โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia)
- โดย ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ
- 13 ตุลาคม 2554
- Tweet
- ทั่วไป
- ธาตุเหล็กสำคัญอย่างไร?
- การขาดธาตุเหล็กมีสาเหตุจากอะไร?
- ภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กอย่างไร?
- รักษาภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อใด?
- รู้ได้อย่างไรว่าเด็กตอบสนองต่อการรักษา?
- ป้องกันภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กอย่างไร?
- บรรณานุกรม
ทั่วไป
ภาวะขาดธาตุเหล็กเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประชากรโลก ประมาณว่า อย่างน้อยประชากรหนึ่งล้านคนมีปัญหาภาวะขาดธาตุเหล็ก
ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) เป็นอาการของการขาดธาตุเหล็กที่รุนแรงที่สุดและพบบ่อยในประเทศที่กำลังพัฒนา 40% ถึง 60% ของประชากรเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ปี ในประเทศที่กำลังพัฒนามีปัญหาขาดธาตุเหล็ก ข้อมูลการศึกษาในประเทศไทย เด็กเล็กก่อนวัยเรียนยังมีปัญหาการขาดธาตุเหล็กมาก แต่ในเด็กวัยเรียนปัญหานี้น้อยลงกว่าอดีต
ธาตุเหล็กสำคัญอย่างไร?
ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญในฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งเป็นสารสีแดงในเม็ดเลือดแดง มีหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ยังเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ (Enzyme คือ สารประเภทโปรตีน ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีของกรรมวิธีต่างๆทางชีววิทยา เช่น การย่อยอาหาร) และมีความสำคัญต่อการทำงานของเอนไซม์หลายชนิดในร่างกายด้วย
การขาดธาตุเหล็กทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างนอกเหนือไปจากการเกิดภาวะโลหิตจาง ยังพบว่าทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตผิดปกติ มีความผิดปกติในระบบประสาท ความจำ ในระยะยาวทำให้เด็กมีความผิดปกติของพัฒนาการทางระบบประสาท การเรียน และพฤติกรรม ซึ่งบางส่วนไม่สามารถกลับคืนเป็นปกติได้ จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันไม่ให้เด็กมีภาวะขาดธาตุเหล็ก
เด็กแรกเกิดปกติ จะมีธาตุเหล็กในร่างกายประมาณ 0.5 กรัม ขณะที่ผู้ใหญ่มีธาตุเหล็กประมาณ 5 กรัม ดังนั้นเพื่อให้มีธาตุเหล็กเพียงพอต่อการเจริญเติบโต และทดแทนส่วนที่สูญเสียไปกับการหลุดลอก หรือ การตายของเซลล์ต่างๆในร่างกาย ในวัยเด็กจึงต้องมีการดูดซึมธาตุเหล็กวันละประมาณ1 มิลลิกรัม ซึ่งธาตุเหล็กจากอาหารจะถูกดูดซึมประมาณ10%ของธาตุเหล็กจากอาหารนั้นๆที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ดังนั้นอาหารโดยรวมในแต่ละวัน จึงควรมีธาตุเหล็กประมาณ 8-10 มิลลิกรัม
ธาตุเหล็กในนมแม่ จะถูกดูดซึมได้ดีกว่าธาตุเหล็กในนมวัว 2-3 เท่า จึงควรสนับสนุนให้เด็กดื่มนมแม่ ในเด็กเล็กอาหารที่ได้รับส่วนใหญ่จะมีธาตุเหล็กน้อย จึงควรมีการเสริมธาตุเหล็กในอาหาร (ควรปรึกษาแพทย์ก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ) หรือในนม (เลือกบริโภคนมที่มีการเสริมธาตุเหล็ก) เพื่อป้องกันภาวะขาดธาตุเหล็ก
การขาดธาตุเหล็กมีสาเหตุจากอะไร?
ในประเทศกำลังพัฒนา พยาธิปากขอเป็นสาเหตุสำคัญทำให้มีเลือดออกในลำไส้เรื้อรัง และทำให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในผู้ใหญ่เพศชาย มักเกิดจากเลือดออกในทางเดินอาหารที่ไม่ได้เกิดจากพยาธิ (เกิดจากการใช้ยาแก้ปวดบางชนิดหรือจากมะเร็งในทางเดินอาหาร) ในผู้ใหญ่เพศหญิงวัยยังมีประจำเดือน มักเกิดจากการเสียเลือดจากประจำเดือนมากผิดปกติ แต่ในวัยหมดประจำเดือน สาเหตุจะเช่นเดียวกับในผู้ชาย
ในเด็กอายุขวบปีแรก ภาวะขาดธาตุเหล็กมักเกิดจากการดื่มนมวัวปริมาณมาก (มากกว่า 2 ลิตรต่อวัน) หรือการให้นมแม่นานกว่า 6 เดือนโดยไม่ให้อาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กเพียงพอ
เนื่องจากเด็กมีการเจริญเติบโตรวดเร็ว เช่น ในขวบปีแรก หรือในวัยรุ่นต้องการธาตุเหล็กมาก หากได้ธาตุเหล็กไม่เพียงพอกับการเจริญเติบโตนั้น จะทำให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล็กด้วย
ในเด็กเล็ก และเด็กทั่วไป การได้รับอาหารไม่เพียงพอเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก
ภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กมีอาการอย่างไร?
ภาวะโลหิตจางเป็นอาการสำคัญที่สุดของภาวะขาดธาตุเหล็ก เมื่อมีภาวะโลหิตจางไม่มาก หรือมีโลหิตจางปานกลาง ร่างกายจะปรับตัวได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษา อาการจะมากขึ้น และถ้ายังไม่ได้รับการรักษาอีก ผู้ป่วยอาจโลหิตจางมากจนเกิดภาวะหัวใจวายได้
ผู้ป่วยที่ขาดธาตุเหล็ก จะมีอาการ ตัวซีด ริมฝีปากซีด เหนื่อยง่าย เวียนศีรษะบ่อย ปวดศีรษะบ่อย หงุดหงิดง่าย อาจมีการอยากกินของแปลกๆ อาจมีลิ้นซีดและลิ้นมีผิวเรียบ ไม่ขรุขระเหมือนปกติ ริมฝีปาก และมุมปากอักเสบ อาจจะมีเล็บบาง หรืองอนคล้ายช้อน
เด็กที่ขาดธาตุเหล็กจะหงุดหงิด ไม่อยากรับประทานอาหาร ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม อาจมีพฤติกรรมและพัฒนาการผิดปกติ รวมทั้งผลการเรียนด้อยลง
แพทย์วินิจฉัยภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กอย่างไร?
แพทย์จะใช้เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะโลหิตจางซึ่งแตกต่างกันตามอายุของผู้ป่วย ร่วมกับหลักฐานการขาดธาตุเหล็ก โดยการตรวจเลือดซีบีซี (CBC) และอาจร่วมกับการตรวจเลือดดูปริมาณธาตุเหล็กในร่างกาย แต่ในแหล่งที่ไม่สามารถตรวจเลือดได้ จะใช้วิธีลองให้กินยาธาตุเหล็ก 4-6 สัปดาห์ แล้วติดตามผลว่า อาการดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งการรักษาและการวินิจฉัยโดยวิธีกินยาธาตุเหล็กแล้วติดตามอาการผู้ป่วยว่าดีขึ้นหรือไม่ เป็นที่ยอมรับเป็นสากล
รักษาภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กอย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก ได้แก่
- หาสาเหตุ และกำจัด หรือ รักษาสาเหตุนั้นๆ เช่น การรักษาพยาธิปากขอ เมื่อสาเหตุเกิดจากพยาธิปากขอ เป็นต้น
-
รับประทานยาธาตุเหล็ก ซึ่งแพทย์จะให้ยาตามขนาดและน้ำหนัก ในเด็กเล็กที่ต้องให้ยาธาตุเหล็กชนิดน้ำ ควรหยอดยาไปด้านหลังลิ้นเพื่อไม่ให้ติดเป็นคราบดำที่ฟัน เมื่อได้ยาธาตุเหล็ก เด็กจะมีอุจจาระเป็นสีดำ ซึ่งเป็นสีของยาธาตุเหล็กที่เหลือจากการดูดซึม อาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง ดังนั้นควรกินยานี้หลังอาหาร เพื่อลดอาการข้างเคียงดังกล่าว และบางคนอาจมีท้องผูก หรือท้องเสีย
ส่วนใหญ่ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก จะตอบสนอง และทนต่อยาธาตุเหล็กชนิดรับประทานได้ดีกว่าในเด็ก (แต่อุจจาระจะมีสีดำผิดปกติเช่นเดียวกับในเด็ก) ยกเว้นในกรณีที่มีความผิดปกติของลำไส้ เช่น ท้องเสียเรื้อรัง หรือผนังลำไส้ผิดปกติ ซึ่งมีผลต่อการดูดซึมธาตุเหล็ก จึงต้องให้ยาธาตุเหล็กชนิดฉีด
- ให้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กปริมาณสูง เช่น เนื้อสัตว์ เลือดสัตว์ เครื่องในสัตว์ ผักใบเขียวเข็ม เช่น ผักตำลึง
- ในกรณีที่มีภาวะโลหิตจางมาก อาจต้องรักษาด้วยการให้เลือด
ควรจะพบแพทย์เมื่อใด?
ในเด็กการไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อให้วัคซีนตามอายุ แพทย์อาจตรวจร่างกายพบได้ว่า มีภาวะโลหิตจางเมื่อเด็กมีภาวะโลหิตจางในระดับที่พอตรวจเห็นได้จากการตรวจร่างกาย แต่หากมีภาวะโลหิตจางไม่มาก ในการตรวจร่างกาย แพทย์อาจตรวจไม่พบภาวะโลหิตจาง เพราะแยกยากจากเด็กที่มีผิวขาว ดังนั้นหากบุตรหลานมีอาการหงุดหงิด ไม่อยากรับประทานอาหาร ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ทางที่ดีและมีการแนะนำคือ เมื่อเด็กอายุ 9 ถึง 12 เดือน หากได้เจาะเลือดตรวจซีบีซี จะช่วยให้ตรวจพบว่าเด็กมีภาวะโลหิตจางหรือไม่ ทำให้วินิจฉัยภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กได้ ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยภาวะโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย สูงด้วย การตรวจเลือดซีบีซี จึงช่วยการวินิจฉัยเบื้องต้นของโรคนี้ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆ
ในเด็กโต หรือในผู้ใหญ่หากมีอาการ เหนื่อย เพลีย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะบ่อย หรือมีความผิดปกติ เช่น ถ่ายอุจจาระสีดำเหมือนยางมะตอย (อาการจากมีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร) หรือถ่ายเป็นเลือด หรือมีเลือดออกที่ใดผิดปกติ รวมทั้งมีประจำเดือนมากผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรักษาต่อไป
รู้ได้อย่างไรว่าเด็กตอบสนองต่อการรักษา?
โดยทั่วไป ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์จะดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน อาจดีขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงทางระบบเลือด ซึ่งจะมีการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นใน 3-4 วัน ทั้งนี้การให้ยาธาตุเหล็กจะให้อยู่นานจนภาวะโลหิตจางกลับคืนเป็นปกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะปกติภายใน 1 เดือน แล้วจะให้ธาตุเหล็กต่อจนครบเวลาทั้งหมดประมาณ 3 เดือน เพื่อเสริมธาตุเหล็กให้กับอวัยวะสำคัญที่เป็นแหล่งสะสมธาตุเหล็ก (ไขกระดูก ตับ และม้าม) ในเด็กเล็กที่ลดขนาดการกินธาตุเหล็กในแต่ละวันเพื่อป้องกันผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร อาจให้ยานาน 4-6 เดือน
อนึ่ง การเปลี่ยนแปลงในเรื่องพัฒนาการ ระบบประสาท ความจำจะดีขึ้นในระยะเวลาไม่นานหลังได้รับการรักษา
ป้องกันภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กอย่างไร?
เด็กคลอดครบกำหนดจะมีธาตุเหล็กสะสมที่ได้รับจากแม่เพียงพอจนถึงอายุ 4-6 เดือน ในเด็กคลอดก่อนกำหนด (อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์) จะมีธาตุเหล็กสะสมน้อยกว่าเด็กคลอดครบกำหนด ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้หากเลี้ยงด้วยนมแม่ควรให้ธาตุเหล็กเสริม (ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อน ไม่ควรซื้อยาธาตุเหล็กให้เด็กกินเอง) โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 1 เดือนถึง 12 เดือน ธาตุเหล็กที่ให้เสริมอาจให้ในรูปของยา (โดยแพทย์แนะนำ) หรือในรูปของอาหารเสริม (ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล ก่อนการให้อาหารเสริมในเด็กเสมอ)
อนึ่ง เด็กคลอดครบกำหนดที่กินนมแม่อย่างเดียวจะมีธาตุเหล็กเพียงพอ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้แม่เลี้ยงลูก ด้วยนมแม่อย่างเดียว (โดยไม่ให้อาหารอื่นๆ) นานถึง 6 เดือน
สมาคมด้านโรคเด็กแห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics) แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 4 เดือน แต่อยากให้นานถึง 6 เดือน แต่หากให้นมแม่อย่างเดียวมากกว่า 6 เดือน จะเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กเมื่ออายุเด็กได้ 9 เดือน ดังนั้นหลังเด็กอายุ 6 เดือน ต้องให้อาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กเพียงพอ แต่ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล ก่อนการให้ยาธาตุเหล็ก หรือ อาหารเสริมธาตุเหล็กกับเด็กเสมอ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง เช่นท้องเสีย ปวดท้อง ตับ ไต ปอด หัวใจ อักเสบ จากได้ธาตุเหล็กสูงเกินปกติได้
บรรณานุกรม
- Baker RD, Greer FR; Committee on Nutrition American Academy of Pediatrics.Diagnosis and prevention of iron deficiency and iron-deficiency anemia in infants and young children (0-3 years of age). Pediatrics. 2010;126:1040-50.
- Glader B. 447 Iron-deficiency anemia. In: Kliegman RM, Stanton BF, Geme JW St. III, Schor NF, Behrman RE, eds. Nelson Textbook of Pediatrics. 19th ed. Philadelphia, PA: Saunder, 2011, 1614-6.
- Rose MG, Leissinger CD. Acquired under production anemias. In: Gregory SA, McCrae KR, eds. ASH-SAP American Society of Hematology Self-Assessment Program. 4th ed. Washington D.C: American Society of Hematology. 2010,110-3.