โรคภัยไข้เจ็บ ตอนที่ 5 – การอ้างอิงงานวิจัย (3)

โรคภัยไข้เจ็บ ตอนที่ 5 – การอ้างอิงงานวิจัย (3)

ประการแรก งานวิจัยทางด้านสุขภาพ ต้องอาศัยเงินทุนจากอุตสาหกรรมยาและอุตสาหกรรมอาหาร [ในสหรัฐอเมริกา] ดังนั้น งานวิจัยดังกล่าวจึงเป็นความจริงด้านเดียว ด้านที่อุตสาหกรรมยาและอุตสาหกรรมอาหาร ต้องการพิสูจน์ให้ผู้บริโภคยาและอาหาร เห็นเท่านั้น

ความจริงอีกด้านหนึ่งของงานวิจัย ซึ่งเราแทบจะไม่ได้เห็น นั่นคือความจริงที่เมื่อพิสูจน์แล้ว จะเกิดผลเสียต่อการขายยาและขายอาหาร ดังนั้น จึงไม่มีเงินทุนอุดหนุนงานวิจัยดังกล่าว หรือบางครั้งมีการอุปถัมภ์งานวิจัยดังกล่าวไปแล้ว แต่ผู้อุปถัมภ์มักไม่ยอมให้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เป็นปฏิปักษ์กับอุตสาหกรรมยาและอุตสาหกรรมอาหาร

ประการถัดไป หลักฐานทางวิทยาศาสตร์มักเกิดขึ้นจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ปัจจัย เช่น ระหว่างโมเลกุล (Molecule) บางชนิดในยาและอาหาร กับการเป็นโรคหรือปราศจากโรคบางโรค ดังนั้นกระบวนการจำเป็นต้องขจัดออกไปซึ่งปัจจัยกวน (Confounding variable) ที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่รู้จัก

การตีกรอบสภาพแวดล้อมให้แคบลง (Reductionism) ดังกล่าว ทำให้นักวิจัย สูญเสียการมองภาพใหญ่ แต่ความจริงก็คือ ร่างกายมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์เซลล์กับนานาโมเลกุล ไม่ว่าจะเป็นยา, อาหาร, เชื้อโรค, และสภาพแวดล้อม ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์เชิงระบบนิเวศ์วิทยา (Eco-system)

ผลงานวิจัยความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ปัจจัย อาจเกิดผลแตกต่างในสภาพแวดล้อมจริง เนื่องจากร่างกายของมนุษย์ไม่ได้มีกลไกทำงานที่แน่นอนและชัดเจน เหมือนรถยนต์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ ร่างกายของเราประกอบขึ้นด้วยเซลล์จำนวนมาก ซึ่งแต่ละเซลล์ก็มีความเป็นเอกเทศระดับหนึ่ง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการควบคุมของร่างกาย แล้วยังมี แบคทีเรีย, เชื้อรา, และไวรัส ร่วมเป็นสมาชิกในชุมชนด้วย

ประการสุดท้าย ตัวแพทย์ผู้ประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยก็อาจมีอคติ แม้การแพทย์ปัจจุบันเป็นแบบอ้างอิงประจักษ์หลักฐาน (Evidence-based) ในการตัดสินใจและแนะนำผู้ป่วย แต่แพทย์เป็นผู้คัดเลือกหลักฐานมาใช้งาน ซึ่งผ่านการกรองในสมองของแพทย์ใน 2 มิติด้วยกัน

มิติแรกคือการเบิกคืนเงินได้ตามสิทธิ์ (Claim reimbursement) ในกรณี โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง และโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งที่เข้าร่วมโครงการ ผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลมักมิใช่ตัวผู้ป่วยเอง แต่เป็นบริษัทประกันสุขภาพเอกชน และกองทุนต่างๆ ของรัฐ เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาท รักษาทุกโรค), กองทุนประกันสังคม, กองทุนสวัสดิการข้าราชการ ฯลฯ แพทย์จึงมีแนวโน้มที่จะทำในสิ่งที่ผู้ป่วยเบิกเงินได้ [เพื่อช่วยผู้ป่วย] มากกว่าอ้างอิงหลักฐานจากงานวิจัย

มิติที่ 2 ก็คือ ผลประโยชน์ส่วนตัวของแพทย์เอง ซึ่งอาจแทรกแซงการตัดสินใจของแพทย์ได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวเงินหรืออามิสสินจ้างที่แอบแฝงอยู่ แม้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะเป็นความจริง แต่ต้องรู้จักประยุกต์ใช้ในบริบทที่แตกต่างกัน มิฉะนั้น หลักฐานเชิงประจักษ์ที่ใช้อ้างอิง อาจกลายเป็นดาบ 2 คม กล่าวคือ แทนที่จะเป็นผลดีกลับเป็นผลร้ายต่อสุขภาพผู้ป่วย

แหล่งข้อมูล

  1. Ramirez, Lucas, MD. (2022). Simplify Your Health: A Doctor’s Practical Guide to a Healthier Life. Texas, USA: Black Rose Writing.
  2. สันต์ ใจยอดศิลป์, นพ. (2560). สุขภาพดีด้วยตัวคุณเอง: Good Health by Yourself (eBook). พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.
  3. Reductionism - https://en.wikipedia.org/wiki/Reductionism [2023, February 28].