โรคภัย ไข้เจ็บ ตอนที่ 2 – อารัมภบท (2)
- โดย ดร. วิทยา มานะวาณิชเจริญ
- 7 กุมภาพันธ์ 2566
- Tweet
โรคภัย ไข้เจ็บ ตอนที่ 2 – อารัมภบท (2)
ทุกวันนี้ มีผู้แนะนำเกี่ยวกับสุขภาพมากมาย ในสื่อกระแสหลัก (Mainstream media) เช่น วิทยุ, โทรทัศน์, หนังสือพิมพ์, และนิตยสาร และที่ส่งต่อๆ กันในสื่อสังคม (Social media) เช่น Line, Facebook, Twitter, Instagram, และ TikTok
ซึ่งมีทั้งข้อจริงบ้าง ข้อเท็จบ้าง การเขียนบล็อก “โรคภัย ไข้เจ็บ” นี้ จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในคัดเลือกแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เท่านั้น
อันที่จริงผู้เผยแพร่ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมีเจตนาที่แตกต่างกัน บางคนจงใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ แต่บางคนก็อาจมีเจตนาดีในการเผยแพร่ แต่ไม่ทราบมาก่อนว่า ข้อมูลที่เผยแพร่เป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งจะกลายเป็นผลเสียต่อผู้อ่านมากกว่า
ผู้ประพันธ์หนังสือทั้ง 2 เล่ม ได้ตอกย้ำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่แพทย์ทั้งสอง ได้กลั่นกรองอย่างละเอียดลออ ก่อนจะนำมาอ้างอิงในการประพันธ์หนังสือ ผู้เขียนบล็อกเอง ก็ได้สุ่มตรวจสอบ (Random check) บ้าง โดยเฉพาะในกรณีที่ผลสรุปออกมา ไม่ตรงกับสิ่งที่เคยรับรู้มาก่อนหน้านี้
ผู้ประพันธ์ทั้งสอง ชี้แจงว่า เนื้อหาในหนังสือทั้ง 2 เล่มนั้น แม้เป็นแก่นแท้ของหลักวิชาการแพทย์ของแผนปัจจุบัน ซึ่งตามปรกติแพทย์จะเป็นคนกำกับผู้ป่วย แต่จะตอกย้ำ (Focus) ส่วนที่ผู้ป่วย สามารถกำกับตนเอง ในมิติของผู้ป่วยที่ยังมิได้เป็นโรค ว่าจะป้องกันได้อย่างไร และในมิติของผู้ป่วยที่เป็นโรคแล้ว ว่าจะพลิกผัน (Reverse) โรคได้อย่างไร
เส้นทางในการเปลี่ยนแปลงวิถีการใช้ชีวิต (Life-style) ไปสู่สุขภาวะที่แข็งแรง (Healthy) นั้น มีให้คุณผู้อ่านเลือก ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนบล็อก อาจเป็นทางเลือกที่ง่ายดาย (Simple) สำหรับบางคน แต่อาจเป็นทางเลือกที่ยากเย็นเข็ญใจ เหมือน “เข็นครกขึ้นภูเขา” สำหรับคนอื่นๆ
ความจริง (Fact) ก็คือ เราเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ต้องเผชิญกับความจริง (Truth) ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของวัฏจักร เกิด, แก่, เจ็บ, และตาย แต่เราสามารถชะลอ (Delay) ความตายได้ตามความจริงในที่สุด (Ultimate) และสามารถทำให้บั้นปลายของชีวิตเป็นช่วงเวลาของความสุข แทนความทุกข์ทรมานของคนแก่นอนติดเตียง (Bed-ridden) ที่ช่วยตัวเองไม่ได้
เราสามารถบรรลุจุดประสงค์ของการมีอายุยืน (Longevity) และการทำงาน (Functionality) ของร่างกาย เช่นเดียวกับจุดประสงค์อื่นๆ ในชีวิต หรือยิ่งไปกว่านั้น เราสามารถพลิกผันนานาโรคร้ายแรง โดยการศึกษาถึงรากเหง้าของปัญหา เพื่อแทรกแซงแก้ไข (Intervention) ณ เป้าหมาย (Target) โดยตรง
สิ่งที่จุดประกายให้ผู้เขียนบล็อก “โรคภัย ไข้เจ็บ” นี้ ก็คือ ความต้องการเผยแผ่ความรู้การดูแลสุขภาพด้วยตนเองสู่สาธารณชน ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ไม่เคยรับทราบปัจจัยเสี่ยง (Risk factors) ที่เป็นรากเหง้าของความเจ็บป่วยของตนเอง และยังเข้าใจว่า เราไม่สามารถพลิกผัน (Reverse) โรคภัยไข้เจ็บดังกล่าวได้เลย
รากเหง้าของ “โรคภัย ไข้เจ็บ” นี้มีทั้งสาเหตุที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และเปลี่ยนแปลงได้ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอายุหรือพันธุกรรม (Genetics) ได้ เช่น ผู้มีสูงอายุมีโอกาสสูงกว่าผู้เยาว์วัยที่จะเกิดภาวะหัวใจล้ม (Heart attack) ซึ่งเป็นสิ่งที่ต่อรองไม่ได้ (Non-negotiable) แต่นิสัยและพฤติกรรมของเรา สามารถเปลี่ยนแปลงหรือดัดแปลงได้ (Modifiable)
แหล่งข้อมูล
- Ramirez, Lucas, MD. (2022). Simplify Your Health: A Doctor’s Practical Guide to a Healthier Life. Texas, USA: Black Rose Writing.
- สันต์ ใจยอดศิลป์, นพ. (2560). สุขภาพดีด้วยตัวคุณเอง: Good Health by Yourself (eBook). พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.