โรคเหงือก หรือ โรคของเหงือก (Gum disease)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 25 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคเหงือก?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเหงือก?
- โรคเหงือกมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคเหงือกได้อย่างไร?
- โรคเหงือกรุนแรงไหม?
- มีแนวทางรักษาโรคเหงือกอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- มีการตรวจคัดกรองโรคเหงือกไหม?
- ป้องกันโรคเหงือกได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคช่องปาก หรือ โรคของช่องปาก (Oral disease)
- มะเร็งเหงือก (Gingival cancer)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
- โรคลักปิดลักเปิด โรคขาดวิตามิน-ซี (Scurvy)
- โรคปริทันต์ หรือ โรครำมะนาด (Periodontal Disease)
- เหงือกอักเสบ (Gingivitis)
- โรคเลือด (Blood Diseases)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคเหงือก หรือ โรคของเหงือก(Gum disease หรือ Gingival disease)คือ โรค/ภาวะผิดปกติต่างๆที่เกิดกับเหงือกซึ่งส่งผลให้เหงือกอักเสบ อาการพบบ่อยคือ เหงือกจะ เจ็บ บวม แดง เลือดออกง่าย และมีกลิ่นปาก
โรคเหงือกเมื่อเกิดเรื้อรังจะลุกลามจนเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อทุกชนิดที่อยู่ล้อมรอบฟันที่เรียกว่า เนื้อเยื่อปริทันต์ ได้แก่ เหงือก, เนื้อเยื่อที่ยึดฟันให้ติดกับเบ้าฟัน, สารเคลือบรากฟัน, และกระดูกกรามที่รองรับฟัน ซึ่งการอักเสบของเนื้อเยื่อกลุ่มนี้เรียกว่า ‘โรคปริทันต์’
ทั้งนี้ยังไม่มีรายงานสถิติเกิดโรคเหงือกในภาพรวมทุกสาเหตุ แต่จะรายงานโรคเหงือกรวมอยู่ในโรคปริทันต์ ซึ่งโรคปริทันต์เป็นโรคพบบ่อยทั่วโลก เป็นอันดับ 2 ของ โรคช่องปากและฟัน โดยพบบ่อยรองจากฟันผุ ในสหรัฐอเมริกามีรายงานพบโรคเหงือกประมาณ 30-50% ของประชากรทั้งหมด พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ แต่มักพบในวัยผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดใกล้เคียงกัน
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคเหงือก?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเหงือก ได้แก่
ก. สาเหตุพบบ่อยที่สุด คือ ดูแลรักษาช่องปากได้ไม่ดี ที่สำคัญ คือ แปรงฟันไม่ถูกวิธี, ไม่รู้จักใช้ไหมขัดฟัน, กินจุบกินจิบ, ติดอาหารหวาน, ไม่พบทันตแพทย์, ส่งผลให้เกิดคราบหินปูนที่ทำให้เหงือกบาดเจ็บอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย ส่งผลต่อเนื่องให้เหงือกอักเสบ จนเกิดเหงือกอักเสบเรื้อรัง และ’โรคปริทันต์ในที่สุด’ ซึ่งสาเหตุนี้เป็นสาเหตุพบบ่อยที่สุด เกือบทั้งหมดของโรคเหงือก
ข. สาเหตุอื่นที่พบได้ประปราย: ที่ทำให้เหงือกบาดเจ็บ เกิดแผล อักเสบ และ/หรือผิดรูปร่าง ได้แก่
- เหงือกบาดเจ็บเป็นแผล/แผลอักเสบจากอุบัติเหตุ: เช่น
- จากแปรงฟันรุนแรง หรือขนแปรงแข็งเกินไป
- ใช้ไหมขัดฟันรุนแรง หรือไหมขัดฟันแข็งกระด้างเกินไป
- จากไม้จิ้มฟัน
- กัด เคี้ยว อาหารแข็ง
- อุบัติกระแทกที่ช่องปาก/เหงือก
- หัตถการทางการแพทย์ที่เหงือก เช่น ถอนฟัน
- เหงือกอักเสบจากโรคเชื้อรา ซึ่งพบน้อย มักพบในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น โรคเอดส์
- โรคบางชนิดของร่างกายที่ทำให้มีการอักเสบของเนื้อเยื่อทุกชนิดของร่างกายรวมถึงเหงือก เช่น
- โรคต่อมไร้ท่อ เช่น โรคเบาหวาน
- โรคออโตอิมมูน เช่น โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี
- โรคที่ส่งผลให้ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น เอชไอวี, โรคเอดส์,
- ภาวะร่างกายมีฮอร์โมนเพศผิดปกติ เช่น การตั้งครรภ์
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น
- ยาต้านชักยากันชัก Phenytoin
- ยากดภูมิคุ้มกันบางชนิด เช่นยา Cyclosporin, ยาเคมีบำบัด
- ยาจิตเวชบางชนิด เช่นยา Valproate
- ยาลดความดันโลหิตสูง(ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง)บางชนิด เช่นยา Amlodepine, Nifedipine, Diltiazam
- ภาวะขาดสารอาหาร เช่น ภาวะขาดวิตามินซี / โรคลักปิดลักเปิด
- โรคภูมิแพ้
- แพ้สารเคมีต่างๆ เช่น แพ้ยาสีฟัน แพ้น้ำยาบ้วนปาก
- โรคมะเร็งที่แพร่กระจายมาเหงือก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- โรคมะเร็งของเหงือกเอง เช่น มะเร็งเหงือก
- โรคเลือด
- มีสิ่งแปลกปลอมติด/บาดเหงือก เช่น จากเศษข้าวโพดขั้ว
- สูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- พันธุกรรมผิดปกติ ที่ทำให้เกิดเหงือกอักเสบผิดรูปตั้งแต่แรกเกิด
- ความพิการแต่กำเนิด เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเหงือก?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเหงือก ได้แก่
- มีสุขภาพช่องปากไม่ดี ไม่รู้จักรักษาสุขภาพช่องปาก
- โรคเบาหวาน
- โรคออโตอิมมูน
- หญิงตั้งครรภ์
- สูบบุหรี่: สารพิษ/ควันพิษจากบุหรี่จะก่อการอักเสบของเนื้อเยื่อทุกชนิดของช่องปากรวมถึงเหงือกและหลอดเลือด และยังส่งผลให้เซลล์เหงือกซ่อมแซมตัวเองได้แย่ลง นอกจากนั้น ยังกระตุ้นแบคทีเรียก่อการอักเสบของเหงือกให้เจริญแพร่พันธ์ได้ดี โรคเหงือกจึงเกิดง่าย เรื้อรัง รุนแรง รักษาให้หายยาก
- ดื่มแอลกอฮอล์ เพราะผู้ดื่มแอลกอฮอล์จะมีสุขภาพช่องปากแย่ลง จึงเกิดโรคเหงือกได้ง่าย เรื้อรัง และรักษาให้หายได้ช้า
โรคเหงือกมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคเหงือก ได้แก่
- เหงือก บวม แดง
- เจ็บเหงือก โดยเฉพาะเมื่อมีการเคี้ยว และ/หรือแปรงฟัน
- เหงือกเลือดออกง่าย
- เสียวฟันต่อเนื่อง
- เหงือกร่นเห็นโคนฟัน
- ฟันโยกคลอน
- ถ้าอาการรุนแรง
- อาการต่างๆดังกล่าวจะรุนแรงมากขึ้น อาจมีหนอง และ
- มีกลิ่นปาก
ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆของ เหงือก ฟัน และ/หรือ ของช่องปาก ที่เมื่อดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นในประมาณ 1 สัปดาห์ หรือ อาการเลวลง ควรต้องรีบพบแพทย์/ทันตแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ
แพทย์วินิจฉัยโรคเหงือกได้อย่างไร?
โดยทั่วไป ทันตแพทย์/แพทย์วินิจฉัยโรคเหงือกได้จาก การตรวจทางคลินิกจาก สอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย คือ อาการ โรคประจำตัว การใช้ยาต่างๆ ร่วมกับการตรวจดูช่องปาก ฟัน และเหงือก ซึ่งสามารถให้การวินิจฉัยและรักษาได้เลย
แต่ถ้าอาการรุนแรง อาจมีการตรวจเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การตรวจเลือด ซีบีซี
- ตรวจเลือดดูค่าน้ำตาล หรือ สารภูมิคุ้มกัน หรือ สารภูมิต้านทานโรค
- การตรวจเชื้อ หรือ การตรวจเพาะเชื้อ จากแผล หรือจากหนอง/สารคัดหลั่งที่แผล
- เอกซเรย์ภาพฟัน หรือ ภาพกระดูกกราม
- อาจมีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยากรณีมีก้อนเนื้อที่เหงือก
โรคเหงือกรุนแรงไหม?
ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของโรคเหงือก โดยเฉพาะเหงือกอักเสบ คือ เป็นโรคที่รักษาให้หายได้เสมอเมื่อพบทันตแพทย์/แพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ แต่ถ้าปล่อยให้อาการอักเสบเรื้อรังจนฟันโยกคลอน อาจต้องสูญเสียฟันนั้นๆ/ฟันหลุดก่อนเวลาอันควร หรือถ้าการอักเสบลุกลามเข้ากระดูกกรามการรักษาจะซับซ้อน รักษายาก อาจต้องมีการผ่าตัดกระดูกกราม
นอกจากนั้น โรคเหงือกที่อักเสบเรื้อรัง ยังมีผลให้แบคทีเรียจากเหงือกที่อักเสบแพร่เข้ากระแสเลือดไปก่อให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย พบบ่อยที่หัวใจ และยังเป็นปัจจัยให้อาการของโรคต่างๆรุนแรงขึ้น รักษายากขึ้น เช่น โรคหัวใจ, โรคเบาหวาน
อีกประการ หลังการรักษาหายแล้ว เหงือกอักเสบสามารถย้อนกลับเป็นซ้ำได้เสมอถ้าไม่รักษาสุขอนามัยของช่องปาก
มีแนวทางรักษาโรคเหงือกอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคเหงือก ได้แก่ การรักษาสุขภาพ/สุขอนามัยช่องปากและฟัน ร่วมกับการดูแลรักษาสาเหตุและอาการ
ก. การรักษาสุขภาพช่องปากและฟัน: เป็นการดูแลรักษาที่สำคัญที่สุด นอกจากเป็นการรักษาแล้ว ยังป้องกันความรุนแรงของโรคฯ, ป้องกันโรคเหงือกย้อนกลับเป็นซ้ำ, และในกรณีที่ยังไม่เคยเป็นโรคเหงือก การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากฯยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิผลที่สุดในการป้องกันการเกิดโรคเหงือก/โรคปริทันต์,
วิธีดูแลรักษาสุขภาพช่องปากฯที่สำคัญได้แก่
- ปฏิบัติตาม ทันตแพทย์ แพทย์ พยาบาล แนะนำ กรณีพบแพทย์แล้ว
- และการดูแลตนเอง/การรักษาสุขภาพช่องปาก ทั่วไปที่สำคัญคือ
- แปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ2ครั้ง ก่อนเข้านอน และเมื่อตื่นนอนเช้า
- ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ1ครั้งก่อนแปรงฟันเข้านอน
- เลือกแปรงสีฟัน/ขนแปรงสีฟันให้เหมาะสม ไม่แข็ง หรือนุ่มจนเกินไป
- เลือกยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของฟัน ไม่ใช้ยาสีฟันที่ก่อการระคายต่อเหงือก/ช่องปาก
- บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งหลังกินอาหารมื้อหลักถ้าแปรงฟันไม่ได้
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
- เลิกสุรา ไม่ดื่มสุรา
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน
- พบทันตแพทย์ทุก6เดือน-1ปีกรณีไม่มีอาการ ต่อจากนั้นพบทันตแพทย์ตามนัดเสมอ
- เมื่อมีอาการผิดปกติที่เหงือก/ช่องปากฯและอาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเองในประมาณ1สัปดาห์ หรืออาการรุนแรงตั้งแต่มีอาการ เช่น เหงือกเป็นหนอง ควรรีบด่วนพบทันตแพทย์/มาโรงพยาบาล
ข.การรักษาอาการและ/สาเหตุ: ซึ่งจะต่างกันตามแต่ละสาเหตุ เช่น
- การผ่าตัดกรณี ปากแหว่ง เพดานโหว่, กระดูกรามอักเสบรุนแรง,
- การรักษา โรคออโตอิมมูน, โรคลักปิดลักเปิด(ภาวะขาดวิตามินซี) เมื่อสาเหตุมาจากโรคเหล่านั้น
- การถอนฟันกรณีฟันโยกคลอนมากจนเก็บรักษาไว้ไม่ได้
- การใช้ยาปฏิชีวนะกรณีเหงือกอักเสบติดเชื้อ
- การใช้ยาแก้ปวด กรณีมีอาการปวดร่วมด้วย
(แนะนำอ่านรายละเอียดเรื่องโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุรวมถึงวิธีรักษาได้จากเว็บ haamor.com)
ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเหงือกที่สำคัญ คือ
- ปฏิบัติตาม ทันตแพทย์ แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาที่ทันตแพทย์/แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- รักษาสุขภาพช่องปากที่สำคัญเช่นเดียวกับดังได้กล่าวใน ’ข้อก. การรักษาโรคเหงือกฯ’
มีการตรวจคัดกรองโรคเหงือกไหม?
การตรวจคัดกรองโรคเหงือกที่มีประสิทธิผล คือ พบทันตแพทย์สม่ำเสมอถึงแม้ไม่มีอาการอย่างน้อยทุก 6 เดือน - 1 ปี และต่อจากนั้นพบทันตแพทย์ตามนัดเสมอ
ป้องกันโรคเหงือกได้อย่างไร?
การป้องกันโรคเหงือกที่สำคัญ ได้แก่
- รักษาสุขภาพช่องปากดังได้กล่าวใน ‘ข้อ ก. หัวข้อ การรักษาฯ’
- ไม่สูบบุหรี่ เลิกสูบถ้าสูบบุหรี่
- ไม่ดื่นเครื่องดื่มสุรา เลิกสุราถ้าดื่มสุรา
- พบทันตแพทย์สม่ำเสมอทุก 6เดือน-1ปี หรือบ่อยตามทันตแพทย์นัด ถึงแม้ไม่มีอาการผิดปกติ