โรคโครห์น (Crohn’s disease)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 17 กุมภาพันธ์ 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคโครห์นมีสาเหตุจากอะไร?
- โรคโครห์นมีอาการอย่างไร?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้โรคโครห์นรุนแรง?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
- แพทย์วินิจฉัยโรคโครห์นได้อย่างไร?
- รักษาโรคโครห์นอย่างไร?
- โรคโครห์นก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
- โรคโครห์นมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ป้องกันโรคโครห์นอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร (Anatomy and physiology of alimen tary system)
- ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis)
- ลำไส้เล็กอักเสบ (Enteritis)
- โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative colitis)
- ลำไส้อุดตัน (Intestinal obstruction)
- เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis)
- ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome)
บทนำ
โรคโครห์น (Crohn’s disease ย่อว่า โรคซีดี/CD) หรือโรคทางเดินอาหารอักเสบโครห์น เป็นโรคทางเดินอาหารอักเสบเรื้อรังที่อยู่ในกลุ่ม “โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังที่เรียกว่า โรค Inflammatory bowel disease (ย่อว่า โรคไอบีดี/IBD)” ซึ่งโรคนี้ได้ชื่อตาม นพ. Burrill B. Crohn แพทย์ระบบทาง เดินอาหารชาวสหรัฐอเมริกา ซึ่งท่านและคณะได้รายงานโรคนี้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475)
การอักเสบในระบบทางเดินอาหารที่เกิดจากโรคโครห์น เกิดได้ในทุกอวัยวะของช่องทางเดินอาหารตั้งแต่ช่องปากลงไปจนถึงทวารหนัก
- แต่โดยทั่วไปมักเกิดที่ลำไส้เล็กส่วนปลายที่เรียกว่า Ileum ร่วมกับการอักเสบของลำไส้ใหญ่ พบได้ประมาณ 35% ของผู้ป่วย
- รองลงไปคือมีการอักเสบที่ลำไส้ใหญ่เพียงอวัยวะเดียว พบได้ประมาณ 30%
- การอักเสบที่ลำไส้เล็กอวัยวะเดียว พบได้ประมาณ 25 - 30%
- การอักเสบที่ส่วนปลายของกระเพาะอาหารร่วมกับการอักเสบของลำไส้เล็กตอนต้นที่ต่อมาจากกระเพาะอาหาร พบได้ประมาณ 5%
- ที่เหลือเป็นการอักเสบในส่วนอื่นๆเช่น ช่องปากและทวารหนัก
การอักเสบของทางเดินอาหารจากโรคโครห์น เป็นการอักเสบที่ระยะแรกไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค แต่หลังจากที่มีแผลเกิดขึ้น แผลเหล่านี้จึงอาจติดเชื้อจากในลำไส้ตามมาในภายหลัง ทั้งนี้การอักเสบจะเริ่มที่เยื่อเมือกชั้นแรกสุดที่บุในทางเดินอาหาร ต่อไปเมื่อโรคเรื้อรังมากขึ้น การอักเสบ/แผลจะลุกลามลึกลงไปในเนื้อเยื่อทุกชั้นของผนังลำไส้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดลำไส้ทะลุ (Perforation) เข้าช่องท้องและ/หรือเกิดเป็นทางทะลุ (Fistula) กับอวัยวะอื่นๆในช่องท้องที่อยู่ติดกับลำไส้ส่วนที่อักเสบเช่น ลาไส้ด้วยกันเอง กระเพาะปัสสาวะ และ/หรือมด ลูก (ในผู้หญิง)
ทั้งนี้การอักเสบและแผลจากโรคโครห์นนี้ จะเกิดกระจายเป็นช่วงๆของลำไส้ ทำให้บางส่วนยังมีลำไส้ปกติเหลืออยู่ ซึ่งการเกิดอักเสบและแผลเรื้อรังนี้จะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการ
- ปวดท้องและท้องเสียเรื้อรัง
- และทำให้อุจจาระเหลวเป็นมูกมักมีเลือดปน (จึงเป็นสาเหตุให้เสียเลือดเรื้อรัง เกิดภาวะโลหิตจางขึ้นได้)
- อุจจาระจะมีกลิ่นคาว แต่ถ้ามีการติดเชื้อซ้อนอุจจาระจะมีกลิ่นเหม็น
ซึ่งเมื่อมีการอักเสบเป็นแผล ลำไส้จะซ่อมแซมตนเองเกิดเป็นพังผืด จึงทำให้ช่องในลำไส้แคบลงส่งผลให้เกิดลำไส้อุดตันได้
นอกจากนั้นการซ่อมแซมลำไส้ที่อักเสบฯนี้ ยังทำให้เกิดเนื้อเยื่อลักษณะคล้ายก้อนเนื้อที่เรียกว่า Granuloma (แกรนูโลมา) ดังนั้น ภายในลำไส้ นอกจากมีการอักเสบ (ปวด/เจ็บ บวม แดง) มีพังผืดแล้ว ยังจะมีแกรนูโลมาเป็นตะปุ่มตะป่ำทั่วไป ซึ่งเป็นอีกปัจจัยให้เกิดลำไส้อุดตัน
จากพยาธิสภาพของลำไส้ดังกล่าวจะส่งผลให้ลำไส้ย่อยและดูดซึมอาหารไม่ได้ จึงเป็นอีกปัจจัยให้เกิดท้องเสียเรื้อรังที่ส่งผลให้ร่างกายเกิด ภาวะขาดสารอาหาร/ทุโภชนา (Malnutri tion) จึงส่งผลให้
- น้ำหนักตัวลด
- อ่อนเพลีย
- ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ (ติดเชื้อได้ง่าย)
อนึ่ง โรคโครห์นเป็นโรคพบทั่วโลก เช่น
- ในสหรัฐอเมริกา(รายงานในปีค.ศ. 2003-2004)พบได้สูง ประมาณ 201 รายต่อประชากรผู้ใหญ่ 1 แสนคน พบในเด็กประมาณ 43 รายต่อประชากรเด็ก1แสนคน
- พบประมาณ 5.6 รายต่อประชากร 1 แสนคน ในยุโรป
- พบได้น้อยในคนเอเชียที่รวมถึงในประเทศไทย ประมาณ 0.5 - 4.2 รายต่อประชากร 1 แสนคน
- แอฟริกา ประมาณ 0.3 - 2.6 รายต่อประชากร 1 แสนคน
- และพบได้น้อยที่สุดในชาวละตินอเมริกา ประมาณ 0 - 0.03 รายต่อประชากร 1 แสนคน
ทั้งนี้ พบโรคโครห์นได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก (มักเป็นในเด็กโต) ไปจนถึงผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่พบโรคเกิดก่อนอายุ 30 ปี ซึ่งช่วงอายุที่พบได้สูงคือ 15 - 30 ปี ทั้งนี้ประมาณ 20 - 30% ของผู้ป่วยจะพบได้ก่อนอายุ 20 ปี และพบโรคในผู้หญิงและในผู้ชายได้ใกล้เคียงกัน
โรคโครห์นมีสาเหตุจากอะไร?
สาเหตุที่แน่นอนของโรคโครห์นยังไม่ทราบ แต่พบมีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้ เช่น
- เชื้อชาติ: โดยพบได้สูงในคนผิวขาว แต่พบได้น้อยในคนเอเชีย และลาตินอเมริกา ดังได้กล่าวในหัวข้อ บทนำ
- อาจจากมีพันธุกรรมบางอย่างผิดปกติ เพราะพบโรคได้สูงขึ้นในคนที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคนี้
- จากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่ผิดปกติและมาแสดงออกที่อวัยวะในระบบทางเดินอาหารเช่น ในโรคออโตอิมมูน หรือที่เกิดหลังจากการติดเชื้อที่ลำไส้เช่น จากเชื้อแบคที เรียหรือเชื้อไวรัส
- จากร่างกายตอบสนองผิดปกติต่อเชื้อโรคต่างๆที่อาศัยเป็นอยู่ในลำไส้เช่น พวกแบคที เรียประจำถิ่น เป็นต้น
- ส่วนปัจจัยเสี่ยงจากการใช้ยาที่ใช้เรื้อรัง ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเช่น จากยาเม็ดคุมกำ เนิด ยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านการอักเสบเอ็นเสด (NSAID)
โรคโครห์นมีอาการอย่างไร?
อาการที่พบได้จากโรคโครห์นที่พบบ่อย คือ อาการจากลำไส้อักเสบที่มีอาการรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก เช่น
- ปวดท้อง (มักมีลักษณะปวดบีบ/ปวดเกร็ง)
- ร่วมกับท้องเสียเรื้อรัง โดยอุจจาระมีลักษณะดังนี้
- อุจจาระมักเหลว
- เป็นน้ำในบางครั้ง
- มักมีมูกและมีเลือดปน
- มีกลิ่นคาว (เหม็นผิดปกติถ้ามีการติดเชื้อในลำไส้ร่วมด้วย)
- มักร่วมกับอาการทั่วไป เช่น
- น้ำหนักตัวลด/ผอมลง
- และภาวะทุโภชนา
- ส่วนอาการอื่นๆที่พบร่วมได้เช่น
- ซีด
- อ่อนเพลีย
- คลื่นไส้ เบื่ออาหาร
- อาจมีไข้ต่ำๆ
- ปวดข้อ
- ผื่นผิวหนังอักเสบ
- ตาพร่า
- ซึมเศร้า วิตกกังวล
- มีกระดูกพรุนได้ง่าย
- และอาจเกิดแผลร้อนในได้บ่อยผิดปกติ
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้โรคโครห์นรุนแรง?
ปัจจัยกระตุ้นให้อาการโรคโครห์นกำเริบและ/หรือรุนแรงในแต่ละคนแตกต่างกันได้ ดังนั้นแต่ละคนต้องสังเกตถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆกับอาการที่เกิดขึ้น เพื่อระมัดระวังหลีก เลี่ยงเช่น ประเภทและปริมาณอาหาร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่มักมีผลกระตุ้นให้เกิดอาการและ/หรือให้เกิดอาการรุนแรง เช่น
- อาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์จากนม
- อาหารที่มีใยอาหารสูง
- อาหารรสจัด
- อาหารไขมันสูง
- อาหารแปรรูป
- อาหาร เครื่องดื่มกลุ่มมีกาเฟอีน
- การสูบบบุหรี่
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- การบริโภคยาต้านการอักเสบกลุ่มเอ็นเสด
- บางคนอาจขึ้นกับภาวะสภาพอากาศที่เปี่ยนแปลง
- ภาวะทางอารมณ์จิตใจเช่น ความเครียด ความกังวล
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?
เมื่อมีอาการต่างๆดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เพื่อ แพทย์ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการ เพื่อการรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่นๆที่จะช่วยให้ควบคุมและรักษาโรคได้ผลดีกว่า
แพทย์วินิจฉัยโรคโครห์นได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคโครห์นได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญเช่น ประวัติอาการ อายุ ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจอุจจาระ (ทั้งการตรวจวิธีทั่วไปและการตรวจวิธีเฉพาะเพื่อช่วยวินิจฉัยโรค)
- การตรวจเลือดต่างๆ เช่น
- ซีบีซี/CBC (ดูภาวะซีด)
- ดูสารภูมิต้านทานต่างๆ (เพื่อการวินิจฉัยโรคออโตอิมูน)
- ดูสารอาหารต่างๆ (เพื่อวินิจฉัยภาวะขาดสาร อาหาร/ทุโภชนา)
- การตรวจภาพช่องท้องด้วยอัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ
- การตรวจภาพกระเพาะอาหารและลำไส้ด้วยเอกซเรย์กลืนแป้ง
- การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้
- การใช้กล้องตรวจด้วยวิธีกลืนกล้องที่เป็นแคปซูล (Capsule endoscopy)
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
- และรวมไปถึงการตัดชิ้นเนื้อทั้งจากกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาที่ช่วยให้การวินิจฉัยโรคแม่นยำขึ้น
รักษาโรคโครห์นอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคโครห์นคือ การใช้ยาเพื่อต้าน/ลดการอักเสบของลำไส้, การพักการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ (Bowel rest), การผ่าตัด, และการรักษาประคับประคองตามอาการ
ก. การรักษาด้วยยาเพื่อควบคุมการอักเสบของลำไส้: เช่น
- การรักษาเพื่อลดการอักเสบของลำไส้: เช่น ยาในกลุ่ม Aminosalicylates และยา Corticosteroid
- การลดการอักเสบของลำไส้ด้วยยากดระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ ยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่นยา Methotrexate, Azathioprine, Cyclosporin
- การลดการอักเสบของลำไส้กรณีมีการติดเชื้อ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะต่างๆ เช่นยา Metronidazole, Ciprofloxacin
ข. การพักการทำงานของลำไส้:
ในกรณีที่โรคมีอาการมาก ผู้ป่วยท้องเสียมากจนส่งผลถึงการควบคุมสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย แพทย์จะพักการทำงานของลำไส้ด้วยการงดการกิน/ดื่มทางปากชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าอาการท้องเสียจะควบคุมได้ โดยให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำแทน
ค. การผ่าตัด:
จะทำในกรณีเพื่อรักษาผลข้างเคียงจากโรค เช่น
- ลำไส้ทะลุเข้าช่องท้อง
- ภาวะมีหนองในช่องท้อง
- ลำไส้ทะลุเข้าอวัยวะอื่นๆ (เช่น เข้ากระเพาะปัสสาวะ)
- ลำไส้อุดตัน
ง. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น
การรักษาตามอาการต่างๆ เช่น การใช้ยาต่างๆตามอาการ ซึ่งอาจเป็นยากิน หรือบางชนิดอาจอยู่ในรูปแบบยาฉีด
- การให้กินธาตุเหล็กกรณีมีภาวะซีด
- การกินยาแก้ปวด
- ยาแก้ท้องเสีย
- ยาลดการบีบตัวของลำไส้
- ยาคลายเครียด
- วิตามินเกลือแร่เสริมอาหาร
โรคโครห์นก่อผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงที่พบได้จากโรคโครห์น เช่น
- ภาวะลำไส้ทะลุเข้าช่องท้อง
- ภาวะลำไส้ทะลุเข้าอวัยวะต่างๆ
- ภาวะมีหนองในช่องท้อง
- ภาวะลำไส้อุดตัน
- ภาวะซีด
- ภาวะทุโภชนา
- โรคนิ่วในไต
- โรคนิ่วในถุงน้ำดี
- และภาวะทางจิตใจอารมณ์ เช่น เครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล
โรคโครห์นมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของโรคโครห์นคือ เป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย โรคจะเป็นๆหายๆตลอดไป โดยเฉพาะจะกำเริบเมื่อได้รับปัจจัยเสี่ยง
นอกจากนี้คือ
- จะมีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้ง่ายจากภาวะทุโภชนาการ
- รวมไปถึงโอกาสที่จะได้รับการผ่าตัด ที่จะผ่าตัดกรณีของการมีผลข้างเคียงของลำไส้ ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ ผลข้างเคียงฯ’ ซึ่งในชีวิตของผู้ป่วยแต่ละคนมักได้รับการผ่าตัดแก้ไขผลข้างเคียงอย่างน้อยตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่วินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆและรักษาดูแลควบคุมตนเองได้ดี สามารถใช้ชีวิตได้ดีเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไปที่รวมถึงอัตราเสียชีวิตด้วย
*อนึ่ง จากที่มีการอักเสบเรื้อรังของลำไส้ เซลล์อักเสบจึงมีโอกาสเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ มะเร็งได้ ดังนั้นจึงพบ ‘มะเร็งลำไส้เล็ก’ หรือ ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’ ในผู้ป่วยโรคโครห์นได้สูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งแพทย์จะดูแลโดยการส่องกล้องตรวจลำไส้เป็นระยะๆอาจทุก 1 - 3 ปี โดยเริ่มหลังเป็นโรคนี้ได้นาน 5 - 10 ปี หรือตามดุลพินิจของแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยโรคมะเร็งฯได้แต่เนิ่นๆ
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคโครห์น ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยาต่างๆตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- สังเกตทุกอย่างในการดำเนินชีวิตว่า อะไรมีผลกระตุ้นให้เกิดอาการหรือทำให้อาการรุน แรง เพื่อการหลีกเลี่ยงเช่น ประเภทอาหาร ปริมาณอาหาร อุณหภูมิ สิ่งแวดล้อม
- หลีกเลี่ยงอาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์ของนม อาหารรสจัด เครื่องดื่มกาเฟอีน แอลกอฮอล์
- กินอาหารไขมันต่ำและอาหารที่มีใยอาหารต่ำ
- สังเกตอาการกับการกินผักผลไม้ชนิดต่างๆแล้วปรับตัวตามนั้น ซึ่งผักผลไม้ควรเป็นชนิดย่อยง่ายเช่น ผลไม้สุกงอม
- กินอาหารอ่อน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในเรื่อง ประเภทอาหารทางการ แพทย์) อาหารย่อยง่าย รสจืด กินครั้งละน้อยๆ แต่กินให้บ่อยขึ้น
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้เพียงพอกับน้ำที่เสียไปจากท้องเสียเช่น อย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม
- ไม่สูบบุหรี่ เลิกสูบถ้าสูบบุหรี่
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ เพื่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิต
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน
- รักษาสุขภาพจิต
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
เมื่อเป็นโรคโครห์นควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ เมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น อุจจาระเหม็นมากขึ้น หรือเป็นมูกเลือดมากขึ้น
- มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ปวดท้องมากกว่าปกติต่อเนื่อง ไม่ผายลม
- อาการต่างๆที่เคยควบคุมได้แต่กลับมากำเริบอีก
- มีผลข้างเคียงมากหรือแพ้ยาจากยาที่แพทย์สั่ง เช่น ผื่นขึ้น หรือเวียนศีรษะมาก
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคโครห์นอย่างไร?
การป้องกันโรคโครห์นเป็นไปได้อยาก เพราะยังไม่ทราบสาเหตุ แต่สามารถควบคุมรัก ษาโรคได้ดีขึ้น ลดความรุนแรงของอาการ และลดโอกาสเกิดอาการกำเริบคือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวในหัวข้อปัจจัยเสี่ยง
ซึ่งทั่วไป การดูแลตนเองเพื่อลดโอกาสโรคฯกำเริบที่สำคัญได้แก่
- สังเกตทุกอย่างในการดำเนินชีวิตว่าอะไรมีผลกระตุ้นให้เกิดอาการหรือทำให้อาการรุนแรงเพื่อการหลีกเลี่ยงเช่น ประเภทอาหาร ปริมาณอาหาร อุณหภูมิ สิ่งแวดล้อม
- หลีกเลี่ยงอาหารประเภทนมและผลิตภัณฑ์ของนม อาหารรสจัด เครื่องดื่มกาเฟอีน แอลกอฮอล์
- กินอาหารไขมันต่ำ อาหารใยอาหารต่ำ
- กินอาหารอ่อน อาหารย่อยง่าย รสจืด กินครั้งละน้อยๆ แต่กินให้บ่อยขึ้น
- ไม่ซื้อยากินเองพร่ำเพรื่อ
- ไม่สูบบุหรี่ เลิกสูบถ้าสูบบุหรี่
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ เพื่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิต
- พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพทุกวัน
- รักษาสุขภาพจิต
บรรณานุกรม
- Wilkins, T. et al. (2011). Am Fam Physician. 84, 1365-1375
- https://www.niddk.nih.gov/health-information/digestive-diseases/crohns-disease [2019,Jan26]
- https://emedicine.medscape.com/article/172940-overview#showall [2019,Jan26]
- http://www.crohnscolitisfoundation.org/what-are-crohns-and-colitis/what-is-crohns-disease/ [2019,Jan26]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Crohn%27s_disease [2019,Jan26]