โรคตา โรคทางตา (Eye disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคตา หรือ โรคของตา หรือ โรคทางตา (Eye disease หรือ Eye disorder หรือ Eye problem) คือ ความผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นกับตา (หลายคนเรียกว่า ดวงตา) และอาจส่งผลถึงการมองเห็นของเราได้

ตา เป็นอวัยวะอยู่บนใบหน้า เป็นอวัยวะคู่ (ซ้าย ขวา) มีหน้าที่สำคัญ คือ การมองเห็น นอกจากนั้น คือ ช่วยสมอง และหูชั้นใน (อ่านเพิ่มเติม ใน กายวิภาคและสรีรวิทยาของหู) ในการทรงตัวของร่างกาย และเป็นส่วนหนึ่งของความสวยงาม

ตาประกอบด้วยเนื้อเยื่อต่างๆหลายชนิด เช่น

  • หนังตา
  • ขนตา
  • เยื่อบุตา
  • กระจกตา
  • แก้วตา
  • จอตา
  • ผนังลูกตาชั้นกลาง
  • และประสาทตา (อ่านเพิ่มเติมใน กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา)

โรคตา เป็นโรคพบบ่อย พบในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยผู้หญิงและผู้ชายพบโรคใกล้เคียงกัน

แพทย์เฉพาะทางที่ให้การรักษาโรคตา โดยเฉพาะโรคตาที่มีสาเหตุ และ/หรือวิธีรักษาที่ซับซ้อน คือ ‘จักษุแพทย์’ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า หมอตา

อนึ่ง องค์การอนามัยโลกประมาณว่า ประชากรทั่วโลกมีปัญหาทางสายตาประมาณ 1.3 พันล้านคน ส่วนใหญ่เป็นปัญหา จากความผิดปกติทางสายตา(เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง)ที่ไม่ได้รับการแก้ไข รักษา และ จากต้อกระจก และได้ชี้ให้เห็นว่า ประมาณ 80%ของโรคทางตาเป็นโรคที่หลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งปัญหาทางการมองเห็นเหล่านี้มักพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

โรคตามีสาเหตุจากอะไร? โรคตาที่พบได้บ่อยมีโรคอะไรบ้าง?

โรคตา

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตา อาจเกิดได้จากสาเหตุเดียว หรือมีหลายสาเหตุร่วมกัน โดยสาเหตุและโรคตาที่พบบ่อย ได้แก่

  • อายุ: อายุที่สูงขึ้น จะพบโรคตาบางชนิดสูงขึ้น ทั้งนี้เกิดเพราะสาเหตุจากการเสื่อมตามธรรมชาติของเนื้อเยื่อต่างๆทั่วร่างกาย ซึ่งรวมถึงเนื้อเยื่อของลูกตา เช่น ภาวะสายตายาวในผู้สูงอายุ (สายตาผู้สูงอายุ), โรคต้อกระจก, โรคต้อหิน, และโรควุ้นตาเสื่อม เป็นต้น
  • การติดเชื้อ: ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคตาแดงจากไวรัส, โรคตากุ้งยิง, โรคริดสีดวงตา
  • จากตาได้รับแสงแดดจัดเรื้อรัง เช่น ผู้มีอาชีพทำงานกลางแจ้ง (เช่น เกษตรกร) ซึ่งโรคตาที่พบได้บ่อยจากสาเหตุนี้ คือ โรคต้อกระจก, โรคต้อเนื้อ/ต้อลม
  • โรคความผิดปกติในการใช้พลังงานของร่างกาย (Metabolic syndrome เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง) เช่น โรคเบาหวานขึ้นตา
  • จากความผิดปกติทางพันธุกรรม: เช่น โรคตาขี้เกียจ โรคตาบอดสี โรค ต้อหิน โรคตาบอดกลางคืน โรคสายตาผิดปกติที่เกิดจากการหักเหของแสงในเด็ก โรคตาเข/ตาเหล่ในเด็ก
  • จากขาดอาหาร: โดยเฉพาะขาดวิตามิน-เอ เช่น โรคตาบอดกลางคืน
  • โรคออโตอิมมูน/ โรคภูมิต้านตนเอง: เช่น โรคพังผืดที่จอตา
  • โรคมะเร็งตา: เช่น โรคตาวาว (โรคมะเร็งตาในเด็ก)
  • อุบัติเหตุต่อตา
  • อื่นๆ: เช่น โรคตาที่มากับคอมพิวเตอร์, สารเคมีเข้าตา, โรคเนื้องอกสมอง มะเร็งสมอง ที่ส่งผลให้เกิด ตาเข/ตาเหล่, หรือจากได้รับแสงสว่างจ้าเรื้อรัง เช่น อาชีพช่างเชื่อมโลหะ

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตา?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตา คือ

  • อายุ: ยิ่งอายุสูงขึ้น โอกาสเกิดโรคทางตาจะสูงขึ้น
  • ตาถูกแสงแดดจัดเรื้อรัง: เช่นในเกษตรกร หรือการมองแสงจ้าตลอดเวลา เช่น ช่างเชื่อมโลหะ
  • ขาดอาหาร :กินอาหารไม่มีประโยชน์ โดยเฉพาะการขาดวิตามิน-เอ
  • พันธุกรรม: เช่น มีคนในครอบครัวเป็นโรคของตา
  • มีโรคเรื้อรังต่างๆ: โดยเฉพาะโรคเบาหวาน
  • สูบบุหรี่: รวมทั้งการได้รับควันบุหรี่เรื้อรัง (Secondhand smoke) โดยพบว่า เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ และโรคต้อกระจก

โรคตามีอาการอย่างไร?

อาการของโรคตา ที่สำคัญ คือ

  • มีความผิดปกติในการมองเห็น: เช่น เห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพมัว เห็นภาพบิดเบี้ยว เห็นภาพแหว่งไม่เต็มภาพ เห็นภาพซ้อน เห็นภาพแคบลงกว่าเดิม เช่น มองเห็นเฉพาะภาพตรงหน้า ไม่สามารถเห็นภาพด้านข้างได้ เห็นคล้ายมีจุด หรือแผ่นดำๆลอยในตา

นอกจากนั้น อาการอื่นๆที่อาจเกิดร่วมด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • ปวดศีรษะเรื้อรัง โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้สายตา ซึ่งมักเป็นอาการจากสายตาผิดปกติจากการหักเหของแสง (สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง) หรือมีเนื้องอกในสมอง
  • ปวดตา: เมื่อมีก้อนเนื้อในตา หรือมีสายตาผิดปกติ
  • มีขี้ตา: เมื่อเกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคริดสีดวงตา หรือมีการระคายเคืองต่อเยื่อบุตา เช่น ภาวะตาแห้ง
  • หนังตาตก: โดยเฉพาะเมื่อหนังตาตกเพียงข้างเดียว อาจเกิดจาก เนื้องอกสมอง, โรคมะเร็งโพรงหลังจมูก
  • ตาเข/ตาเหล่ ที่ไม่ได้เกิดแต่กำเนิด: ซึ่งมักเกิดจาก เนื้องอกสมอง หรือโรคมะเร็งโพรงหลังจมูก
  • อาการจากการอักเสบ เช่น ตาบวม แดง ร้อน อาจร่วมกับมีไข้

แพทย์วินิจฉัยโรคตาได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคตาได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น การสอบถามประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติโรคต่างๆในครอบครัว อายุ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจวัดสายตา
  • การตรวจตา ทั้งจาก
    • การตรวจด้วยตาของแพทย์
    • จากเครื่องตรวจเนื้อเยื่อภายใน ตา ที่เรียกว่า Ophthalmoscope และ/หรือ Slit lamp ซึ่งเป็นการส่องไฟผ่านรูม่านตา และเพื่อให้รูม่านตาขยายเต็มที่ บางครั้งแพทย์จึงหยอดตาด้วยยาขยายรูม่านตาก่อนการตรวจภายในลูกตา
  • นอกจากนั้น อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับ อาการผู้ป่วย ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจเลือด ดูค่าน้ำตาลในเลือด เมื่อสงสัยโรคตาที่มีสาเหตุจากโรคเบาหวาน
    • การตรวจเชื้อ และ/หรือ การเพาะเชื้อจากน้ำตาหรือขี้ตา เมื่อต้องการทราบชนิดของเชื้อที่ทำให้เกิดอาการทางตา
    • การตรวจภาพตาด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ เช่น เมื่อสงสัยเนื้องอก หรือโรคมะเร็งตา และ
    • บางครั้งอาจมีการตัดชิ้นเนื้อจากส่วนที่มีความผิดปกติเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคตาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคตา คือ การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ: ซึ่งจะแตกต่างกันไปขึ้นกับแต่ละสาเหตุ เช่น

  • การใช้แว่นตา หรือ คอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัส แก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติจากการหักเหของแสง เช่น ในสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง
  • การรักษาโรคต้อกระจกด้วยการผ่าตัด (การผ่าตัดสลายต้อกระจก) หรือด้วยการฝังแก้วตาเทียม

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น

  • การใช้ยาแก้ปวด เมื่อมีอาการปวดตา เป็นต้น

โรคตารุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของโรคตา ขึ้นกับสาเหตุ แต่โดยทั่วไปโรคตาเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาได้ ทั้งนี้ โรคที่รุนแรงมักเกิดจากการปล่อยโรคไว้เรื้อรังจนเนื้อเยื่อต่างๆของตา (อ่านเพิ่มเติมใน กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา) โดยเฉพาะจอตาเสียหายเกินกว่าจะฟื้นตัวได้ หรือเป็นโรคเกิดกับประสาทตา หรือโรคเนื้องอก หรือโรคมะเร็งตา

ผลข้างเคียง:

เมื่อเป็นโรคตา ผลข้างเคียงที่สำคัญ คือ

  • การสูญเสียการมองเห็น ซึ่งอาจเกิดเพียงชั่วคราว หรือถาวรตลอดไป อาจเป็นการสูญเสียการมองเห็นชนิดพอมองเห็นบ้าง หรือในลักษณะตาบอดถาวรก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ และการพบแพทย์/จักษุแพทย์ได้ทันการหรือไม่

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อมีความผิดปกติทางตา โดยเฉพาะในการมองเห็น ควรรีบพบจักษุแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

ส่วนเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคตาจากแพทย์แล้ว การดูแลตนเอง เช่น

  • ปฏิบัติตาม แพทย์/จักษุแพทย์ พยาบาล แนะนำ ให้ถูกต้องครบถ้วน
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกมื้ออาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามิน-เอสูง (ผัก ผลไม้ ที่มีสีเขียวเข้ม เหลือง แดง หรือส้ม เช่น ใบตำลึง บรอกโคลี มะละกอสุก มะม่วงสุก แคนตาลูป นม ไข่ ตับ และอาหารเช้า ซีเรียล /Cereal ที่มีการเสริมวิตามิน-เอ)
  • รู้จักพักใช้สายตาเมื่อต้องใช้สายตามาก ตามแพทย์/จักษุแพทย์ พยาบาลแนะนำ เช่น ในการใช้งานคอมพิวเตอร์
  • ไม่ขยี้ตา
  • สวมใส่แว่นกันแดด ชนิดที่ป้องกันแสงยูวี (แสงแดด) ได้อย่างน้อย 90% เมื่อต้องออกนอกบ้าน หรือออกแดดเสมอ เพื่อป้องกันตาจาก แสงแดด และฝุ่นละออง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ป้องกันตาติดเชื้อ
  • ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
  • เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งสูบบุหรี่มือสอง เพราะสารพิษในบุหรี่จะส่งผลให้เกิดโรคของหลอดเลือด ซึ่งรวมถึงหลอดเลือดของตาด้วย
  • พบแพทย์/จักษุแพทย์ตามนัดเสมอ
  • พบแพทย์/จักษุแพทย์ก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ตามัวมากขึ้น ปวดตามากขึ้น
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิมโดยเฉพาะในการเห็นภาพ เช่น มองเห็นภาพไม่ชัด หรือรูปร่างวัตุที่เห็นบิดเบี้ยว ตาแดง มีขี้ตา
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เคืองตามาก หรือตาแดงมากขึ้นหลังใช้ยาหยอดตา หรือ วิงเวียนศีรษะมาก
    • กังวลในอาการ

มีการตรวจคัดกรองโรคตาไหม?

สมาคมที่เกี่ยวข้องโรคตาแห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Ophthalmology, AOA) แนะนำให้คนปกติทั่วไป พบจักษุแพทย์เพื่อการตรวจคัดกรองโรคตาเมื่อ

  • ในคนทั่วไป:
    • ควรเริ่มตรวจคัดกรองตา ในอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
    • ต่อจากนั้นให้ตรวจคัดกรองทุก 1-2 ปี หรือตามจักษุแพทย์แนะนำ
    • เมื่ออายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ควรพบจักษุแพทย์ตรวจตาทุก 1-2 ปี หรือตามแพทย์แนะนำ
  • ส่วนในคนที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีโรคตา ควรพบจักษุแพทย์ตั้งแต่เมื่อเริ่มทราบว่ามีปัจจัยเสี่ยง

อนึ่ง: ในเด็ก

  • โดยทั่วไป ในเด็กแรกเกิดเมื่อคลอดที่โรงพยาบาล แพทย์จะตรวจตาเด็ก ซึ่งเป็นการตรวจในเบื้องต้น ซึ่งถ้าครอบครัวมีประวัติโรคทางตา แพทย์จะให้คำแนะนำ และนัดตรวจเด็ก เป็นระยะๆ
  • ในเด็กทั่วไป ที่ได้รับการตรวจสุขภาพกับแพทย์ต่อเนื่องเป็นประจำ แพทย์จะตรวจตาทั่วไปให้อยู่แล้ว ซึ่งถ้าพบความผิดปกติ แพทย์จะแนะนำให้นำเด็กพบจักษุแพทย์
  • ผู้ปกครองควรต้องคอยสังเกตการณ์มองเห็นของเด็ก ถ้าสังเกตเห็นความผิดปกติ ควรรีบนำเด็กพบจักษุแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เพราะการแก้ปัญหาต่างๆทางตาจะได้ผลดีกว่าเมื่อเริ่มรักษาแต่เนิ่นๆ
  • *อาการผิดปกติในเด็กทั่วไปที่มักเกิดจากโรคตา และผู้ปกครองควรรีบนำเด็กพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เช่น
    • ขยี้ตาบ่อยโดยไม่มีสาเหตุ
    • ตาแดงเป็นประจำ
    • มีตาไวต่อแสง/ ตากลัวแสงเสมอ
    • ตามองตามวัตถุไม่ได้
    • หลังเด็กอายุ6เดือนไปแล้ว ลูกตามีการเคลื่อนไหวผิดปกติ
    • ตาวาว/รูม่านตาเป็นสีขาว/ตาวาวคล้ายตาแมว
    • ตาเข/ตาเหล่
  • อาการผิดปกติเพิ่มเติม กรณีเมื่อเด็กเข้าโรงเรียนแล้ว เช่น
    • มองภาพในหนังสือไม่ชัด
    • มองภาพไกลๆไม่ชัด เช่น มองภาพจากกระดานดำไม่ชัด
    • เกิดตาเหล่/ตาเข
    • ชอบนั่งติดหน้าจอทีวี

ป้องกันโรคตาได้อย่างไร?

การป้องกันโรคตา ที่สำคัญ คือ ป้องกัน หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อปัจจัยเสี่ยงฯ’ ที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น

  • การติดเชื้อที่ตา
  • การถูกแสงแดดจัดเรื้อรัง
  • การขาดอาหาร
  • การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ต่างๆก่อนวัย และ
  • การป้องกัน รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ทั้งนี้โดย
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
    • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
    • ป้องกัน โรคอ้วน, โรคเบาหวาน, โรคไขมันในเลือดสูง, และโรคความดันโลหิตสูง
    • ระมัดระวัง ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุต่อตา เช่น การสวมหมวกนิรภัย หรือ การใส่แว่นตา ตามอาชีพ เป็นต้น
    • เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่เรื้อรัง (สูบบุหรี่มือสอง)

บรรณานุกรม

  1. https://www.aao.org/eye-health/tips-prevention/eye-exams-101 [2019,April20]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Eye_disease [2019,April20]
  3. https://www.rnib.org.uk/eye-health/looking-after-your-eyes/smoking-and-sight-loss [2019,April20]
  4. https://aapos.org/terms/conditions/107 [2019,April20]
  5. https://kidshealth.org/en/parents/vision.html# [2019,April20]
  6. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/blindness-and-visual-impairment [2019,April20]