โรคมะเร็งชนิดที่ 2 (Second primary cancer)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 10 มีนาคม 2556
- Tweet
ในผู้ป่วยโรคมะเร็งแต่ละคน สามารถเกิดเป็นโรคมะเร็งได้อีกหลายชนิด เช่น เคยเป็นโรค มะเร็งกล่องเสียง เมื่อได้รับการรักษาไปแล้ว 1-2 ปี แพทย์อาจตรวจพบว่ามีโรคมะเร็งปอดเกิด ขึ้น โดยไม่ได้เป็นการแพร่กระจายมาจากโรคมะเร็งกล่องเสียง ซึ่งในผู้ป่วยรายนี้ ทางแพทย์จะเรียกโรคมะเร็งที่ตรวจพบก่อน (ตรวจพบเป็นโรคแรก) ในที่นี้คือ มะเร็งกล่องเสียงว่าเป็น โรคมะ เร็งชนิดที่ 1 (Primary cancer) และเรียกโรคมะเร็งที่ตรวจพบตามมา (ในตัวอย่าง คือ มะเร็งปอด) ว่า โรคมะเร็งชนิดที่ 2 (Second primary cancer หรือ Secondary cancer)
ดังนั้นในผู้ป่วยมะเร็งแต่ละคน จึงอาจพบเป็นโรคมะเร็งชนิดที่ 1,2, 3, 4, 5 ไปเรื่อยๆได้ (ถ้าเกิดมะเร็งมากกว่า 2 ชนิดขึ้นไป เรียกได้อีกชื่อว่า Multiple primary cancer) ทั้งนี้สาเหตุการเกิดมะเร็งชนิดที่ 2,3 และฯลฯ อาจจากพันธุกรรม ผู้ป่วยมีแนวโน้มเกิดโรคมะเร็งได้สูง และ/หรือ จากสารก่อมะเร็งที่ผู้ป่วยเคยสัมผัส เช่น สารพิษต่างๆที่มีคุณสมบัติก่อมะเร็งได้ในหลายอวัยวะ (เช่น บุหรี่ เป็นต้น) และ/หรือผู้ป่วยยังคงสัมผัสสารก่อมะเร็งต่อเนื่อง (เช่น จากแหล่งน้ำที่ใช้บริโภค) และ/หรือ ผู้ป่วยเจ็บป่วยด้วยโรคที่มีผลต่อภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกาย (เช่น ติดเชื้อ เอชไอวี) เซลล์ร่างกายจึงเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งได้ง่าย และ/หรือ เป็นผลข้าง เคียงระยะยาวจากวิธีรักษา เช่น รังสีรักษาและ/หรือ ยาเคมีบำบัด (อาจพบได้เมื่อครบการรักษานานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป)
เมื่อตรวจพบมะเร็งชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 และฯลฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน เรียกว่า Synchronous cancer แต่ถ้าพบคนละช่วงเวลา คือ พบเกิดตามหลังกันมา เรียกว่า Metachro nous cancer
ทั้งนี้ วิธีตรวจวินิจฉัยและวิธีจัดระยะโรคของมะเร็งชนิดที่ 2,3, ฯลฯ จะมีขั้นตอนเช่น เดียวกับในโรคมะเร็งชนิดที่ 1 ส่วนวิธีรักษาและผลการรักษาก็ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง อวัยวะที่เป็นมะเร็ง ระยะโรคของโรคมะเร็งชนิดที่ 2,ฯลฯ อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยจึงยังมีโอกาสรักษาได้หาย ซึ่งต่างจากการแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่นๆ ซึ่ง คือ โรคมะเร็งระยะที่ 4 หรือ ระยะสุดท้ายที่โอกาสรักษาได้หายจะน้อยมากๆ
โดยทั่วไป พบโรคมะเร็งชนิดที่ 2 ได้ประมาณ 10-15% ส่วนชนิดที่ 3,ฯลฯ พบได้น้อยมากๆ โดยอาจพบพร้อมกันตั้งแต่แรก หรือเกิดตามมาภายหลังครบการรักษาแล้วก็ได้ ทั้งนี้ระยะเวลาในการเกิดโรคมะเร็งชนิดที่ 2,ฯลฯ ไม่แน่นอน และแพทย์ไม่สามารถพยากรณ์ได้เต็มร้อยว่า ใครจะเกิดใครไม่เกิด
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งชนิดที่ 2 คือ ผู้ป่วยโรคมะเร็งในเด็ก ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ และ/หรือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีบางการศึกษาพบว่า โรคมะเร็งชนิดที่ 2, ฯลฯ พบได้สูงกว่าในผู้ป่วย มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
บรรณานุกรม
- Secondary cancer. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK20948/ [2013,Feb24].