โรซาเซีย (Rosacea)
- โดย พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล
- 15 พฤษภาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- โรซาเซียเกิดได้อย่างไร? มีอะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิด?
- โรซาเซียมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยโรคโรซาเซียได้อย่างไร?
- รักษาโรคโรซาเซียอย่างไร?
- โรซาเซียก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
- โรซาเซียมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันโรคโรซาเซียได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- สิว (Acne)
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis)
- โรคผื่นแพ้สัมผัสในเด็ก (Childhood contact dermatitis)
- โรคเซบเดิร์ม โรคผิวหนังอักเสบเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
- ยารักษาสิว (Acne medications)
- ครีมกันแดด (Sunscreen)
บทนำ
โรคโรซาเซีย (Rosacea) ในอดีตคนไทยเรียกว่า “โรคสิวหน้าแดง” แต่เนื่องจากปัจจุบันพบ ว่า โรซาเซีย เป็นการอักเสบของผิวหนังคนละประเภทกับสิว จึงเรียกโรคนี้ทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า โรคโรซาเซีย
ปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาอัตราการเกิดของโรคนี้ไว้ชัดเจนนัก แต่พบว่า พบเกิดได้สูงกว่าในประชากรที่มีผิวขาวโดยเฉพาะในแถบยุโรป พบได้บ่อยในช่วงอายุ 30 - 50 ปี และพบได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
โรซาเซียเกิดได้อย่างไร? มีอะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิด?
สาเหตุการเกิดของโรคโรซาเซีย ยังไม่ทราบชัดเจน โดยเชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดภายใต้ผิวหนัง เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการหน้าแดงหรือขึ้นตุ่มที่สัมพันธ์กับปัจจัยกระตุ้น ที่สำคัญ เช่น
- อากาศร้อนจัด หรือ อากาศเย็นจัด
- แสงแดด
- การรักษาโรคที่ใบหน้าด้วยยาทาชนิดยาสเตียรอยด์
- อาหารและเครื่องดื่มที่ร้อน
- อาหารและเครื่องดื่มรสจัด
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- อารมณ์และความเครียด
สาเหตุอื่น:
- โรคนี้ อาจมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับ ตัวไร ชื่อ Demodex บนใบหน้า (ไร ตัวเล็กๆมอง เห็นได้ทางกล้องจุลทรรศน์ พบได้ในรูขุมขนบนใบหน้าคนทั่วไป แต่หากตัวไรนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าปกติอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนังแดงอักเสบขึ้น)
- นอกจากนั้น อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมได้ แต่ทั้ง 2 กรณี ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจน
*อนึ่ง: อย่างไรก็ตาม โรซาเซีย ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม
โรซาเซียมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคโรซาเซียมีหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับชนิดย่อยของโรค (โรคนี้แบ่งย่อยได้เป็นหลายรูปแบบ/หลายชนิด ตามลักษณะอาการที่เกิดกับผิวหนัง) แต่ที่เป็นอาการหลัก คือ
- “อาการหน้าแดง” ซึ่งจะพบเกิดในบริเวณตอนกลางของใบหน้าคือ บริเวณจมูก และ แก้มทั้ง2ข้าง โดยผิวหนังจะเป็นตุ่มแดงอักเสบเป็นหนอง และมีเส้นเลือดขยายตัวให้มองเห็นได้
- อาการหน้าแดงนี้ จะเกิดชั่วคราวจากเส้นเลือดที่ใบหน้าขยายตัวเมื่อได้รับปัจจัยกระตุ้น
อาการนอกจากนั้น:
- ผิวหนังผู้ป่วยมักมีลักษณะระคายเคืองได้ง่าย ลอก
- ในรายที่เป็นมาก ผิวหนังจะหนาขึ้น และขรุขระโดยเฉพาะบริเวณจมูก
- และถ้าเกิดที่ผิวหนังบริเวณตาด้วย จะมีอาการ เคืองตา แสบตา ตาแดง น้ำตาไหล
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล หากมีอาการผิดปกติของผิวหนังที่สงสัยว่าเป็นอาการของ โรซาเซีย (อาการดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’) เพื่อการวินิจฉัย รับคำแนะนำและรับการรักษาที่ถูกต้อง
แพทย์วินิจฉัยโรคโรซาเซียได้อย่างไร?
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคโรซาเซียได้จาก
- ประวัติอาการของผู้ป่วย ร่วมกับ
- การตรวจร่างกายดูลักษณะของรอยโรค โดยไม่ต้องมีการตรวจสืบค้นอื่นเพิ่มเติม
- แต่บางครั้ง อาจมีการการตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะทำเฉพาะกรณีที่อาการ/รอยโรคผู้ป่วยไม่ชัดเจน จำเป็น ต้องวินิจฉัยแยกโรคจากโรคอื่น เช่น จากโรคเซบเดิร์ม
รักษาโรคโรซาเซียอย่างไร?
การรักษาโรคโรซาเซีย แบ่งเป็น การปฏิบัติตน/การดูแลตนเอง, การใช้ยา, และ การใช้เลเซอร์(Laser)
ก. การปฏิบัติตน (การดูแลตนเอง): คือ การเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหน้าแดงจากมีเส้นเลือดขยาย เช่น
- อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงฉับพลันทั้งอากาศร้อนและอากาศเย็น
- ทาครีมกันแดดชนิดที่มีน้ำเป็นฐาน (Base) เป็นประจำและสม่ำเสมอเพื่อหลีกเลี่ยง การกระตุ้นจากแสงแดด
- เลี่ยงอาหารร้อน เครื่องดื่มร้อน อาหารและเครื่องดื่มรสจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เลี่ยงความเครียด
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวแพ้ง่าย เพื่อลดการระคายเคืองของผิวหนังโดยเฉพาะผิวหน้า
ข. การรักษาด้วยยา: เช่น
- ยาทา: เช่นยา Metronidazole, Clindamycin, Erythromycin ,หรือ Azelaic acid เช้า - เย็น หรือตามแพทย์ผู้รักษาแนะนำ
- ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่มีส่วนผสมของ Sodium sulfacetamide หรือ Sulfur
- ยารับประทาน: เช่นยา Tetracycline , Doxycycline , Isotretinoin ซึ่งควรเป็นการแนะ นำจากแพทย์เท่านั้น
ค. การรักษาด้วยเลเซอร์: เพื่อลดรอยแดงและเส้นเลือด ตัวเลือกที่สามารถใช้ในการรักษาคือเลเซอร์ที่มีช่วงความยาวคลื่นสำหรับจับกับสาร Hemoglobin ในเส้นเลือด เช่น Pulse dye laser, Intensive pulse light, KTP laser โดยอาจทำการรักษาทุกเดือนในช่วงแรก เป็นเวลา 4 - 6 ครั้ง ทั้งนี้ จำนวนครั้งในการรักษา ผลการรักษา และผลข้างเคียงจากการรักษา ขึ้นกับแผลที่เกิดกับเลเซอร์แต่ละชนิด เช่น แผลติดช้า แผลติดเชื้อ และ/หรือผิวหนังบริเวณรักษามีสีที่ผิดปกติ (เช่น แดง หรือ เข้มขึ้น)
โรซาเซียก่อผลข้างเคียงอย่างไร?
โรซาเซีย ส่งผลกระทบด้านความสวยงาม เนื่องจากทำให้ผิวหน้าแดงอักเสบเรื้อรัง และในรายที่เป็นมาก จะทำให้ผิวหน้าหนาและขรุขระ จมูกเสียรูปทรง ในรายที่มีอาการที่ตา จะมีอาการระ คายเคืองตา และกระจกตาอักเสบได้
โรซาเซียมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของโรซาเซีย คือ เป็นโรคเรื้อรัง หลังการรักษา อาการจะสงบ ทรงตัว ซึ่งมักมีร่องรอยของรอยโรคเหลืออยู่บ้าง แต่ก็สามารถกลับมามีอาการกำเริบได้อีกเป็นระยะๆ
ผลการรักษาโรคโรซาเซีย: ทั่วไปใช้เวลาในการรักษา 2 - 3 เดือนโดยประมาณ จึงเริ่มเห็นผลจากการรักษา โดยผลการรักษาขึ้นกับ
- ความรุนแรงของโรคเมื่อเริ่มเป็น
- การเลี่ยงสิ่งกระตุ้น/ปัจจัยกระตุ้น (ดังกล่าวในหัวหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยกระตุ้น)
- ความสม่ำเสมอในการทายา ใช้ยา
- และการทำเลเซอร์รักษา
*นอกจากนั้น การปฏิบัติตนหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ควรปฏิบัติไปโดยตลอดเพื่อลดการกลับเป็นซ้ำ ซึ่งการกลับเป็นซ้ำแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ไม่สามารถพยากรณ์การกลับเป็นซ้ำที่ชัดเจนได้
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคโรซาเซีย คือ
- ใช้ยาต่างๆตามคำแนะนำของแพทย์ ให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา
- หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการ/ปัจจัยกระตุ้นฯ’
- ปฏิบัติตนตามที่ได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ การรักษาฯ’
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์กับผิวหน้าที่อ่อนโยนสำหรับผิวแพ้ง่ายเพื่อลดการระคายเคือง
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ
- หลังการรักษา หรือ การทำเลเซอร์ อาการมีแนวโน้มเป็นมากขึ้น
- และ/หรือ มีอาการ ระคายเคือง แสบ คัน บวมแดง จากการใช้ยา
- และ/หรือ เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคโรซาเซียได้อย่างไร?
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่ชัดเจนของโรคโรซาเซีย แต่เชื่อว่าแสงแดดคือหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นการเกิดโรค การป้องกันผิวหนัง/ผิวหน้าจากแสงแดด จึงน่าจะเป็นประโยชน์ทั้งในการป้องกันและลดอาการของโรค รวมทั้งป้องกันผลเสียอื่นๆจากแสงแดด เช่น ฝ้า กระแดด/กระผู้สูง อายุ
นอกจากนั้น การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยกระตุ้นฯ’ จะช่วยลดโอกาสเกิดเป็นซ้ำและลดความรุนแรงของโรคลงได้
บรรณานุกรม
- ปรียา กุลละวณิชย์,ประวิตร พิศาลยบุตร .Dermatology 2020:facial dermatitis .พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:โฮลิสติก,2555
- Lowell A. Goldsmith,Stephen I. Katz,Barbara A. Gilchrest,Amy S. Paller,David J. Leffell,Klaus Wolff. Fitzpatrick’s dermatology in general medicine. eight edition . McGraw-Hill.2012
- David j. Goldberg,Alexander L.Berlin.Acne and Rosacea Epidermiology diagnosis and treatment . 2012. Manson
- Leslie Baumann,MD.Cosmetic Dermatology,second edition.2009.McGrawHill.
- Agnieszka Kupiec Banasikowska, MD. Rosacea. http://emedicine.medscape.com/article/1071429-overview#showall [2020, May9]