โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 30 มีนาคม 2562
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- โรคต่อมไร้ท่อมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
- โรคต่อมไร้ท่อมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคต่อมไร้ท่อได้อย่างไร?
- รักษาโรคต่อมไร้ท่ออย่างไร?
- โรคต่อมไร้ท่อรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- มีการตรวจคัดกรองโรคไร้ท่อไหม?
- ป้องกันโรคต่อมไร้ท่อได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบต่อมไร้ท่อ (Anatomy and physiology of endocrine system)
- ไทรอยด์: โรคของต่อมไทรอยด์ (Thyroid: thyroid diseases)
- ฮอร์โมนต่อมหมวกไต (Adrenal gland hormones)
- ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (Pituitary hormones)
- ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ (Thyroid hormone)
- ฮอร์โมนจากรังไข่ (Ovarian hormones)
- ฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์ (Hormones secreted by parathyroid gland)
- ฮอร์โมนจากรังไข่ (Ovarian hormones)
- ฮอร์โมนจากอัณฑะ (Testicular hormones)
บทนำ
โรคต่อมไร้ท่อ หรือโรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease) คือ โรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆในระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine system) ซึ่งอวัยวะในระบบต่อมไร้ท่อมักเป็นต่อมต่างๆที่กระจายอยู่ทั่วร่างกาย มีหน้าที่ช่วยกันทำงานเป็นเครือข่ายสร้างฮอร์โมนต่างๆเพื่อควบคุมการทำงานทุกชนิดของร่างกาย ร่วมทั้งในด้านของเพศลักษณ์ การสืบพันธ์ การตั้งครรภ์ และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
อวัยวะ/ต่อมที่อยู่ในเครือข่ายของระบบต่อมไร้ท่อ ได้แก่
- สมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus, เป็นสมองส่วนอยู่ลึกตรงกลางระหว่างสมองใหญ่ซ้ายและขวาที่เรียกว่า Diencephalon)
- ต่อมไพเนียล
- ต่อมใต้สมอง
- ต่อมไทรอยด์
- ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid gland, ต่อมขนาดเล็กอยู่ใต้ต่อมไทรอยด์ มีหน้าที่หลัก คือ ควบคุมการทำงานของแคลเซียม)
- เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย)
- ต่อมหมวกไต
- ตับอ่อน
- รังไข่ (ในผู้หญิง) และอัณฑะ (ในผู้ชาย)
ต่อมไร้ท่อ เป็นต่อมที่สร้างฮอร์โมนต่างๆ ซึ่งฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อจะซึมเข้ากระแสโลหิต/กระแสเลือดโดยตรง และกระแสเลือดจะเป็นตัวนำฮอร์โมนเหล่านี้ไปยังอวัยวะต่างๆที่มีตัวรับฮอร์โมนเหล่านี้เพื่อนำฮอร์โมนไปใช้งานต่อไป ไม่ต้องมีท่อนำส่ง จึงเป็นที่มาของชื่อ “ต่อมไร้ท่อ”
ต่อมไร้ท่อแต่ละชนิดจะสร้างฮอร์โมนที่แตกต่างกัน แยกกันทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย แต่ฮอร์โมนต่างๆเหล่านี้ จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันเสมอ โดยทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย จึงส่งผลให้โรคของต่อมไร้ท่อมีความสัมพันธ์กันเสมอ ถึงแม้จะเกิดโรคกับต่อมไร้ท่อเพียงต่อมใดต่อมหนึ่งก็ตาม ก็จะกระทบถึงการทำงานของต่อมไร้ท่ออื่นๆได้ ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลถึงการทำงานผิดปกติของเซลล์ต่างๆทั่วร่างกาย
การทำงานของต่อมไร้ท่อ มักทำงานด้วยระบบ หรือ วงจร ที่เรียกว่า “การป้อนกลับทางลบ หรือการควบคุมย้อนกลับแบบลบ (Negative feed back mechanism)” เพื่อควบคุมปริมาณฮอร์โมนให้อยู่ในเกณฑ์พอดีต่อการใช้งานของร่างกาย (เกณฑ์ปกติ) วงจรดังกล่าว คือ เมื่อร่างกายขาดฮอร์โมนนั้นๆ (ปริมาณฮอร์โมนนั้นๆในเลือดลดลง) จะเป็นตัวกระตุ้นให้เครือข่ายของการสร้างฮอร์โมนนั้นๆ ทำงานมากขึ้น ส่งผลให้มีการสร้างฮอร์โมนอีกชนิดเพื่อการกระตุ้นการทำงานของต่อมไร้ท่อนั้นๆให้มากขึ้น เพื่อให้ต่อมไร้ท่อนั้นๆสร้างฮอร์โมนที่ขาดหายไปได้พอเพียงต่อร่างกาย วนเวียนเป็นวงจรอยู่ตลอดเวลา
ตัวอย่างเช่น ในการทำงานของต่อมไทรอยด์ เมื่อร่างกายขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์) ปริมาณไทรอยด์ฮอร์โมนที่ลดลง จะกระตุ้นให้สมองส่วนไฮโปธาลามัส สร้างฮอร์โมนกระตุ้นการทำงานของต่อมใต้สมองในส่วนควบคุมต่อมไทรอยด์ให้ทำงานมากขึ้น ต่อมใต้สมองจึงสร้างฮอร์โมนกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์มากขึ้น ส่งผลให้ต่อมไทรอยด์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเพิ่มมากขึ้น จนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งเมื่อระดับไทรอยด์ฮอร์โมนปกติ ร่างกายก็จะส่งสัญญาณกลับไปยัง สมองไฮโปธาลามัส ลดการสร้างฮอร์โมน ส่งผลลดการทำงานของต่อมใต้สมอง และต่อมไทรอยด์ ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ วนเวียนเป็นวงจรควบคุมการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเสมอ
ดังนั้นการผิดปกติของวงจรนี้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิด “โรคในระบบต่อมไร้ท่อ”
โรคของต่อมไร้ท่อ พบเกิดได้ในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ โดยในเด็กแรกเกิด มักเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด หรือจากความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น เป็นต้น
ก. โรคของอวัยวะในระบบต่อมไร้ท่อที่พบได้บ่อยที่สุด คือ
- โรคเบาหวาน ที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของเซลล์ต่อมไร้ท่อของตับอ่อน
ข. โรคของต่อมไร้ท่ออื่นๆ เป็นโรคที่พบได้น้อยกว่าโรคเบาหวานมาก เช่น
- ภาวะประจำเดือนผิดปกติจากโรคของรังไข่ (โรคพีซีโอเอส/PCOS หรือ กลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ)
- ภาวะนกเขาไม่ขัน
- โรคของต่อมไทรอยด์ (โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน)
- โรคอ้วนที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของต่อมหมวกไตหรือของต่อมใต้สมอง
- โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไต
- โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง
- เนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์
- โรคเนื้องอกสมอง
โรคต่อมไร้ท่อมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?
สาเหตุของโรคต่อมไร้ท่อเกิดได้จาก
- สาเหตุจากมีฮอร์โมนเกินปกติ
- สาเหตุจากมีฮอร์โมนต่ำกว่าปกติ
- เนื้องอก หรือ โรคมะเร็ง ของต่อมนั้นๆ
- และโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง
ก. สาเหตุจากมีฮอร์โมนเกินปกติ ที่พบบ่อย คือ
- โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ โรคต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน และโรคพีซีโอเอส
นอกนั้น เป็นโรคอื่นๆพบได้ประปราย เช่น
- โรคต่อมหมวกไตทำงานเกิน/ กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome)
- โรคเนื้องอกของต่อมหมวกไต (เช่น Pheochromocytoma)
- โรคเนื้องอกตับอ่อน (เช่น Insulinoma)
- โรคเนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid adenoma),
- โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง (เช่น Prolactinoma และ Acromegaly)
ข. สาเหตุจากมีฮอร์โมนต่ำกว่าปกติ ที่พบบ่อย คือ
- โรคเบาหวาน และ ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
นอกนั้น เป็นโรคที่พบได้ประปราย เช่น
- โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง (Pituitary adenoma)
- และ โรคทางพันธุกรรมบางชนิดที่ทำให้รังไข่ หรืออัณฑะทำงานต่ำกว่าปกติ (Hypogonadism)
ค. โรคมะเร็งของอวัยวะในระบบต่อมไร้ท่อ
- ที่พบบ่อย คือ โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
- ที่พบได้บ้าง คือ โรคมะเร็งตับอ่อน
- ที่พบประปราย คือ โรคมะเร็ง ของต่อมไร้ท่อชนิดอื่นๆ เช่น ของต่อมหมวกไต หรือของต่อมใต้สมอง
ง. โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยนัก เช่น โรค ต่อมไทรอยด์อักเสบ ชนิด Hashimoto และโรคเอสแอลอี (SLE)
อนึ่ง:
- อวัยวะต่างๆในระบบต่อมไร้ท่อ มักไม่ค่อยเกิดโรคจากการอักเสบติดเชื้อ
โรคต่อมไร้ท่อมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคในระบบต่อมไร้ท่อ จะขึ้นกับว่าเป็นโรคที่เกิดกับต่อมไร้ท่ออะไร ทั้งนี้ โดยทั่วไป คือ
- อาการจากโรคที่เกิดกับสมองส่วนไฮโปธาลามัส โรคที่เกิดเฉพาะกับสมองส่วนนี้พบได้น้อยมากๆ โดยทั่วไปจะเป็นโรคเนื้องอก หรือโรคมะเร็งสมองส่วนอื่นที่มีขนาดโตจนลุกลามเข้ามาในไฮโปธาลามัส ดังนั้น อาการจึงมักเป็นอาการของโรคเนื้องอกและมะเร็งสมอง ซึ่งส่วนใหญ่คือ
- อาการปวดศีรษะที่รุนแรง อย่างต่อเนื่อง
- ร่วมกับอาจมี คลื่นไส้ อาเจียน ชัก และ/หรือ แขน/ขาอ่อนแรง (อัมพฤกษ์ อัมพาต)
- อาการที่เกิดจากโรคของต่อมไพเนียล มักเป็นโรคที่เกิดจากเนื้องอก หรือโรคมะเร็งของต่อมไพเนียล มักพบในเด็ก และมักเป็นเด็กชาย ซึ่งต่อมไพเนียลมีหน้าที่เกี่ยวกับการแสดงสัญลักษณ์ทางเพศ ดังนั้น อาการจากโรคของต่อมไพเนียล จึงมักเป็นอาการที่เด็กเป็นวัยรุ่นก่อนวัย เช่น มีหนวด หรือมีนมตั้งเต้าทั้งๆที่ยังไม่เข้าวัยรุ่น ที่เรียกว่า ภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย(Precocious puberty) เป็นต้น
- อาการที่เกิดจากโรคของต่อมใต้สมอง มักเกิดจากโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง ส่วนน้อยมากๆเกิดจากโรคมะเร็ง ซึ่งอาการจะมีได้หลากหลายมาก เพราะต่อมใต้สมองควบคุมการทำงานของต่อมไร้ท่อหลายต่อม เช่น ต่อมไทรอยด์ รังไข่ หรือ อัณฑะ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงอาจมีอาการจาก
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
- อาการประจำเดือนผิดปกติ (ในผู้หญิง)
- ภาวะมีบุตรยาก หรือ นกเขาไม่ขัน (ในผู้ชาย)
- อาการที่เกิดจากโรคของต่อมไทรอยด์ เช่น
- ต่อมไทรอยด์โต
- เนื้องอกต่อมไทรอยด์
- ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน และ
- โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
- อาการที่เกิดจากโรคของต่อมพาราไทรอยด์ คือ อาการชักจากการมีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ มักเกิดจากเซลล์ต่อมพาราไทรอยเจริญเกินปกติจึงสร้างฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงเกินปกติ (Parathyroid hyperplasia) หรือ เนื้องอกต่อมพาราไทรอยด์
- อาการที่เกิดจากโรคของต่อมไทมัส มักเกิดจาก
- โรคเนื้องอกของต่อมไทมัส (Thymoma) ซึ่งอาการ คือ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
- กล้ามเนื้อทั่วร่างกายอ่อนแรงเมื่อต้องออกแรง แต่จะกลับเป็นปกติเมื่อหยุดออกแรง
- อาการที่เกิดจากโรคของตับอ่อน คือ อาการของโรคเบาหวาน
- อาการที่เกิดจากโรคของต่อมหมวกไต ซึ่งเป็นโรคที่พบได้เพียงประปราย อาจจากเซลล์ต่อมหมวกไตเจริญเกินปกติ หรือมีเนื้องอก อาการที่อาจพบได้ เช่น
- โรคอ้วน
- อ่อนเพลียมาก
- เกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล หรือ
- มีความดันโลหิตสูง
- อาการที่เกิดจากโรคของรังไข่ ที่พบบ่อย คือจากโรคพีซีโอเอส ซึ่งอาการพบบ่อย คือ ภาวะขาดประจำเดือน และภาวะมีบุตรยาก
- อาการที่เกิดจากโรคของอัณฑะ มักเกิดจากอัณฑะฝ่อ ซึ่งอาการที่พบได้ คือ นกเขาไม่ขัน
แพทย์วินิจฉัยโรคต่อมไร้ท่อได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคทางต่อมไร้ท่อได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจเลือด และ/หรือ
- การตรวจปัสสาวะ เพื่อหาระดับฮอร์โมนต่างๆ
- การตรวจภาพอวัยวะที่สงสัยว่ามีโรคด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ
- และบ่อยครั้ง คือ การตัดชิ้นเนื้อจากต่อมที่เกิดโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา และ/หรือ การเจาะและดูดเซลล์จากก้อนเนื้อหรือต่อมที่เกิดโรคเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
รักษาโรคต่อมไร้ท่ออย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคทางต่อมไร้ท่อ คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ
ก. การรักษาตามสาเหตุ เช่น
- การให้ฮอร์โมนชดเชยเมื่อเกิดจากการขาดฮอร์โมน
- การให้ยาต้านฮอร์โมนเมื่อเกิดจากการมีฮอร์โมนเกิน
- การผ่าตัด และ/หรือ รังสีรักษา เมื่อเกิดจากโรคเนื้องอก หรือโรคมะเร็ง
ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น
- การให้ยาแก้ปวด เมื่อมีอาการปวด
- การให้ยาลดความดันโลหิตเมื่อมีภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น
โรคต่อมไร้ท่อรุนแรงไหม?
ความรุนแรงของโรคต่อมไร้ท่อขึ้นกับสาเหตุ และขึ้นกับว่าเป็นโรคของต่อมอะไร เช่น เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง ความรุนแรงโรคจะสูง หรือเมื่อเกิดโรคกับสมองไฮโปธาลามัส ความรุนแรงโรคจะสูง เป็นต้น
ในโรคที่เกิดจากเนื้องอก หรือโรคมะเร็ง ถ้าผ่าตัดก้อนเนื้อหรือก้อนมะเร็งไม่ได้ ความรุนแรงโรคจะสูงกว่าเมื่อสามารถผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้
นอกจากนั้น ความรุนแรงโรคจะเช่นเดียวกับในโรคอื่นๆ คือ ขึ้นกับสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และอายุ โดยในเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ ที่ความรุนแรงโรคจะสูงกว่าในอายุวัยอื่นๆ
อนึ่ง โรคของต่อมไร้ท่อ มักเป็นโรคเรื้อรัง และดังกล่าวแล้วว่า ฮอร์โมนมีส่วนสำคัญในการทำงานของเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย ดังนั้นผู้ป่วยโรคต่อมไร้ท่อ จึงมักมีปัญหาในด้านคุณภาพของชีวิต และมักจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ พยาบาล ตลอดชีวิต
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ และอาการไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หลังการดูแลตนเอง หรือถ้าอาการเลวลง ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ
ส่วนเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคทางต่อมไร้ท่อแล้ว/พบแพทย์แล้ว การดูแลตนเอง และการพบแพทย์ก่อนนัด คือ
- ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรง เพราะความผิดปกติในฮอร์โมนทุกชนิดจะส่งให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำลง จึงติดเชื้อได้ง่าย และเนื่องจากดังกล่าวแล้วว่า โรคทางต่อมไร้ท่อ มักเป็นโรคเรื้อรัง ดังนั้นจึงมักมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตเสมอ
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกๆวัน ในปริมาณให้เหมาะสมกับการใช้พลังงานของร่างกาย เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง และป้องกันโรคอ้วน
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ และ
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ
- มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น บวมตามดนื้อตัวจากที่ไม่เคยมีมาก่อน
- หรือ เมื่ออาการต่างๆเลวลง เช่น ปวดศีรษะรุนแรงขึ้น
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูก/ท้องเสียเรื้อรัง ขึ้นผื่นทั้งตัว วิงเวียน ศีรษะมาก
- หรือ เมื่อกังวลในอาการ
มีการตรวจคัดกรองโรคไร้ท่อไหม?
โดยทั่วไป ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรอง (ตรวจให้พบโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการ) ในโรคทางต่อมไร้ท่อ ยกเว้น โรคเบาหวาน ซึ่งสามารถตรวจคัดกรองได้จากการตรวจน้ำตาลในเลือดในการตรวจสุขภาพประจำปี
ป้องกันโรคต่อมไร้ท่อได้อย่างไร?
เมื่อดูจากสาเหตุ โรคทางต่อมไร้ท่อเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีป้องกัน ยกเว้น โรคเบาหวาน ที่การป้องกันสำคัญ คือ ป้องกันการเกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โดยการจำกัดการกิน อาหารไขมัน อาหารเค็ม อาหารแป้งและน้ำตาล ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกๆวัน
นอกจากนั้น เพื่อลดความรุนแรงของโรคเบาหวาน ควรมีการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน เพื่อรักษาควบคุมตั้งแต่โรคระยะยังไม่มีอาการ เพราะการรักษาควบคุมจะได้ประสิทธิภาพมากกว่ารักษาควบคุมเมื่อเกิดอาการแล้ว
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Endocrine_system [2019,March30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Endocrine_disease [2019,March30]
- https://www.niddk.nih.gov/health-information/endocrine-diseases [2019,March30]
- https://medlineplus.gov/endocrinediseases.html [2019,March30]