โรคภัย ไข้เจ็บ ตอนที่ 4 – การอ้างอิงงานวิจัย (2)
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 22 กุมภาพันธ์ 2566
- Tweet
โรคภัย ไข้เจ็บ ตอนที่ 4 – การอ้างอิงงานวิจัย (2)
ในประเด็นที่ 2 เราต้องเข้าใจวิธีประเมินคุณภาพ (Quality appraisal) ของงานวิจัย ที่ใช้เป็นหลักฐานควบคู่กันไปด้วย โดยมีสิ่งที่ต้องพิจารณากัน ดังนี้
- คำถามที่นักวิจัยตั้งขึ้น เพื่อจะตอบคำถามอะไร
- บทสรุปของงานวิจัย ได้ตอบคำถามการวิจัยอย่างตรงเป้าหมายหรือไม่
- งานวิจัยมีระเบียบวิธีวิจัย (Methodology) ที่ดีหรือไม่ ซึ่งระเบียบวิธีวิจัยที่ดีนั้น จะต้องมี
- การออกแบบอย่างรอบคอบที่ขจัดปัจจัยกวน (Confounding variables) ออกไปให้มากที่สุด
- ระยะการติดตามผลที่ยาวนานพอ
- กระบวนการทางสถิติที่เหมาะสมและเชื่อถือได้
- งานวิจัยพบนัยสำคัญของความแตกต่างชัดเจนหรือไม่ โดยต้องคำนึงถึงขนาดของกลุ่มตัวอย่าง ขนาดของกลุ่มใหญ่ย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่ากลุ่มเล็ก เว้นแต่ว่าผลการรักษาในทั้ง 2 กลุ่มมีความแตกต่างกันในตัวมันเอง
- งานวิจัยนั้นได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ที่ทรงมาตรฐานหรือไม่ เช่น มีกระบวนการตรวจสอบโดยแพทย์กันเองก่อนตีพิมพ์ (Peer review) งานวิจัยที่ตีพิมพ์เฉพาะทางอินเทอร์เน็ต มักเชื่อถือไม่ค่อยได้
- ผลงานวิจัยขัดกับข้อมูลในระดับภาพใหญ่หรือไม่ กล่าวคือ ขัดกับสามัญสำนึกทั่วไปหรือไม่ ถ้าไม่ขัด จึงจะเป็นงานวิจัยที่เชื่อถือได้ แต่ถ้าขัด ต้องมีการทำวิจัยซ้ำอีกหลายๆ ครั้ง จึงจะได้ภาพใหญ่ในเชิงระบาดวิทยา (Epidemiology)
ในประเด็นที่ 3 หลักฐานทางการแพทย์เป็นข้อมูลสถิติที่แสดงความน่าจะเป็น (Probability) ซึ่งมีวิธีนำเสนอได้หลายหนทาง หากไม่เข้าใจความหมายของวิธีนำเสนอทางสถิติอย่างถ่องแท้ ก็อาจถูกหลอกโดยงานวิจัยในเชิงโฆษณาชวนเชื่อ
ทุกวันนี้ เรามักเข้าไป “ท่อง” (Surf) อินเทอร์เน็ต เพื่อค้นหาข้อมูลที่อยากรู้ แล้วคนส่วนใหญ่ก็เชื่อถือข้อมูลที่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งสื่อสังคม (Social media) ที่มีการส่งต่อๆ กัน โดยเฉพาะเมื่อมีการอ้างอิงงานวิจัย แต่เบื้องหลังงานวิจัยบางชิ้น แอบแฝงด้วยผลประโยชน์ทางการค้า
การเผยแพร่ข้อมูล แม้ผู้เผยแพร่อาจมีเจตนาที่ดี แต่ถ้าเป็นกลายเป็นข้อมูลเท็จ ก็จะเป็นผลเสียต่อผู้อ่านได้เช่นกัน เพราะงานวิจัยบางชิ้น มีการว่างจ้างนักวิจัยเพื่อสนับสนุนการขายสินค้าและบริการอยู่เบื้องหลัง ความน่าเชื่อถือและอรรถประโยชน์ (Benefit) ของงานวิจัยแต่ละชิ้นจึงแตกต่างกัน
ในประเด็นสุดท้าย งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ 3 ประการ ดังนี้
- งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ให้ความจริงด้านเดียว
- งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์แบบตีกรอบให้แคบลง จนไม่เห็นภาพใหญ่
- ตัวแพทย์เองก็มีอคติได้ ไม่ว่างานวิจัยทางวิทยาศาสตร์จะเป็นรูปแบบใด
แหล่งข้อมูล
- Ramirez, Lucas, MD. (2022). Simplify Your Health: A Doctor’s Practical Guide to a Healthier Life. Texas, USA: Black Rose Writing.
- สันต์ ใจยอดศิลป์, นพ. (2560). สุขภาพดีด้วยตัวคุณเอง: Good Health by Yourself (eBook). พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.
- Confounding - https://en.wikipedia.org/wiki/Confounding [2023 February 21].