โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก (Ischemic and Hemorrhagic Stroke)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคหลอดเลือดสมองหรือโรคอัมพาต (Stroke) เป็นโรคที่ทุกคนกลัวไม่อยากเป็น เพราะเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตสูงมาก การเป็นอัมพาตอาจทำให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้ หรืออาจเสียชีวิตได้ คนในครอบครัวต้องคอยดูแล และช่วยเหลือในการใช้ชีวิตทุกอย่าง ดังนั้น การรู้เท่าทันโรคอัมพาตจึงมีความสำคัญมาก

 

โรคอัมพาตแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

  • อัมพาตชนิดสมองขาดเลือดมาเลี้ยง (Ischemic stroke หรือ Cerebral infarction)
  • และอัมพาตชนิดเลือดออกในสมอง (Hemorrhage stroke หรือ Intra cerebral hemorrhage)

 

ทั้งนี้ ทั้งสองชนิดนี้มีความเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร การรักษาทำอย่างไ ร ลองติดตามบทความนี้ครับ

 

โรคอัมพาตคืออะไร?

โรคหลอดเลือดสมอง

โรคอัมพาต คือ โรคความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง เนื่องจากมีการอุดตัน ตีบ หรือแตกของหลอดเลือดสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติของสมองเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาการผิดปกติที่พบบ่อย คือ การอ่อนแรงของแขน-ขาครึ่งซีก ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท พูดไม่ชัด พูดลำบาก นึกคำพูดไม่ออก

 

อาการอัมพาตสมองขาดเลือดต่างจากอัมพาตเลือดออกในสมองอย่างไร?

อาการผิดปกติทางระบบประสาทของอัมพาตสมองขาดเลือดและเลือดออกในสมองแตก ต่างกันเพียงบางอาการ คือ อัมพาตเลือดออกในสมองนั้นอาจพบอาการปวดศีรษะ อาเจียนได้บ่อยกว่าอัมพาตสมองขาดเลือด รายละเอียดอื่นๆ สรุปดังตาราง เพื่อความเข้าใจได้ง่ายขึ้น

 

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่ออัมพาตสมองขาดเลือดและเลือดออกในสมอง?

อัมพาตสมองขาดเลือด มีโอกาสการเกิดขึ้นบ่อยในผู้ป่วย โรคเบาหวาน โรคความดันโล หิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ (โรคหัวใจเสียจังหวะ) โรคลิ้นหัวใจตีบ โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน สูบบุหรี่

 

ส่วนอัมพาตเลือดออกในสมองพบบ่อยใน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และ/หรือ ทานยาละลายลิ่มเลือด

 

แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเป็นอัมพาตชนิดไหน?

การวินิจฉัยในปัจจุบัน สำหรับผู้ป่วยอัมพาตที่มีอาการมาไม่เกิน 3 วัน แพทย์จะส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองทุกคน การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองจะบอกได้ทันทีและแม่นยำสูงมาก สามารถบอกว่าเป็นอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดหรือเลือดออกในสมองได้

 

เมื่อมีสงสัยว่าเป็นอัมพาตควรทำอย่างไร?

กรณีผู้ป่วยมีอาการสงสัยว่าตนเองจะเป็นอัมพาต คือ มีอาการผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้

1. ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท

2. แขน-ขา อ่อนแรง

3. พูดลำบาก พูดไม่ชัด นึกคำพูดลำบาก และ

4. อาการผิดปกตินั้นๆเป็นขึ้นมาทันทีอย่างรวดเร็ว รู้เวลาชัดเจนว่าเป็นตอนไหน

 

ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที เพราะอาการผิดปกติที่สงสัยว่าจะเป็นอัมพาตนั้น ไม่สามารถแยกได้แน่นอนจากประวัติอาการเพียงอย่างเดียว ต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองทุกราย เพื่อแยกให้ได้ว่าเป็นอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดหรือเลือดออกในสมอง เพราะการรักษาแตกต่างกัน คือ

  • อัมพาตสมองขาดเลือดจะต้องให้การรักษาด้วยการฉีดยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ ผู้ป่วยมีโอกาสหายเป็นปกติประมาณ 50% ที่ระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งการรักษาต้องทำอย่างรวดเร็วภายใน 270 นาทีหลังมีอาการ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง อัมพาต:270 นาทีชีวิต) การรักษานี้เรียกว่า 270 นาทีชีวิต หรือทางด่วนโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke fast track)
  • แต่ถ้าเป็นเลือดออกในสมอง การรักษาจะแตกต่างจากสมองขาดเลือด คือ อาจต้องมีการผ่าตัดนำก้อนเลือดออกจากสมอง

 

การรักษาอัมพาตเลือดออกในสมองแตกต่างจากอัมพาตสมองขาดเลือดอย่างไร?

การรักษาอัมพาตทั้ง 2 สาเหตุ

ก. ในส่วนที่เหมือนกัน คือ

  • ขั้นตอนการวินิจฉัยโดยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง
  • การทำกายภาพบำบัด
  • การรักษาโรคร่วม/โรคประจำตัว
  • และการรักษาแก้ไขปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่มี (เช่น เลิกบุหรี่)

 

ข. ในส่วนที่แตกต่างกัน คือ

  • การรักษาเฉพาะในระยะเฉียบพลัน ได้แก่
    • อัมพาตสมองขาดเลือด ถ้าเป็นโรคในระยะเฉียบพลัน จะให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งไม่มีการให้ยาตัวนี้ในอัมพาตสาเหตุเลือดออก
    • ซึ่งการป้องกันการเป็นซ้ำอัมพาตสมองขาดเลือด ต้องให้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือดขึ้นกับสาเหตุ
    • ส่วนอัมพาตเลือดออกในสมองนั้น ในระยะแรกถ้าเลือดออกในปริมาณมาก/ก้อนเลือดขนาดใหญ่ อาจต้องพิจารณาการผ่าตัดสมอง แต่ถ้าก้อนเลือดขนาดไม่ใหญ่ จะให้การรักษาโดยการรักษาประคับประคองตามอาการ

 

ค.ส่วนการรักษาระยะยาวของทั้ง 2 สาเหตุ คือ การรักษาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral aneurysm)

 

ทั้งนี้ การรักษาอัมพาตทั้งสองชนิด ต้องรักษา (เช่น ทานยา) ไปตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำ โดยเฉพาะชนิดสมองขาดเลือด ยกเว้นในกรณีอัมพาตเลือดออกในสมองที่เกิดจากหลอดเลือดสมองโป่งพอง ที่ได้ทำการผ่าตัดแก้ไขเรียบร้อยแล้ว โดยที่ผู้ป่วยไม่มีโรคร่วมอื่นๆ ก็อาจมาพบแพทย์เป็นระยะๆ โดยไม่ต้องทานยาต่อเนื่องประจำ

 

อนึ่ง วิธีในการทำกายภาพบำบัด ไม่มีความแตกต่างกันในทั้ง 2 สาเหตุ ทั้งนี้การทำกาย ภาพบำบัดเพื่อ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากอัมพาต เช่น ข้อต่างๆยึดติด แผลกดทับ และเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพต่างๆของร่างกาย เพื่อให้กลับมาแข็งแรงและทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม เช่น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต่างๆ การฝึกพูด เป็นต้น

 

ผลการรักษาเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?

ก. ผลการรักษากรณีอัมพาตสมองขาดเลือดหรือการพยากรณ์โรค

  • ถ้ามารับการรักษารวด เร็ว ทันเวลา 270 นาทีแรกก็มีโอกาสหายเป็นปกติประมาณ 50% ที่ 3 เดือน
  • กรณีมาไม่ทัน 270 นาทีแรก ก็ต้องรักษาโดยการทำกายภาพบำบัดเป็นหลัก ร่วมกับการรักษาโรคร่วม/โรคประจำตัว แก้ไขปัจจัยเสี่ยง ซึ่งโอกาสหายเป็นปกติก็มี แต่มักไม่สูง

 

ข. ผลการรักษากรณีอัมพาตเลือดออกในสมอง

  • อาจมีโอกาสเสียชีวิตในระยะแรกสูง ถ้าก้อนเลือดมีขนาดใหญ่ มีการกดเบียดก้านสมองและมาพบแพทย์ล่าช้า
  • แต่ถ้าเลือดที่ออกไม่มาก โอกาสฟื้นตัวเป็นปกติก็มีโอกาสสูง

 

อัมพาตทั้ง 2 ชนิดมีโอกาสเกิดเป็นซ้ำอีกหรือไม่? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การเกิดเป็นซ้ำ พบได้เสมอในอัมพาตทั้ง 2 สาเหตุ และเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง จึงแนะนำให้ผู้ป่วยทุกคนต้องติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรักษาโรคร่วม/โรคประจำตัวต่างๆ และแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่างๆอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากหลอดเลือดของเรายิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งตีบแคบ และแข็งตัวมากขึ้น มีความยืดหยุ่นลด ลง ดังนั้น ก็ยิ่งมีโอกาสการเกิดโรคได้ง่ายขึ้น (คือ ทั้งตีบ และฉีกขาด) และโอกาสการเกิดเป็นซ้ำนั้น ที่ขึ้นกับผลการรักษาโรคร่วม การแก้ไขปัจจัยเสี่ยง ก็เพราะถ้าทำได้ไม่ดี ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสเกิดการเป็นซ้ำให้สูงมากขึ้น เพราะโรคเหล่านี้มีผลให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดได้ทั่วร่างกาย รวมทั้งหลอดเลือดสมองด้วย

 

ดังนั้น ในระหว่างการรักษา กรณีมีอาการผิดปกติที่สงสัยอาการของอัมพาตอีก

  • ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที
  • และควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด กรณีที่มีความผิดปกติของโรคร่วมที่เป็นอยู่ หรือสงสัยว่าจะแพ้ยา

 

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือยาบำรุงสมองควรทานหรือไม่?

กรณีผู้ป่วยอัมพาตทั้ง 2 ชนิดนั้น การทานยาบำรุงสมองมีข้อมูลไม่ชัดเจนว่าได้ประโยชน์ อาจมีเพียงยาบางชนิดที่ทานระยะเวลาสั้นๆในช่วงแรกๆเท่านั้นที่มีข้อมูลว่า อาจได้ประโยชน์ ดังนั้นจึงยังไม่มีการใช้ยาเหล่านี้เป็นมาตรฐานทางการรักษา

 

ส่วนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น ไม่มีประโยชน์ใดๆ การที่ทานยารักษาโรคประจำตัวหลายชนิด โดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือดนั้น การทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจก่อให้เกิดโทษได้มากกว่าประโยชน์ เพราะอาจก่อปฏิกิริยาทำให้ประสิทธิภาพของยาฯลดลง และ/หรือเพิ่มผล ข้างเคียงของยาฯให้สูงขึ้น

 

การต้องทานยารักษาควบคุมโรคต่อเนื่องมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

การต้องทานยารักษาควบคุมโรคเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องนั้น เนื่องจากโรคที่เป็นต้องได้รับยาควบคุมอาการต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดเป็นซ้ำหรือการกำเริบของโรค ยาบางชนิดอาจมีผลก่อการอักเสบต่อกระเพาะอาหารได้บ้าง เช่น ยาแอสไพริน แต่ไม่ได้เกิดกับทุกคน เกิดเป็นส่วนน้อย ผู้ที่มีอาการปวดหรือแสบท้องก็ต้องบอกแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินว่า อา การดังกล่าวเกิดจากยาที่ทานอยู่หรือไม่ และถ้าเป็นจากยา แพทย์ก็จะให้ยาป้องกันกระเพาะอา หารอักเสบ ซึ่งห้ามผู้ป่วยหยุดทานยาเองโดยเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลให้อัมพาตเกิดการเป็นซ้ำได้สูง

 

ส่วนยาอื่นๆที่ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ แพทย์ก็จะมีการประเมินผลแทรกซ้อนเป็นระยะๆ ดังนั้นผู้ป่วยไม่ต้องกังวลว่าการทานยาระยะยาวนั้นจะเกิดผลเสีย

 

การดูแลตนเองเมื่อเป็นอัมพาตจาก 2 สาเหตุเหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

การดูแลตนเองทั้ง 2 สาเหตุนั้น ส่วนใหญ่เหมือนกัน คือ

1. ต้องรักษาควบคุมโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ลดน้ำหนักกรณีมีภาวะ/โรคอ้วน

2. การทำกายภาพบำบัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน และฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายให้ดีขึ้นเป็นปกติ

3. การติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด

4. การปรับพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การลดความเครียด การไม่ดื่มสุรา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่อดนอน พักผ่อนเพียงพอ

 

สิ่งที่ต่างกันมีเพียงบางกรณี คือ อัมพาตเลือดออกในสมองที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง เช่น

ในหลอดเลือดสมองโป่งพอง หรือมีความผิดปกติของหลอดเลือดแต่กำเนิด หลังรับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำการรักษาด้วยวิธีเฉพาะ (เช่น การรักษาทางรังสีรักษา) แล้วก็อาจไม่มียาทานเป็นประจำ แพทย์อาจนัดมาติดตามการรักษาเป็นระยะ เช่น ปีละครั้ง และอาจต้องมีการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองเป็นประจำทุกปี เพื่อประเมินการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดสมองว่า จะมีการกลับเป็นซ้ำหรือไม่

 

ส่วนอัมพาตสมองขาดเลือด หรือเลือดออกจากความดันโลหิตสูงนั้น แพทย์จะไม่มีการตรวจเอกซเรย์สมองซ้ำ เพราะไม่มีความจำเป็นในการตรวจซ้ำ

 

ในด้านอาหาร การดูแลจะเหมือนกันในทั้ง 2 สาเหตุ ที่ควรทานคือ ควรทานอาหารรสจืด ไม่หวานจัด หรือมีไขมันมาก เพราะเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง

 

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่มีความจำเป็นในโรคทั้ง 2 สาเหตุ

 

การออกกำลังกาย สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติเหมือนคนทั่วไปทั้งสองสาเหตุ แต่ที่ต้องระวังคือ การล้มง่ายเนื่องจากผู้ป่วยอาจมีกำลังกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรง หรือมีอาการเซ (เดินเซ) วิงเวียน (จากความผิดปกติของสมอง)ได้ง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องมีการเปลี่ยนท่าทางหรือหันศีรษะอย่างรวดเร็ว เพราะจะทำให้ล้มได้ง่าย

 

ส่วนการใช้ชีวิตประจำวันอื่นๆในทั้ง 2 สาเหตุ ควรเรียบง่าย ไม่รีบเร่ง ไม่เคร่งเครียด ปล่อยวางเรื่องภาระหน้าที่ลงบ้าง เพราะถ้าการใช้ชีวิตแบบมีความเครียดสูง ก็ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มโอกาสเกิดโรคอัมพาตได้ง่ายขึ้น

 

ป้องกันอัมพาตจาก 2 สาเหตุได้เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

การป้องกันโรคอัมพาตจากทั้ง 2 สาเหตุมีวิธีการเหมือนกัน คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความต่างๆในเว็บ haamor.com ในโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง

 

นอกจากนั้น อีกประการที่สำคัญ คือ การป้องกันการเกิดเป็นซ้ำ เพราะทั้ง 2 สาเหตุนี้มีโอกาสเกิดเป็นซ้ำได้สูง ซึ่งการป้องกันที่สำคัญ คือ

  • การรักษาควบคุมโรคร่วม/โรคประจำตัว ให้ได้ดี
  • การแก้ไขรักษาปัจจัยเสี่ยง และ
  • การพบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด เพื่อประเมินและแก้ไข/รักษาปัจจัยเสี่ยงต่างๆอย่างต่อเนื่อง

 

สรุป

โรคอัมพาต เป็นโรคที่อันตราย แต่ก็สามารถป้องกันได้โดยการรักษาควบคุมโรคประจำ ตัวให้ดี หมั่นออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด และถ้ามีอาการผิดปกติทางระบบประสาทดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที ท่านก็มีโอกาสที่จะรักษาได้หายเป็นปกติได้