โวกลิโบส (Voglibose)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโวกลิโบส (Voglibose) เป็นยาในกลุ่มแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ (Alpha-glucosi dase inhibitors) บริษัทยาของประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ค้นคว้าและพัฒนาขึ้นมา เริ่มจัดจำหน่ายในปี ค.ศ.1994 (พ.ศ. 2537) ทางคลินิกใช้ยาโวกลิโบสมาเป็นยารักษาโรคเบาหวานทั้งชนิดที่ต้องพึ่งฮอร์โมนอินซูลินและไม่ต้องพึ่งฮอร์โมนอินซูลิน หลักการทำงานของยาโวกลิโบสคือ ยับยั้งและชะลอการดูดซึมน้ำตาลกลูโคส (Glucose) ในลำไส้เล็กจึงป้องกันมิให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังรับประทานอาหาร

ยาโวกลิโบสเป็นยาตัวใหม่ล่าสุดของยากลุ่มแอลฟา-กลูโคซิเดส อินฮิบิเตอร์ ซึ่งก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่ายาตัวอื่นที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันอย่างยา Acarbose และยา Miglitol แต่ประสิทธิภาพของยานี้จะน้อยกว่า Acarbose เล็กน้อย

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาโวกลิโบสเป็นยาชนิดรับประทาน สามารถรับประทานยานี้ก่อน หรือพร้อมอาหารก็ได้ ตัวยามีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ต่ำ หลังการออกฤทธิ์ตัวยาจะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยเอนไซม์และแบคทีเรียที่อยู่ภายในลำไส้ของมนุษย์ (Microbial flora) จากนั้นจะถูกขับออกไปกับอุจจาระและส่วนน้อยไปกับปัสสาวะ

การใช้ยาโวกลิโบสกับผู้ใหญ่จะมีขนาดรับประทานเป็นมาตรฐานที่ยอมรับในทางคลินิกอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการศึกษาขนาดการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก สำหรับผู้สูงอายุให้เริ่มรับประทานยานี้ในขนาดต่ำก่อนคือ ครั้งละ 0.1 มิลลิกรัม สำหรับสตรีตั้งครรภ์ยังไม่พบข้อมูลมาสนับสนุนว่ายาโวกลิโบสสามารถทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ก็จริง แต่การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์แต่เพียงผู้เดียว ส่วนสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาโวกลิโบส ด้วยฤทธิ์ที่คอยยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสนั้นส่งผลต่อการสร้างปริมาณน้ำนมของมารดาและอาจกระทบต่อน้ำหนักตัวของทารกที่ดื่มนมมารดาเป็นอาหารหลัก

สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่มีความต้องการใช้ยาโวกลิโบสพบว่า ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดรับประทานยานี้แต่อย่างใด ด้วยตัวยามีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดต่ำและขับออกผ่านไตได้น้อยมาก

แพทย์สามารถใช้ยาโวกลิโบสรักษาอาการของผู้ป่วยเบาหวานทั้งเป็นลักษณะยาเดี่ยวหรือจะใช้ร่วมกับยารักษาเบาหวานกลุ่มอื่นก็ได้ โดยต้องพิจารณาความเหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป หากผู้ป่วยใช้ยานี้เป็นระยะเวลา 2 - 3 เดือนแล้วผลปรากฏว่าระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารโดยเฉพาะมื้อเย็น (Post prandial glucose) ไม่ลดลง หรือคงระดับที่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตรโดย ประมาณลักษณะเช่นนี้แพทย์จะพิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาหรือเปลี่ยนแปลงการใช้ยา รวมถึงปรับพฤติกรรมการดำรงชีวิต การพักผ่อน และการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

ยังมีเงื่อนไขบางประการที่ถือเป็นข้อห้ามใช้หรือต้องใช้ยาโวกลิโบสด้วยความระมัดระวังที่ผู้ป่วยเบาหวานควรทราบก่อนการใช้ยาโวกลิโบสอาทิ

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาโวกลิโบส
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดเป็นกรดจากโรคเบาหวาน (Diabetic ketoacidosis) ผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อรุนแรง ผู้ที่มีบาดแผลในระดับสาหัส
  • ผู้ป่วยในสถานะก่อนและหลังรับการผ่าตัดและผู้ที่มีภาวะกระเพาะอาหาร-ลำไส้ตีบตัน ยาโวกลิโบสสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) กับผู้ป่วยได้เหมือนกับยาชนิดอื่นๆเช่น เกิดภาวะท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ปวดท้อง ทำให้เบื่ออาหาร เป็นต้น ซึ่งอาการข้างเคียงดังกล่าวอาจไม่ต้องใช้ยาใดๆมาช่วยรักษาเพราะร่างกายของผู้ป่วยสามารถปรับตัวจนอาการข้างเคียงเหล่านี้หายไปเอง

ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ตัวยาโวกลิโบสอยู่ในกลุ่มยาอันตราย การใช้ยานี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น และผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้เพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้ทำการรักษาหรือจากเภสัชกรทั้งในสถานพยาบาลและตามร้านขายยาโดย ทั่วไป

โวกลิโบสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โวกลิโบส

โวกลิโบสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • บำบัดรักษาอาการของโรคเบาหวาน
  • สามารถใช้กับผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับยาอินซูลินเพียงอย่างเดียวแล้วไม่ได้ผล

โวกลิโบสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาโวกลิโบสมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในระบบทางเดินอาหารที่มีชื่อว่า แอลฟา-กลูโคซิเดส (Alpha-glucosidase) ส่งผลให้ยับยั้งและชะลอการย่อยคาร์โบไฮเดรตไปเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวอย่างเช่น กลูโคส (Glucose) จากกลไกดังกล่าวส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงจนเป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติ

โวกลิโบสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโวกลิโบสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 0.2 และ 0.3 มิลลิกรัม/เม็ด

โวกลิโบสมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโวกลิโบสมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้นครั้งละ 0.2 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้ หากประสิทธิภาพการลดน้ำตาลในเลือดยังไม่ดีพอ แพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 0.3 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง
  • ผู้สูงอายุ: แพทย์อาจจะให้รับประทานเริ่มต้นครั้งละ 0.1 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง การจะปรับขนาดรับประทานแพทย์จะพิจารณาจากการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยรวมถึงความสามารถทนต่ออาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นโดยนำมาประกอบกัน
  • เด็ก: ทางคลินิกยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดถึงประสิทธิภาพและขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโวกลิโบส ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโวกลิโบสอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโวกลิโบสสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาโวกลิโบสตรงกับมื้ออาหารทุกครั้ง

โวกลิโบสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโวกลิโบสสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน แสบร้อนกลางอก มีแก๊สในลำไส้มากขึ้น
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบอาการผื่นคัน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับเอนไซม์จากตับอ่อน/อะไมเลส (Amylase) ในเลือดสูงขึ้น ระดับไขมันเฮชดีแอล (HDL) ในเลือดลดต่ำลง มีเหงื่อออกมาก และมีภาวะหัวล้าน
  • ผลต่อตา: เช่น มีอาการตาพร่า
  • ผลข้างเคียงอื่นๆ: เช่น มีภาวะอ่อนแรง รู้สึกไม่สบายกาย ร้อนวูบวาบตามร่างกาย และใบหน้าบวม

* อนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยานี้เกินขนาด: จะพบภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีภาวะท้องเสียเกิดขึ้นและรู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเมื่อเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดหรือทันที/ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

มีข้อควรระวังการใช้โวกลิโบสอย่างไร?

นอกเหนือจากข้อห้ามใช้และข้อควรระวังที่กล่าวในหัวข้อ บทนำ แล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆอีกที่ควรทราบเมื่อใช้ยาโวกลิโบสเช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยเบาหวานที่อยู่ในในภาวะโคม่า
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่น เปียกชื้น มีกลิ่น และ/หรือสีผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ตับทำงานผิดปกติ
  • ตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะๆตามที่แพทย์แนะนำทั้งขณะอยู่ในที่พักอาศัย รวมถึงมารับการตรวจตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • เรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลทั้งมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงจากแพทย์/บุคลากรทางแพทย์ เพื่อใช้เป็นแนวทางป้องกันหรือรักษาอาการเบื้องต้นก่อนมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดผิดปกติ
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีถ้าพบอาการแพ้ยาเช่น มีอาการแน่นอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก บวมตามร่างกาย หรือมีผื่นคัน/ลมพิษขึ้นเต็มตัว และต้องนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโวกลิโบสด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โวกลิโบสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโวกลิโบสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น การใช้ยาโวกลิโบสร่วมกับยาอินซูลินหรือกลุ่มยา Sulfonamide, Sulfonylurea, Biguanide, Beta-blockers, Salicylic acid, ยากลุ่ม MAOIs, อนุพันธุ์ของกลุ่มไฟเบรต (Fibrate) อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาโวกลิโบสอย่างไร?

ผลิตภัณฑ์ยาโวกลิโบสสามารถเก็บได้นานถึง 2 ปีนับจากวันผลิตหรือขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตยาเป็นผู้กำหนดวันหมดอายุ ซึ่งโดยทั่วไปควรเก็บยาโวกลิโบสภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โวกลิโบสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโวกลิโบสที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Basen FDT (บาเซน เอฟดีที) Takeda
Volicose (โวลิโคส) Biocon Limited
Vingose (วิงโกส) Novartis India Ltd

อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยาโวกลิโบสที่จำหน่ายในประเทศอื่นเช่น Voglib, Basen

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Alpha-glucosidase_inhibitor [2016,March26]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Voglibose [2016,March26]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Basen%20FDT/?type=brief [2016,March26]
  4. https://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Voglibose [2016,March26]
  5. http://www.biocon.com/docs/prescribing_information/diabetology/volicose_pi.pdf [2016,March26]
  6. https://www.mims.com/India/drug/info/voglibose/?type=full&mtype=generic [2016,March26]