โอโลพาทาดีน (Olopatadine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโอโลพาทาดีน (Olopatadine หรือ Olopatadine hydrochloride) เป็นยาที่ใช้ต้านสารฮีสตามีน (Antihistamine) ซึ่งจะถูกหลั่งออกมาจากร่างกายเมื่อถูกระตุ้นด้วยฝุ่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ หรือสารที่เป็นมลพิษต่างๆ ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาหยอดตาและเป็นที่รู้จักกันดีภายใต้ยาชื่อการค้า ว่า “พาทานอล (Patanol)” สูตรตำรับยานี้ที่มีวางจำหน่ายจะมีความแรงตั้งแต่ 0.1%, 0.2% และ 0.7% เวลาต่อมาได้มีการพัฒนาสูตรตำรับเพิ่มเป็นยาพ่นจมูกอีกหนึ่งตำรับ

ทั่วไปยาโอโลพาทาดีนจะใช้หยอดตาวันละ 2 ครั้งและมีระยะเวลาการหยอดตาแต่ละครั้งห่างกัน 6 - 8 ชั่วโมง สามารถหยอดตาข้างละ 1 หยดก็เพียงพอต่อการบรรเทาอาการแพ้ของตา (เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้) ได้แล้ว

ยาโอโลพาทาดีนสามารถถูกดูดซึมจากเยื่อเมือกเช่นเยื่อตาเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน ยาที่กระจายตัวในกระแสเลือดจะจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 55% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 8 - 12 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

เงื่อนไขบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยาโอโลพาทาดีนมีดังต่อไปนี้เช่น

  • หลีกเลี่ยง/ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยานี้
  • ทางคลินิกยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของการใช้ยาโอโลพาทาดีนกับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เพื่อความปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ผู้ที่ใช้คอนแทคเลนส์ ก่อนหยอดตาด้วยยาโอโลพาทาดีนให้หยุดใช้คอนแทคเลนส์ก่อนจนกว่าอาการแพ้ในตาหายดี จึงกลับมาใช้ใหม่
  • ขนาดการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการใช้หรือใช้ยานี้นานเกินกว่าคำสั่งแพทย์

นอกจากนี้ผู้ที่ใช้ยาหยอดตาโอโลพาทาดีนอาจได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) อย่างเช่น ปวดศีรษะ รู้สึกคัดจมูก และมีอาการเจ็บคอ เป็นต้น

ทั้งนี้ถึงแม้ยาโอโลพาทาดีนจะเป็นยาใช้ภายนอก แต่ทางคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้จัดให้อยู่ในหมวดยาอันตราย เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้บริโภคเองจึงต้องใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น และไม่ควรไปซื้อหายานี้มาใช้ด้วยตนเอง

โอโลพาทาดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โอโลพาทาดีน

ยาโอโลพาทาดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อป้องกันและบำบัดอาการตาแดง คันตา จากอาการแพ้ของเยื่อตา (เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้)

โอโลพาทาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโอโลพาทาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งการหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine)จากเซลล์ชนิดหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า มาสเซลล์ (Mast cell) และแสดงฤทธิ์เป็นตัวต่อต้านสารฮีสตามีน (Selective histamine H1 antagonist หรือ H1 antagonist) ด้วยกลไกดังกล่าวจึงส่งผลให้อาการภูมิแพ้ในตา/ในเยื่อตาทุเลาลงและดีขึ้นตามลำดับ จนเป็นที่มาของสรรพคุณ

โอโลพาทาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโอโลพาทาดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาหยอดตาขนาดความเข้มข้น 0.1%, 0.2% และ 0.7%

โอโลพาทาดีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโอโลพาทาดีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

  • ผู้ใหญ่: ยาขนาดความเข้มข้น 0.1% ให้หยอดตาครั้งละ 1 หยดวันละ 2 ครั้ง หรือ ขนาดความเข้มข้น 0.2 และ 0.7% ให้หยอดตาครั้งละ 1 หยดวันละครั้ง
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี: ห้ามใช้ยานี้
  • เด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป: ขนาดการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

*อนึ่ง: ขณะหยอดตา ห้ามให้ปลายหลอดหยอดตาสัมผัสกับเปลือกตา/หนังตา ตา รวมถึงขนตา ทั้งนี้เพื่อป้องกันตัวยาปนเปื้อนสิ่งสกปรก/เชื้อโรคที่อาจเกิดขึ้นได้

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโอโลพาทาดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโอโลพาทาดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมหยอดตาควรทำอย่างไร?

หากลืมหยอดตาด้วยยาโอโลพาทาดีนสามารถหยอดตาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการหยอดตาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โอโลพาทาดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโอโลพาทาดีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระ บบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อตา: เช่น มีอาการระคายเคืองหรือปวดตา ทำให้ตาแห้ง ตาพร่า ตาแพ้แสง ก่อให้เกิดความผิดปกติของกระจกตา/กระจกตาอักเสบ คันตา เปลือกตา/หนังตาบวม
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ การรับรู้ความรู้สึกร้อนหรือเย็นลดลง การรับรสชาติเปลี่ยนไป
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โพรงจมูกแห้ง เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ คอหอยอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากแห้ง อาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • ต่อผิวหนัง: เช่น ผิวหนังอักเสบ ผิวแห้ง

มีข้อควรระวังการใช้โอโลพาทาดีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโอโลพาทาดีนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเองหรือใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งแพทย์
  • ห้ามหยอดตาขณะใส่คอนแทคเลนส์ ให้หยุดการใส่คอนแทคเลนส์ขณะที่ใช้ยานี้จนกระทั่งอาการแพ้ของตาหายดีแล้ว
  • ห้ามใช้ยานี้ที่มีการปนเปื้อนเช่น ฝุ่นผงหรือมีตะกอนเกิดขึ้น
  • ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังใช้ยานี้
  • กรณีใช้ยาโอโลพาทาดีนในรูปแบบยาหยอดตา ห้ามยานี้เข้าช่องปากหรือเข้าจมูก
  • หากมีอาการตาพร่าหรือการมองเห็นไม่ชัดหลังหยอดยานี้ ให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆและ/หรือการทำงานกับเครื่องจักรเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโอโลพาทาดีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โอโลพาทาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโอโลพาทาดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น ห้ามใช้ยาโอโลพาทาดีนหยอดตาร่วมกับการบริโภคกัญชาด้วยจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆมากขึ้นอาทิ วิงเวียน ง่วงนอน และสูญเสียสมาธิ

ควรเก็บรักษาโอโลพาทาดีนอย่างไร?

ควรเก็บยาโอโลพาทาดีนในช่วงอุณหภูมิ 4 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โอโลพาทาดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโอโลพาทาดีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Pataday (พาทาเดย์)Alcon
Patanol (พาทานอล)Alcon
Pazeo (พาซีโอ)Alcon

อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ที่จำหน่ายในประเทศตะวันตกเช่น Patanol S, Opatanol

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Olopatadine [2016,June4]
  2. http://www.drugs.com/cdi/olopatadine-drops.html [2016,June4]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/olopatadine/?type=brief&mtype=generic [2016,June4]
  4. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/021545s013lbl.pdf [2016,June4]
  5. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2003/20688slr016_patanol_lbl.pdf [2016,June4]
  6. http://www.drugs.com/drug-interactions/cannabis-with-pazeo-2758-0-1746-17087.html [2016,June4]
  7. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2015/206276s000lbl.pdf [2016,June4]