตัวกระตุ้น เช่น
- การพักผ่อนที่เพียงพอ
- การลดอาหารหนักก่อนนอน
- เลิกดื่มสุรา
- ระมัดระวังไม่ให้ขาดน้ำ
- ไม่ใช้แรง/ออกแรงมากเกินควร
- ระมัดระวังการใช้ยา ไม่ซื้อยาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์/เภสัช , การใช้ยาต่างๆต้องปรึกษาแพทย์ เภสัชกร และแจ้งว่า มีปัจจัยเสี่ยงของโรคใหลตาย หรือเคยมีอาการโรคนี้มาแล้ว
ป้องกันโรคใหลตายได้อย่างไร?
การป้องกันโรคใหลตาย/โรคบรูกาดา/โรคเอสเอดีเอส เช่น
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาล กรณีมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ เพื่ออยู่ในคำแนะนำ ดูแล รักษาจากแพทย์
- ใช้ยาต่างๆตามแพทย์สั่ง รวมถึงปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด (เช่น ดังได้กล่าวใน’หัวข้อ การรักษาฯ’)
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆโดยเฉพาะที่กล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ รวมถึงเมื่อกังวลในอาการ
บรรณานุกรม
- โรคใหลตาย https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2 [2021,May15]
- Jingjing Zheng et al. J Am Heart Assoc. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5866328/ [2021,May15]
- https://www.bhf.org.uk/informationsupport/conditions/sudden-arrhythmic-death-syndrome [2021,May15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Brugada_syndrome [2021,May15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Ajmaline [2021,May15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Sudden_arrhythmic_death_syndrome [2021,May15]
- https://www.healthline.com/health/sudden-death-syndrome#risk-factors [2021,May15]