ใช้แอลกอฮอล์ให้ถูกชนิด (ตอนที่ 2 และตอนจบ)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 24 มีนาคม 2563
- Tweet
เมททิลแอลกอฮอล์ (Methyl alcohol / methanol / wood alcohol / wood spirit) มีสูตรทางเคมีคือ CH3OH ในอดีตเมททิลแอลกอฮอล์เกิดจากการกลั่นทำลาย การให้ความร้อนแก่ไม้หรือสารอินทรีย์ในภาวะที่ไม่มีอากาศ (Destructive distillation) ทำให้สารบางชนิดที่อยู่ในสารอินทรีย์นั้นระเหยหรือสลายตัวออกเป็นสารที่มีโมเลกุลเล็กลง แต่ในปัจจุบันเกิดจากการผสมระหว่างก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และไฮโดรเจนโดยมีการเร่งปฏิกิริยา (Catalyst)
เมททิลแอลกอฮอล์ใช้เป็นตัวทำละลายในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โรงงานผลิตพลาสติก โพลีเอสเตอร์ ใช้เป็นสารกันเยือกแข็ง (Antifreeze) ในน้ำมันเชื้อเพลิงจรวด และใช้เป็นตัวทำละลายในแชลแล็กและวานิช เป็นแอลอกอฮอล์อันตรายสามารถซึมผ่านตา ผิวหนัง ปอด และ ทางเดินอาหาร ห้ามใช้กิน
เนื่องจากเมททิลแอลอกอฮอล์ไม่มีสี ติดไฟง่าย (จุดที่ติดไฟคือ 64.96 °C) มีกลิ่นฉุนคล้ายเอทิลแอลกอฮอล์ แต่มีราคาถูกกว่าเอทิลแอลกอฮอล์ ดังนั้นจึงอาจมีการนำไปใช้ผิดประเภท เช่น ใช้กินซึ่งจะทำให้มีผลกระทบต่อตา (ตาบอด) ผิวหนัง ปอด ระบบการย่อยอาหาร และเสียชีวิตได้
เอทิลแอลกอฮอล์ หรือ เอธานอล (Ethyl alcohol / Ethanol / grain alcohol / alcohol) มีสูตรทางเคมีคือ C2H5OH เกิดจากการนำเอาพืชมาหมักเพื่อเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล จากนั้นจึงเปลี่ยนจากน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์ โดยใช้เอนไซม์หรือกรดบางชนิดช่วยย่อย เพื่อทำให้เป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% โดยการกลั่น
ส่วนใหญ่เอธานอลทำจากพืช 2 ประเภทคือ พืชประเภทน้ำตาล เช่น อ้อย บีทรูท และพืชจำพวกแป้ง เช่น มันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด เป็นต้น
เอธานอลเป็นส่วนประกอบสำคัญในวงการอุตสาหกรรมเพราะใช้เป็นตัวทำละลาย (Solvent) ในการสังเคราะห์สารชีวภาพอื่น และใช้เป็นสารเติมแต่งในการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ (Gasohol) ทั้งยังใช้ในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ ไวน์ และ สุราที่เกิดจากการกลั่น (Distilled spirits)
เอธานอลที่บริสุทธิ์จะไม่มีสี ติดไฟได้ (จุดที่ติดไฟคือ 78.5 °C) การใช้เอธานอลปริมาณมากในการกิน เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ จะมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้ขาดสติ แต่ในปริมาณปานกลางจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
สำหรับทางการแพทย์ เอธานอลเข้มข้นร้อยละ 70 จะใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค (Antiseptic) และ น้ำยาฆ่าเชื้อ (Disinfectant) ส่วนใหญ่ที่ขายตามร้านค้ามักเป็นสีฟ้าเนื่องจากมีการใส่สี
แหล่งข้อมูล:
- เอทานอล. https://th.wikipedia.org/wiki/เอทานอล [2020, March 23].
- Ethanol. https://www.britannica.com/science/ethanol [2020, March 23].
- Ethanol. https://en.wikipedia.org/wiki/Ethanol [2020, March 23].
- Alcohols (medicine). https://en.wikipedia.org/wiki/Alcohols_(medicine) [2020, March 23].
- Methanol. https://www.britannica.com/science/methanol [2020, March 23].
- Methyl Alcohol (Methanol). https://www.cdc.gov/niosh/topics/methyl-alcohol/default.html [2020, March 23].