โรคซีไอดีพี โรคเส้นประสาทอักเสบเรื้อรัง (CIDP: Chronic inflammatory demyelinating polyradiculoneuropahty)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 11 มิถุนายน 2557
- Tweet
- บทนำ
- โรคเส้นประสาทอักเสบคืออะไร? มีกี่ระยะ?
- โรคซีไอดีพีมีสาเหตุจากอะไร? พบได้บ่อยไหม?
- ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคซีไอดีพี?
- โรคซีไอดีพีมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อใด?
- แพทย์วินิจฉัยโรคซีไอดีพีอย่างไร?
- โรคหรือภาวะใดที่มีลักษณะคล้ายโรคซีไอดีพี?
- รักษาโรคซีไอดีพีอย่างไร?
- โรคซีไอดีพีมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- โรคซีไอดีพีก่อภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
- ป้องกันโรคซีไอดีพีอย่างไร?
- โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน (Diabetic Neuropathy)
- กลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร โรคจีบีเอส (Guillan Barre syndrome: GBS)
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุติดเชื้อเอชไอวี (Neurologic Complications of HIV Infection)
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอี (Neurologic Complication of SLE)
- โรคพุ่มพวง / โรคลูปัส (Lupus)/ โรคเอสแอลอี (SLE)
- มะเร็ง (Cancer)
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- เอดส์ (AIDS)
บทนำ
อาการชาและอ่อนแรงของแขนขา เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ก่อให้เกิดความพิการถ้าผู้ป่วยมารับการรักษาล่าช้าหรือได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม การอักเสบของเส้นประสาทเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการชาและอ่อนแรงของแขนขา สาเหตุเกิดจากอะไร ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติอย่างไร ต้องรีบพบแพทย์หรือไม่ รักษาอย่างไร จะหายดีหรือไม่ ลองติดตามบทความนี้ครับ
โรคเส้นประสาทอักเสบคืออะไร? มีกี่ระยะ?
โรคเส้นประสาทอักเสบ คือ โรคที่เกิดการอักเสบของเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve) โดยมีการอักเสบทั้งส่วนของปลอกหุ้มเส้นประสาท/ปลอกประสาท (Myelin sheath) และ/หรือ แกนกลางเส้นประสาท/แอกซอน(Axon) ส่งผลให้การนำกระแสไฟฟ้าของเส้นประ สาทส่วนปลายเสียไป จึงส่งผลให้มีอาการผิดปกติ มีอาการชาและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ
โรคเส้นประสาทอักเสบประกอบด้วย 2 ระยะ คือ
- โรคเส้นประสาทอักเสบแบบระยะเฉียบพลัน (Acute inflammatory demyelinating polyradiculoneurophaty: AIDP หรือ เอไอดีพี) หรือ Guillain Barre’syndrome (GBS: โรคจีบีเอส) โดยโรคนี้มีระยะเวลาการดำเนินโรคภายในเวลาไม่เกิน 6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มักภายใน 2 สัปดาห์ โดยในบทความนี้จะไม่กล่าวถึงโรคในระยะนี้ แต่ได้แยกเขียนเป็นอีกบทความต่างหาก อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร โรคจีบีเอส
- โรคเส้นประสาทอักเสบแบบระยะเรื้อรัง (Chronic inflammatory demyelinating polyradiculoneuropahty หรือ Chronic inflammatory demyelinating polyneuropathy: CIDP หรือ โรคซีไอดีพี) โดยมีระยะเวลาการดำเนินโรคนานมากกว่า 6 - 8 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะโรคเส้นประสาทอักเสบระยะเรื้อรังนี้เท่านั้น
โรคซีไอดีพีมีสาเหตุจากอะไร? พบได้บ่อยไหม?
โรคซีไอดีพี พบได้ไม่บ่อย ประมาณ 1 - 2 รายต่อประชากร 100,000 คน และถ้าเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไปพบได้ประมาณ 7 รายต่อประชากร 100,000 คน
สาเหตุของโรคซีไอดีพี เกิดจากความผิดปกติทางระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่าง กาย ที่มีการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ แล้วภูมิคุ้มกันฯที่ผิดปกตินั้นมาทำลายเส้นประ สาทในส่วนของปลอกเยื่อหุ้มเส้นประสาท/ปลอกประสาทเป็นหลัก
ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคซีไอดีพี ?
โรคซีไอดี พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง ผู้สูงอายุพบได้บ่อยกว่าคนอายุน้อย และผู้ที่พบเป็นโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป คือ ผู้ที่มีโรคเบาหวาน, โรคที่มีความผิดปกติของโปรตีนในเลือด, โรคมะเร็ง, โรคเอชไอวี, ผู้หญิงตั้งครรภ์ แต่ยังไม่มีข้อมูลการถ่ายทอดโรคนี้ทางพันธุกรรม
โรคซีไอดีพีมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคซีไอดีพี ประกอบด้วย
- อาการระบบความรู้สึกผิดปกติ ได้แก่ ชา เจ็บ เสียวแปล๊บ เหมือนมีแมลงหรือมดไต่บริเวณมือ แขน เท้า ขา
- อาการระบบกล้ามเนื้อผิดปกติ ได้แก่ กล้ามเนื้ออ่อนแรงของมือ เท้า แขน ขา ทั้งส่วนต้นและ/หรือส่วนปลายของแขนขา ทั้ง 2 ข้าง
- อาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น มึนงงศีรษะ วิงเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่าทาง ระบบขับถ่ายผิดปกติ รวมทั้งการเต้นของหัวใจก็อาจผิดปกติได้
- อาการผิดปกติของเส้นประสาทสมอง เช่น ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท หรือมองเห็นภาพซ้อน (แต่พบได้ไม่บ่อย)
- อาการเดินผิดปกติเนื่องจากมีอาการอ่อนแรงและเสียความรู้สึกของ เท้า ขา ทำให้เดินลำบาก หรือเดินเซ
ควรพบแพทย์เมื่อใด?
ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ที่เป็นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และ/หรืออาการเป็นนานมากกว่า 1 - 2 สัปดาห์ และเป็นอาการที่ไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ควรพบแพทย์/ไปโรงพยา บาลเสมอ เพื่อให้การดูแลและวินิจฉัยโรคต่อไป (แต่ถ้ามีอาการแขน ขาอ่อนแรงเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที)
แพทย์วินิจฉัยโรคซีไอดีพีอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคซีไอดีพีได้จาก ลักษณะอาการทางคลินิกที่กล่าวในหัวข้อ อาการ เช่น อาการชา อาการอ่อนแรงของแขน ขา มือ เท้าทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับ การตรวจร่างกาย การตรวจร่างกายทางระบบประสาท พบความผิดปกติดังกล่าว เช่น พบมีอาการชาและอ่อนแรงของแขนขาจริง ตรวจรีเฟล็กซ์ (Reflex) จะพบว่า ผิดปกติทั้งแขนและขาทั้งสองข้าง ซึ่งอาการต่างๆดัง กล่าวจะค่อยๆเป็นมากขึ้น ใช้เวลาในการดำเนินโรคนานมากกว่า 6 สัปดาห์
หลังจากได้ทราบประวัติทางการแพทย์และจากการตรวจร่างกาย แพทย์ก็จะพิจารณาส่งตรวจกระแสไฟฟ้าของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ (การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ) การส่งตรวจเลือดดูค่าโปรตีนและสารต่างๆ และเจาะตรวจหาความผิดปกติของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (การเจาะหลัง)
ก. การตรวจกระแสไฟฟ้าของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ จะสามารถบอกแยกได้ว่า ผู้ ป่วยมีความผิดปกติของเส้นประสาทหรือของกล้ามเนื้อ ซึ่งถ้าเป็นโรคซีไอดีพี ก็จะตรวจพบว่ามีความผิดปกติของเส้นประสาทเป็นหลัก และสามารถบอกได้ว่าเป็นความผิดปกติของปลอกเยื่อหุ้มเส้นประสาท/ปลอกประสาท (Myelin sheath) หรือ แกนหลักของเส้นประสาท/แอกซอน (Axon) โดยไม่พบความผิดปกติของกล้ามเนื้อ
ข. การตรวจเลือด มีวัตถุประสงค์หลัก คือ
- ตรวจหาสาเหตุของโรคซีไอดีพี เช่น ตรวจหาเชื้อเอชไอวี, โรคเอสแอลอี, ความผิดปกติของโปรตีน, โรคเบาหวาน
- ตรวจหาโรคร่วมอื่นๆซึ่งต้องระวัง เมื่อมีการใช้ยารักษาโรคซีไอดีพี เช่น โรคเบาหวาน, โรคไต, โรคตับ, โรควัณโรค, ภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
ค. การตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (การเจาะหลัง) มีความสำคัญมากเพราะเป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งของการวินิจฉัย คือ จะตรวจพบลักษณะเซลล์เม็ดเลือดขาวจำนวนไม่สูง และพบโปรตีนมีระดับสูงขึ้น
ง. การวินิจฉัยโรคซีไอดีพี ไม่จำเป็นต้องตรวจเอมอาร์ไอระบบประสาท ยกเว้นแพทย์จะมีวินิจฉัยแยกโรคที่คิดว่าเกิดจากการกดทับของเส้นประสาทจึงจะส่งตรวจ
โรคหรือภาวะใดที่มีลักษณะคล้ายโรคซีไอดีพี?
โรคหรือภาวะที่มีลักษณะคล้ายกันและจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคออกจากโรคซีไอดีพี คือ
- โรคเส้นประสาทเหตุเบาหวาน
- โรคจีบีเอส (Gullanin Barre’ syndrome) ที่ไม่หาย
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุติดเชื้อเอชไอวี
- โรคเส้นประสาทอักเสบเหตุความผิดปกติของโปรตีนในเลือด
- โรคเส้นประสาทอักเสบสาเหตุจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือโรคมะเร็งชนิดต่างๆ
- โรคเส้นประสาทอักเสบเหตุไตวาย
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทเหตุเอสแอลอี
รักษาโรคซีไอดีพีอย่างไร?
การรักษาโรคซีไอดีพีประกอบด้วย
- การใช้ยาสเตียรอยด์ เช่น เพร็ดนิโซโลน (Prednisolone) ขนาดสูงเป็นระยะเวลาหลายเดือน ขึ้นกับผลการตอบสนองต่อการรักษา
- การใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค ร่วมกับยาเพร็ดนิโซโลนขนาดสูง
- การใช้ยาที่เป็นสารภูมิต้านทานโรค ที่เรียกว่าอิมมูโนกลอบบลูลิน (Immunoglobulin )
- การฟอกเลือด (Plasma exchange) การฟอกเลือดมีวัตถุประสงค์เพื่อนำภูมิต้านทานที่ผิดปกตินั้นออกจากร่างกาย ใช้รักษากรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ หรือยากดภูมิคุ้มกันฯ
- การทำกายภาพบำบัด
โรคซีไอดีพีมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคหรือผลการรักษาโรคซีไอดีพี อยู่ในเกณฑ์ดีในระดับหนึ่ง ประมาณ 60 -75% ตอบสนองต่อการรักษาและได้ผลดี ส่วนที่เหลือต้องใช้ยาหลายชนิดในการรักษาร่วมกับการทำกายภาพบำบัด
ผู้ป่วยกลุ่มที่ตอบสนองต่อการรักษาดีนั้น มีโอกาสรักษาหายเป็นปกติได้มากกว่า 50% ผู้ที่ไม่หายดีอาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อเล็กน้อย
ส่วนผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษานั้น จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการให้ยากดภูมิคุ้มกันฯและการฟอกเลือด หรือการให้ยาอิมมูโนกลอบบลูลิน ซึ่งก็ให้ผลการรักษาที่ไม่ดีนัก และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการรักษา ขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ ความรุนแรงของโรค, โรคร่วมที่พบด้วย เพราะจะเป็นตัวจำกัดวิธีการรักษา เช่น เป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย การให้ยาสเตีย รอยด์ก็จะให้ได้ลำบาก เพราะทำให้มีระดับน้ำตาลที่สูงขึ้น และโรคเบาหวานเองก็มีผลเสียต่อเส้นประสาทอยู่แล้วด้วย, และผู้ที่มีอายุมากก็ตอบสนองต่อการรักษาที่ไม่ดี
อนึ่ง ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีโอกาสเป็นซ้ำได้ คือประมาณ 10% ของผู้ป่วยทั้งหมด กรณีที่เป็นซ้ำนั้นผลการรักษาก็ไม่ดี และยังไม่ทราบแน่ชัดถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคเกิดเป็นซ้ำ
โรคซีไอดีพีก่อภาวะแทรกซ้อนอย่างไร?
ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยของโรคซีไอพีดี คือ อาการอ่อนแรงที่ไม่หายเป็นปกติ ส่งผลให้เดินไม่สะดวก กล้ามเนื้อลีบ และอาการปวดเหตุจากเส้นประสาทอักเสบ
ดูแลตนเองอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคซีไอดีพี ประกอบด้วย
- การทานยาต่างๆตามที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ตรงเวลา และหมั่นสังเกตว่ามีผลแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากยาหรือไม่ เช่น อาการของโรคเบาหวาน, การติดเชื้อ, ปวดท้อง, อุจจาระเป็นเลือด
- หมั่นออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูกำลังของกล้ามเนื้อ
- ทำกายภาพบำบัด ตามแพทย์ นักกายภาพ และพยาบาลผู้ดูแลแนะนำ
- พบแพทย์ตามนัด
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อใด?
ควรพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อ
- มีอาการทรุดลง เช่น ชา หรือปวดมากขึ้น อ่อนแรงมากขึ้น
- มีผลแทรกซ้อนจากการรักษา เช่น ไข้สูง อุจจาระเป็นเลือด ปัสสาวะบ่อยกลางคืน และ/หรือสงสัยเป็นเบาหวาน
- กังวลในอาการ
ป้องกันโรคซีไอดีพีอย่างไร?
โรคซีไอดีพีไม่สามารถป้องกันได้ แต่ถ้าท่านเริ่มมีอาการผิดปกติ เช่น รูสึกชา แขน ขา หรืออ่อนแรงเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรืออาการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ก็ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่แรกเริ่มมีอาการ ซึ่งจะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น