โรคภัยไข้เจ็บ ตอนที่ 7 – การตายและการด้อยสมรรถนะ (2)
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 14 มีนาคม 2566
- Tweet
โรคภัยไข้เจ็บ ตอนที่ 7 – การตายและการด้อยสมรรถนะ (2)
เราสามารถเปรียบเทียบข้อมูลนี้กับวิธีการอื่นในการวัดผล เพื่อดูว่าเราจะนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างไร โดยเฉพาะข้อมูลจากบริษัทประกันสุขภาพเอกชนขนาดยักษ์ในสหรัฐอเมริกา ที่คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ด้อยสมรรถนะ(Disability benefits) [ในประเทศไทยจะกลับกัน กล่าวคือองค์กรประกันสุขภาพส่วนมากจะอยู่ในภาครัฐ]
การทบทวน (Review) การเบิกคืนประกันสุขภาพในผู้ด้อยสมรรถนะ (Disability claim) พบว่าในปี ค.ศ. 2017 สาเหตุหลัก (Leading) ของการด้อยสมรรถนะระยะยาว (Long-term) ได้แก่ โรคมะเร็ง, ความบกพร่องที่หลัง (Back disorder) หรือปวดหลัง, การบาดเจ็บสาหัส, โรคหัวใจ, และข้อต่อกระดูกบกพร่อง (Joint disorder)
ปรากฏว่า รายชื่อทั้งสองคล้ายกัน (Similar) ซึ่งแสดงว่า รายชื่ออาการดังกล่าว เชื่อถือได้สำหรับการพิจารณาประเด็นเรื่องคุณภาพของสุขภาพ และการบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว
ข้อมูลในปี ค.ศ. 2018 แสดงว่า โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด (Vascular) [ซึ่งรวมทั้งโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง] และโรคมะเร็งเป็นสาเหตุหลักของการตายและการด้อยสมรรถนะในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก แต่อันที่จริง โรคมะเร็งเป็นพยาธิวิทยา (Pathology) ที่แตกต่างจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง
มะเร็งเป็นเพียงการแบ่งตัว (Division) ของเซลล์ในร่างกายที่ผิดปรกติ (Abnormal) ในอัตราเร่ง (Accelerated) ซึ่งอาจแพร่กระจาย (Spread) ไปยังเนื้อเยื่อรอบๆ (Surrounding tissues) ในแง่พยาธิสรีรวิทยา (Pathophysiology) อาจแบ่งออกได้มากกว่า 100 ประเภท อันมีผลกระทบต่อทุกประเภทของอวัยวะ (Organ) และเนื้อเยื่อ (Tissue)
ในสหรัฐอเมริกา มะเร็งปอด (Lung) เกิดขึ้นมากที่สุด ตามมาด้วย มะเร็งลำไส้ใหญ่/ลำไส้ตรง (Colon/rectum), มะเร็งตับอ่อน (Pancreas), มะเร็งทรวงอก (Breast), และมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate) โดยที่ไม่มีการรักษาร่วมเพียงวิธีเดียว (Single unifying treatment)
เมื่อเราได้แยกแยะ (Identify) ปัญหาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการค้นหารากเหง้าของสาเหตุ และการวิเคราะห์รากเหง้าของสาเหตุดังกล่าว โดยเปรียบเทียบกับการเกิดแผ่นดินไหว (Earth-quake) ในรัฐ California ในปี ค.ศ. 1906 ปรากฏการณ์(Phenomenon) ธรรมชาติดังกล่าว ได้ทำลาย (Destroyed) ส่วนใหญ่ของนคร San Francisco แต่ความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากอาคารถล่ม (Collapsed) และไฟไหม้
เราสามารถวิเคราะห์เหตุการณ์นี้ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ สาเหตุที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ กับสาเหตุที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แผ่นดินไหวเป็นรากเหง้าของสาเหตุที่เราควบคุมไม่ได้ แต่การถล่มของอาคารและไฟไหม้อาจป้องกันได้ ในทำนองเดียวกัน คำถามต่อไปก็คือ อะไรเป็นรากเหง้าของสาเหตุของโรคที่ทำอันตราย (Harm) คนเรา
ผู้สูงวัยที่มีอายุ 70 ปี มีโอกาสสูงกว่าที่จะประสบพบกับปัญหาหัวใจล้ม (Heart attack) เมื่อเปรียบเทียบกับผู้อ่อนเยาว์กว่าที่มีอายุเพียง 20 ปี นี่เป็นความจริงที่ต่อรองกันไม่ได้ (Non-negotiable) แต่สิ่งที่ดัดเแปลงได้ (Modifiable) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญ คือนิสัย (Habit) และพฤติกรรม (Behavior)
แหล่งข้อมูล
- Ramirez, Lucas, MD. (2022). Simplify Your Health: A Doctor’s Practical Guide to a Healthier Life. Texas, USA: Black Rose Writing.
- สันต์ ใจยอดศิลป์, นพ. (2560). สุขภาพดีด้วยตัวคุณเอง: Good Health by Yourself (eBook). พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.