โรคติดเชื้อจุลชีพแฝง (Stealth infection)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 18 กันยายน 2561
- Tweet
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
- ไฟโบรมัยอัลเจีย:กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน (Fibromyalgia)
- โรคติดเชื้อไซโตเมกาโลไวรัส โรคติดเชื้อซีเอมวี (Cytomegalovirus infection: CMV infection) แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- โรคติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ โรคติดเชื้ออีบีวี (Epstein-Barr virus infection)
- โรคติดเชื้อไมโคพลาสมา / มัยโคพลาสมา (Mycoplasma infections)
Stealth(สทีลธ) หมายถึง ลับ แฝง อำพราง ปกปิด ซ่อนเล้น ไม่เปิดเผย ส่วน คำว่า Microbe คือ จุลชีพ, และ Pathogen คือ เชื้อโรค
Stealth microbe หรือ Stealth pathogen คำเรียกนี้ ยังไม่มีการบัญญัติศัพท์เฉพาะในภาษาไทย ผู้เขียนจึงขอเรียกเองว่า “จุลชีพแฝง” ซึ่งทางการแพทย์หมายถึงเชื้อจุลชีพ/เชื้อโรคทุกชนิดที่ไม่ใช่เชื้อประจำถิ่น แต่เป็นจุลชีพก่อโรค ชนิดไม่รุนแรง ไม่ทำให้ติดโรคเฉียบพลัน และเชื้อนี้หลุดรอดการตรวจจับของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค(ภูมิคุ้มกันฯ)ของร่างกาย เข้าไปหลบอาศัยในร่างกายได้เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน แล้วค่อยๆทำให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันฯ ที่ส่งผลให้เกิดอาการเรื้อรังต่างๆ ซึ่งทั่วไป มักส่งผลต่อ ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก และระบบประสาท โดยเรียกการติดเชื้อ/โรคติดเชื้อจุลชีพแฝงนี้ว่า “Stealth infection ที่ผู้เขียนเองขอแปลเป็นไทยว่า โรคติดเชื้อจุลชีพแฝง”
สาเหตุ: ปัจจุบัน แพทย์ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจน แน่นอน ในการยืนยันถึงโรคนี้ ที่รวมถึง เชื้อโรค/จุลชีพแฝงที่เป็นต้นเหตุ กลไกการเกิดโรค วิธีวินิจฉัย ตลอดจนการรักษา แต่การศึกษาทางการแพทย์ที่เป็นการศึกษาขนาดเล็ก มีเพิ่มอย่างต่อเนื่องตลอด เวลา ถึงการยืนยันตัวตนของโรคนี้ ซึ่งโรคที่แพทย์เชื่อว่า เป็นโรคในกลุ่มโรคติดเชื้อจุลชีพแฝง เช่น กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อน(Fibromyalgia), โรคข้อรูมาตอยด์, โรคออโตอิมมูน, กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง(CFS), และที่กำลังอยู่ในการศึกษา เช่น โรคพาร์กินสัน , โรคอัลไซเมอร์ , โรคออทิสติก
อนึ่ง เชื้อโรคที่พบอาจก่ออาการโรคนี้ ได้แก่ แบคทีเรีย (เช่น Mycoplama, Helicobacter pylori), เชื้อไวรัส(เช่น EBV, CMV) นอกจากนี้ อาจเป็นจาก สัตว์เซลล์เดียว เชื้อรา หรือ พยาธิต่างๆ ก็ได้
อาการ: อาการของโรคติดเชื้อจุลชีพแฝง ที่พบบ่อย จะเป็นกลุ่มอาการเรื้อรังที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น รู้สึกมีไข้ทุกวัน มักเป็นไข้ต่ำๆ รู้สึกไม่สบายตลอดเวลา นอนไม่หลับ ไม่แจ่มใส เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดข้อ น้ำหนักตัวลด ซึมเศร้า ความจำลดลง หลงลืม ขาดสมาธิ ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน
การวินิจฉัย: ทำได้ยากมาก ต้องเป็นการตรวจด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อค้นหาการติดเชื้อจุลชีพแฝงนี้ ที่วิธีตรวจมีจำกัดเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ รวมถึงต้องมีการตรวจหลายรายการเป็นชุดใหญ่ จึงมีค่าใช้จ่ายในการตรวจที่สูงมาก เช่น การตรวจเลือดทางระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่เรียกว่า Serology tests, การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR (Polymerase chain reaction), การตรวจเลือดดูการทำงานของอวัยวะในระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต เป็นต้น
วิธีรักษา: การรักษาโรคนี้จะเป็นกรณีๆไปตาม อาการและความรุนแรงของอาการ ซึ่งต้องเป็นการรักษาร่วมกันหลายวิธีการ เช่น การใช้ยาตามอาการ (เช่น ยาแก้ปวด ยานอนหลับ), การพักผ่อน, การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ, การปรับพฤติกรรมการบริโภค ต้องเป็นอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ในปริมาณที่ไม่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังชนิดไม่ใช่โรคติดต่อ(โรคเอ็นซีดี) อาจต้องมีวิตามิน เกลือแร่ เสริมอาหาร, จำกัดตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ คือ ความเครียด การอดนอน การพักผ่อนไม่เพียงพอ บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาเฟอีน, การดูแลจากจิตแพทย์, และยังรวมไปถึงใช้การแพทย์สนับสนุน เช่น การฝึกสมาธิ การฝึกเพื่อการผ่อนคลาย การฝึกโยคะ, การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) และบางครั้งเมื่อมีการตรวจพบเชื้อโรคที่แพทย์เชื่อว่าเป็นสาเหตุชัดเจน แพทย์อาจให้ยาฆ่าเชื้อนั้นๆร่วมด้วย เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะกรณีพบเชื้อสาเหตุเป็นแบคทีเรีย เป็นต้น
การพยากรณ์โรค: โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง และการพยากรณ์โรคจะเป็นแต่ละกรณีผู้ป่วย โดยขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น
- อาการผู้ป่วยว่ารุนแรงมากหรือน้อย
- เกิดอาการมานานเท่าไรแล้ว
- เกิดอาการกับอวัยวะใดบ้าง
- อายุ, เพศ
- โรคประจำตัวอื่นๆ
- การร่วมมือในการดูแลตนเองของผู้ป่วย และ
- การตอบสนองของอาการต่อการรักษา
บรรณานุกรม