โรคหลอดเลือดสมองตอน ใครที่ควรรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 14 มีนาคม 2560
- Tweet
การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด
- การรักษาโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลันที่ดีที่สุด คือ การฉีดยาละลายลิ่มเลือดภายใน 270 นาที หรือที่เรียกกันว่า ทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Fast Track) หรือ 270 นาทีชีวิต
- ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ มีโอกาสหายเป็นปกติร้อยละ 50 ยิ่งมาเร็ว รักษาเร็ว ยิ่งได้ผลดีกว่ามาช้า
- ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ เลือดออกในเนื้อสมองหรือระบบทางเดินอาหารได้ 6 คนใน 100 คนที่ได้ยา
- อย่างไรก็ตามการรักษาดังกล่าวไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิต แต่ลดความพิการ
ใครต้องได้ยาละลายลิ่มเลือด
- ผู้ป่วยโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลันที่มีขนาดของสมองขาดเลือดไม่ใหญ่เกิน 1 ใน 3 ของสมองครึ่งซีก มีความรุนแรงของระบบประสาทรุนแรงระดับปานกลาง และไม่รุนแรงมาก
- ที่สำคัญไม่มีข้อห้ามในการให้ยาละลายลิ่มเลือด และผู้ป่วยหรือญาติเห็นประโยชน์มากกว่าข้อเสีย และตัดสินใจให้การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด
ข้อห้ามของการให้ยาละลายลิ่มเลือด
- ผู้ป่วยอัมพาตสมองขาดเลือดที่มาทันเวลา 270 นาทีนั้น ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถให้การรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือด ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมตามหลักทางการแพทย์
- กรณีที่มีข้อห้ามต่อไปนี้ คือ ภาวะเลือดออกในสมอง ระบบทางเดินอาหาร แผลผ่าตัดขนาดใหญ่ แผลผ่าตัดภายในร่างกายที่ห้ามเลือดยาก ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมาก มีภาวะเลือดออกแล้วหยุดยาก ภาวะตับวาย การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ อุบัติเหตุที่รุนแรงต่อศีรษะ รวมถึงภาวะอื่น ๆ ที่มีโอกาสเลือดออกง่ายในอวัยวะสำคัญ และไม่สามารถหยุดห้ามเลือดได้ ก็ไม่ควรให้ยาละลายลิ่มเลือด
ทุกนาทีคือชีวิต เร็วก็รอด ปลอดอัมพาต