โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน (Diabetic Neuropathy)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 2 พฤษภาคม 2556
- Tweet
- บทนำ
- โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานคืออะไร?
- โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานพบบ่อยแค่ไหน?
- ใครมีโอกาสเป็นโรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานได้บ้าง?
- โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานมีอาการอะไรบ้าง?
- ผลข้างเคียงจากโรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานมีอะไรบ้าง?
- แพทย์จะให้การวินิจฉัยได้อย่างไร?
- โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานรักษาอย่างไร?
- การใช้วิตามินบี หรือวิตามินบำรุงเส้นประสาทได้ประโยชน์หรือไม่?
- โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานมีผลการรักษาดีหรือไม่?
- นอกจากการดูแลเพื่อควบคุมเบาหวานแล้ว ควรดูแลตนเองอื่นๆอย่างไร?
- โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานป้องกันได้หรือไม่?
- ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เมื่อใด?
- สรุป
บทนำ
โรคเบาหวาน แพทย์มักเรียกย่อว่า ดีเอ็ม (DM, Diabetes mellitus) เป็นโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่งในผู้ใหญ่ พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนจะกังวลใจว่าตนเองจะมีภา วะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงหรือไม่ ไม่ว่าภาวะแทรกซ้อนนั้นจะเป็น เบาหวานขึ้นตา เบาหวานเข้าไต และเบาหวานเข้าเส้นประสาท ที่มีชื่อเป็นทางการ คือ โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน (Diabetic Neuropathy) อาการผิดปกติจากโรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานมีหลายแบบ ลองติด ตามบทความนี้ เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ให้ดีขึ้น เพื่อนำความรู้ที่ได้มาดูแลสุขภาพของเราหรือของคนที่เรารัก จะได้มีสุขภาพที่ดี
โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานคืออะไร?
โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน คือ โรคที่เกิดความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve) รากประสาท (nerve root) เส้นประสาทสมอง (Cranial nerve) รวมถึงระ บบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system) โดยมีเหตุมาจากโรคเบาหวาน
โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานพบบ่อยแค่ไหน?
โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานเป็นโรคที่พบบ่อย แตกต่างกันในแต่ละการศึกษา เพราะขึ้นอยู่กับการควบคุมระดับน้ำตาลและเกณฑ์การวินิจฉัยโรค โดยประมาณอาจพบสูงถึง 50% ของผู้ป่วยเบาหวาน พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายไม่แตกต่างกัน
ใครมีโอกาสเป็นโรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานได้บ้าง?
โรคนี้พบในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี มีภาวะแทรกซ้อนเบาหวานขึ้นตา หรือเบาหวานเข้าไต และยิ่งในผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมานาน ก็ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าผู้ที่เป็นเบาหวานมาไม่นาน
โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานมีอาการอะไรบ้าง?
โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานนี้มีลักษณะอาการผิดปกติได้หลากหลายรูปแบบ เพราะโรคนี้ก่อให้เกิดรอยโรคได้ที่ระบบประสาทหลายตำแหน่ง ได้แก่
- เส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve)
- รากประสาท (Nerve root)
- เส้นประสาทสมอง (Cranial nerve)
- ระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system)
- เส้นประสาทส่วนปลายเหตุเบาหวาน เรียกว่า Diabetic polyneuropathy โดยมีลักษณะ ชาปลายเท้า-มือ โดยเริ่มจากปลายนิ้วเท้าก่อนปลายนิ้วมือ และค่อยๆเป็นมากขึ้น โดยลักษณะจะค่อยๆลามมากขึ้น จากปลายนิ้วขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงข้อมือ ข้อเท้า ข้อศอก ข้อเข่า ลักษณะเหมือนคนใส่ถุงมือ ถุงเท้า (Glove and stocking) อาการผิดปกติของเส้นประสาทที่พบ นอกจากอาการชาแล้ว ยังมีอาการเหมือนมีแมลง มดมาไต่ เจ็บแสบแปล๊บๆได้ บางครั้งอาจเดินเซเพราะเกิดความผิดปกติของระบบประสาทส่วนการเคลื่อนไหวของข้อต่อและระบบสั่นสะ เทือนของร่างกาย (Propioceptive and vibratory sense) โดยอาการจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่เป็นขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งลักษณะการดำเนินโรค/ธรรมชาติของโรคแบบนี้ ใช้แยกความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลายจากสาเหตุอื่นๆได้
- รากประสาทเหตุเบาหวาน เรียกว่า Diabetic radiculopathy ซึ่งอาจเป็นหลายๆรากประสาทพร้อมๆกันได้ (Polyradiculopathy หรือ plexopathy) อาการผิดปกติที่พบบ่อยคือ มีอาการปวดและกล้ามเนื้อลีบเล็กลง พบบ่อยบริเวณกล้ามเนื้อต้นขา อาการเป็นขึ้นมาค่อนข้างเร็ว
- เส้นประสาทสมองเหตุเบาหวาน เรียกว่า Diabetic cranial neuropathy พบบ่อยๆที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 ผู้ป่วยจะมีอาการหนังตาตก ลืมตาไม่ขึ้น มองเห็นภาพซ้อน เพราะไม่สามารถกลอกตาไปมาได้ โดยรูม่านตาหดขยายได้ตามปกติ มักเป็นขึ้นมาอย่างฉับพลัน อาการที่แตกต่างจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 ถูกกดทับจากหลอดเลือดที่ผิดปกติ คือ การตอบสนองต่อแสงของรูม่านตายังเป็นปกติ
- ระบบประสาทอัตโนมัติเหตุเบาหวาน เรียกว่า Diabetic autonomic neuropathy เนื่องจากระบบประสาทอัตโนมัติจะควบคุมการขับถ่าย และ การเต้นของหัวใจ ผู้ป่วยจึงมีอาการท้องเสีย หรือเป็นลมได้ง่ายเวลาเปลี่ยนท่า เช่น จากนอนเป็นยืนอย่างรวดเร็ว เพราะเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า (Postural hypotension)
ผลข้างเคียงจากโรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานมีอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่อาจพบได้ คือ
- ผลข้างเคียงของเส้นประสาทส่วนปลายเหตุเบาหวาน คือ การเกิดแผลที่เท้า เพราะผู้ป่วยไม่ทราบจากไม่รู้สึกว่าตนเองนั้นได้ไปเหยียบหรือเตะสิ่งของต่างๆที่ก่อให้เกิดแผลได้ เนื่องจากผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวด นอกจากนั้น คือการทรงตัวไม่ดี/เดินเซ เพราะเส้นประสาทส่วนปลายยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวและการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่างๆ ดังนั้นผู้ป่วยอาจมีปัญหาการทรงตัว ส่งผลให้เดินเซ เดินไม่มั่นคง และล้มได้ง่าย
- ผลข้างเคียงของเส้นประสาทสมองเหตุเบาหวาน คือ อาการหนังตาตก กลอกตาไปมาไม่ได้ ส่งผลให้มีอาการมองเห็นภาพซ้อน และปวดศีรษะเป็นประจำ
- ผลข้างเคียงของรากประสาทเหตุเบาหวาน คือ กล้ามเนื้ออ่อนแรงและกล้ามเนื้อลีบเล็ก บางรายจะมีอาการปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ส่งผลให้ผู้ป่วยเดินลำบากและทรมานจากอา การปวดที่รุนแรง
- ผลข้างเคียงจากระบบประสาทอัตโนมัติเหตุเบาหวาน นั้น ที่พบบ่อยๆ คือ อาการท้องเสียเรื้อรัง การย่อยอาหารที่ผิดปกติ เกิดปัญหาเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตมากผิดปกติในลำ ไส้ การเต้นของหัวใจผิดปกติ เป็นลมง่าย และการทรงตัวไม่ดี/เดินเซ จึงล้มง่าย และเนื่องจากความดันโลหิตลดต่ำลงเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทาง
แพทย์จะให้การวินิจฉัยได้อย่างไร?
การวินิจฉัยโรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน ขึ้นอยู่กับกลุ่มอาการ
- กรณีเป็นเส้นประสาทส่วนปลายเหตุเบาหวาน แบบใส่ถุงมือ ถุงเท้า แพทย์ให้การวินิจฉัยโดยดูจากประวัติโรคเบาหวานและลักษณะอาการที่ผิดปกติ ก็สามารถให้การวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องตรวจเพิ่มเติม
- กรณีเป็นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 แพทย์อาจต้องส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพื่อดูว่าไม่มีหลอดเลือดผิดปกติมากดทับเส้นประสาทสมอง (กรณีเส้นประสาทถูกกดทับจากหลอดเลือด การตอบสนองของรูม่านตาต่อแสงมักจะผิดปกติ ส่วนเหตุจากเบาหวานนั้น การตอบสนองของรูม่านตาต่อแสงเป็นปกติ)
- กรณีเป็นเบาหวานที่มีผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติ แพทย์จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุอื่น ๆที่ส่งผลต่อระบบประสาทอัตโนมัติหรือมีอาการคล้ายๆกัน ถ้าตรวจหาสาเหตุอื่นๆไม่พบจึงบอกว่าเป็นเหตุจากโรคเบาหวาน
โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานรักษาอย่างไร?
การรักษาโรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานประกอบด้วย 3 ส่วนคือ
- การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ดี คือ ระดับน้ำตาลให้อยู่ระหว่าง 90-120 มก. (มิลลิกรัม)
- รักษาตามอาการที่ผิดปกติ เช่น การปวดจากเส้นประสาทโดยการใช้ยากันชักหรือยาต้านความเศร้า (ยากลุ่มนี้จะช่วยบรรเทาอาการปวดจากโรคของเส้นประสาทได้) เช่น คาร์บามาซีบีน (Carbamazebine) อะมิทิพทีลีน (Amitriptyline) หรือ กาบาเพนติน (Gabapentin) เป็นต้น
- การป้องกันภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียง เช่น แผลที่เท้าเหตุเบาหวาน (อ่านเพิ่มเติมได้ใน การดูแลเท้าในโรคเบาหวาน) การเป็นลมหมดสติ เป็นต้น
การใช้วิตามินบี หรือวิตามินบำรุงเส้นประสาทได้ประโยชน์หรือไม่?
จากการศึกษาทางการแพทย์ ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่า วิตามิน บี หรือวิตามินอื่นๆมีประ โยชน์ต่อการรักษาโรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน
โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานมีผลการรักษาดีหรือไม่?
โดยทั่วไปแล้วการรักษาโรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานชนิดรากประสาทอักเสบ และเส้น ประสาทสมองอักเสบมีการดำเนินโรค/ธรรมชาติของโรคที่ได้ผลรักษาค่อนข้างดี คือ หลังจากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี อาการผิดปกติก็จะค่อยๆดีขึ้น
ส่วนเส้นประสาทส่วนปลายเหตุเบาหวานและระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกตินั้น รักษาค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ แต่สามารถรักษาให้อาการคงที่ไม่ลุกลามขึ้น โดยการควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีเช่นกัน ร่วมกับให้ยารักษาตามอาการ ส่วนการรัก ษาด้วยวิธีการใหม่ๆนั้น ยังไม่มีข้อมูลว่าได้ประโยชน์ชัดเจน เช่น การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟ ฟ้า (TENS, Transcutaneous electrical nerve stimulation)
นอกจากการดูแลเพื่อควบคุมเบาหวานแล้ว ควรดูแลตนเองอื่นๆอย่างไร?
นอกจากการดูแลตนเองเพื่อควบคุมโรคเบาหวานแล้ว ควรดูแลตนเองในด้านอื่นๆ ดังนี้
- เมื่อเกิดอาการเส้นประสาทส่วนปลายเหตุเบาหวาน การดูแลตนเองที่ถูกต้อง คือ ต้องใส่รองเท้าเสมอ เดินด้วยความระมัดระวัง ไม่นำของร้อนมาประคบที่เท้าหรือนั่งผิงไฟ เพราะจะก่อให้เกิดแผลที่เท้า หรือถูกไฟไหม้ได้ง่าย เพราะผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บ หรือร้อน ที่เท้าได้ รับเหมือนปกติ และเมื่อเกิดแผลขึ้นต้องรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างรวดเร็ว (อ่านเพิ่ม เติมได้ใน การดูแลเท้าในโรคเบาหวาน)
- เมื่อเกิดอาการเส้นประสาทสมองเหตุเบาหวาน ควรระมัดระวังไม่ให้น้ำหรือฝุ่นละ อองเข้าตาจากการหลับตาได้ไม่ปกติดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ และถ้ามีการมองเห็นภาพซ้อนและไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ใส่แว่นตาดำข้างที่กลอกตาไม่ได้ หรือใช้ผ้าก๊อสปิดตาข้างนั้นก็ได้ ซึ่งทั้ง 2 กรณี ควรปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อการดูแลตาได้อย่างเหมาะสม
- เมื่อเกิดอาการรากประสาทเหตุเบาหวาน การดูแลตนเองคือ ควรหมั่นออกกำลังขาที่อ่อนแรงและกล้ามเนื้อที่ลีบ ตามแพทย์ พยาบาล และ/หรือนักกายภาพบำบัดแนะนำสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการลีบของกล้ามเนื้อและการอ่อนแรงที่มากขึ้น
- เมื่อเกิดอาการระบบประสาทอัตโนมัติเหตุเบาหวาน การดูแลตนเอง ต้องระมัดระวังในการเดินและเปลี่ยนท่าทาง เพราะจะล้มงาย เวลาลุกก็ต้องค่อยๆทำ เมื่อลุกยืนก็ต้องยืนให้มั่น คงก่อนที่จะเดิน ทานอาหารที่สะอาด สุก ขับถ่ายให้เป็นเวลา
โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานป้องกันได้หรือไม่?
โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวานนี้ สามารถป้องกันได้ โดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงทั้งที่ระบบประสาทต่างๆดัง กล่าวแล้ว และที่ระบบอื่นๆ เช่น จอประสาทตา (เบาหวานขึ้นตา) หลอดเลือดสมอง (โรคหลอดเลือดสมอง) และหลอดเลือดหัวใจ (โรคหลอดเลือดหัวใจ) และไต (โรคไตเรื้อรัง)
ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เมื่อใด?
ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ครับ เพราะลักษณะอาการผิดปกติดังกล่าวข้างต้นนั้น อาจมีสาเหตุจากโรคอื่นๆได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อให้การตรวจประเมินหาสาเหตุที่แน่ชัด
สรุป
ดังนั้น เมื่อท่านทราบดังนี้แล้ว ผมหวังว่าทุกคนควรดูแลตนเองเพื่อไม่ให้เป็นโรคเบา หวาน และถ้าเป็นโรคเบาหวานก็ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นโรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน