โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคพิษสุนัขบ้า หรือ Rabies เป็นโรคติดเชื้อไวรัสจากสัตว์สู่คน (เรียกว่า zoonosis) โดยคนถูกกัดจากสุนัขที่ติดเชื้อไวรัสนี้ โรคนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า ‘โรคกลัวน้ำ’ เพราะผู้ป่วยจะมีอา การกลัวน้ำนั่นเอง

เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ซึ่งจะอยู่ในน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ มีชื่อว่า Lyssavirus หรือบางท่านเรียกว่า Rabies virus โดยเชื้อจะทำให้เกิดภาวะสมองอักเสบทั้งในคนและสัตว์ แต่ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสแล้ว ถ้าได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้าและสารภูมิคุ้มกันต้านทาน (Immunoglobulin) อย่างรวดเร็วเหมาะสมก็จะไม่เป็นโรค แต่ถ้าไม่ได้การรักษาดังกล่าวก็จะป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งไม่มียารักษาและเสียชีวิตในที่สุด

องค์การอนามัยโลกรายงานว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า 26,000 - 60,000 รายต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นในประทศสหรัฐอเมริกา พบเพียงประมาณ2รายต่อปี

โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อสู่คนได้อย่างไร?

โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้าพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น

  • สัตว์ในตระกูลสุนัข ทั้งสุนัขบ้านและสุนัขป่า (หมาป่า หมาจิ้งจอก หมาใน)
  • สัตว์ตระกูลแมว ทั้งแมวบ้านและแมวป่า
  • สัตว์ในตระกูลหนู ทั้งหนูบ้าน หนูนา หนูป่าหลายชนิด
  • นอกจากนี้ยังมี ค้างคาว วัว ควาย แพะ แกะ ม้า ลิง กระรอก พังพอน สกั๊ง ก็เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน

ในประเทศที่พัฒนาแล้วแทบไม่พบว่าสุนัขและสัตว์เลี้ยงในบ้านชนิดอื่นๆเป็นสาเหตุของโรค เนื่องจากมีการควบคุมการให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงอย่างเข้มงวด ไม่มีสัตว์จรจัด สัตว์ที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ (มากกว่า 90%) จึงเป็นสัตว์ป่า เช่น แรคคูน สกั๊ง สุนัขจิ้งจอก และที่สำคัญคือค้างคาว ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย สุนัขยังคงเป็นสาเหตุที่สำคัญ โดย 96% ของผู้ป่วยไทยติดเชื้อมาจากสุนัขอีก 3 - 4 % มาจากแมว

คนจะติดเชื้อจากสัตว์เหล่านี้ได้โดย

  • จากการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัดข่วนหรือเลียผิวหนังที่มีบาดแผล โดยเชื้อไวรัสจากน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าอยู่จะเข้าสู่ผิวหนังที่มีบาดแผล นอกจากนี้ เชื้อโรคอาจเข้าสู่ร่างกายผ่านเยื่อบุต่างๆคือ ปาก เยื่อบุตา ได้เช่นกัน
  • จากการหายใจเอาละอองไอน้ำที่มีเชื้อโรคอยู่ซึ่งพบได้น้อยมากมาก เช่น การเข้าไปในถ้ำที่มีค้างคาวอยู่กันเป็นล้านๆตัว หรือเจ้าหน้าที่ในห้องแลปที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสชนิดนี้
  • มีรายงานว่ามีผู้ป่วยที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจากการเปลี่ยนถ่ายกระจกตาประมาณ 8 รายจากทั่วโลก และจากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะอื่นๆประมาณ 3 ราย ซึ่งอาจเกิดจากผู้ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยในตอนแรก

เชื้อพิษสุนัขบ้าก่อโรคได้อย่างไร?

วิธีก่อโรคพิษสุนัขบ้าทั้งในคนและในสัตว์จะคล้ายกันคือ เมื่อเชื้อจากน้ำลายสัตว์เข้าสู่ร่าง กายทางบาดแผลแล้ว เชื้อไวรัสจะอยู่บริเวณกล้ามเนื้อที่ใกล้บาดแผลนั้น แบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วจึงเดินทางเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลายที่เลี้ยงกล้ามเนื้อนั้นๆ จากเส้นประสาทส่วนปลาย เชื้อไวรัสจะเดินทางต่อเพื่อไปยังไขสันหลัง โดยมีอัตราความเร็วในการเดินทางประมาณ 12 - 24 มิลลิเมตร (มม.) ต่อวัน

เมื่อเข้าสู่ไขสันหลังได้แล้ว ผู้ป่วยก็จะเริ่มแสดงอาการ (อาการในระยะก่อนเข้าสู่สมอง) ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่รับเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการแรกนี้หรือเรียกว่าระยะฟักตัว ใช้เวลาประมาณ 20 -90 วัน (แต่เคยมีรายงานว่าใช้เวลาถึง 19 ปีก็มี) จากไขสันหลังเชื้อก็จะเดินทางเข้าสู่สมองอย่างรวดเร็วในอัตราความเร็วประมาณ 200 - 400 มม.ต่อวัน ดังนั้นยิ่งแผลอยู่ใกล้สมองเท่าไหร่ ระยะฟักตัวก็จะยิ่งสั้นเท่านั้น

เชื้อไวรัสเมื่อเข้าสู่สมองแล้วจะทำให้สมองเกิดการอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของสมองอักเสบ หลังจากนั้นเชื้อโรคจะเดินทางกลับเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลายอีกครั้งและเข้าสู่เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆรวมทั้ง กล้ามเนื้อ ผิวหนัง ดวงตา ตับ ต่อมหมวกไต หัวใจ และที่สำคัญคือ ต่อมน้ำลาย ที่ไวรัสสามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้มากมาย ดังนั้นการถูกสัตว์กัดจึงติดเชื้อได้จากเชื้อที่มีอยู่ในน้ำลายสัตว์นั่นเอง

โรคพิษสุนัขบ้ามีอาการอย่างไร?

อาจแบ่งอาการของผู้ป่วยพิษสุนัขบ้าออกได้เป็น 3 ระยะคือ

1. ระยะก่อนเข้าสู่สมอง (Prodrome) : ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและชาหรือคันบริเวณรอบๆแผลที่ถูกกัด (โดยที่แผลอาจจะหายสนิทแล้วก็ได้) ซึ่งเป็นผลจากการที่เชื้อเข้าสู่เซลล์ประสาทไขสันหลัง อาการอื่นๆที่อาจพบได้ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1 - 7 วันแล้วเข้าสู่ระยะต่อไป

2. ระยะอาการทางสมอง (Acute neurologic phase): ผู้ป่วยจะมีอาการแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มสมองอักเสบ (Encephalitis): พบได้ 80% ของผู้ป่วย ซึ่งอาการจะคล้ายกับโรคสมองอักเสบจากเชื้ออื่นๆได้แก่ มีไข้ สับสน เห็นภาพหลอน อยู่นิ่งไม่ได้ คลุ้มคลั่ง กล้าม เนื้อแข็งเกร็งและชัก แต่อาการที่ค่อนข้างจำเพาะต่อเชื้อพิษสุนัขบ้าคือ น้ำลายฟูมปาก ซึ่งเกิดจากการที่กล้ามเนื้อของคอหอยเกิดแข็งเกร็งหดตัวผิดปกติ มีความเจ็บปวดเมื่อจะกลืนอาหารหรือน้ำ ผู้ป่วยจึงกลัวไม่อยากที่จะกลืนอาหารกลืนน้ำรวมทั้งน้ำลายตัวเอง ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “โรคกลัวน้ำ” นอกจากนี้เมื่อผู้ป่วยหายใจเข้าหรือมีลมมากระทบหน้า กระทบกล้ามเนื้อกระบังลมและกล้ามเนื้อของกล่องเสียง ก็จะเกิดการแข็งเกร็งหดตัวผิดปกติ ก่อความเจ็บปวดเช่นกัน ทำให้ไม่อยากหายใจเข้า ดูคล้ายคนกำลังสำลักอากาศ และอาการอื่นๆที่อาจพบได้ ได้แก่ เหงื่อออกมากผิดปกติ ขนลุกตั้ง น้ำตาไหล ม่านตาขยาย หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง อาการเหล่านี้เกิดจากเชื้อเข้าสู่เซลล์ประสาทของก้านสมอง จึงทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติ ที่ควบคุมโดยก้านสมองทำงานผิดปกติ

    อาการทั้งหมดนี้จะเป็นอยู่แค่ช่วงเวลาหนึ่งแล้วหยุดไป ผู้ป่วยจะสงบและหมดแรง ต่อมาอาการต่างๆข้างต้นก็จะกลับมาอีก ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเองหรือถูกกระตุ้นโดยเสียง แสง และการสัม ผัส

  • กลุ่มกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต (Paralytic): พบได้ 20% โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะไม่มีอาการแบบกลุ่มสมองอักเสบให้เห็น แต่จะมีอาการกล้ามเนื้อทั้งตัวอ่อนแรงแบบอัมพาตแทน แต่ประสาทรับความรู้สึกยังคงปกติ

3. ระยะสุดท้าย (Coma): ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีอาการอยู่ในกลุ่มไหน ในที่สุดผู้ป่วยก็จะซึมลงเรื่อยๆจนถึงขั้นโคม่า เกิดภาวะหายใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูงมากหรือต่ำมาก หัวใจ เต้นไม่เป็นจังหวะ จนกระทั่งหัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตเกือบ 100% โดยใช้เวลาประมาณ 10 วันนับตั้งแต่เกิดอาการแรก (พบได้ตั้งแต่ 1 - 14 วัน)

อนึ่ง สำหรับในสัตว์ อาการจะคล้ายๆคน แต่การดำเนินของโรคจะเร็วกว่า และเสียชีวิตเร็วกว่าในคน

แพทย์วินิจฉัยโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร?

เนื่องจากอาการของโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงระยะก่อนเข้าสู่สมองเป็นอาการที่ไม่จำเพาะ และอาการแสดงระยะที่เชื้อเข้าสู่สมองในช่วงแรกก็คล้ายกับโรคสมองอักเสบจากเชื้ออื่นๆ รวมทั้งประวัติการถูกสัตว์กัดก็อาจไม่ชัดเจน จึงต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเพาะ ที่จะยืน ยันการวินิจฉัยว่าอาการสมองอักเสบที่ปรากฏนั้นเป็นจากโรคพิษสุนัขบ้าไม่ใช่จากเชื้ออื่นๆ เพราะถ้าเป็นเชื้ออื่นบางชนิดเช่น เชื้อไวรัสเริม ก็ต้องรีบให้การรักษาโดยการให้ยาที่จำเพาะต่อไวรัสเริม ผู้ป่วยก็จะมีโอกาสรอด เป็นต้น วิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการดังกล่าว ได้แก่

1. Direct fluorescent antibody test โดยการตัดชิ้นเนื้อผิวหนังบริเวณคอ ตรวจหาเชื้อไวรัสด้วยวิธีการใช้สารเรืองแสง ซึ่งจะพบเชื้ออยู่บริเวณเส้นประสาทใต้ต่อมขน เป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง

2. RT-PCR เป็นการตรวจหาเชื้อไวรัสจากน้ำลาย น้ำไขสันหลัง หรือเนื้อเยื่ออื่นๆจากผู้ ป่วย โดยตรวจหาสารพันธุกรรมที่จำเพาะต่อไวรัส เป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูงเช่นกัน แต่ราคาแพง

3. การตรวจหาสารภูมิต้านทานโรค (Antibody) ที่จำเพาะต่อเชื้อไวรัส เป็นวิธีที่ความแม่นยำไม่ดีนัก

4. ในผู้ป่วยที่เสียชีวิตแล้ว ถ้านำศพไปผ่าพิสูจน์ จะพบลักษณะของเซลล์ประสาทที่มีความจำเพาะกับโรคนี้มากที่เรียกว่าเนกริบอดีส์ (Negri bodies) อยู่ภายในเซลล์

ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆที่ไม่จำเพาะต่อโรคพิษสุนัขบ้า แต่อาจช่วยแยกโรคอื่นๆในเบื้องต้นได้ ได้แก่

  • การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ส่วนใหญ่จะพบว่าปกติ ซึ่งแตกต่างจากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบที่เม็ดเลือดขาวจะขึ้นสูง
  • การเจาะหลังเพื่อการตรวจน้ำไขสันหลัง จะพบเม็ดเลือดขาวสูง ซึ่งปกติในน้ำไขสันหลังจะไม่มีเซลล์เม็ดเลือดขาว
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเอมอาร์ไอของสมอง จะไม่พบความผิดปกติ

รักษาโรคพิษสุนัขบ้าอย่างไร?

หลักของการรักษาโรคพิษสุนัขบ้าคือ การล้างแผล, การให้สารภูมิต้านทาน, เพื่อไปทำลายเชื้อ และการให้วัคซีนพิษสุนัขบ้า

1. การล้างแผล: เมื่อผู้ป่วยถูกสัตว์กัดมาจะต้องรีบล้างแผลโดยเร็ว การล้างแผลด้วยน้ำเปล่าเพียงอย่างเดียวก็สามารถลดจำนวนเชื้อไวรัสที่บริเวณบาดแผลได้บ้าง การใช้สบู่และยาฆ่าเชื้อเช่น น้ำ ยาเบตาดีน หรือน้ำยาแอลกอฮอล์ 70% จะสามารถทำลายเชื้อได้มากขึ้น การล้างแผลควรล้างให้ลึกถึงก้นแผล ทั้งนี้เชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าเป็นเชื้อที่ไม่ทนถูกทำลายง่ายด้วยยาฆ่าเชื้อต่างๆ รวมทั้งแสงยูวี (UV, ultraviolet light) หรือแสงแดด และอากาศที่แห้ง ขนาดของบาดแผล จำนวนของบาดแผล และตำแหน่งของบาดแผล สัมพันธ์กับการเกิดโรค ถ้าแผลยิ่งอยู่ใกล้สมองเท่าไหร่ ระยะฟักตัวก็จะยิ่งสั้น แผลจำนวนยิ่งมากหรือขนาดแผลยิ่งใหญ่ ก็ยิ่งมีโอกาสได้รับเชื้อมากเท่านั้น

2. การให้สารภูมิคุ้มกันต้านทาน: เชื้อไวรัสเมื่อเข้าสู่บาดแผลจะเดินทางเข้าสู่กล้ามเนื้อ แบ่งตัวเพิ่มจำนวนและพร้อมจะเข้าสู่เส้นประสาท ในช่วงนี้เองที่การรักษาด้วยการให้สารภูมิคุ้มกันต้าน ทานจะไปทำลายเชื้อไม่ให้เข้าสู่เส้นประสาทได้ ผู้ป่วยจึงไม่เกิดเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าให้สารภูมิคุ้มกันต้านทานช้าเกินไป รวมทั้งไม่ได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้าด้วย เชื้อจะเข้าสู่เส้นประสาทได้ในที่สุด ซึ่งเมื่อเชื้อเข้าสู่เส้นประสาทได้แล้วจะไม่มียาตัวใดรักษาให้หายได้เลย ซึ่งการให้สารภูมิ คุ้มกันต้านทานสามารถให้พร้อมกับวัคซีนได้เลย โดยจะฉีดเข้าสู่รอบๆแผลที่ถูกกัด แต่ถ้าไม่มีบาดแผล เช่น โดนสัตว์เลียปากมาก็ให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

3. การให้วัคซีนพิษสุนัขบ้า: เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทาน/สารภูมิต้านทาน (Antibody) ขึ้นมาทำลายเชื้อโรคเอง เนื่องจากสารภูมิคุ้มกันต้านทานที่ผู้ป่วยได้รับจะมีฤทธิ์อยู่เพียงชั่วคราว ซึ่งหลังจากฉีดวัค ซีนร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 10 - 14 วันจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาพอที่จะทำลายเชื้อโรคได้

อนึ่ง ในการพิจารณาว่าผู้ป่วยรายใดที่ถูกสัตว์สัมผัส/กัด/ข่วน จำเป็นต้องให้สารภูมิคุ้มกันต้านทานและ/หรือวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าหรือไม่นั้น ในแต่ละประเทศจะมีแนวทางการรักษาที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เพราะการควบคุมการฉีดวัคซีนในสัตว์มีความเข้มงวดต่างกัน และมีความชุกชุมของสัตว์ที่เป็นโรคไม่เท่ากัน สำหรับในประเทศไทยมีแนวทางดังนี้

1. ถ้าสัมผัสกับสัตว์ (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดทั้งสัตว์บ้านและสัตว์ป่า) หรือถูกเลียโดยที่ผิว หนังไม่มีบาดแผลใดๆ ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไร

2. ถ้าถูกงับเป็นรอยช้ำเล็กๆบนผิวหนัง หรือถูกข่วนเป็นรอยถลอกมีเลือดออกเพียงซิบๆ หรือถูกเลียบนผิวหนังที่มีบาดแผล ให้รีบฉีดวัคซีนทันที

3. ถ้าถูกกัดหรือข่วนที่มีเลือดออกชัดเจน หรือถูกเลียโดนเยื่อบุต่างๆ เช่น เลียตา เลียปาก ให้รีบให้สารภูมิคุ้มกันต้านทานและวัคซีนทันที

แต่ในกรณีที่สัตว์ถูกเลี้ยงอย่างดีในบ้าน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี และมีเหตุจูงใจให้สัตว์กัด เช่น เหยียบสัตว์ แกล้งสัตว์ อาจยังไม่ต้องให้การรักษา โดยกักขังดูแลสัตว์จนครบ 10 วัน แต่ถ้าผิดเงื่อนไขทั้งหมดนี้เพียงอย่างเดียว ต้องทำตามแนวทางการรักษาข้างต้น ถ้าครบเงื่อนไขและสังเกตสัตว์ครบ 10 วันแล้ว สัตว์ไม่มีอาการผิดปกติอะไรหรือไม่ตาย ก็ไม่ต้องให้การรักษา ถ้าสัตว์มีอาการผิดปกติหรือตาย ต้องรีบฉีดสารภูมิตุ้มกันต้านทานพร้อมวัค ซีน และนำซากสัตว์ส่งแพทย์ตรวจด้วย

องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ใช้สูตรการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าในผู้ป่วยภายหลังสัมผัสสัตว์ที่เป็นโรคหรือสงสัยเป็นโรค (เรียกว่า Post exposure prophylaxis) เพียง 4 สูตร แต่ในประ เทศไทยกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ใช้เพียง 2 สูตร เท่านั้นคือ

1. การฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบวิธีมาตรฐาน (แบบ ESSEN) คือให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขนในผู้ใหญ่ หรือที่ต้นขาในเด็กเล็ก โดยกำหนดให้ฉีดในวันที่ 0 (วันแรกที่มาฉีดวัคซีน) 3, 7, 14 และ 28 หรือ 30

2. การฉีดเข้าผิวหนังตามสภากาชาดไทย (Thai Red Cross-ID) คือให้ฉีดเข้าในผิว หนัง 2 จุดที่บริเวณต้นแขนทั้ง 2 ข้าง ในวันที่ 0, 3, 7 และฉีด 1 จุดในวันที่ 28 และ 90 หรือฉีด 2 จุดในวันที่ 28 ซึ่งปริมาณวัคซีนที่ใช้ฉีดจะน้อยกว่าแบบที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จึงประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า

โรคพิษสุนัขบ้ารุนแรงไหม?

เมื่อเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลายได้แล้ว ไม่มียาตัวไหนหรือวิธีไหนที่จะฆ่าเชื้อไวรัสหรือรักษาให้หายได้ แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการดูแลอย่างดีในห้องไอซียู (ICU, inten sive care unit) แต่อัตราการเสียชีวิตคือ 100%

จากทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยที่พิสูจน์จากห้องปฏิบัติการแล้วว่าเป็นพิษสุนัขบ้า แต่สามารถรอดชีวิตมาได้เพียง 6 ราย โดยใน 5 รายมีประวัติว่าได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน ส่วนอีก 1 รายไม่เคยได้รับวัคซีน แต่พิสูจน์แล้วว่าติดเชื้อมาจากค้างคาว จึงเป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่า เชื้อพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ที่มีอยู่ในค้างคาวอาจก่อโรคไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ในสุนัข

ควรดูแลตนเองอย่างไร? ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร?

การดูแลตนเองและการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่สำคัญคือ

1. ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่ว่าจะเป็นหมา แมว กระรอก กระต่าย หนูชนิดที่เป็นสัตว์เลี้ยง ลิง ควรพาสัตว์ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าตามที่สัตวแพทย์กำหนด

2. สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ เช่น หมู วัว ควาย แพะ แกะ ม้า แม้ว่าจะพบโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เหล่านี้ได้บ้าง แต่ไม่พบมีความสำคัญในการนำโรคมาสู่คน จึงไม่จำเป็นต้องพาสัตว์ไปฉีดวัคซีน แต่ถ้าคนถูกสัตว์เหล่านี้กัด คนก็ต้องไปรับการฉีดวัคซีน

3. คนที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคสูงได้แก่ สัตวแพทย์และผู้ช่วย คนเพาะสัตว์เลี้ยงขาย ร้านขายสัตว์เลี้ยง เจ้าหน้าที่กำจัดสุนัขและแมวจรจัด เจ้าหน้าที่บ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ เร่ร่อนต่างๆ บุรุษไปรษณีย์ คนที่ทำงานในห้องแลปที่ต้องเกี่ยวข้องกับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ควรได้ รับวัคซีนแบบป้องกันล่วงหน้า (Preexposure prophylaxis) คือให้ฉีดวัคซีนในวันที 0, 3 และ 21 หรือ 28 และให้ฉีดกระตุ้นซ้ำ 1 เข็มทุกๆ 5 ปี

4. ผู้ที่ในอดีตเคยได้รับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าครบ 5 เข็มหรืออย่างน้อย 3 เข็มแรกที่ตรงตามนัด เมื่อถูกสัตว์กัดอีกไม่จำเป็นต้องได้รับสารภูมิคุ้มกันต้านทาน แม้จะมีแผลชนิดเลือด ออก และให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเพียง 2 เข็มภายในวันที่ 0 และ 3 โดยจะฉีดแบบเข้ากล้ามหรือเข้าผิวหนังก็ได้ แต่ถ้าฉีดเข็มสุดท้ายมายังไม่เกิน 6 เดือนอาจกระตุ้นแค่เพียง 1 เข็ม บางคำแนะนำบอกว่า ถ้าเข็มสุดท้ายเลย 5 ปีมาแล้ว ให้เริ่มต้นใหม่เหมือนคนยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน แต่สถานเสาวภาแนะนำว่า ไม่ว่าจะเคยได้รับมากี่ปีแล้วก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นใหม่ ให้ฉีดกระตุ้นก็เพียงพอ

5. หญิงตั้งครรภ์สามารถรับวัคซีนและสารภูมิคุ้มกันต้านทานได้ ไม่มีผลข้างเคียงกับทา รกในครรภ์

บรรณานุกรม

  1. Lawrence Corey, rabies virus and other rhabdoviruses, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
  2. https://emedicine.medscape.com/article/220967-overview#showall [2019,March2]
  3. https://www.cdc.gov/vaccines/hcp/vis/vis-statements/rabies.html [2019,March2]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Rabies [2019,March2]
  5. https://www.who.int/bulletin/volumes/92/4/14-136044/en/ [2019,March2]