โรคหัวใจของคนอกหัก (ตอนที่ 1)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 6 เมษายน 2562
- Tweet
Dr Jelena Ghadri และทีมงานที่ University Hospital Zurich อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยสมองของผู้ป่วย 15 คนที่มีสภาพไม่ปกติที่เรียกว่าเป็น “โรคอกหัก” (Broken heart syndrome) ซึ่งจากการสแกนสมองพบว่า มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดบริเวณสมองที่ควบคุมความเครียด เมื่อเทียบกับสมองของอีก 39 คนที่มีสุขภาพดี
เขาเชื่อว่า หัวใจคนเราสามารถถูกทำลายได้ด้วยการที่ต้องพบเจอกับเหตุการณ์ที่น่าเศร้า โดยภาวะนี้จะเกิดขึ้นทันทีทันใดเมื่อต้องพบกับเหตุการณ์เครียดหรือเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อความรู้สึก เช่น การจากไปของคนรัก การเสียชีวิตของญาติหรือเพื่อนสนิท
Dr Ghadri กล่าวว่า อารมณ์เกิดในสมองและเป็นไปได้ที่โรคจะมีจุดกำเนิดที่สมองแล้วส่งผลต่อหัวใจ
ด้าน Joel Rose ผู้บริหารของ Cardiomyopathy UK กล่าวว่า นี่เป็นผลงานวิจัยชิ้นสำคัญที่จะช่วยให้เราเข้าใจถึงการก่อตัวของโรคกล้ามเนื้อหัวใจ เราหวังว่า ผลงานชิ้นนี้จะช่วยนำไปสู่การประสานงานกันระหว่างแพทย์ด้านประสาทวิทยา (Nuroscientists) และแพทย์ด้านหทัยวิทยา (Cardiologists)
ส่วน Prof Dana Dawson นักวิจัยจาก University of Aberdeen ที่ทำงานให้กับ British Heart Foundation กล่าวว่า การค้นพบนี้จะช่วยสนับสนุนสิ่งที่เราสงสัยมานานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสมองและหัวใจในโรค Takotsubo
โรคหัวใจจากความเครียด หรือ “โรคอกหัก” (Stress induced cardiomyopathy / Apical ballooning syndrome / Broken heart syndrome / Takotsubo cardiomyopathy) เป็นโรคที่พบในคนเอเซียร้อยละ 8 และคนยุโรปร้อยละ 1.5
โรคนี้ถูกนิยามโดยแพทย์ชาวญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2533 โดยมีรายงานว่าร้อยละ 90 ของผู้ที่เป็นโรคนี้ คือ ผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 58-75 ปี
ญี่ปุ่นเรียกชื่อโรคนี้ว่า Takotsubo เพราะ Tako หมายถึง ปลาหมึก Tsubo หมายถึง เครื่องมือลักษณะคล้ายขวด ซึ่งเป็นชื่อเครื่องมือของชาวญี่ปุ่นในการจับปลาหมึก ที่ตั้งชื่อนี้เพราะว่าอาการของโรคนี้ ทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายมีรูปร่างคล้ายเครื่องมือดังกล่าว และส่งผลให้มีการทำงานของหัวใจด้านล่างซ้ายผิดปกติ โดยก่อให้เกิดการหยุดทำงานชั่วคราวของหัวใจบริเวณนั้น
โรคอกหักมีอาการคล้ายภาวะหัวใจวาย (Heart attack) กล่าวคือ หายใจลำบาก (Breathlessness) และเจ็บหน้าอก แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ
- ภาวะหัวใจวายเกิดจากการที่หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจจึงตาย เป็นเหตุให้หัวใจถูกทำลายอย่างถาวร ซึ่งต่างจากโรคอกหักที่หลอดเลือดหัวใจไม่ได้อุดตัน
- ในโรคอกหัก เซลล์หัวใจจะหยุดชะงักชั่วคราวเหตุเพราะฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline) หรือฮอร์โมนเครียดตัวอื่น แต่เซลล์จะไม่ตายเหมือนภาวะหัวใจวาย ดังนั้นอาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่วัน ทั้งนี้เพราะหัวใจไม่ได้ถูกทำลาย
แหล่งข้อมูล:
- Brain clue to 'broken heart' syndrome. https://www.bbc.com/news/health-47440622[2019, April 5].
- Is Broken Heart Syndrome Real? https://www.heart.org/en/health-topics/cardiomyopathy/what-is-cardiomyopathy-in-adults/is-broken-heart-syndrome-real[2019, April 5].
- Broken Heart Syndrome. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17857-broken-heart-syndrome[2019, April 5].