โรคเส้นประสาทเหตุไตวาย (Uremic neuropathy)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 13 มิถุนายน 2557
- Tweet
- บทนำ
- โรคเส้นประสาทเหตุไตวายคืออะไร?
- โรคเส้นประสาทเหตุไตวายเกิดได้อย่างไร?
- ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเส้นประสาทเหตุไตวาย?
- โรคเส้นประสาทเหตุไตวายมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อใด?
- แพทย์วินิจฉัยโรคเส้นประสาทเหตุไตวายอย่างไร?
- โรคอะไรที่อาการคล้ายโรคเส้นประสาทเหตุไตวาย?
- รักษาโรคเส้นประสาทเหตุไตวายอย่างไร?
- โรคเส้นประสาทเหตุไตวายมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- โรคเส้นประสาทเหตุไตวายมีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
- ป้องกันโรคเส้นประสาทเหตุโปรตีนผิดปกติอย่างไร?
- ป้องกันโรคประสาทเหตุไตวายอย่างไร?
- โรคเส้นประสาท (Peripheral neuropathy)
- โรคซีไอดีพี โรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (CIDP: Chronic inflammatory demyelinating polyradiculoneuropahty)
- กลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร โรคจีบีเอส (Guillan Barre syndrome: GBS)
- โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน (Diabetic Neuropathy)
- ความผิดปกติทางระบบประสาทเหตุเอชไอวี (HIV associated neurological disorders)
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุติดเชื้อเอชไอวี (Neurologic Complications of HIV Infection)
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอี (Neurologic Complication of SLE)
- โรคเรื้อน (Leprosy)
- กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome)
บทนำ
โรคเส้นประสาทอักเสบ หรือเส้นประสาทเสื่อม (Neuropathy) เป็นสาเหตุของอาการชา และอาการอ่อนแรงของแขนขาที่พบบ่อย ซึ่งสาเหตุความผิดปกติที่ทำให้เกิดโรคเส้นประสาทนั้น มีหลากหลายสาเหตุ เช่น โรคเบาหวาน โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคซีไอดีพี และโรคไตวาย ปัจจุบัน มีผู้ป่วยไตวายจำนวนมากขึ้น เนื่องจากมีผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของไตวาย ยิ่งในปัจจุบันผู้ป่วยไตวายจำนวนมากได้รับการรักษาที่ดี มีชีวิตยืนยาวมากขึ้น ทั้งได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดหรือการล้างไตทางช่องท้องด้วย ซึ่งผู้ป่วยมีภาวะไตเสื่อม/ไตวาย จะมีอาการผิดปกติของเส้นประสาทร่วมด้วย (โรคเส้นประสาทเหตุไตวาย: Uremic neuropathy) ได้ ลองติดตามบทความนี้ เพื่อทำความเข้าใจถึงเหตุของความผิด ปกติดังกล่าวว่า อาการผิดปกติเป็นอย่างไร จะรักษาหายหรือไม่
โรคเส้นประสาทเหตุไตวายคืออะไร?
โรคเส้นประสาทเหตุไตวาย คือ ภาวะ/โรคที่เส้นประสาทเกิดรอยโรคขึ้นจากที่มีไตวาย ไตไม่สามารถขับของเสียออกจากร่างกายได้ ส่งผลให้มีของเสียคั่งค้างในร่างกาย และทำให้มีการเสื่อม/รอยโรคของเส้นประสาท โดยเกิดเป็นการทำลายแกนกลางของเส้นประสาท/แอกซอน (Axon) แล้วจึงมีการทำลายของปลอกประสาท (Myelin sheath) ในภายหลัง
โรคเส้นประสาทเหตุไตวายนี้ พบได้ประมาณ 50 - 80% ของผู้ป่วยไตวายทั้งหมด
โรคเส้นประสาทเหตุไตวายเกิดได้อย่างไร?
กลไกการเกิดโรคเส้นประสาทเหตุไตวายจริงๆ ยังไม่ทราบแน่ชัด จากการศึกษาพบว่า เมื่อมีภาวะไตวาย เส้นประสาทจะมีการสะสมของเสีย ซึ่งเป็นสารพิษที่สะสมในร่างกาย เพราะไตกำจัดออกไม่ได้ และขาดพลังงานในเส้นประสาท ก่อให้เกิดการเสื่อมของแกนกลางของเส้นประสาท (แอกซอน) จากส่วนปลาย (Distal) มาก่อนและค่อยๆลามมาที่ส่วนต้น (Proximal ) ก่อให้เกิดอาการผิดปกติทั้งเส้นประสาทส่วนควบคุมกำลังกล้ามเนื้อ (Motor) และเส้นประ สาทส่วนนำความรู้สึก (Sensory)
ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเส้นประสาทเหตุไตวาย?
ไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดว่า พบโรคเส้นประสาทเหตุไตวายในคนเชื้อชาติใดมากกว่ากัน แต่พบในผู้ป่วยชายมากกว่าในผู้ป่วยหญิง โรคนี้พบได้ในทุกกลุ่มอายุ ขึ้นกับความรุนแรงของภาวะไตวาย
โรคเส้นประสาทเหตุไตวายมีอาการอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคเส้นประสาทเหตุไตวาย จะมีอาการผิดปกติด้านการรับความรู้สึกก่อน ได้แก่ อาการชา และอาการเหมือนมีแมลงมาไต่ที่บริเวณเท้า ขา ก่อน ต่อมาจะเริ่มมีอาการปวดแขนขา แล้วจึงตามมาด้วยอาการแขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบเล็กลง โดยอาการจะค่อยๆลุกลามจากส่วนเท้ามาที่น่องและที่ต้นขาตามลำดับ พร้อมกับเริ่มมีอาการที่นิ้วมือ มือ แขน มากขึ้นตาม ลำดับ นอกจากนี้ยังมีอาการขาหยุกหยิก ที่เรียกว่า กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless leg syn drome) และขาเป็นตะคริว (Cramp) เกือบ 70% ของผู้ป่วย บางส่วนมีอาการคันแขนขาร่วมด้วย
นอกจากนั้น ผู้ป่วยบางส่วน อาจมีอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติร่วมด้วย เช่น หน้ามืด วิงเวียนขณะลุกขึ้น บางรายเกิดอาการเส้นประสาทอักเสบเฉียบพลันแบบโรคจีบีเอสก็ได้ หรือบางรายมีอาการเส้นประสาทถูกกดทับ เช่น เส้นประสาทมีเดียน (โรคเส้นประสาทมีเดียนกดทับที่ข้อมือ: Carpal tunnel syndrome) ส่วนน้อยพบความผิดปกติของเส้นประสาทสมอง เช่น เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 (เช่น ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท) หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3, 4, 6 (เช่น มีการกลอกตาผิดปกติ) บางรายมีปัญหาการทรงตัวเพราะสูญเสียหน้าที่ของเส้นประสาทเกี่ยวกับการทรงตัวและการเคลื่อนไหวของข้อต่อ (Vibratory and propioceptive sense)
ควรพบแพทย์เมื่อใด?
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ป่วยก็จะติดตามการรักษาภาวะไตวายอยู่เป็นประจำกับแพทย์ ถ้าสังเกตว่าตนเองมีอาการผิดปกติที่กล่าวข้างต้น จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรือรุนแรงมากขึ้น ควรต้องแจ้งต่อแพทย์ที่รักษา เพื่อให้ได้รับการตรวจแน่ชัดว่า มีสาเหตุจากอะไร และต้องรักษาอย่างไร
แพทย์วินิจฉัยโรคเส้นประสาทเหตุไตวายอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคประสาทเหตุไตวายได้จาก การพิจารณาจากอาการผิดปกติ ร่วมกับ การตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายทางระบบประสาท การตรวจเลือดดูการทำงานของไตว่า มีภาวะไตวาย และจากไม่พบว่ามีสาเหตุอื่นๆที่จะอธิบายการผิดปกติได้ ก็สามารถสรุปให้การวินิจ ฉัยโรคนี้ได้
อนึ่ง ถ้าอาการทางระบบประสาทชัดเจนในผู้ป่วยไตวาย แพทย์ก็ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจสืบค้นด้วยวิธีการเฉพาะอื่นๆเพิ่มเติม แต่ถ้าอาการทางระบบประสาทของผู้ป่วยไม่ชัดเจน และสงสัยว่า อาจเกิดจากเหตุอื่นๆได้ แพทย์ก็จะพิจารณาส่งตรวจด้วยวิธีการเฉพาะเพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ
โรคอะไรที่อาการคล้ายโรคเส้นประสาทเหตุไตวาย?
โรคที่มีอาการผิดปกติที่คล้ายกับโรคเส้นประสาทเหตุไตวาย ที่แพทย์ต้องทำการวินิจฉัยแยกโรค ได้แก่
- โรคจีบีเอส
- โรคซีไอดีพี
- โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน
- โรคเส้นประสาทเหตุจากเชื้อเอชไอวี (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ความผิดปกติทางระบบประสาทเหตุเอชไอวี และเรื่อง ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุติดเชื้อเอชไอวี )
- โรคเส้นประสาทเหตุโปรตีนผิดปกติ
- โรคเส้นประสาทเหตุโรคมะเร็ง
- โรคเส้นประสาทเหตุสารพิษ
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอี
- โรคเรื้อน
- โรคกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข
- โรคเส้นประสาทเหตุขาดวิตามิน (โรคเส้นประสาทเหตุขาดสารอาหาร)
รักษาโรคเส้นประสาทเหตุไตวายอย่างไร?
การรักษาโรคเส้นประสาทเหตุไตวายที่สำคัญ คือ การรักษาให้ไตมีหน้าที่ดีขึ้น ไม่ให้มีการสะสมของเสีย/สารพิษ ให้วิตามินที่เพียงพอ ให้สารอาหารที่เหมาะสมกับโรคและร่างกาย ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด และให้ยารักษาอาการผิดปกติต่างๆ (เช่น อาการตะคริว อาการขาอยู่ไม่สุข ถ้าพบมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย) เช่น ยาแก้ปวด (เช่น พาราเซตามอล/Paracetamol), ยาต้านเศร้า (เช่น Amitriptylline: อะมิธิปทีลีน ที่ช่วยรักษาอาการปวดจากโรคเส้นประสาท), ยาเพิ่มสารโดปามีน/Dopamine: ยารักษาโรคไตวาย (เช่น Bromocriptine: โบโมคริบทีน), และยาลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ (Tizanidine: ทิซ่านิดีน), ยาแก้ภาวะตะคริว (Lioresal: ไลโอรีซอล)
โรคเส้นประสาทเหตุไตวายมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
พบน้อยมากในโรคเส้นประสาทเหตุไตวาย ที่ผู้ป่วยจะเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงและหายใจไม่ได้ จนเกิดภาวะหายใจล้มเหลวจนเสียชีวิต (ตาย) ทั้งนี้ การพยากรณ์โรคของโรคเส้น ประสาทเหตุไตวาย ขึ้นกับความรุนแรงของภาวะไตวาย และโรคร่วม/โรคประจำตัวที่พบหรือที่เป็นสาเหตุของไตวาย (เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ) ส่วนใหญ่แล้วการรักษาได้ผล ไม่หายเป็นปกติ แต่อาการมักจะดีขึ้น และผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ถ้าสามารถรักษาให้ไตทำงานได้ดีขึ้น
โรคเส้นประสาทเหตุไตวายมีภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?
ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่พบได้จากโรคเส้นประสาทเหตุไตวาย คือ อาการผิด ปกติทางระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น อาการมึนศีรษะ วิงเวียนเมื่อเปลี่ยนท่าทาง เพราะอาจทำให้ล้มได้ง่าย และอาจเกิดเลือดออกรุนแรง (เมื่อมีอุบัติเหตุจากการล้ม) จากการทำงานผิดปกติของเกล็ดเลือดจากภาวะไตวาย
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคเส้นประสาทเหตุไตวาย ที่สำคัญ คือ
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
- ทานยาต่างๆตามที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ 5 หมู่อย่างเหมาะสมตาม แพทย์ พยาบาล และ/หรือ โภชนากร แนะนำ เช่น ไม่เค็ม รสจืด/ไม่ใช่อาหารรสจัด จำกัดอาหารโปรตีน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง อาหารในโรคไต)
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
- ทำกายภาพบำบัด ตามแพทย์ นักกายภาพบำบัด และ/หรือพยาบาล แนะนำสม่ำเสมอทุก ๆวัน
- ไม่ควรทานสมุนไพรหรืออาหารเสริมอื่นๆ นอกจากที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
ผู้ป่วยควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- ปวดแขนขามากขึ้น
- มีอาการตะคริวรุนแรง
- มีอาการอ่อนแรงมากขึ้น
- มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทอัตโนมัติ (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ) มากขึ้น
- เมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันโรคประสาทเหตุไตวายอย่างไร?
การดูแลตนเองให้ดี ให้ปราศจากโรคไต และภาวะไตวาย ก็จะป้องกันไม่ให้เป็นโรคเส้น ประสาทเหตุไตวายนี้ได้