โรคพุ่มพวง / โรคลูปัส (Lupus) / โรคเอสแอลอี (SLE)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคลูปัส(Lupus) หรือ โรคเอสแอลอี(SLE, ชื่อเต็มคือ Systemic lupus erythematosus) หรือคนไทยรู้จักกันในชื่อ ‘โรคพุ่มพวง’ คือ โรคภูมิแพ้ตนเอง หรือ โรคภูมิต้านตนเอง หรือโรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease) กลุ่มหนึ่ง เกิดจากการที่ร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกัน หรืออิมมูน (Immune) ผิดปกติ โดยต้านเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆได้กับทุกเนื้อเยื่อ/อวัยวะ เป็นผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อของเนื้อเยื่อ/อวัยวะได้ทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งที่ก่อให้เกิดอาการได้บ่อย คือ การอักเสบเรื้อรังของ ผิวหนัง, ข้อ, กล้ามเนื้อ, ปอด, หัวใจ, ไต, ระบบเลือด/โลหิต/ไขกระดูก, และระบบประสาท, ทั้งนี้ โรคลูปัส/เอสแอลอี จัดเป็นโรคเรื้อรังโรคหนึ่งที่รักษาไม่หาย

โรคลูปัส/เอสแอลอี เป็นโรคพบเรื่อยๆไม่ถึงกับบ่อย ทั้งนี้สถิติเกิดแตกต่างกันในแต่ละเชื้อชาติและแต่ละประเทศ ทั่วไปทั่วโลกพบประมาณ 20-70 รายต่อประชากร 100,000 คน โดยพบทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบน้อยในเด็กโดยเฉพาะเมื่ออายุต่ำกว่า 8 ปี(พบในเด็กประมาณ 10%-20%) เป็นโรคพบทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่พบในเพศหญิงสูงกว่าในเพศชายประมาณ 10-15 เท่า โดยพบสูงในช่วงอายุ 15-45ปี พบในผู้หญิงเชื้อชาติผิวดำบ่อยที่สุด รองลงไปตามลำดับ คือ ผู้หญิงเอเชีย และผู้หญิงผิวขาว

อนึ่ง คำว่า ลูปัส มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน แปลว่า หมาป่า ซึ่งสันนิษฐานว่า มาจากการที่ผื่นที่ใบหน้าที่เกิดจากโรคนี้อยู่ในตำแหน่งคล้ายลักษณะขนบนใบหน้าของหมาป่า หรือคล้ายถูกหมาป่ากัด หรือข่วน หรือจากการที่ผู้หญิงฝรั่งเศสใส่หน้ากากเพื่อปิดบังใบหน้าเมื่อมีผื่นเกิดขึ้น หน้ากากนี้เรียกว่า “Loup” หรือ “Wolf/หมาป่า”

โรคลูปัส โรคลูปัส/เอสแอลอีสาเหตุจากอะไร ? มีอะไรเป็นตัวกระตุ้น?

โรคลูปัส

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่า อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานผิดปกติ/โรคภูมิต้านตนเองในโรคลูปัส/โรคเอสแอลอี แต่จากการศึกษาเชื่อว่า น่ามาจากการผิดปกติจากพันธุกรรม โดยน่าเกิดจากความผิดปกติของจีน/ยีน (Gene) หลายๆจีน ซึ่งมีทั้งชนิดถ่ายทอดได้(พบคนในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคนี้ได้สูง แต่ไม่มีสถิติที่ชัดเจน)/และชนิดไม่ถ่ายทอด โดยเกิดร่วมกับตัวเสริม/ตัวกระตุ้นอื่นๆตามธรรมชาติ และ/หรือสิ่งแวดล้อมซึ่งในแต่ละคนอาจเหมือนหรือต่างกันก็ได้ ต้องสังเกตด้วยตนเอง เช่น

  • เพศ: เพราะพบโรคได้สูงในเพศหญิงประมาณ 10-15เท่าของเพศชาย
  • การติดเชื้อบางชนิดทั้งจาก แบคทีเรีย และ เชื้อไวรัส บางชนิด
  • การแพ้สิ่งต่างๆ รวมทั้งอาหารบางชนิด (ผู้ป่วยควรต้องสังเกตเองว่า แพ้อะไร แล้วหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น)
  • สูบบุหรี่, ควันบุหรี่
  • ฮอร์โมนเพศหญิง (เพราะโรคนี้เกิดในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชาย ถึงประมาณ 7-10 เท่า) และ/หรือ การตั้งครรภ์ เพราะเป็นภาวะมีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศหญิง
  • จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาต้านชัก, ยาเม็ดคุมกำเนิด, และยาลดความอ้วนบางชนิด ซึ่งเมื่อเกิดจากยา หลังหยุดยา โรคมักหายได้
  • อารมณ์ ความเครียด
  • การทำงานหนัก และ
  • การออกกำลังกายเกินควร

โรคลูปัส/เอสแอลอี มีอาการอย่างไร?

อาการของโรคลูปัส/เอสแอลอี เหมือนกันทั้งในเด็ก และในผู้ใหญ่ ซึ่งอาการเกิดได้กับเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆได้หลากหลายจากการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆเหล่านั้น โดย

  • แต่ละอาการเป็นอาการ ‘เรื้อรัง เป็นๆหายๆ’ คือ มีช่วงสงบ(Remission) และช่วงกลับมามีอาการอีก(Flare)โดยเฉพาะเมื่อมีตัวกระตุ้นดังกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุและตัวกระตุ้นฯ’
  • แต่ละคนมีอาการหลากหลาย ที่อาจต่างกัน ไม่เหมือนกัน หรือเหมือนกัน ก็ได้

ซึ่งทั่วไป แบ่งอาการต่างๆออกเป็นกลุ่มอาการตามเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เกิดโรคซึ่งที่พบบ่อย เช่น

  • กลุ่มอาการทั่วไป: ที่พบบ่อย เช่น
    • มีไข้เป็นๆหายๆโดยหาสาเหตุไม่ได้
    • ปวดศีรษะเรื้อรัง
    • เบื่ออาหาร ผอมลง
    • เหนื่อยล้า
  • กลุ่มอาการทางผิวหนัง: ที่พบบ่อย เช่น
    • ผิวหนังขึ้นผื่นแดง หาสาเหตุไม่ได้ มักขึ้นในบริเวณส่วนตรงกลางและโหนกแก้มสองข้างของใบหน้าลักษณะคล้ายผีเสื้อ จึงเรียกว่า ผื่นรูปผีเสื้อ (Butterfly rash)
    • ผมร่วง อาจร่วงเป็นหย่อม หรือร่วงทั้งศีรษะ
  • กลุ่มอาการทางข้อ/กล้ามเนื้อ: ที่พบบ่อย เช่น
    • ปวดข้อ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการบวม/แดงร่วมด้วย เกิดได้กับทุกข้อ แต่มักเกิดกับข้อเล็กๆ เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อนิ้วเท้า
    • ปวดกล้ามเนื้อ
  • กลุ่มอาการทางปอด และหัวใจ: ที่พบบ่อย เช่น
    • เจ็บหน้าอก
    • ไอ
    • ปอดอักเสบ
    • เยื่อหุ้มปอดอักเสบ
    • ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด
    • เหนื่อยง่าย
    • เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
    • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
    • เยื่อบุหัวใจอักเสบ
    • หัวใจเต้นผิดปกติ
    • ความดันโลหิตสูง
  • กลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร: ที่พบบ่อย เช่น
    • คลื่นไส้-อาเจียน
    • ปวดท้อง
    • เบื่ออาหาร
  • กลุ่มอาการทางไต: ที่พบบ่อย เช่น
    • ความดันโลหิตสูง
    • ไตอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ
    • มีสารไข่ขาว (Albumin) ในปัสสาวะ
    • บวมน้ำ เช่น ขาบวม บวมรอบตา
  • กลุ่มอาการทางระบบโลหิตวิทยา/เลือด: ที่พบบ่อย เช่น
    • ภาวะ/โรคซีดจากเม็ดเลือดแดงต่ำ
    • เม็ดเลือดขาวต่ำ จึงติดเชื้อได้ง่าย
    • มีเกล็ดเลือดต่ำ จึงมีเลือดออกได้ง่าย
    • มีการอักเสบของหลอดเลือด/หลอดเลือดอักเสบ จึงอาจเห็นเป็นจุดแดงๆเล็กๆทั่วตัว คล้ายที่เกิดจากโรคไข้เลือดออก
  • กลุ่มอาการทางระบบประสาท อารมณ์ จิตใจ: เช่น
    • อาการชักโดยไม่ทราบสาเหตุ
    • แขน-ขาอ่อนแรง
    • ไม่มีสมาธิ
    • ความจำถดถอย
    • สับสน
  • อื่นๆ: เช่น
    • มีแผลในช่องปากบ่อย
    • มีต่อมน้ำเหลืองโตได้ทั่วร่างกาย แต่มีขนาดไม่โตมาก

แพทย์วินิจฉัยโรคลูปัส/เอสแอลอีได้อย่างไร?

โรคลูปัส/เอสแอลอี เป็นโรควินิจฉัยได้ยาก ผู้ป่วยบางคนอาจต้องใช้ระยะเวลานาน เป็นหลายเดือน หรือ เป็นปี จึงจะวินิจฉัยโรคได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์วินิจฉัยโรคได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ประวัติการเป็นโรคของครอบครัว การงาน/อาชีพ การออกกำลังกาย การใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจสืบค้นเพิ่มเติม ตามอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือด ดูการทำงานของไขกระดูก เช่น ตรวจเลือดซีบีซี/CBC
    • ตรวจเลือดดู สารภูมิต้านทาน/แอนติบอดี (Antibody)
    • ตรวจเลือดดูการทำงานของ ตับ และไต
    • ตรวจปัสสาวะ ดูปริมาณไข่ขาว และดูการทำงานของไต
    • เอกซเรย์ภาพอวัยวะต่างๆตามอาการ เช่น เอกซเรย์ปอดถ้ามีอาการทางปอด
    • การตัดชิ้นเนื้อจากผิวหนัง และ/หรือไต เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ทั้งนี้ การวินิจฉัยโรคที่แน่นอนจะได้จากหลายองค์ประกอบร่วมกัน ได้แก่ ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย, การตรวจร่างกาย, ผลตรวจต่างๆร่วมกัน, และอาจรวมไปถึงการตรวจทางพยาธิวิทยา, โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคที่แนะนำโดยองค์กรทางการแพทย์ต่างๆ เช่น จากราชวิทยาลัยรูมาติก แห่งสหรัฐอเมริกา (The American College of Rheumatology) เป็นต้น

รักษาโรคลูปัส/เอสแอลอีได้อย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มียา หรือวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาด แต่เป็นการรักษาที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อ

  • ให้โรคสงบได้ยาวนานที่สุด
  • ให้การรักษาเมื่อโรคกลับมามีอาการ
  • ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายหรือให้เสียหายน้อยที่สุด ต่อเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ

ดังนั้นหลักในการรักษา คือ

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น(ดังกล่าวใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยกระตุ้นฯ’)ให้เกิดอาการที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น แสงแดด ความเครียด ควันบุหรี่ การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ฯลฯ
  • ให้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาเคมีบำบัดบางชนิดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง
  • ให้ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่จากการติดเชื้อ(ยาเอ็นเสด/ NSAID)
  • ยาแก้ปวดต่างๆ เมื่อมีอาการปวด
  • การรักษาควบคุมโรคต่างๆที่เป็นผลข้างเคียงจากโรคนี้ เช่น โรคไตเรื้อรัง, ยาต้านชัก
  • ทีกำลังอยู่ในการศึกษา คือ การปลูกถ่ายไต และการศึกษาหาต้นเหตุของโรค โดยเฉพาะในเรื่องของพันธุกรรมต่างๆ เพื่อให้การรักษาได้ถูกต้อง และอย่างเฉพาะเจาะจง และหาทางในการป้องกันการเกิดโรค

โรคลูปัส/เอสแอลอี เป็นโรครุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

โรคลูปัส/เอสแอลอี เป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย แต่ปัจจุบัน ความรู้ต่างๆทางการแพทย์ในโรคนี้ดีขึ้นมาก โรคจึงสามารถควบคุมรักษาได้ดี ไม่รุนแรงเหมือนในอดีต ส่วนใหญ่ 80-90%ของผู้ป่วยจะมีชีวิตยืนยาวเท่ากับคนทั่วไป แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับความร่วมมือของผู้ป่วยในการใช้ชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นให้โรคอยู่ในภาวะสงบ ไม่เกิดอาการกำเริบบ่อยเกินไป

อย่างไรก็ตาม ในผู้ป่วยที่มีอาการทาง โรคไต และโรคหัวใจ จะมีความรุนแรงโรคสูงกว่าในกลุ่มอาการอื่น

ผลข้างเคียงจากโรคลูปัส/เอสแอลอี ที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อไม่รักษาควบคุมโรคให้ได้ดี คือผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อต่างๆในทุกอวัยวะ เพราะดังกล่าวแล้วว่า เป็นโรคที่ก่ออาการได้กับทุกเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคเลือด: เช่น โรคซีด, ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
  • ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มหัวใจ
  • ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด
  • และเมื่อตั้งครรภ์อาจเป็นสาเหตุให้เกิด ครรภ์เป็นพิษ, แท้งบุตร, คลอดก่อนกำหนด, เด็กน้ำหนักตัวน้อย, ตกเลือดหลังคลอด

เป็นโรคลูปัส/เอสแอลอีแล้วตั้งครรภ์ได้ไหม? ให้นมบุตรได้ไหม?

ดังกล่าวแล้วว่าโรคลูปัส/เอสแอลอีเป็นโรคมักเกิดในวัยเจริญพันธ์ ซึ่งในผู้ชาย ไม่มีการตั้งครรภ์

ดังนั้น ในผู้ชายจึงไม่มีปัญหาในการมีบุตรถ้าสามารถควบคุมโรคได้และมีสุขภาพแข็งแรงพอ

แต่ในผู้หญิงซึ่งต้องมีการตั้งครรภ์ และการตั้งครรภ์เป็นช่วงที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงมากทั้งในด้านภูมิคุ้มกันต้านทานโรคและในด้านฮอร์โมนต่างๆ ดังนั้นการตั้งครรภ์จึงอาจก่อปัญหาในผู้หญิงที่เป็นโรคนี้ได้

การตั้งครรภ์ อาจก่อปัญหาได้ใน 2 ลักษณะคือ การตั้งครรภ์มีผลต่อตัวโรคลูปัส/ เอสแอลอีเอง และโรคลูปัส/เอสแอลอีจะก่อปัญหาต่อการตั้งครรภ์และต่อทารก

ผลการตั้งครรภ์ต่อโรคลูปัส/เอสแอลอี:

อาการโรคลูปัส/เอสแอลอีที่กำเริบในช่วงตั้งครรภ์ อาจไม่รุนแรง หรืออาจรุนแรงขึ้นกับ สุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย, ความรุนแรงของโรค, และความสามารถควบคุมโรคได้ดีก่อนการตั้งครรภ์ของมารดา, นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะเพิ่มโอกาสเกิด โรคความดันโลหิตสูง, ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำของขา, และของปอด/ สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด , และอาการกำเริบทางโรคไต,

ในผู้ป่วยที่ควบคุมโรคได้สงบแล้วอย่างน้อย 6 เดือน เมื่อตั้งครรภ์มีโอกาสที่โรคจะกำเริบได้ประมาณ 7-13%, แต่ในผู้ป่วยที่ยังควบคุมโรคไม่ได้และตั้งครรภ์ โอกาสที่โรคจะกำเริบประมาณ 60%, ซึ่งเมื่อโรคกำเริบการรักษาควบคุมโรคในช่วงตั้งครรภ์ จะยุ่งยากกว่าในช่วงไม่ตั้งครรภ์มาก เพราะแพทย์ไม่สามารถใช้ยาบางชนิดได้ เนื่องจากจะส่งผลต่อการเจริญเติบโต และความพิการของทารกในครรภ์ รวมไปถึงการแท้งบุตร

ผลของโรคลูปัส/เอสแอลอีต่อการตั้งครรภ์และต่อทารกในครรภ์

ก. ผลต่อการตั้งครรภ์: โรคลูปัส/เอสแอลอีส่งผลต่อการตั้งครรภ์ โดยเพิ่มโอกาสเกิด ครรภ์เป็นพิษ, การแท้งบุตร, การคลอดก่อนกำหนด, และเลือดออกมากจากการคลอดจนอาจเกิดอันตรายต่อมารดาภายหลังการคลอดได้

ข. ผลกระทบต่อทารกในครรภ์: คือ เด็กมักมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์, และเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด, ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะอวัยวะต่างๆยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และมีโอกาสที่จะติดเชื้อต่างๆได้สูงกว่าในเด็กปกติ แต่ยังไม่มีรายงานว่าโรคนี้เพิ่มโอกาสเกิดความพิการต่อทารก แต่ในเรื่องผลต่อสติปัญญาของเด็ก การศึกษาต่างๆยังไม่สามารถสรุปได้ว่า โรคนี้จะมีผลต่อสติปัญญาของเด็กหรือไม่

***** สรุป ผู้ป่วยโรคลูปัส/เอสแอลอี สามารถตั้งครรภ์ และให้นมบุตรได้ แต่จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อนตั้งครรภ์เสมอ ทั้งนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีวินัยในการดูแลรักษาโรคอย่างเคร่งครัด ตามคำแนะนำของทั้งแพทย์ที่รักษาโรค, สูตินรีแพทย์, และกุมารแพทย์ผู้ซึ่งจะให้การดูแลทารกภายหลังการคลอด

โรคลูปัส/เอสแอลอี ไม่ส่งผลกระทบต่อการสร้าง และคุณภาพของน้ำนม แต่การจะให้นมบุตรได้หรือไม่ ขึ้นกับยาที่ผู้ป่วยใช้อยู่ ซึ่งเมื่อเป็นชนิดที่ยาปนออกมาได้กับน้ำนม จึงอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้ ดังนั้นการให้นมบุตรจึงขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วย

โรคลูปัส/เอสแอลอี ป้องกันได้ไหม? ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคลูปัส/เอสแอลอีได้เต็มร้อย ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ เมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัย และการรักษาแต่เนิ่นๆ

เมื่อพบแพทย์แล้ว การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ:

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำให้ถูกต้อง เคร่งครัด เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรัง การดูแลตนเองตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำจึงเป็นเรื่องสำคัญ
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยกระตุ้นฯ’ที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น
    • การใช้ยาต่างๆ ควรปรึกษา แพทย์ พยาบาล หรือ เภสัชกร และอ่านเอกสารกำกับยาให้เข้าใจก่อนเสมอ
    • ควันบุหรี่
    • การได้รับแสงแดดโดยตรง โดยการใช้ร่ม หมวก หรือใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เป็นต้น ส่วนการใช้ครีมกันแดด ยังให้ผลไม่ชัดเจน และอาจก่ออาการแพ้ยาได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ลดโอกาสติดเชื้อ, ลดความรุนแรงของโรค, และเพื่อการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี
  • ปัจจุบันยังไม่พบมีอาหารที่ป้องกัน หรือกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ อย่างไรก็ตามแพทย์ทุกท่านแนะนำการกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวันในปริมาณที่เหมาะสมที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน, จำกัดอาหารแป้ง น้ำตาล ไขมัน อาหารเค็ม, โดยเพิ่ม ผัก และผลไม้
  • ระมัดระวัง การบริโภควิตามินและเกลือแร่เสริมอาหาร, อาหารเสริม, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, และสมุนไพรต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนเสมอ หรืออย่างน้อยปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยานั้นๆ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ปวดท้องต่อเนื่อง มีจำห้อเลือดขึ้นตามเนื้อตัว อ่อนเพลียมาก
    • กังวลในอาการ

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Gergianaki,I., Bertsias, G. (2018). Frontiers in Medicine. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5986957/ [2019,Aug24]
  3. Nguyet-Cam Vu Lam. Et al. (2016). Am Fam Physician. 94(4),284-294
  4. Tsokos, G. (2011). N Engl J Med. 365, 2110-2121
  5. https://emedicine.medscape.com/article/1008066-overview#showall [2019,Aug24]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Systemic_lupus_erythematosus [2019,Aug24]
  7. https://emedicine.medscape.com/article/332244-overview#showall [2019,Aug24]
  8. https://www.uptodate.com/contents/systemic-lupus-erythematosus-and-pregnancy-beyond-the-basics?search=patient-information-systemic-lupus-erythematosus-and-pregnancy&source=search_result&selectedTitle=1~150&usage_type=default&display_rank=1 [2019,Aug24]