โรคภัย ไข้เจ็บ ตอนที่ 3 – การอ้างอิงงานวิจัย (1)
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 15 กุมภาพันธ์ 2566
- Tweet
โรคภัย ไข้เจ็บ ตอนที่ 3 – การอ้างอิงงานวิจัย (1)
แม้จะมีประสบการณ์ที่แตกต่างไปตามสาขาแพทย์เฉพาะทาง นายแพทย์ลูคัส เรมิเร็ส (Lucas Remirez) และ นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ ต่างก็ได้อ้างอิงการค้นคว้าจากงานวิจัยจำนวน 398 ชิ้น และ 365 ชิ้น ตามลำดับ อันเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องคำนึงถึง 4 ประเด็นหลัก ดังนี้
- ระดับชั้นของหลักฐาน (Level of evidence)
- คุณภาพของงานวิจัย (Research quality)
- หลักฐานที่มีเบื้องหลังเชิงพาณิชย์ (Commercial hidden agenda)
- ข้อจำกัดของวิทยาศาสตร์ (Limitation of sciences)
ในประเด็นแรก นักวิจัยแบ่งความน่าเชื่อถือของหลักฐาน ออกเป็น 3 ระดับ กล่าวคือ
- ระดับสูงสุดของความน่าเชื่อถือ คืองานวิจัยที่สุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ (Randomized control trial: RCT) ระหว่างกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบดั้งเดิม (Conventional) กับแบบแทรกแซง (Interventional) การสุ่มตัวอย่าง เป็นวิธีที่ขจัดปัจจัยกวน (Confounding variables) ที่ซุกซ่อนอยู่ออกไป เช่นผลกระทบของยาหลอก (Placebo) ต่อการดำเนินโรค
- ระดับปานกลางของความน่าเชื่อถือ คืองานวิจัยที่ติดตามกลุ่มคนแบบไปข้างหน้า (Prospective cohort) โดยมีการบันทึกกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยที่อาสาสมัคร (มิใช่สุ่มตัวอย่าง) ตั้งแต่เริ่มลงทะเบียน, ตรวจประเมิน, และกำหนดนานาดัชนีชี้วัด แล้วตามไปตรวจประเมินอีกเป็นระยะๆ ในอนาคต เพื่อจะดูว่า การได้รับปัจจัยเสี่ยง หรือการถูกแทรกแซงแบบใด จะมีผลกระทบต่อการเกิด หรือการหาย ของโรคอย่างไร
- ระดับต่ำสุดของความน่าเชื่อถือ คืองานวิจัยกลุ่มคนแบบย้อนหลัง (Retrospective cohort) ซึ่งมีโอกาสเกิดปัจจัยกวนมากมาย ที่มิได้ถูกขจัดออกไป ดังนั้น จึงมีบ่อยครั้งที่งานวิจัยให้ผลสรุปที่ผิดจากความเป็นจริง ซึ่งสามารถทราบได้จากการทำวิจัยซ้ำโดยผู้อื่น ด้วยวิธีที่วิจัยที่ดีกว่า แล้วได้ผลสรุปที่อาจตรงข้ามกับงานวิจัยชิ้นแรก อย่างไรก็ตาม นักวิจัยอาจเสริมงานวิจัยระดับนี้ด้วยวิธีมองภาพใหญ่ เช่น ทำวิจัยกับหลายๆ กลุ่มชน หรือหลายๆ ประเทศ หากได้ผลลัพธ์เดียวกัน ก็จะเพิ่มระดับความน่าเชื่อถือได้
ข้อมูลที่เผยแพร่กันดาษดื่นในอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้รองรับด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ จึงเป็นข้อมูลที่ไม่มีระดับชั้น เช่น เป็นเรื่องที่เล่าสู่กันฟัง (Anecdote), คำให้การที่อ้างตนเป็นพยาน (Testimonial), หรือความเห็นของผู้อ้างตนเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Expert opinion) ซึ่งข้อมูลเกือบทั้งหมดเป็นการคาดเดา หรือไม่ก็จงใจบิดเบือนด้วยวาระซ่อนเร้น
สื่อมวลชนที่รายงานข่าวสุขภาพทั่วโลกมักขาดความเข้าใจความลึกซึ้งของระดับความน่าเชื่อของงานศึกษาวิจัย ส่วนใหญ่ก็อ่านเพียงบทคัดย่อของงานวิจัยในเว็บไซต์ของหอสมุดการแพทย์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่า “PubMed” อันที่จริง ต้องตามไปอ่านนิพนธ์ต้นฉบับในวารสารตัวจริง จึงจะเข้าใจระดับความน่าเชื่อ และเพียงพอที่จะประเมินประเด็นที่ 2
แหล่งข้อมูล
- Ramirez, Lucas, MD. (2022). Simplify Your Health: A Doctor’s Practical Guide to a Healthier Life. Texas, USA: Black Rose Writing.
- สันต์ ใจยอดศิลป์, นพ. (2560). สุขภาพดีด้วยตัวคุณเอง: Good Health by Yourself (eBook). พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.
- PubMed, National Library of Medicine - https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/ [2023, February 14].