โรคติดเชื้อปรสิต (Parasitic infection)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคติดเชื้อปรสิต(Parasitic infection)คือ โรคที่ร่างกายติดเชื้อโรคในกลุ่มที่เรียกว่า ‘ปรสิต(Parasite)’ โดยเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย หรือ ร่างกายได้รับเชื้อโรค หรือติดโรคจาก

  • ทางปาก: ที่เรียกว่า ‘ทางอุจจาระสู่ปาก(Fecal-oral route)’ เช่น โรคหนอนพยาธิต่างๆในระบบทางเดินอาหาร เช่น ตัวตืด, โรคบิดมีตัว
  • ทางผิวหนังจาก
    • ถูกแมลงที่เป็นตัวนำโรคกัด เช่น โรคไข้จับสั่นที่มียุงเป็นตัวนำโรค
    • ผิวหนังสัมผัสโรคโดยตรงจากผู้เป็นโรคนี้ เช่น เหา โลน
    • ทางเพศสัมพันธ์(โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) เช่น โรคหิด, โรคพยาธิในช่องคลอด, โรคบิดมีตัว

โรคติดเชื้อปรสิต/การติดเชื้อปรสิต พบบ่อยทั่วโลก แต่ไม่มีสถิติเกิดโรคในภาพรวมอย่างชัดเจน เพราะมักแยกรายงานเป็นแต่ละชนิดย่อยของโรค(เช่น ไข้จับสั่น โรคหิด เป็นต้น) เป็นโรคไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบบ่อยในประเทศเขตร้อนและประเทศกำลังพัฒนาที่การสาธารณสุขยังไม่ดีพอ พบทุกเพศ ทุกวัย

โรคติดเชื้อปรสิต พบทั้งใน คน สัตว์ และพืช ซึ่งในบทความนี้ จะกล่าวเฉพาะ ’โรคติดเชื้อปรสิตในคนเท่านั้น(Human parasite infection)’

อนึ่ง:

  • ชื่ออื่นของโรคติดเชื้อปรสิต คือ Parasitic disease, Parasitosis
  • ปรสิต: พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง สัตว์พวกพยาธิที่อาศัยอยู่ในมนุษย์และสัตว์ แต่ถ้าอาศัยในพืช เรียกว่า ‘ตัวเบียน เช่น กาฝาก’
  • ทางการแพทย์ ‘ปรสิตในคน’ คือ สิ่งมีชีวิต/สัตว์ที่ต้องอาศัยคนเป็นแหล่งอาหารเพื่อการดำรงชีวิต เจริญเติบโต และสืบพันธ์ โดยอาจอาศัยอยู่ ‘ในตัวคน/ปรสิตในอวัยวะภายในร่างกาย(Endoparasite)’ หรือ ‘บนผิวหนัง/ ปรสิตนอกร่างกาย(Ectoparasite)’ ซึ่งสิ่งมีชีวิตนี้ เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว หรือ สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ก็ได้ โดย ปรสิตก่อโรคในคนมี 3 กลุ่ม คือ
    • สัตว์เซลล์เดียวที่เรียกว่า โปรโตซัว(Protozoa) เช่น เชื้อที่ก่อโรค ไข้จับสั่น, บิดมีตัว, โรคพยาธิในช่องคลอด ซึ่งปรสิตกลุ่มนี้เป็น ปรสิตในร่างกาย
    • หนอนพยาธิลำไส้(Intestinal worm หรือ Intestinal helminth)ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์และจัดเป็นปรสิตในร่างกาย เช่น ตัวตืด
    • และกลุ่มปรสิตนอกร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์เช่นกัน เช่น เหา, โลน, หิด

ติดเชื้อปรสิตได้อย่างไร?

โรคติดเชื้อปรสิต

คนติดเชื้อปรสิตได้โดย

ก. ทางปาก: ได้แก่ การได้รับเชื้อปรสิตทางปาก จากปนเปื้อนอุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อปรสิตที่เรียกว่า การติดโรคทาง ‘อุจจาระสู่ปาก’ เช่น โรคพยาธิตัวตืด ซึ่งอุจจาระที่มี เชื้อปรสิตเป็นได้ทั้ง อุจจาระผู้ป่วยเอง, อุจจาระผู้ป่วยอื่นทีมีเชื้อปรสิต, และ/หรืออุจจาระสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่รวมถึงสัตว์เลี้ยง (เช่น แมว สุนัข) และรวมถึง อุจจาระฯที่อาจปนเปื้อนในสิ่งต่าง ที่พบบ่อย เช่น

  • อาหาร: เช่น ผัก ผลไม้ อาหารสดที่รวมถึงเนื้อสัตว์ทุกขนิด หรือปรุงสุกๆดิบๆ
  • น้ำดื่ม น้ำใช้
  • น้ำในแหล่งธรรมชาติ
  • ภาชนะบรรจุอาหาร/น้ำดื่ม เช่น ช้อน แก้วน้ำ จาน
  • อุจจาระปนเปื้อนฯติดที่สิ่งของใช้ต่างๆ(ติดจากมือ/การหยิบจับ) เช่น ของเล่น(รวมถึงเครื่องเล่นสาธารณะ) ราวบันได โทรศัพท์ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขี้ริ้ว ที่รวมถึงอาหารต่างๆจากมือที่สัมผัสอุจจาระปนเปื้อนเชื้อฯ แล้วมือนี้นำส่งเชื้อฯสัมผัสปาก เช่น เช็ดปาก อมนิ้ว

ข. ทางผิวหนัง: คือ ผิวหนังสัมผัส/คลุกคลีกับผู้ติดเชื้อฯโดยตรง เช่น โรคหิด, โรคเหา, โลน

ค. ทางเพศสัมพันธ์: เช่น โรคพยาธิในช่องคลอด, โรคบิดมีตัว, โรคหิด

ง. มีแมลงเป็นตัวนำโรค: เช่น โรคไข้จับสั่น ที่เกิดจากถูกยุงกัด โดยปรสิตอาศัยอยู่ในน้ำลายของยุง

ใครมีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อปรสิต?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อปรสิต ได้แก่

  • บุคคลที่มีถิ่นอาศัยในเขตร้อน โดยเฉพาะในเขตชนบท
  • บุคคลที่อาศัยอยู่ในแหล่งแออัด การสาธารณะสุขไม่ดี โดยเฉพาะไม่มีส้วมที่ถูก สุขอนามัย
  • ใช้น้ำบริโภคจากแหล่งน้ำธรรมชาติ
  • ขาดสุขอนามัยในการดำรงชีวิต การปรุงอาหาร และการขับถ่าย
  • ขาดการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
  • ผู้ที่ต้องดูแล ผู้ป่วย หรือเด็กเล็ก ผู้ที่ต้องดูแลเรื่องการขับถ่ายของบุคคลอื่น
  • นักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวในถิ่นที่ขาดสุขอนามัยพื้นฐาน

โรคติดเชื้อปรสิตมีอาการอย่างไร?

อาการโรคติดเชื้อปรสิตขึ้นกับ ชนิดของปรสิตที่ก่อโรค, และประเภทการทำงานของอวัยวะที่ติดเชื้อปรสิต ซึ่งอาการจากโรคติดเชื้อปรสิต ได้แก่

  • ไม่มีอาการ กรณีติดเชื้อฯในปริมาณน้อย
  • กรณีมีอาการ อาการจะะแตกต่างในแต่ละผู้ป่วย ขึ้นกับมีการติดเชื้อปรสิตกับอวัยวะใด, และติดเชื้อในปริมาณมากน้อยเพียงใด, แนะนำอ่านรายละเอียดของโรคติดเชื้อปรสิตชนิดต่างๆที่รวมถึง ‘อาการ’ ได้ในเว็บ haamor.com เช่น
    • โรคพยาธิตัวตืด
    • โรคไข้จับสั่น
    • โรคหนอนพยาธิของช่องคลอด
    • โรคหิด
    • เหา โลน
    • โรคบิดมีตัว
    • โรคเท้าช้าง

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อปรสิตอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อปรสิตได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ถิ่นที่อยู่อาศัย การเดินทางท่องเที่ยว ประเภทอาหารที่บริโภค
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจสืบค้นต่างๆเพิ่มเติมตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจเลือดดูค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด/ซีบีซี/CBC
    • การตรวจเลือดดู สารภูมิต้านทาน และ/หรือสารก่อภูมิต้านทาน ของ เชื้อปรสิตที่แพทย์สงสัยเป็นสาเหตุ
    • การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของ ไต ตับ
    • การตรวจปัสสาวะ ดูโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ
    • การตรวจอุจจาระ หาไข่ หรือ ตัวหนอนพยาธิ
    • การตรวจภายใน กรณีสงสัยโรคพยาธิช่องคลอดในสตรี
    • การตรวจเชื้อปรสิต และ/หรือการเพาะเชื้อจาก เลือด, สารคัดหลั่งต่างๆที่รวมถึง อุจจาระ, ปัสสาวะ, ของเหลวต่างๆของร่างกาย, ขึ้นกับชนิดของเชื้อ
    • การตรวจภาพอวัยวะที่มีอาการด้วย เอกซเรย์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, และ/หรือเอมอาร์ไอ
    • การส่องกล้องตรวจระบบอวัยวะต่างๆที่มีอาการ เช่น ระบบทางเดินอาหาร
    • การตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรค เพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคติดเชื้อปรสิตอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคติดเชื้อปรสิตจะขึ้นกับ ชนิดของปรสิตที่ก่อโรค, อาการและความรุนแรงของอาการ ซึ่งได้แก่

ก. สาเหตุหรือชนิดของปรสิต: การรักษา ได้แก่

  • ทั่วไปมักเป็นการใช้ยา มีได้ทั้ง ยากิน ยาฉีด ซึ่งจะใช้ยาอะไร จะขึ้นกับชนิดของปรสิต เช่น ยาถ่ายพยาธิกรณีของโรคหนอนพยาธิในระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
  • แต่บางครั้งอาจต้องมีการผ่าตัด ขึ้นกับอาการผู้ป่วย เช่น การผ่าตัดลำไส้รักษาภาวะลำไส้อุดตันจากหนอนพยาธิในระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

(แนะนำอ่านรายละเอียดของโรคติดเชื้อปรสิตชนิดต่างๆที่รวมถึง ‘วิธีรักษา’ ได้ในเว็บ haamor.com) เช่น

  • โรคพยาธิตัวตืด
  • โรคไข้จับสั่น
  • โรคหนอนพยาธิของช่องคลอด
  • โรคหิด
  • เหา โลน
  • โรคบิดมีตัว
  • โรคเท้าช้าง

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: ขึ้นกับอาการผู้ป่วย เช่น

  • ยาแก้ปวด
  • ยาแก้ท้องเสีย
  • ยาแก้คัน
  • การให้เลือด กรณีมีภาวะซีดรุนแรง

โรคติดเชื้อปรสิตรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของโรคติดเชื้อปรสิตขึ้นกับแต่ละชนิดของปรสิตที่เป็นสาเหตุ มีทั้งโรคที่มีความรุนแรงต่ำที่ไม่เป็นเหตุให้เสียชีวิต เช่น เหา โลน ไปจนถึงโรคที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ เช่น ไข้จับสั่น

โรคติดเชื้อปรสิตทุกโรค เป็นโรคที่แพทย์รักษาให้หายได้ อย่างไรก็ตาม บางโรคอาจเกิดเชื้อดื้อยา ซึ่งจะส่งผลให้การรักษายุ่งยากซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงขึ้น และผลการรักษาแย่ลง

นอกจากนั้น โรคปรสิตทุกชนิดสามารถย้อนกลับเป็นซ้ำได้เสมอหลังการรักษาหายแล้ว ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรต้องดูแลตนเองและรักษาสิ่งแวดล้อมของถิ่นพักอาศัยตลอดไปเพื่อป้องกันโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ และการแพร่กระจายของโรคนี้

(แนะนำอ่านรายละเอียดของโรคติดเชื้อปรสิตชนิดต่างๆที่รวมถึง ‘การพยากรณ์โรค’ ได้ในเว็บ haamor.com) เช่น

  • โรคพยาธิตัวตืด
  • โรคไข้จับสั่น
  • โรคหนอนพยาธิของช่องคลอด
  • โรคหิด
  • เหา โลน
  • โรคบิดมีตัว
  • โรคเท้าช้าง

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคโรคติดเชื้อปรสิต เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดี และเพื่อป้องกันการติดโรคซ้ำ ซึ่งจะขึ้นกับแต่ละชนิดของเชื้อ แต่โดยทั่วไป ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังการสัมผัสปฏิกูลสัตว์เลี้ยง
  • ดูแลรักษาสุขอนามัยในการขับถ่าย ในการใช้ส้วม
  • ไม่ส่ำส่อนทางเพศ
  • ใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งของการมีเพศสัมพันธ์
  • ดูแลตนเองป้องกันแมลงกัด โดยเฉพาะยุง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง หรือ มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น อ่อนเพลียมากขึ้น อุจจาระเป็นเลือด ปวดท้องมากร่วมกับไม่ผายลม
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก ขึ้นผื่น
    • กังวลในอาการ

(แนะนำอ่านรายละเอียดของโรคติดเชื้อปรสิตชนิดต่างๆที่รวมถึง ‘การดูแลตนเอง’ ได้ในเว็บ haamor.com) เช่น

  • โรคพยาธิตัวตืด
  • โรคไข้จับสั่น
  • โรคหนอนพยาธิของช่องคลอด
  • โรคหิด
  • เหา โลน
  • โรคบิดมีตัว
  • โรคเท้าช้าง

ป้องกันโรคติดเชื้อปรสิตอย่างไร?

การป้องกันโรคติดเชื้อปรสิตที่รวมถึงการป้องกันโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ ให้ได้เต็มร้อยยังเป็นไปไม่ได้ และปัจจุบันย้งไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่มีวิธีป้องกันโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละชนิดของปรสิต ซึ่งทั่วไปจะมีหลักเช่นเดียวกัน คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • มีการสาธารณสุขในชุมชนที่เหมาะสม เช่น มีสุขลักษณะของ ส้วม แหล่งน้ำบริโภคทั้งน้ำกินน้ำใช้ แหล่งน้ำธรรมชาติ การดูแลขยะและปฏิกูลต่างๆ
  • ล้างมือบ่อยๆ ทุกครั้งหลังสัมผัสปฏิกูล, ก่อนปรุงอาหาร, ก่อนกินอาหาร, และหลังเข้าห้องน้ำ
  • ดื่มแต่น้ำสะอาด ระวังการกินน้ำแข็ง
  • ระวังการปนเปื้อนอุจจาระของสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ส่ำส่อนทางเพศ และใช้ถุงยางอนามัยชายเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง
  • รู้จักดูแลตนเองป้องกันแมลงกัดต่อยกรณีอยู่อาศัย/ท่องเที่ยว โดยเฉพาะยุงกัดกรณีอยู่ในท้องถิ่นที่มีไข้จับสั่นเป็นโรคประจำถิ่น

(แนะนำอ่านรายละเอียดของโรคติดเชื้อปรสิตชนิดต่างๆที่รวมถึง ‘วิธีป้องกัน’ ได้ในเว็บ haamor.com) เช่น

  • โรคพยาธิตัวตืด
  • โรคไข้จับสั่น
  • โรคหนอนพยาธิของช่องคลอด
  • โรคหิด
  • เหา โลน
  • โรคบิดมีตัว
  • โรคเท้าช้าง

บรรณานุกรม

  1. Ricciardi. A., and Nadao. M. J Biomol Screening. 2015;20(1):6-21
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Parasitic_disease [2019,June1]
  3. https://www.healthline.com/health/parasitic-infections[2019,June1]
  4. https://www.msdmanuals.com/home/infections/parasitic-infections/overview-of-parasitic-infections[2019,June1]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Parasitic_worm[2019,June1]