โอปิออยด์ อะโกนิสต์ (Opioid agonist)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 27 ธันวาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โอปิออยด์ อะโกนิสต์อย่างไร?
- โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโอปิออยด์ อะโกนิสต์อย่างไร?
- โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- มอร์ฟีน (Morphine)
- โอปิออยด์ (Opioid)
- โอปิออยด์ แอนตาโกนิสต์ (Opioid antagonist)
- ยากดประสาทส่วนกลาง (CNS depressants)
- ประเภทยาเสพติดให้โทษ ยาเสพติด (Illegal drugs)
บทนำ
ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์(Opioid agonist หรือ Narcotic agonist) หรือ Opioid receptor agonist เป็นยา/สารที่มีการออกฤทธิ์คล้ายฝิ่น(Opioid) สามารถลดอาการเจ็บ/ปวดได้ ในวงการแพทย์ ยามอร์ฟีน(Morphine) จัดเป็นยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ที่โดดเด่นมากตัวหนึ่ง นอกจากยามอร์ฟีนแล้ว ยังพบเห็นยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ที่เป็นสารสังเคราะห์ได้หลายตัว อาทิเช่นยา Oxycodone, Hydromorphone, Fentanyl, Codeine, และ Hydrocodone
นอกจากฤทธิ์ลดการเจ็บปวดแล้ว ตัวยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ยังมีฤทธิ์ลดความวิตกกังวล ทำให้รู้สึกเคลิบเคลิ้ม รู้สึกผ่อนคลาย ระงับอาการไอ แต่ในอีกด้านหนึ่งสาร/ยากลุ่มนี้ก็สามารถทำให้เกิดอาการ ท้องผูก รูม่านตาหดแคบลง รวมถึงกดการหายใจของผู้ที่ได้รับยาประเภทนี้
นักวิทยาศาสตร์ได้วิจัยจนค้นพบว่า ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์บางตัวมีคุณสมบัติ การเป็นยาโอปิออยด์ แอนตาโกนิสต์(Opioid antagonist)ร่วมอยู่อีกด้วย
ทางคลินิก ไม่สามารถระบุขนาดการใช้ยาในระดับสูงสุดของยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ ว่าควรเป็นเท่าใด แพทย์จะใช้โอกาสการเกิดผลข้างเคียงซึ่งรวมถึงฤทธิ์การสงบประสาท/กดประสาทส่วนกลาง และฤทธิ์กดการหายใจเข้ามาเป็นปัจจัยในการเลือกขนาดการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วย
ยากลุ่มโอปิออยด์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์หลักๆอยู่ที่สมอง ผลที่ตามมาคือผู้ป่วยอาจเกิดการเสพติดยากลุ่มนี้หากใช้ยาไม่ถูกต้อง เช่น ใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานานเกินความจำเป็น แพทย์สามารถช่วยเหลือผู้ที่เสพติดยากลุ่มโอปิออยด์ อะโกนิสต์ โดยใช้ยาโอปิออยด์ แอนตาโกนิสต์ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการเสพติดได้
ยาโอปิออยด์ แอนตาโกนิสต์ จะออกฤทธิ์ที่บริเวณตัวรับ(Receptor)ตัวเดียวกันกับโอปิออยด์ อะโกนิสต์ แต่จะก่อให้เกิดฤทธิ์ตรงกันข้ามกัน นอกจากสมองหรือระบบประสาทส่วนกลางแล้ว ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ ยังเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายได้หลายอวัยวะ อาทิเช่น การทำงานของหัวใจ การทำงานของระบบทางเดินอาหาร ระบบการหายใจ การทรงตัวและการเคลื่อนไหวของร่างกาย การตอบสนองทางอารมณ์ กระบวนการทางความคิด การรับรู้และการควบคุมระดับอุณหภูมิของร่างกาย
มีผู้กล่าวว่ายาโอปิออยด์ อะโกนิสต์มีข้อดีบางประการที่ก่อให้เกิดผลเสียตามมา อาจอธิบายคำกล่าวนี้ว่า ภาวะเคลิบเคลิ้ม รู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขที่เกิดจากยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ กลับเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ป่วยชอบที่จะใช้ยาประเภทนี้บ่อยครั้งกว่าที่จำเป็น ซึ่งก่อให้เกิดการเสพติดตามมา
ผลข้างเคียงหลายประการที่อาจพบเห็นและเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ มีอยู่หลายประการแต่ที่พบเห็นได้บ่อยคือ ทำให้เกิดฤทธิ์สงบประสาท/กดประสาทส่วนกลาง มีความรู้สึกสับสน กดการหายใจ กดการทำงานของหัวใจ เหงื่อออกมาก และท้องผูก
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ อาการถอนยาเมื่อผู้ป่วยหยุดการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ อะโกนิสต์อย่างกะทันหัน ซึ่งมักจะแสดงออกมาด้วยอาการกระสับกระส่าย อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล รู้สึกหมดแรง ง่วงซึม และหงุดหงิด
*กรณีตรงกันข้ามกับอาการถอนยาคือ การได้รับยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์เกินขนาด ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ด้วยผู้ป่วยหลายรายต้องเสียชีวิตลงจากการรับประทานยากลุ่มนี้เกินขนาด จึงมีการสืบค้นว่าสาเหตุใดที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาดซึ่งพอสรุปออกมาเป็นข้อๆได้ดังนี้
- ผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานยานี้เพิ่มขึ้นเองโดยอยู่นอกเหนือจากคำสั่งแพทย์
- มีการรับประทานยานี้ถี่เกินจากคำสั่งแพทย์
- มีการรับประทานโอปิออยด์ อะโกนิสต์ร่วมกับยากดประสาทส่วนกลางกลุ่มอื่นๆจนเกิดฤทธิ์ที่เป็นผลข้างเคียงที่สูงขึ้นมากตามมา
- รับประทานยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ หรือรับประทานร่วมกับยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
- ผู้ป่วยแอบใช้ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ร่วมกับยาเฮโรอีน(Heroin)
สำหรับการบำบัดรักษาการได้รับยากลุ่มโอปิออยด์ อะโกนิสต์เกินขนาด แพทย์อาจต้องใช้ยาบางประเภทเข้ามาแก้พิษโดยเร็วอย่างเช่นยา Naloxone และต้องอาศัยหัตถการทางการแพทย์หลายด้านเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วย อย่างเช่น การใช้เครื่องช่วยการหายใจ
หากจะนำรายการยาประเภทโอปิออยด์ อะโกนิสต์มาแจกแจงในบทความนี้ทั้งหมดคงจะทำได้ยาก ด้วยยากลุ่มนี้มีอยู่หลายร้อยรายการ ทั้งนี้ โดยทั่วไป มักจะพบเห็น การสั่งจ่ายยากลุ่มโอปิออยด์ อะโกนิสต์แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ทั้งนี้ด้วยฤทธิ์ของการเสพติด ฤทธิ์จากอาการถอนยา และเป็นยาที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกฎหมาย การใช้ตัวยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์รายการใดก็ตาม จึงต้องขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาผู้ป่วยเท่านั้น
โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยากลุ่มโอปิออยด์ อะโกนิสต์สามารถนำมาใช้รักษาอาการโรคดังนี้ เช่น
- อาการปวดชนิดเฉียบพลันหลังผ่าตัด
- อาการปวดที่เกิดจากบาดแผลฉกรรจ์
- อาการปวดจากโรคมะเร็งโดยเฉพาะโรคมะเร็งระยะสุดท้าย
- อาการปวดจากโรคข้อรูมาตอยด์
- ใช้ร่วมกับการใช้ยาชา/ยาสลบ เพื่อระงับอาการปวดระหว่างผ่าตัด
- บรรเทาอาการไอที่รุนแรง ที่เป็นการไอแห้งๆ/ไอไม่มีเสมหะ
- รักษาและบรรเทาอาการท้องเสียที่รุนแรง
- ใช้บำบัดอาการของผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด
โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับที่ชื่อ Opioid receptors ในสมองหลายส่วนที่รวมถึงในไขสันหลังและในอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น หัวใจ ตับ ตับอ่อน กล้ามเนื้อ ไต ลำไส้ ส่งผลปิดกั้นการนำของกระแสประสาท ส่งผลทำให้หมดความรู้สึกและไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวด
นอกจากนี้ การกดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางของยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ ยังมีผลกดต่อศูนย์การไอ การหายใจ รวมถึงอารมณ์และพฤติกรรมของผู้ใช้ยานี้ เช่น ในด้านอารมณ์และสติปัญญา
การใช้ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์อย่างเหมาะสมตามแพทย์สั่งเท่านั้น ที่จะส่งผลดีต่อการรักษา และไม่ทำให้เกิดอาการถอนยา หรือ การติดยา
ซึ่งจากกลไกดังกล่าว จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น
- ยารับประทานชนิด ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำ
- ยาฉีด
- ยาเหน็บทวาร
- พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง
โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ด้วยยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ เป็นกลุ่มยาที่มีหลายชนิดและมีฤทธิ์เสพติด ดังนั้น ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยากลุ่มนี้/ยานี้ จึงขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละรายไป และต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งต้องมีการทำบันทึกการใช้ยานี้กับผู้ป่วยไว้เป็นหลักฐาน เพื่อนำส่งรายงานการใช้ยากลุ่มนี้ต่อกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์มี ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหืด โรคหัวใจ ท้องผูก รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์มีอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาลาโมไตรจีนสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานในครั้งถัดไปให้รับประทานยาตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการรับประทานเป็น 2 เท่า
แต่การลืมรับประทานยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์บ่อยครั้ง อาจทำให้มีภาวะถอนยาตามมา
โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้า
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด
- ผลต่อตา: เช่น รูม่านตาหดเล็กลง อาจทำให้เห็นภาพไม่ชัด
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น เกิดการเสพติด เคลิบเคลิ้ม ประสาทหลอน สับสน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น กดการหายใจ
มีข้อควรระวังการใช้โอปิออยด์ อะโกนิสต์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยมีการหายใจผิดปกติ เช่น ขณะเป็นหอบหืดเฉียบพลัน หรือหอบหืดขนาดรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยพิษสุราแบบเฉียบพลัน รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคตับ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่สลบ ไร้การตอบสนองต่อตัวกระตุ้น หรือขณะไม่รู้สึกตัว
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema)
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์/ตังครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคของท่อระบบทางเดินน้ำดี
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยา Fentanyl ร่วมกับยารักษาโรคจิตประสาท/ยารักษาทางจิตเวช เช่น Phenothiazines สามารถก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
- ห้ามใช้ยา Methadone ร่วมกับยาที่เพิ่มการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้ เช่นยา Cisapride ด้วยการใช้ร่วมกัน สามารถกระตุ้นให้หัวใจทำงานผิดปกติจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้ใช้ยาได้
- การใช้ยา Hydrocodone ร่วมกับยา Bupropion โดยเฉพาะการใช้ในปริมาณที่สูงๆ สามารถทำให้เกิดอาการลมชักได้ ยิ่งเป็นผู้ป่วยสูงอายุโอกาสที่จะเกิดอาการลมชักยิ่งมีสูงมากขึ้นตามลำดับ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Oxycodone ร่วมกับยากลุ่ม TCAs จะเกิดการเสริมฤทธิ์ของยากลุ่มTCAs เพิ่มมากขึ้นจนอาจได้รับผลข้างเคียงสูงขึ้นจากยา TCAs ติดตามมา การจะใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาโอปิออยด์ อะโกนิสต์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ ดังนี้ เช่น
ก. การเก็บรักษาในสถานพยาบาล: ควรเก็บยากลุ่มนี้ในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และยาที่หมดอายุ ต้องทำรายงานขออนุมัติการทำลายจากกระทรวงสาธารณสุขทุกครั้ง
ข.การเก็บรักษาในที่พัก/ที่บ้าน: เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โอปิออยด์ อะโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโอปิออยด์ อะโกนิสต์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Durogesic Patch (ดูโรเจซิก แพท) | Janssen-Cilag |
Fentanyl GPO (เฟนทานิล จีพีโอ) | Hexal AG |
Fentanyl Hexal (เฟนทานิล เฮ็กซอล) | Hexal AG |
Fentanyl Janssen-Cilag (เฟนทานิล แจนเซน ซีแล็ก) | Janssen-Cilag |
Fentanyl Sandoz (เฟนทานิล แซนดอซ) | Hexal AG |
Fentanyl Tablet, Buccal (เฟนทานิล แทบเล็ท, บัคคอล) | Watson Laboratories Inc |
Durogesic (ดูโรเจซิก) | Janssen-Cilag |
Durogesic Patch (ดูโรเจซิก แพท) | Janssen-Cilag |
Fentanyl Janssen-Cilag (เฟนทานิล แจนเซน ซีแล็ก) | Janssen-Cilag |
Fentanyl Sandoz (เฟนทานิล แซนดอซ) | Hexal AG |
Fentanyl Tablet, Buccal (เฟนทานิล แทบเล็ท, บัคคอล) | Watson Laboratories Inc |
OxyContin Tablet, Film Coated (เฟนทานิล แทบเล็ท, ฟิล์ม โคท) | Purdue Pharma LP |
Methadone GPO (เมทาโดน จีพีโอ) | GPO |
Camphorated Opium Tincture GPO (แคมโฟเรทเตท โอเปียม ทิงเจอร์ จีพีโอ) | GPO |
Kapanol (คาพานอล) | GlaxoSmithKline |
Morphine Sulfate Inj Blue (มอร์ฟีน ซัลเฟท อินเจคชั่น บลู) | M & H Manufacturing |
Morphine Sulfate Inj Purple (มอร์ฟีน ซัลเฟท อินเจคชั่น เพอเพิล) | M & H Manufacturing |
บรรณานุกรม
- https://www.drugs.com/answers/what-is-an-opioid-agonist-205450.html[2017,Sept16]
- http://www.opiate.com/agonist/what-do-opioid-agonists-do/[2017, Sept16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Category:Mu-opioid_agonists[2017, Sept16]
- https://www.nps.org.au/australian-prescriber/articles/opioids-mechanisms-of-action[2017, Sept16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Opioid_receptor[2017, Sept16]
- http://www.news-medical.net/health/Opioid-Side-Effects.aspx[2017, Sept16]
Updated 2017,Sep27