โรคมะเร็งไตในเด็ก โรคมะเร็งวิมส์ โรคเนื้องอกวิมส์ (Wilms’ tumor)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 2 มิถุนายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคมะเร็งวิมส์เกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
- โรคมะเร็งวิมส์มีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งวิมส์ได้อย่างไร?
- โรคมะเร็งวิมส์มีกี่ระยะ?
- โรคมะเร็งวิมส์รุนแรงไหม?
- รักษาโรคมะเร็งวิมส์อย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งวิมส์อย่างไร?
- มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งวิมส์ไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคมะเร็งวิมส์อย่างไร?
- ดูแลผู้ป่วยมะเร็งวิมส์อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ไต (Kidney)
- โรคไต (Kidney disease)
- มะเร็ง (Cancer)
- มะเร็งในเด็ก (Pediatric cancer)
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- มะเร็งไต (Kidney cancer)
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- รังสีรักษา ฉายรังสี ใส่แร่ (Radiation therapy)
- อัณฑะค้างในท้อง (Undescended testis)
- การฉายรังสีรักษา เทคนิคการฉายรังสี (External irradiation)
บทนำ
วิมส์ทูเมอร์ (Wilms’ tumor) หรือ โรคมะเร็งไตในเด็ก หรือ โรคมะเร็งวิมส์ หรือ โรคเนื้องอกวิมส์ คือ โรคมะเร็งชนิดหนึ่งของไตที่มักพบเกิดในเด็ก โดยเกิดจากเซลล์ที่จุดใดก็ได้ของเนื้อเยื่อไต กลายพันธ์ไปเป็นเซลล์มะเร็ง กล่าวคือ เป็นเซลล์ที่เจริญเติบโตแบ่งตัวรวดเร็วเกินปกติ โดยร่างกายควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ไม่ได้ เซลล์มะเร็งนี้จะรุกราน/ลุกลามทำลาย ไต เนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงไต ต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงไต และในที่สุดจะแพร่กระจายทาง ระบบน้ำเหลืองไปทำลายต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย เช่นใน ช่องอก และ/หรือแพร่กระจายทางกระแสเลือดไปทำลายอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ปอด
โรคมะเร็งวิมส์ เกือบทั้งหมดพบเกิดในเด็กเล็ก พบในเด็กโตและในผู้ใหญ่ได้บ้างแต่น้อยมาก โดยเด็กช่วงอายุพบบ่อยที่สุด คือ 3-4 ปี ประมาณ 75% ของผู้ป่วย อายุจะต่ำกว่า 5 ปี และเกือบทั้งหมดเกิดก่อนอายุ 10 ปี เด็กหญิงและเด็กชายพบโรคใกล้เคียงกัน
ทั่วโลกพบมะเร็งวิมส์ได้ 1ราย ต่อประชากรเด็ก 10,000 คน ในประเทศไทย รายงานของจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี พ.ศ. 2558 จัดมะเร็งวิมส์รวมอยู่ในมะเร็งไตทั้งของผู้ใหญ่และเด็ก โดยมะเร็งไตทั้งหมดพบ1.6รายต่อชายไทย 1แสนคน และ0.8รายต่อหญิงไทย 1 แสนคน
โรคมะเร็งวิมส์ ส่วนใหญ่เกิดกับไตเพียงข้างเดียว ข้างซ้าย และข้างขวาพบเกิดได้ใกล้ เคียงกัน แต่พบเกิดทั้ง 2 ไตพร้อมกันได้ประมาณ 5-10%
อนึ่ง:
- โรคมะเร็งวิมส์ ได้ชื่อมาจาก ศัลยแพทย์และพยาธิแพทย์ชาวเยอรมัน ผู้ศึกษารายงานโรคนี้เป็นคนแรกเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1899 ชื่อ นพ. Carl Max Wilhelm Wilms
- โรคมะเร็งวิมส์ มีอีกชื่อว่า ‘Nephroblastoma’ ซึ่ง Nephro มาจากภาษากรีก คือ Nephros แปลว่าไต, ส่วน Blastoma มาจากภาษากรีกเช่นกัน แปลว่า ก้อนที่งอกมาจากเซลล์ตัวอ่อน
โรคมะเร็งวิมส์เกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?
สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนของการเกิดโรคมะเร็งวิมส์ ยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่า
- อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมที่ถ่ายทอดได้ เพราะพบโรคได้สูงขึ้นเมื่อมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
- หรืออาจจากพันธุกรรมที่ผิดปกติเฉพาะผู้ป่วยเอง เพราะประมาณ 10% ของเด็กป่วย จะพบร่วมกับความพิการแต่กำเนิดอื่นๆ เช่น
- ภาวะไม่มีม่านตา (Aniridia)
- มีความพิการแต่กำเนิดของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ (เช่น ท่อปัสสาวะเปิดผิดที่ หรือ Hypospadias)
- ในเด็กชาย อัณฑะไม่เคลื่อนจากช่องท้องเข้าสู่ถุงอัณฑะ/มีอัณฑะข้างเดียว/อัณฑะค้างในท้อง หรือ Undescended testis)
- อวัยวะบางอวัยวะมีขนาดโตกว่าปกติ (Hemihypertrophy)
- และ/หรือ สติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ (Mental retardation)
โรคมะเร็งวิมส์มีอาการอย่างไร?
อาการของโรคมะเร็งวิมส์ ที่พบบ่อย คือ
- ผู้ปกครองคลำพบก้อนในช่องท้อง เป็นก้อนที่ไม่เจ็บ มักคลำพบโดยบังเอิญเมื่ออุ้มเด็ก หรือ อาบน้ำให้เด็ก บางครั้งอาจเพราะสังเกตพบว่าท้องเด็กใหญ่ขึ้นจึงได้คลำดู
- เด็กอาจมีไข้ต่ำๆเรื้อรัง
- อาจมีปัสสาวะเป็นเลือด หรือ ตรวจพบเม็ดเลือดแดงจากการตรวจปัสสาวะเด็ก
- อาจมีความดันโลหิตสูง
- อาจท้องผูก จากก้อนเนื้อที่โต กด เบียด ทับ ลำไส้ใหญ่
- ประมาณ 10% ของเด็ก พบมีความพิการแต่กำเนิดร่วมด้วยดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ‘สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ เช่น ไม่มีม่านตา, และมีท่อปัสสาวะเปิดผิดที่ เป็นต้น
- เมื่อเป็นมาก เด็กอาจ เบื่ออาหาร ผอมลง
แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งวิมส์ได้อย่างไร?
ในโรคมะเร็งวิมส์ ทั่วไปจะไม่มีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพราะการตัดชิ้นเนื้อ อาจส่งผลให้โรคแพร่กระจายเข้าสู่ช่องท้องได้ ดังนั้น การวินิจฉัยโรค จึงได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ อาการ ประวัติความพิการแต่กำเนิด ประวัติการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้/โรคทางพันธุกรรมต่างๆในครอบครัว
- การตรวจร่างกาย ที่รวมถึง การตรวจวัดความดันโลหิต และตรวจดูความพิการของอวัยวะต่างๆที่รวมถึงอวัยวะเพศ
- การตรวจปัสสาวะ ดูเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ
- และการตรวจภาพไตด้วย อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ ซึ่งเมื่อพบมีก้อนเนื้อลักษณะเข้าได้กับโรคมะเร็งวิมส์ แพทย์จะให้การรักษาด้วยการผ่าตัดไต ต่อจากนั้นจึงตรวจชิ้นเนื้อที่ได้จากผ่าตัดทางพยาธิวิทยา เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แน่นอน และเพื่อการจัดระยะของโรคมะเร็งวิมส์
โรคมะเร็งวิมส์มีกี่ระยะ?
โรคมะเร็งวิมส์มีการแบ่งระยะโรคแตกต่างจากโรคมะเร็งชนิดอื่น โดยที่นิยม จะแบ่งตามกลุ่มแพทย์ด้านโรคมะเร็งเด็ก Children’s Oncology Group(COG) แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะแบ่งระยะโรคมะเร็งวิมส์เป็น 5 ระยะ ได้แก่
- ระยะ 1(พบประมาณ 43%ของผู้ป่วยทั้งหมด): โรคลุกลามอยู่เฉพาะในไต และแพทย์สามารถผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกได้ทั้งหมด โดย
- ไม่พบเซลล์มะเร็งบริเวณขอบของก้อนเนื้อที่ตัดออกมา
- โรคยังไม่ลุกลามเข้าเยื่อหุ้มไต
- ก้อนมะเร็งไม่มีการแตกขณะผ่าตัด
- โรคยังไม่ลุกลามเข้าหลอดเลือดดำของไต
- และ รวมถึงต้องไม่มีการตัดชิ้นเนื้อไตมาก่อนผ่าตัด
- ระยะ 2(พบประมาณ23%): พบมีเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าเยื่อหุ้มไตและ/หรือเข้าเนื้อเยื่อที่ติดกับไต และ/หรือเข้าหลอดเลือดดำไต แต่แพทย์สามารถผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกได้ทั้งหมด โดยขอบของชิ้นเนื้อที่ตัดออกมา ตรวจไม่พบมีเซลล์มะเร็ง และผู้ป่วยต้องไม่เคยได้รับการตัดชิ้นเนื้อที่ไตก่อนผ่าตัด
- ระยะ 3(พบประมาณ20%): แพทย์ผ่าตัดก้อนเนื้อมะเร็งออกได้ไม่หมด แต่โรคยังจำกัดอยู่เฉพาะในช่องท้อง โดย
- โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องแล้ว
- โรคลุกลามเข้าอวัยวะต่างๆในช่องท้อง
- ก้อนมะเร็งแตกขณะผ่าตัด
- ได้มีการตัดชิ้นเนื้อที่ไตก่อนผ่าตัด
- ต้องผ่าตัดก้อนมะเร็งออกเป็นชิ้นๆ ไม่สามารถผ่าตัดได้ครบทั้งก้อนในครั้งเดียว
- ระยะ 4(พบประมาณ10%): ได้แก่
- โรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิต ไปยังอวัยวะอื่นๆที่อยู่ไกลออกไป ที่พบบ่อยที่สุด คือ เข้าสู่ปอด นอกจากนั้น อาจแพร่เข้าสู่ ตับ กระดูก และสมอง
- และ/หรือ แพร่กระจายสู่ระบบน้ำเหลือง เข้าต่อมน้ำเหลืองนอกช่องท้อง เช่น ต่อมน้ำเหลืองในช่องอก หรือ ที่เหนือไหปลาร้า เป็นต้น
- ระยะ 5 (พบโรคได้ประมาณ 5-10%): คือ พบโรคมะเร็งเกิดทั้ง 2 ไต พร้อมกัน
โรคมะเร็งวิมส์รุนแรงไหม?
ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของมะเร็งวิมส์ ขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญได้แก่
- ระยะของโรค
- ชนิดของเซลล์มะเร็ง ซึ่งแบ่งเป็นชนิด
- ความรุนแรงโรคต่ำ (Favourable histology)
- ความรุนแรงระดับปานกลาง (Focal anaplastic histology)
- และชนิดความรุนแรงโรคสูง(Diffuse anaplastic histology)
- ขนาดหรือน้ำหนักของก้อนมะเร็ง ถ้าก้อนมะเร็งทั้งหมดน้ำหนักน้อยกว่า 550 กรัม ความรุนแรงโรคจะต่ำกว่า
- อายุผู้ป่วย: ถ้าอายุต่ำกว่า 2 ปี ความรุนแรงโรคต่ำกว่า และ
- การตอบสนองของโรคต่อยาเคมีบำบัด ถ้าโรคตอบสนองต่อยาฯได้ดี ความรุนแรงของโรคจะต่ำกว่า
ซึ่งด้วยปัจจัยต่อการพยากรณ์โรคของมะเร็งวิมส์ที่มีหลากหลายปัจจัยสำคัญ ดังนั้นการพยากรณ์โรคของแต่ละผู้ป่วยจึงแตกต่างกันมาก ซึ่งแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ให้การพยากรณ์โรคในแต่ละผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตามในภาพรวม อัตรารอดที่ 4 ปีหลังครบการรักษาของมะเร็งวิมส์ ได้แก่
- ระยะที่ 1และ2 ประมาณ 75-100%
- ระยะที่ 3 ประมาณ 50-80% และ
- ระยะที่ 4 ประมาณ 30-80%
- ระยะที่ 5 ประมาณ 60-95 %
รักษาโรคมะเร็งวิมส์อย่างไร?
วิธีรักษาโรคมะเร็งวิมส์ขึ้นกับ ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคดังได้กล่าวใน’หัวข้อ ความรุนแรงของโรคฯ’ ซึ่งที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ระยะโรค, และชนิดของเซลล์มะเร็ง
ซึ่งโดยทั่วไป แนวทางการรักษา ได้แก่
- ระยะที่ 1 คือ การผ่าตัดไตข้างที่เป็นโรคออกทั้งไตวิธีการเดียว และ/หรือร่วมกับ ยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยต่อความรุนแรงของโรค
- ระยะที่2: คือ การผ่าตัดไตฯ ร่วมกับยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา
- โรคระยะที่ 3: การผ่าตัดไตฯ ร่วมกับยาเคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา ซึ่งผู้ป่วยบางรายตามดุลพินิจของแพทย์ แพทย์อาจผ่าตัดไตฯหลังให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษานำไปก่อน
- โรคระยะที่4: การรักษาจะเช่นเดียวกับในโรคระยะที่3 แต่อาจร่วมกับการฉายรังสีรักษา ปอดทั้ง2ข้างเพื่อ รักษาและ/หรือป้องกันโรคแพร่กระจายมาปอด
- โรคระยะที่5: การรักษา คือ การผ่าตัดไต โดยจะผ่าตัดเท่าที่จะผ่าก้อนเนื้อออกได้ เพราะเมื่อโรคลุกลามมาก หรือเกิดกับไตทั้ง 2 ข้าง การผ่าตัดไตทั้งไต หรือ ทั้ง 2 ไต อาจเป็น ไปไม่ได้ ร่วมกับ ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา ซึ่งการรักษาอาจใช้การผ่าตัดตามหลังยาเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา ทั้งนี้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์
นอกจากนั้น คือ การรักษาประคับประคองตามอาการของเด็ก เช่น การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อเด็กไม่ยอมกินอาหาร เป็นต้น
มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งวิมส์อย่างไร?
ผลข้างเคียงจากการรักษาจะขึ้นกับแต่ละวิธีรักษา คือ
ก: การผ่าตัด: ผลข้างเคียงเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ เช่น การสูญเสียอวัยวะ, แผลผ่าตัดเลือดออก, แผลผ่าตัดติดเชื้อ, และเสี่ยงต่อการใช้ยาสลบ
ข.รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อเนื้อเยื่อส่วนได้รับรังสี ซึ่งคือในตำแหน่งของช่องท้อง (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณช่องท้อง และ/หรืออุ้งเชิงกราน) ซึ่งจะคล้ายคลึงกับในผู้ใหญ่ แต่โอกาสเกิดผลข้างเคียงจะน้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก เนื่องจากปริมาณรังสีที่ใช้รักษาโรคมะเร็งวิมส์ ต่ำกว่าที่ใช้รักษาโรคมะเร็งในผู้ใหญ่มาก
ค.ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด เลือดออกง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา)
มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งวิมส์ไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
สมาคมโรคมะเร็ง ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งวิมส์ เฉพาะในเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงที่อาจเกิดมะเร็งนี้ เช่น มีความพิการแต่กำเนิดดังกล่าวในหัวข้อ ’สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง’ ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องตั้งแต่แรกเกิด เพื่อตรวจหาก้อนเนื้อในไต ต่อจากนั้นตรวจอัลตราซาวด์ฯซ้ำทุกๆ 3 เดือน ไปอย่างน้อยจนกว่า อายุ 7 ปี ซึ่งเป็นอายุที่เมื่อสูงกว่านี้ จะพบอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งวิมส์ต่ำมาก
ป้องกันโรคมะเร็งวิมส์อย่างไร?
เมื่อดูจากสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง โรคมะเร็งวิมส์เป็นโรคที่ยังป้องกันไม่ได้ ดังนั้นถ้าผู้ปกครองสงสัยเด็กมีก้อนเนื้อในช่องท้อง หรือพบความพิการแต่กำเนิดดังกล่าว ควรต้องรีบนำเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้ได้การวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่ในระยะแรกๆของโรค ซึ่งจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า และวิธีรักษายุ่งยากซับซ้อนน้อยกว่า
ดูแลผู้ป่วยมะเร็งวิมส์อย่างไร?
เนื่องจากผู้ป่วยโรคมะเร็งวิมส์ จะอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังเป็นเด็กเล็ก การดูแลจึงต้องอาศัยบิดา มารดา ญาติพี่น้อง ซึ่งต้องเป็นไปตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล ที่ให้การรักษาเด็ก และต้องนำเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตรงตามนัดเสมอ
ผู้ดูแลเด็ก ควรต้องมีสมุดจดบันทึกอาการเด็ก และข้อสงสัย เพื่อการสอบถามแพทย์ พยาบาลได้ครบถ้วน ถูกต้อง รวมทั้งควรจดบันทึกคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลด้วย เพื่อการดู แลเด็กได้ถูกต้องเช่นกัน
ผู้ดูแลเด็กต้องเพิ่มการสังเกตอาการต่างๆของเด็ก เพราะเด็กเล็กเกินกว่าจะบอกเล่าได้ ซึ่งเมื่อพบเด็กมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือมีอาการต่างๆเลวลง ควรต้องรีบนำเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ
บรรณานุกรม
- Haffty, B., and Wilson, L. (2009). Handbook of radiation oncology: basic principles and clinical protocols. Boston: Jones and Bartlett Publishers
- Halperin,E. et al. (2005).Pediatric radiation oncology. London: Lippincott Williams&Wilkins.
- Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- Perez,C., Brady, L., Halperin, E., and Schmidt-Ullrich, R. (2004). Principles and practice of radiation oncology. (4th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins
- https://emedicine.medscape.com/article/989398-overview#showall [2019,May11]
- https://www.cancer.org/cancer/wilms-tumor/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2019,May11]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Wilms%27_tumor [2019,May11]
- https://www.cancer.org/cancer/wilms-tumor.html [2019,May11]
- http://www.cancer.gov/cancertopics/pdq/treatment/wilms/HealthProfessional/page1 [2019,May11]