โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตัน (Cerebral embolism)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาตเป็นโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อย ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ก่อให้เกิดความพิการได้มากที่สุด มี 2 ชนิดตามพยาธิสภาพของเนื้อสมองที่ผิดปกติคือ “โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด (Ischemic stroke)” และ ”โรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในเนื้อสมอง (Intracerebral hemorrhage)”

  • สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด เกิดจากการตีบของหลอดเลือดสมองหรือจากการมีลิ่มเลือด (Thrombosis) ในหลอดเลือดสมอง และ/หรือจากการอุดตันของหลอดเลือดสมอง (Embolism)
  • ส่วนโรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในเนื้อสมอง เกิดจากหลอดเลือดสมองฉีกขาดหรือแตก ที่มักมีสาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูง หรือจากโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองผิดปกติ หรือเกิดจากภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ

วันนี้เรามารู้จัก “โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือดที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดสมอง หรือโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดเหตุหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตัน (Cerebral embolism หรือ Embolic stroke)”

โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันคืออะไร?

โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตัน

โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันคือ โรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือด (Cerebral infarction) ชนิดหนึ่ง เกิดจากการที่มีลิ่มเลือดขนาดเล็ก (Embolism), ก้อนไขมันขนาดเล็ก (Fat embolism), กลุ่มฟองอากาศ (Air embolism) ได้หลุดออกมาจากเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกายเข้าไปล่องลอยในหลอดเลือดแล้วไปอุดตันหลอดเลือดสมอง ทำให้เนื้อสมองส่วนที่หลอดเลือดอุดตันขาดเลือดไปเลี้ยงจึงเกิดเนื้อสมองส่วนที่ขาดเลือดตายและก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทขึ้น

โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันมีสาเหตุจากอะไรบ้าง?

สาเหตุที่พบบ่อยของโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันได้แก่

  • โรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ/หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) เช่นโรค Atrial fibrillation (AF)
  • โรคหัวใจชนิดรูมาติก (Rheumatic heart disease) ที่มีลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ (Mitral valve stenosis)
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ภาวะหัวใจวาย
  • โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)
  • โรคลิ่มเลือดบริเวณหลอดเลือดแดงคาโรติค/หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ลำคอ (Plague at carotid artery)
  • โรคลิ่มเลือดจากหลอดเลือดแดงเอออร์ติกบริเวณช่องอก (Plague at aortic arch)
  • ก้อนไขมันขนาดเล็กหลุดเข้าหลอดเลือดแดงจากภาวะกระดูกหัก (Fat embolism)
  • กลุ่มฟองอากาศ (Air embolism) หลุดเข้าหลอดเลือดแดงจากการทำหัตถการทางการแพทย์ (เช่น การผ่าตัด) บริเวณหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่

โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันพบบ่อยหรือไม่?

โรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันพบบ่อยประมาณ 10% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด

ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตัน?

ผู้ที่มีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันได้บ่อยคือ ผู้ป่วยในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • โรคหัวใจชนิดที่เรียกว่า โรคหัวใจรูมาติก
  • โรคลิ้นหัวใจชนิดมีลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิด AF
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • โรคหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure)
  • โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
  • ผู้สูงอายุ

อาการผิดปกติทางระบบประสาทจากโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันมีอะไร บ้าง?

อาการผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อยจากโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันคือ อาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดลำบาก/พูดไม่ออก/นึกคำพูดไม่ออก เดินเซ วิงเวียนศีรษะ ซึ่งอาการทั้งหมดนั้นจะเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด (Sudden onset) และเป็นมากทันที จะไม่ค่อยๆมีอาการเป็นมากขึ้นๆเหมือนอย่างหลอดเลือดสมองตีบ (Cerebral thrombosis)

มีอาการผิดปกติของร่างกายระบบอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่?

อาการผิดปกติอื่นที่อาจพบร่วมกับอาการทางระบบประสาทในโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอด เลือดสมองอุดตันคือ การอุดตันของหลอดเลือดบริเวณอื่นๆของร่างกาย (Embolic phenomenon) เช่น

  • ที่หลอดเลือดนิ้วมือ นิ้วเท้า อาการเช่น นิ้วมือนิ้วเท้าเขียวคล้ำ ปวด เป็นแผลจากเนื้อตาย
  • ที่หลอดเลือดจอตาอาการเช่น ตามัว และ
  • อาการผิดปกติอื่นๆของโรคร่วมอื่นๆที่เป็นอยู่ก่อนเช่น หัวใจเต้นผิดปกติ หายใจหอบเหนื่อย นอนราบจะหายใจไม่ได้ต้องนั่งหายใจ มีกระดูกหัก คลำชีพจรไม่ได้ของแขนขาข้างที่มีการอุดตันของหลอดเลือด

ผู้ป่วยควรพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันทีที่มีอาการผิดปกติต่างๆดังกล่าวในหัวข้อ “อาการทางระบบประสาท” เพื่อให้ได้เข้าสู่ระบบการรักษาทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke fast track) ไม่ควรรอสังเกตอาการเพราะอาจจะทำให้เสียโอกาสในการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันได้โดย ใช้ข้อมูลจากประวัติที่มีอาการผิดปกติทางระบบประสาทดังกล่าวในหัวข้อ อาการฯ ที่เกิดอาการทางระบบประสาทขึ้นมาอย่างทันทีทันใด ร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไป และการตรวจร่างกายทางระบบประสาท พบความผิด ปกติทางระบบประสาท และทางโรคร่วมที่เป็นสาเหตุเช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าข้อมูลเบื้องต้นเข้ากับโรคหลอดเลือดสมอง แพทย์ก็จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค

นอกจากนี้แพทย์จะส่งตรวจสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันโรคร่วมที่เป็นสาเหตุของการเกิดหลอด เลือดสมองอุดตันเช่น การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อน (Echocardiography) การตรวจเลือดดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันในระยะแรกทำอย่างไร?

การรักษาในระยะแรกของโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันประกอบด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดเข้าทางหลอดเลือดดำ (Intravenous thrombolysis) กรณีผู้ป่วยมาโรงพยาบาลภายในเวลา 270 นาทีหลังเกิดอาการและไม่มีข้อห้ามในการใช้ยานี้ แต่ถ้าไม่สามารถให้ยาละ ลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำได้ แพทย์จะฉีดยาละลายลิ่มเลือดอีกชนิด (Anticoagulant เช่น low molecular weight heparin) ทางใต้ชั้นผิวหนัง (Subcutaneous) เพื่อป้องกันการเป็นมากขึ้นของลิ่มเลือดอุดตัน อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดไม่ว่าจะชนิดใดในช่วงแรกนั้น ต้องเฝ้าระวังผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพราะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่สำคัญคือ มีภาวะเลือดออกในเนื้อสมองได้ง่าย จึงต้องติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และผู้ป่วย/ครอบครัวต้องทราบข้อดีข้อเสียของการใช้ยาละลายลิ่มเลือดจากแพทย์จนเข้าใจในวิธีการรักษา ผลการรักษา และภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง)ที่ อาจเกิดขึ้นได้จากยานี้

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันในระยะต่อมาทำอย่างไร?

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันในระยะต่อมาคือ การใช้ยาละลาย ลิ่มเลือดชนิดทานเพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำของหลอดเลือดสมองอุดตัน (Secondary prevention)ซึ่งจะใช้ยานี้ไปตลอดชีวิตในกรณีหลอดเลือดสมองอุดตันเกิดจากการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือจากลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ และร่วมกับการแก้ไข/รักษาโรคร่วมต่างๆ รวมถึงการทำกายภาพบำบัดกรณีมีแขนขาอ่อนแรง

การรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือดมีข้อควรระวังอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาละลายลิ่มเลือดที่สำคัญคือ เนื่องจากยาละลายลิ่มเลือดอาจเกิดปัญหา ยาเกินขนาดหรือตัวยาในเลือดไม่ได้ระดับคงที่ตามแพทย์ต้องการ เพราะเกิดการตีกันของยาได้ง่าย (อันตรกิริยา/ปฏิกิริยาระหว่างยา: Drug interaction) ระหว่างยาละลายลิ่มเลือดกับยาอื่นที่ผู้ป่วยทานเป็นประจำ/หรือที่ใช้รักษาโรคร่วมต่างๆหรืออาหารเสริม/สมุนไพร จึงไม่ควรใช้อาหารเสริมหรือสมุนไพรร่วมด้วยในการรักษา และต้องแจ้งแพทย์/เภสัชกรเสมอถึงยาต่างๆที่ผู้ป่วยทานหรือใช้อยู่

การรักษาต้องมาพบแพทย์บ่อยแค่ไหน?

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะต้องมีการติดตามค่าการแข็งตัวของเลือดให้ได้ระดับที่แพทย์ต้องการตลอดเวลา ดังนั้นการติดตามการรักษา/การพบแพทย์ในช่วงแรกอาจต้องบ่อยพอสมควรเช่น ทุกสัปดาห์จนได้ระดับค่าการแข็งตัวของเลือดที่แพทย์ต้องการ หลังจากนั้นแพทย์อาจนัดทุก 1 - 2 เดือนขึ้นกับอาการทางระบบประสาทและอาการของโรคร่วมที่พบ

ในปัจจุบันทุกโรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทยได้พัฒนาระบบการติดตามการตรวจวัดระดับค่าการแข็งตัวของเลือด (Warfarin clinic) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกของการติดตามการรักษา และเพิ่มคุณภาพในการรักษาให้กับผู้ป่วย

ภาวะแทรกซ้อนในโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันมีอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ที่พบจากโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตัน ที่สำคัญคือ ผลที่เกิดสืบเนื่องมาจากอาการทางระบบประสาท/อัมพาตคือ ข้อติด แผลกดทับ ติดเชื้อในปอด/ปอดอักเสบจากการสำลักอาหาร ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้ยังเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทานยาละลายลิ่มเลือดคือ ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารและเลือดออกในกะโหลกศีรษะ เป็นต้น

โรคนี้มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคหรือผลการรักษาของโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันขึ้น กับสาเหตุของหลอดเลือดสมองอุดตันเช่น ถ้าการอุดตันเกิดจากลิ่มเลือดขนาดใหญ่หรือเกิดในตำแหน่งของสมองส่วนที่สำคัญ (เช่น ก้านสมอง) ก็จะมีผลการรักษาที่ไม่ดี

นอกจากนี้การพยากรณ์โรคยังขึ้นอยู่กับการเกิดภาวะแทรกซ้อน ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนผลการรักษาก็ไม่ดี รวมถึงการรักษาได้ทันเวลารวดเร็วหรือไม่ ถ้าการรักษาล่าช้าผลการรักษาก็ไม่ดีเช่นกัน

ญาติหรือผู้ดูแลต้องให้การดูแลผู้ป่วยอย่างไรบ้าง?

ในโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตัน กรณีผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ญาติ/ ผู้ดูแลต้องคอยดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะในเรื่องสำคัญดังนี้

  • พลิกตัวผู้ป่วยบ่อยๆเพื่อป้องกันแผลกดทับ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การป้องกันแผลกดทับ)
  • การทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • การทำกายภาพบำบัดตามแพทย์/พยาบาล/นักกายภาพบำบัดแนะนำ
  • การทานยาต่างๆที่แพทย์สั่ง
  • ระวังอย่าให้ผู้ป่วยล้มหรือมีการกระเทือนต่อศีรษะ
  • หลีกเลี่ยงการทานสมุนไพรและ/หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
  • พาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดให้สม่ำเสมอ

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?

กรณีมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันเช่น ไข้ขึ้นสูง ทานอาหารไม่ได้ สำลักอาหาร มีแผลกดทับ เลือดออกผิดปกติตามอวัยวะต่างๆ ปวดศีรษะ รุนแรง แขน-ขาอ่อนแรงมากขึ้น เป็นต้น ควรต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด

การดูแลตนเองที่บ้านควรทำอย่างไร?

การดูแลตนเองที่บ้านในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันที่สำคัญคือ

  • ต้องทานยาที่แพทย์สั่งสม่ำเสมอ
  • หมั่นทำกายภาพบำบัดตามแพทย์/พยาบาล/นักกายภาพบำบัดแนะนำ
  • ระวังการเคลื่อนไหวอย่าให้ล้มหรือศีรษะกระทบกระเทือน
  • ถ้าเจ็บป่วยใดๆควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลไม่ต้องรอจนถึงวันนัด และแจ้งแพทย์ด้วยว่าทานยาละลายลิ่มเลือด
  • ไม่ควรซื้อยาทานเองหรือหยุดยาละลายลิ่มเลือดเอง

ป้องกันโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันได้อย่างไร?

การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันคือ การป้องกัน การรักษาโรค/ภาวะที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ (ดังกล่าวในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง) ให้ได้ดี

ทั้งนี้แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่อง การป้องกันรักษาแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเหตุหลอดเลือดสมองอุดตันได้จากเว็บ haamor.com