โรคลิ้นหัวใจ (Valvular heart disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคลิ้นหัวใจ (Valvular heart disease หรือ Heart valve disease) คือ โรคที่เกิดจากลิ้นหัวใจ (Heart valve) ทำงานผิดปกติ จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการไหลเวียนโลหิต เกิดปัญหาต่อการทำงานของหัวใจ ซึ่งในรายที่รุนแรง จะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (หัวใจวาย) และเสียชีวิตได้

ลิ้นหัวใจ (Heart valve) มีทั้งหมด 4 ลิ้น (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง หัวใจ: กายวิภาค และสรีรวิทยา) โดยเป็นลิ้นกั้นอยู่ระหว่างห้องต่างๆของหัวใจ และระหว่างห้องหัวใจกับหลอดเลือดแดงที่ออกจากหัวใจ

ลิ้นหัวใจ มีหน้าที่กำกับการไหลเวียนของโลหิต/เลือดให้เป็นไปตามทิศทางที่ถูกต้องเมื่อมีการเต้น (การบีบตัวและการคลายตัว) ของกล้ามเนื้อหัวใจ คือ จากห้องบนขวา เข้าสู่ห้องล่างขวา เข้าสู่หลอดเลือดปอด ซึ่งเมื่อปอดฟอกเลือดเสร็จแล้ว จะส่งเลือดไหลเวียนกลับเข้าหัวใจห้องซ้ายบน เข้าสู่ห้องซ้ายล่าง และเข้าสู่ท่อเลือดแดงเอออร์ตา (Aorta) เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย และกลับมาเป็นเลือดดำ เข้าสู่หัวใจห้องบนขวา เป็นวงจรการไหลเวียนโลหิตปกติ

ลิ้นหัวใจ จะมีหน้าที่ควบคุมไม่ให้เลือดในหัวใจไหลย้อนกลับผิดทางเมื่อมีการบีบตัวของหัวใจ ซึ่งถ้าลิ้นหัวใจชำรุดเสียหาย หรือมีโรคของลิ้นหัวใจ ลิ้นหัวใจ จะไม่สามารถควบคุมวงจรการไหลเวียนโลหิตให้เป็นปกติได้ จึงส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานเพิ่มมากขึ้น เกิดภาวะหัวใจโต ภาวะเลือดคั่งในหัวใจ เลือดคั่งในปอด และเมื่อเป็นมาก จะส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

โรคลิ้นหัวใจ พบได้ในคนทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ เพศชายและเพศหญิงมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน

ปัจจุบัน พบโรคลิ้นหัวใจได้สูงขึ้น เนื่องจากคนมีอายุยืนขึ้น ซึ่งในผู้สูงอายุ มักมีโอกาสเกิดโรคลิ้นหัวใจได้สูงขึ้น จากลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ ดังนั้นอายุ จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคลิ้นหัวใจ ส่วนในเด็กแรกเกิด โรคลิ้นหัวใจมักเป็นความพิการหรือความผิดปกติแต่กำเนิด ซึ่งยังไม่ทราบว่า อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือสาเหตุ

โรคลิ้นหัวใจมีกี่แบบ?

โรคลิ้นหัวใจ

โรคลิ้นหัวใจ ทั้วไปพบได้ 4 แบบ คือ โรคลิ้นหัวใจเสื่อมแบบทำให้เลือดวน ไหลสวนกลับ (Regurgitation), โรคลิ้นหัวใจปลิ้น(Mitral valve prolapse ย่อว่า MVP), โรคลิ้นหัวใจตีบ (Stenosis), และโรคลิ้นหัวใจฝ่อไม่เจริญ (Atresia)

ก. โรคลิ้นหัวใจเสื่อมแบบทำให้เลือดวนไหลส่วนกลับ: เกิดจากการที่ลิ้นหัวใจเสื่อม ทำให้ไม่สามารถปิดได้แน่นในช่วงหัวใจบีบตัว จึงส่งผลให้เมื่อหัวใจบีบตัว จะมีเลือดไหลสวนกลับ ไม่ไปในทิศทางเดียว จึงส่งผลให้เกิดเลือดคั่งในหัวใจ หัวใจจึงต้องเพิ่มแรงบีบตัวเพื่อให้คงการไหลเวียนโลหิตปกติ จึงก่อให้เกิดภาวะหัวใจโต และภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุดได้ โรคของลิ้นหัวใจเสื่อมชนิดนี้ มักเกิดกับลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้าย (Mitral valve) ซึ่งมักมีสาเหตุจาก สูงอายุ และ จากโรคไข้รูมาติก

ข. โรคลิ้นหัวใจปลิ้น เกือบทั้งหมดเกิดกับลิ้นหัวใจกั้นระหว่างห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้ายที่เรียกว่า Mitral valve มีความผิดปกติโดยจะมีการปลิ้น/ยื่น/ย้อยเข้าไปอยู่ในห้องหัวใจบนซ้าย ลิ้นหัวใจนี้จึงปิดได้ไม่สนิทส่งผลให้เกิดเป็นรูรั่วระหว่างห้องหัวใจห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้าย โรคนี้ทำให้เกิดลิ้นหัวใจแบบเลือดวนไหลสวนกลับได้ โรคชนิดนี้เป็นความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่พบได้บ่อย

ค.โรคลิ้นหัวใจตีบ: คือช่องเปิดของลิ้นจะตีบแคบลง เนื่องจากลิ้นหัวใจหนาขึ้น แข็ง ไม่ยืดหยุ่น ดังนั้นเมื่อหัวใจบีบตัวเลือดจึงไหลออกไม่หมด เนื่องจากช่องทางไหลออกตีบแคบ จึงส่งผลให้หัวใจต้องออกแรงบีบตัวเพิ่มขึ้น เพื่อคงการไหลเวียนโลหิตให้เป็นปกติ จึงส่งผลให้เกิดภาวะเลือดคั่งในหัวใจ ภาวะหัวใจโต และภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด โรคลิ้นหัวใจตีบมักพบเกิดที่

  • ลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้าย ซึ่งมักมีสาเหตุเกิดจากโรคไข้รูมาติค
  • และที่ลิ้นหัวใจซึ่งกั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับท่อเลือดแดงเอออร์ตา (Aortic valve) ซึ่งมักเกิดจากโรคไข้รูมาติค และในผู้สูงอายุ (จากมีภาวะท่อเลือดแดงเอออร์ตาแข็ง และ/หรือมีหินปูนไปจับที่ลิ้นหัวใจนี้)

ง.โรคลิ้นหัวใจฝ่อ ไม่เจริญเติบโต: มักเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิดของลิ้นหัวใจ มักเกิดกับลิ้นหัวใจระหว่างห้องล่างขวากับหลอดเลือดปอด (Pulmonary valve) และกับลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายกับท่อเลือดแดงเอออร์ตา ซึ่งดังกล่าวแล้วว่า ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิด นอกจากนี้ การเกิดลิ้นหัวใจฝ่อ มักเกิดร่วมกับการผิดปกติแต่กำเนิดของหัวใจส่วนต่างๆด้วย เช่น ผนังกั้นระหว่างห้องหัวใจมีรูรั่วทะลุ หรือ หลอดเลือดต่างๆทั้งที่เข้าและออกจากหัวใจเกิดผิดที่ ดังนั้น โรคลิ้นหัวใจแบบนี้ จึงมักจะรุนแรง

โรคลิ้นหัวใจมีปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุจากอะไร?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ้นหัวใจ ที่พบได้บ่อย คือ

  • อายุ เพราะเมื่อสูงอายุ เนื้อเยื่อต่างๆทุกชนิดของร่างกายจะเสื่อมตามวัย ซึ่งรวมถึงเนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจ จึงส่งผลให้ลดประสิทธิภาพในการทำงานลง ส่งผลให้ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิทในช่วงหัวใจบีบตัว
  • การติดเชื้อต่างๆที่ลุกลามถึงการติดเชื้อของลิ้นหัวใจและ/หรือเยื่อบุหัวใจ ซึ่งการติดเชื้อจะก่อให้เกิดการอักเสบ และพังผืดเกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจ จึงก่อให้เกิดได้ทั้ง โรคลิ้นหัวใจแบบเลือดไหลสวนกลับ และโรคลิ้นหัวใจแบบลิ้นหัวใจตีบ การติดเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคลิ้นหัวใจได้บ่อย คือ โรคไข้รูมาติค
  • โรคหัวใจจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
  • โรคความดันโลหิตสูง เพราะเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว
  • โรคออโตอิมูน/โรคภูมิต้านตนเอง เพราะเป็นโรคที่ก่อการอักเสบให้เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อทุกชนิดในร่างกาย รวมทั้งเนื้อเยื่อหัวใจและลิ้นหัวใจ
  • ผลข้างเคียงจากยาลดน้ำหนัก/ยาไม่ให้อยากอาหารบางชนิด
  • โรคต่างๆ หรือสิ่งต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วน
  • ความพิการแต่กำเนิดของตัวลิ้นหัวใจเอง เช่น ลิ้นหัวใจฝ่อไม่เจริญเติบโต

โรคลิ้นหัวใจมีอาการอย่างไร?

อาการที่เฉพาะของโรคลิ้นหัวใจ คือ การมีเสียงเต้นของหัวใจผิดปกติ ที่เรียกว่า เสียงฟู่ (Murmur) ซึ่งเกิดจากการที่เลือดไหลผ่านลิ้นหัวใจที่ผิดปกติ จึงทำให้เกิดเสียงขึ้นนั่นเอง โดยแพทย์จะตรวจพบได้จากการใช้หูฟัง ฟังเสียงการเต้นของหัวใจ

โรคลิ้นหัวใจทีเกิดขึ้นในระยะแรก ที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด ถ้าลิ้นหัวใจยังเสื่อมไม่มาก ผู้ป่วยอาจยังไม่มีอาการถึงแม้การเต้นของหัวใจจะมีเสียงฟู่ก็ตาม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ลิ้นหัวใจเสื่อมมากขึ้น ผู้ป่วยจึงจะค่อยๆมีอาการ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ

  • เหนื่อยง่าย
  • หายใจลำบาก โดยเฉพาะเมื่อมีการออกแรง
  • อาจมีอาการเจ็บหน้าอกได้ โดยเฉพาะเมื่อออกแรง
  • บวมตามตัว โดยเฉพาะ ขา และเท้า
  • หลอดเลือดที่ลำคอสองข้างโป่งพอง
  • เมื่อมีอาการมากขึ้น จะมีอาการเขียวคล้ำ คือ มือ เท้า ริมฝากเขียวคล้ำ
  • อาจมีหัวใจเต้นผิดปกติ ใจสั่น มึนงง วิงเวียน เป็นลมได้ง่าย
  • เมื่อเป็นมากจะมีอาการของภาวะหัวใจล้มเหลว และมักจะนอนราบไม่ได้ นอนราบแล้วจะเหนื่อยมาก หายใจลำบาก ต้องนอนเอนตัวเสมอ

แพทย์วินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจได้จาก

  • ประวัติทางการแพทย์ ที่สำคัญคือ ประวัติอาการผู้ป่วย ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีต และในปัจจุบัน
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึง การฟังเสียงเต้นของหัวใจ การตรวจวัดความดันโลหิต การจับชีพจร
  • เอกซเรย์ภาพปอดและหัวใจ
  • ตรวจหัวใจด้วยอัลตราซาวด์/เอคโคหัวใจ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization)
    • การตรวจภาพหัวใจด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ เป็นต้น

รักษาโรคลิ้นหัวใจได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคลิ้นหัวใจ คือ การรักษาด้านการผ่าตัด และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาด้านการผ่าตัด มีหลายเทคนิควิธี ขึ้นกับเป็นโรคของลิ้นหัวใจตำแหน่งใด มีความรุนแรงอย่างไร มีความผิดปกติอื่นๆของหัวใจร่วมด้วยหรือไม่ อายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เช่น การสวนขยายลิ้นหัวใจ การใส่ลิ้นหัวใจเทียม เป็นต้น

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น

  • การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
  • การให้ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะ ลดบวม
  • การกินอาหารจืด ลดอาหารเค็ม เพื่อลดบวม
  • การให้ยาลดความดันโลหิต หรือยาลดไขมันในเลือด
  • การให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพราะโรคลิ้นหัวใจ มักก่อให้เกิดมีภาวะก้อนเลือด/ลิ่มเลือดขนาดเล็กๆที่ลิ้นหัวใจ ซึ่งมักหลุดไปอุดยังหลอดเลือดต่างๆได้ โดยเฉพาะหลอดเลือดของปอด(ภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด)ซึ่งเป็นอีกสาเหตุนอกเหนือจากภาวะหัวใจล้มเหลว ที่ทำให้เสียชีวิตได้ และ/หรืออุดหลอดเลือดของสมอง เป็นสาเหตุให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต (โรคหลอดเลือดสมอง) ได้

โรคลิ้นหัวใจรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?

ความรุนแรงของโรคลิ้นหัวใจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น

  • ความเสียหายของลิ้นหัวใจ
  • การมีความผิดปกติอื่นๆของหัวใจร่วมด้วยหรือไม่ (เช่น ของผนังกั้นห้องหัวใจ)
  • โรคหัวใจจากสาเหตุอื่นๆ (เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ) การมีหลอดเลือดแดงแข็ง
  • โรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ
  • อายุ
  • และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม โรคลิ้นหัวใจ เป็นโรครุนแรง จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาเสมอ เพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เพื่อชะลอไม่ให้ลิ้นหัวใจเสื่อมเร็วกว่าที่ควร และเพื่อคงคุณภาพชีวิตผู้ป่วยให้ช่วยเหลือดูแลตนเอง และสามารถทำงานได้ อย่างน้อยใกล้เคียงกับภาวะปกติที่สุด

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงจากโรคลิ้นหัวใจ เช่น

  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ภาวะมีก้อนเลือด/ลิ่มเลือดเล็กๆที่อาจหลุดไปก่อการอุดตันในหลอดเลือดต่างๆ โดยเฉพาะหลอดเลือดปอด และหลอดเลือดสมอง ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ‘การรักษาฯ’

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ ‘อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์ ซึ่งหลังจากพบแพทย์แล้ว ควรปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ การดูแลตนเองโดยทั่วไปในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ คือ

  • กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา
  • ออกกำลังกายตามแพทย์แนะนำ
  • กินอาหารจืด ไม่กินเค็ม เพื่อป้องกัน/ลดการบวม และลดความดันโลหิต
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน จำกัดอาหารไขมัน แป้ง และน้ำตาล เพิ่มผัก และผลไม้ให้มากๆ
  • ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่สำคัญ คือ โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน
  • เลิก และไม่สูบบุหรี่
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ อันอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อของลิ้นหัวใจ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ
    • เมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม
    • หรือมีอาการต่างๆเลวลง
    • หรือ กังวลในอาการ
  • รีบมาโรงพยาบาลฉุกเฉินเมื่อ
    • มีอาการ เจ็บหน้าอก ใจสั่น เป็นลม เพราะเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ
    • หรือเมื่อมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต เพราะเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมอง
    • หรือเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก ร่วมกับหายใจลำบาก และมีเสมหะเป็นเลือด เพราะเป็นอาการของหลอดเลือดปอดอุดตัน/สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด

ป้องกันโรคลิ้นหัวใจได้อย่างไร?

การป้องกันโรคลิ้นหัวใจ คือ การป้องกัน และ/หรือหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุ ซึ่งการป้องกันโรคลิ้นหัวใจที่สำคัญ คือ

  • กิน อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน จำกัด อาหารไขมัน แป้ง น้ำตาล เค็ม เพิ่มผักและผลไม้
  • ป้องกัน รักษา ควบคุม โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน
  • เลิก/ไม่สูบบุหรี่
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ควรมีการตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี รวมทั้งสุขภาพหัวใจเพื่อ เมื่อพบโรคจะได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ และเพื่อชะลอโรคไม่ให้ลิ้นหัวใจเสื่อมเร็วกว่าที่ควร
  • ไม่ใช้ยาลดความอ้วนโดยไม่ปรึกษา แพทย์/ เภสัชกร ก่อน

บรรณานุกรม

  1. Bhandari, S. et al. (2007). Valvular heart disease: diagnosis and management. JAPI.55,575-582.
  2. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill
  3. Maganti, K. et al. (2010). Valvular heart disease: diagnosis and management. Mayo Clin Proc. 85, 483-500.
  4. Rahimtoola, S., and Frye, R. (2000). Valvular heart disease. Circulation. 102,IV-24-IV33.
  5. Shipton, B., and Wahba, H. (2001). Valvular heart disease. :review and update. Am Fam Physician. 63, 2201-2209.
  6. http://en.wikipedia.org/wiki/Valvular_heart_disease [2018,Dec1]
  7. https://medlineplus.gov/heartvalvediseases.html [2018,Dec1]