โลมิทาไพด์ (Lomitapide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโลมิทาไพด์(Lomitapide หรือ Lomitapide mesylate ) เป็นยารับประทานที่ใช้ลดไขมันในเลือดชนิดไขมันเลวอย่าง แอลดีแอล (LDL) และรวมถึง Triglyceride และ APO-B(Aplipoprotein B, เป็นสารไขมันLipoproteinที่เกี่ยวข้องกับการเกิด LDL) หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้จะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 99.8% เอนไซม์ในตับจะคอยทำลายโครงสร้างของยานี้อย่างต่อเนื่อง ยาโลมิทาไพด์สามารถอยู่ในร่างกายของเราได้นานถึงประมาณ 40 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

การใช้ยาโลมิทาไพด์ให้เกิดประสิทธิผลนั้น ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยานี้เท่านั้น และผู้ป่วยต้องควบคุมการบริโภคอาหารประเภทไขมันร่วมด้วย ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจและศึกษารายละเอียดของข้อห้าม และคำเตือนต่างๆ ก่อนการใช้ยาโลมิทาไพด์ อาทิเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ด้วยตัวยาเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ นอกจากนี้สตรีที่ได้รับยานี้ควรป้องกันมิให้เกิดการตั้งครรภ์
  • มีข้อห้ามใช้โลมิทาไพด์ร่วมกับยาอื่นๆหลายชนิด ด้วยการใช้ยาร่วมกันจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงกับผู้ป่วย กลุ่มยาดังกล่าว เช่นยา Aprepitant, Boceprevir, Conivaptan, Crizotinib, Diltiazem, Imatinib, Mibefradil, Nefazodone, Telaprevir, Verapamil, Ciprofloxacin, Clarithromycin, Erythromycin, Fluconazole, Itraconazole, Ketoconazole, Posaconazole, Telithromycin, Voriconazole, Amprenavir, Atazanavir, Darunavir, Ritonavir, Fosamprenavir, Indinavir, Lopinavir , Nelfinavir, Saquinavir, Tipranavir
  • การใช้ยาโลมิทาไพด์ร่วมกับ Lovastatin หรือ Simvastatin อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดความผิดปกติต่อเซลล์กล้ามเนื้อ(Myopathy)
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะได้รับอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)จากยานี้อย่างรุนแรง
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ ด้วยการใช้ยาโลมิทาไพด์ อาจทำให้อาการโรคดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น เช่น โรคตับ โรคไต ผู้มีภาวะตับอ่อนอักเสบ โรคที่เกี่ยวกับลำไส้ ผู้ที่มีภาวะแพ้น้ำตาลกาแลคโตส/Galactose (Galactose intolerance)
  • ยาโลมิทาไพด์อาจเป็นเหตุให้ร่างกายขาดวิตามินต่างๆชนิดที่ละลายในไขมันอย่างเช่น วิตามิน อี รวมถึงกรดไขมันที่เป็นประโยชน์ แพทย์อาจต้องให้วิตามินอีและกรดไขมันจำเป็นเสริมกับผู้ป่วยขณะที่ได้รับยาโลมิทาไพด์
  • ผู้ป่วยควรรับประทานยานี้ตรงตามขนาดที่แพทย์แนะนำ และควรเป็นเวลาเดียวกัน ในแต่ละวันเพื่อการคงตัวของยานี้ในกระแสเลือด
  • การหยุดรับประทานยานี้เองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ อาจทำให้ ระดับไขมันในเลือดกลับมาสูงผิดปกติ
  • ขณะใช้ยานี้แล้วเกิดอาการดังต่อไปนี้ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เช่น ปวดแขน ปวดหลัง ปวดกราม แน่นหน้าอก ปัสสาวะมีสีคล้ำ หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ อุจจาระมีสีซีด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก หายใจขัด/หายใจลำบาก ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณเตือนว่าผู้ป่วยอาจแพ้ยาโลมิทาไพด์เข้าแล้ว
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาโลมิทาไพด์ ควรต้องมารับการตรวจเลือดเพื่อ ดูระดับของไขมันในเลือด ดูความผิดปกติของการทำงานของตับ ตามคำแนะนำของแพทย์ทุกครั้ง ซึ่งล้วนแต่เป็นผลดีต่อตัวผู้ป่วยเอง ดังนั้นควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง

การใช้ยาโลมิทาไพด์ตรงตามคำสั่งแพทย์เพียงวันละ1ครั้ง ก็สามารถทำให้ระดับไขมันในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติได้แล้ว อย่างไรก็ตามยาลดไขมันแทบทุกตัว/ทุกชนิดจะมีระยะเวลาการใช้ยา ไม่จำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้ตลอดชีวิต ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ได้มากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน เป็นต้น

ยาโลมิทาไพด์จัดว่าเป็นยาลดไขมันที่มีประสิทธิภาพ แต่การใช้ยานี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหายานี้มาใช้เอง ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายยาชนิดนี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า “Juxtapid”

โลมิทาไพด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โลมิทาไพด์

ยาโลมิทาไพด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia)
  • รักษาภาวะไขมันในเลือดสูงที่มีความเกี่ยวพันธ์กับพันธุกรรมของผู้ป่วย หรือที่เรียกว่า Homozygous familial hypercholesterolemia

โลมิทาไพด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโลมิทาไพด์มีกลไกกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งสารโปรตีนที่ใช้ในการขนส่งไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Microsomal triglyceride transfer protein) ส่งผลให้เกิดการป้องกันการสร้างสาร Apolipoprotein B และทำให้ปริมาณการสร้างไขมันเลวชนิดแอลดีแอล(LDL)ลดลงตามมา จากกลไกเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ

โลมิทาไพด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโลมิทาไพด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยตัวยา Lomitapide ขนาด 5 , 10 , 20 , 30 , 40 และ 60 มิลลิกรัม/แคปซูล

โลมิทาไพด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโลมิทาไพด์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทานยาขนาด 5 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง หลังอาหารเย็นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง อีก 2 สัปดาห์ แพทย์สามารถปรับขนาดรับประทานเป็น 10 มิลลิกรัม/วัน และทุก 4 สัปดาห์ แพทย์สามารถปรับขนาดรับประทานเป็น 20 มิลลิกรัมตามด้วย 40 และ60 มิลลิกรัมตามลำดับ ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • การปรับขนาดรับประทานเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • เพื่อป้องกันการขาดวิตามินอี/Vitamin E และกรดไขมันที่จำเป็นของร่างกาย แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทาน Vitamin E และกรดไขมัน (เช่นกรด Linoleic acid) ร่วมกับยาโลมิทาไพด์
  • สำหรับผู้ป่วยโรคตับที่ไม่ใช่ระยะรุนแรง ไม่ควรรีบรับประทานยานี้เกิน 40 มิลลิกรัม/วัน
  • ยานี้อาจเป็นเหตุให้ เอนไซม์การทำงานของตับในเลือด เช่น ทรานซามิเนส (Transaminase) ของตับสูงขึ้น การมีเอนไซม์ชนิดนี้เพิ่มขึ้นจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเกิดความเสียหายกับตับ/ตับอักเสบ ผู้ป่วยที่ได้รับยาโลมิทาไพด์ควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของตับด้วยตามคำแนะนำของแพทย์
  • ยาโลมิทาไพด์สามารถทำให้ไขมันสะสมที่ตับได้มากขึ้น(โรคไขมันพอกตับ) รวมถึงก่อให้เกิดพิษกับตับ/ตับอักเสบ จึงเป็นเหตุผลให้ผู้ป่วยต้องใช้ยานี้และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโลมิทาไพด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต ตับอ่อนอักเสบ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโลมิทาไพด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโลมิทาไพด์ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาโลมิทาไพด์บ่อยครั้ง อาจก่อให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงตามมา

โลมิทาไพด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโลมิทาไพด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหาร กรดไหลย้อน ท้องอืด
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เยื่อจมูกอักเสบ คออักเสบ คัดจมูก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังง่านของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลดลง
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ไขมันสะสมในตับมากขึ้น(โรคไขมันพอกตับ)
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ชีพจรเต้นผิดปกติ

มีข้อควรระวังการใช้โลมิทาไพด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการยาใช้โลมิทาไพด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเองและใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น แคปซูลแตกหัก เปียกชื้น หรือสีเปลี่ยนไป
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และ เด็ก
  • มาโรงพยาบาลเพื่อรับ การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูการทำงานของตับ ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโลมิทาไพด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาเองเสมอ

โลมิทาไพด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโลมิทาไพด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโลมิทาไพด์ร่วมกับยา Aliskiren อาจทำให้ระดับยาAliskiren ในร่างกายสูงขึ้นจนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยา Aliskiren สูงขึ้นตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามรับประทานยาโลมิทาไพด์ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะทำให้มีไขมันสะสมที่ตับมากขึ้น(โรคไขมันพอกตับ) ตลอดจนทำให้ตับได้รับบาดเจ็บ/ตับอักเสบ
  • ห้ามใช้ยาโลมิทาไพด์ร่วมกับยาWarfarin ด้วยจะทำให้มีภาวะเลือดออกง่ายตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโลมิทาไพด์กับยาAcetaminophen (Paracetamol)ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเป็นพิษกับตับ/ตับอักเสบมากขึ้น

ควรเก็บรักษาโลมิทาไพด์อย่างไร?

ควรเก็บยาโลมิทาไพด์ ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

โลมิทาไพด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโลมิทาไพด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Juxtapid (จักซ์ตาปิด)Pharmaceuticals, Inc.

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Lojuxta

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cons/lomitapide.html[2017,July8]
  2. https://www.drugs.com/monograph/juxtapid.html[2017,July8]
  3. http://reference.medscape.com/drug/juxtapid-lomitapide-999804[2017,July8]
  4. https://www.drugbank.ca/drugs/DB08827[2017,July8]