โรคช่องปาก หรือ โรคของช่องปาก (Oral disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคช่องปาก หรือ โรคของช่องปาก(Oral disease)คือ โรค/ภาวะผิดปกติที่เกิดกับเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆของช่องปากจนส่งผลให้อวัยวะต่างๆในช่องปากทำงานที่ผิดปกติ และ/หรือมีอาการผิดปกติต่างๆจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากและร่างกาย เช่น แผลในช่องปาก(เช่น แผลร้อนใน), ช่องปากอักเสบ เช่น ลิ้นอักเสบ, เหงือกอักเสบ, ฟันผุ, เจ็บ, อวัยวะในช่องปากบวม

ทั้งนี้โรคต่างๆของช่องปากจะเช่นเดียวกับโรคต่างๆของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ทั่วไปได้แก่

  • โรคติดเชื้อ หรือ ภาวะติดเชื้อ ที่ส่วนใหญ่เกิดจาก เชื้อแบคทีเรีย, เชื้อไวรัส (โรคติดเชื้อไวรัส), และ/หรือเชื้อรา( โรคเชื้อรา)
  • ความพิการแต่กำเนิด และ/หรือทางพันธุกรรม เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่
  • โรคจากความเสื่อมของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆของช่องปากตามอายุที่มากขึ้น เช่น ปากคอแห้ง, โรคเหงือก, โรคฟัน
  • อุบัติเหตุต่อช่องปาก เช่น กระดูกกรามหักจากอุบัติเหตุต่างๆที่ใบหน้า
  • โรคเนื้องอก ซึ่งพบเนื้องอกช่องปากได้น้อย
  • โรคมะเร็ง: มะเร็งช่องปากจัดเป็นมะเร็งพบบ่อย มักพบในประเทศยากจน และ คนที่ขาดสุขอนามัยของช่องปาก

อนึ่ง ชื่อภาษาอังกฤษอื่นของโรคช่องปาก คือ Oral disorder, Oral problem, Mouth disease, Mouth disorder, Mouth problem

ช่องปาก (Oral cavity หรือ Mouth) เป็นคำเรียกรวมของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆในช่องปากซึ่งเกิดมาจากเนื้อเยื่อที่คล้ายคลึงกัน และเมื่อเกิดโรคต่างๆจะก่อให้เกิดอาการคล้ายคลึงกันเช่นกัน รวมทั้ง วิธีวินิจฉัยโรค, การรักษา, และความรุนแรงของโรค

ช่องปาก เป็นเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่ในระบบศีรษะและลำคอ โดยอวัยวะ/เนื้อเยื่อของช่องปากประกอบด้วย ริมฝีปาก, กระพุ้งแก้ม, เหงือก, ฟัน, เพดาน, ลิ้น, และเนื้อเยื่อรอบๆลิ้นที่รวมถึงเนื้อเยื่อใต้ลิ้นที่เรียกว่า ‘เนื้อเยื่อพื้นปาก (Floor of mouth)’ ซึ่งช่องปากสามารถ อม/บรรจุอาหาร/น้ำดื่มได้เฉลี่ย ประมาณ 71.2 มิลลิลิตร(มล.)ในผู้ชาย ส่วนในผู้หญิงเฉลี่ยประมาณ 55.4 มล.

หน้าที่หลักของช่องปาก ได้แก่

  • รับรสชาติ
  • ช่วยย่อยอาหาร/เคี้ยวอาหาร
  • ช่วยในการกลืน
  • ช่วยในการหายใจ
  • ช่วยการออกเสียงต่างๆ เช่น การพูด การร้องเพลง
  • ใช้แสดงอารมณ์
  • และเป็นส่วนหนึ่งของความสวยงาม

โรคของช่องปาก เป็นโรคพบบ่อย พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบทุกเพศ ทุกวัยตั้งแต่ทารกในครรภ์ไปจนถึงผู้สูงอายุ โรคที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคฟัน, และโรคเหงือก โดยมีรายงานจากองค์การอนามัยโลก พบว่า ทั่วโลก

  • เด็ก 60%-90% มีฟันผุอย่างน้อย 1จุด
  • เกือบ100% ของผู้ใหญ่ มีฟันผุ 1 จุด
  • 15%-20%ของผู้ใหญ่อายุ 35-44ปี เป็นโรคเหงือกชนิดที่รุนแรง
  • ประมาณ 30%ของประชากรโลกที่อายุ 65-74 ปี มีฟันธรรมชาติหลุด/หักไปหมดแล้ว
  • พบมะเร็งช่องปากได้ 1-10รายต่อประชากร 1 แสนคน
  • โรคของช่องปากมักพบในคนด้อยโอกาส และมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี

ช่องปากเป็นโรคอะไรได้บ้าง?มีสาเหตุจากอะไร?

โรคช่องปากหรือโรคของช่องปาก

โรคต่างๆของช่องปากจะเช่นเดียวกับโรคต่างๆของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย สาเหตุที่ทำให้เกิด และที่พบบ่อย คือจาก

  • ภาวะขาดอาหาร(ทุพโภชนา)
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มสุรา
  • การไม่รักษาความสะอาดของช่องปาก หรือดูแลรักษาช่องปากไม่ถูกวิธี
  • มีภาวะติดเชื้อ ในช่องปาก: เป็นสาเหตุที่พบบ่อย ส่วนใหญ่จาก เชื้อแบคทีเรีย, เชื้อไวรัส(โรคติดเชื้อไวรัส), และ/หรือเชื้อรา (โรคเชื้อรา) ซึ่งที่พบบ่อยคือ
    • ฟันผุ
    • เหงือกอักเสบ
    • เชื้อราช่องปาก
    • ลิ้นอักเสบ
  • ความพิการแต่กำเนิด และ/หรือ โรคทางพันธุกรรม: ที่พบบ่อย คือ
    • ปากแหว่ง เพดานโหว่
  • โรคจากความเสื่อมของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆของช่องปากตามอายุที่มากขึ้น ที่พบบ่อย เช่น
    • ปากคอแห้ง จากเซลล์ต่อมน้ำลายขนาดเล็กๆที่อยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆของช่องปากเสื่อม จึงสร้างน้ำลายได้น้อยลง
    • ภาวะเหงือกร่น ที่ส่งผลให้เห็นรากฟัน ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดอาการ เสียวฟัน ฟันโยกง่าย และเกิดโรคของรากฟันได้ง่าย
    • ฟันหัก/ฟันโยกหลุด
    • โรคปริทันต์
  • โรคกรดไหลย้อนที่รุนแรงที่กรดไหลย้อนขึ้นมาถึงช่องปาก กรดจึงทำลายเยื่อบุช่องปากรวมถึงฟัน ส่งผลให้ช่องปากอักเสบ เหงือกอักเสบ ฟันผุ ง่าย
  • โรคออโตอิมมูน เช่น
    • ผื่นแดงอักเสบเรื้อรังในช่องปากในโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี (SLE)
    • ผื่นแผลแตกของริมฝีปาก/ช่องปาก กรณีปากคอแห้งมากจากโรค กลุ่มอาการโจเกรน
  • อุบัติเหตุต่อช่องปาก: เป็นสาเหตุพบบ่อยเช่นกัน เช่น กระดูกกรามหักจากอุบัติเหตุต่างๆที่ใบหน้า
  • อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาบางชนิด: เช่น
    • ปากคอแห้ง: เช่นจากยา กลุ่ม Beta blocker, ยาแก้แพ้, ยาลดน้ำมูก, ฯลฯ
    • ริมฝีปาก ลิ้น บวม อาจร่วมกับมีแผล หรือตุ่มน้ำ ที่อาจเกิดจากการแพ้ยาต่างๆ: เช่น ยาปฏิชีวนะ, ยากันชักยาต้านชัก, ยาเบาหวาน, ยาต้านเชื้อรา ฯลฯ
    • ช่องปากเป็นแผล: เช่น ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด เป็นต้น
    • สีเยื่อบุผิวต่างๆของ ริมฝีปาก ช่องปาก เข็มขึ้น: เช่นจาก ยาต้านเอชไอวี, ยาต้านเชื้อรา, ยาปฏิชีวนะบางชนิด
    • เหงือกบวม: เช่นจาก ยากดภูมิต้านทาน, ยากันชักยาต้านชัก, ยากลุ่ม Calcium channel blocker
    • กระดูกกรามผุกร่อน เช่นยา Bisphosphonate
  • โรคเนื้องอก: ทั่วไป พบได้น้อย
  • โรคมะเร็ง: พบได้ทั้งชนิด มะเร็งคาร์ซิโนมา และ มะเร็งซาร์โคมา แต่เกือบทั้งหมดเป็นมะเร็งคาร์ซิโนมาที่ทั่วไปเรียกว่า ‘มะเร็งช่องปาก’ ซึ่งมะเร็งช่องปาก เป็นมะเร็งพบบ่อยทั่วโลก โดยรายงานในประเทศไทยปี พ.ศ. 2558 เป็นมะเร็งพบบ่อยลำดับที่ 7 ของชายไทย แต่ไม่ติด10ลำดับในเพศหญิง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมโรคมะเร็งนี้ในเว็บ haamor.com ในเรื่อง
    • มะเร็งช่องปาก
    • มะเร็งลิ้น
    • มะเร็งพื้นปาก
    • มะเร็งแก้ม
    • มะเร็งเพดานแข็ง
    • มะเร็งริมฝีปาก
    • มะเร็งเหงือก
  • ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีรักษาในมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ)
  • ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด

*แนะนำอ่านรายละเอียดของแต่ละโรค/ภาวะ ได้จากแต่ละบทความต่างๆเหล่านั้น ในเว็บ haamor.com

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคของช่องปาก?

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคช่องปาก ได้แก่

  • ขาดการดูแลช่องปาก/ขาดสุขอนามัยของช่องปาก: การดูแลรักษาสุขภาพช่องปากที่สำคัญคือ
    • แปรงฟันให้ถูกวิธีวันละ 2ครั้งเมื่อ ตื่นนอนเช้า และก่อนเข้านอน
    • รู้จักใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยหลังอาหารมื้อหนัก และก่อนการแปรงฟันทุกครั้งโดยเฉพาะก่อนเข้านอน
    • พบทันตแพทย์ตรวจช่องปากทุก6-12เดือน หรือตามทันตแพทย์แนะนำ
  • กินอาหารไม่มีประโยชน์: เซลล์/เนื้อเยื่อช่องปากจึงผิดปกติและเสื่อมได้ง่าย ทั้งนี้ อาหารมีประโยชน์คือ อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ที่ควรกินให้ครบถ้วนในทุกมื้ออาหาร หรืออย่างน้อยในทุกๆวัน
  • สูบบุหรี่: สารนิโคตินและสารน้ำมันดิน(Tars)ในควันบุหรี่ จะส่งผลให้ฟันมีสีเหลืองเข็ม และเกิดคราบหินปูนที่เหงือก/ฟันสูง และที่สำคัญ เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงเกิด มะเร็งช่องปาก
  • ดื่มสุรา: แอลกอฮอล์จากสุรา จะส่งผลให้เกิดโรค/การอักเสบ/การเสื่อมต่อเนื้อเยื่อทุกชนิดของช่องปาก รวมถึงทำให้เกิดคราบหินปูนสูง และที่สำคัญ เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งช่องปาก โดยเฉพาะเมื่อดื่มสุราร่วมกับสูบบุหรี่
  • กินอาหารหวาน/น้ำตาล: ที่รวมถึง เครื่องดื่ม อาหารว่าง ทอฟฟี่ ลูกอม ขนม แบบกินจุบกินจิบ เพราะ
    • น้ำตาลช่วยเพิ่มจำนวนแบคทีเรียหลายชนิดในช่องปาก ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้จะสร้างกรดที่เป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดฟันผุ
    • อาหารมีน้ำตาลสูงยังช่วยให้แบคทีเรียในช่องปากสะสมสร้างคราบหินปูนที่ โคนฟันได้มากขึ้น
  • โรคเบาหวาน: เพราะจะมีการอักเสบของเซลล์ทุกชนิดของช่องปาก นอกจากนั้น จะมีผลต่อต่อมน้ำลายที่ทำให้เกิดภาวะน้ำลายน้อย/ปากคอแห้ง ส่งผลให้แบคทีเรียในช่องปากเจริญได้ดี และเกิดหินปูนในช่องปาก/ฟันได้ง่าย
  • โรคกรดไหลย้อนที่ควบคุมรักษาได้ไม่ดี

โรคของช่องปากมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคในช่องปากมีหลากหลายอาการ เช่น

ก. อาการที่เกิดขึ้นกับตัวช่องปากเอง: ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดครบทุกอาการ ที่พบบ่อย ได้แก่

  • มีแผลที่เกิดเฉียบพลัน เช่น แผลร้อนใน, แผลจากฟันขบ, หรือแผลเรื้อรัง เช่น แผลมะเร็ง
  • มีตุ่มน้ำใส
  • เนื้อเยื่อ /อวัยวะช่องปากมีสีคล้ำ หรือแดง ทั่วช่องปาก หรือเป็นตำแหน่งๆไป อาจเจ็บหรือไม่ก็ได้
  • เจ็บ แสบ ในช่องปาก หรือที่รอยโรคต่างๆ
  • อ้าปากได้เล็กลงจากอาการเจ็บ
  • ปากคอแห้ง
  • มีกลิ่นปาก
  • ปวดฟัน
  • เยื่อช่องปากเปลี่ยนเป็น สีแดง เจ็บ แสบ บวม
  • มีเลือดออกตามไรฟัน เหงือก โดยเฉพาะขณะแปรงฟัน เช่นใน โรคเลือด, โรคลักปิดลักเปิด
  • ช่องปาก/ริมฝีปากซีด เช่น ในภาวะโลหิตจาง/ โรคซีด
  • ช่องปาก โดยเฉพาะริมฝีปาก เขียวคล้ำ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคหัวใจแต่กำเนิด, โรคหืดเรื้อรัง, สูบบุหรี่จัด
  • เกิดมี ฝ้าขาว และ/หรือ ฝ้าแดง ที่เป็นอาการเริ่มต้นของมะเร็งช่องปาก
  • มีก้อนเนื้อผิดปกติในช่องปาก

ข. อาการจากโรคที่เป็นสาเหตุ: ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วยตามแต่ละสาเหตุ ทั้งนี้ แนะนำอ่านรายละเอียดของแต่ละโรคที่เป็นสาเหตุได้ในเว็บ haamor.com เช่น

  • อาการของโรคเบาหวาน
  • อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • อาการของโรคกรดไหลย้อน
  • อาการของโรคออโตอิมมูน

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้ออาการ ฯ’ ที่อาการไม่ดีขึ้น หรืออาการเลวลงหลังการดูแลตนเองในระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ โดยเฉพาะเมื่อพบเป็นแผลเรื้อรัง หรือเป็นก้อนเนื้อ ทั้งนี้เพื่อ แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโดยเฉพาะเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งช่องปาก โดยเฉพาะเมื่อ สูบบุหรี่ ดื่มสุรา กินหมาก อมเมี่ยง ต่อเนื่อง

แพทย์วินิจฉัยโรคของช่องปากได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคของช่องปากได้จาก

  • การสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ประวัติการคลอด การบริโภคอาหาร สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ประวัติโรคประจำตัว อุบัติเหตุ การรักษาโรคต่างๆที่รวมถึงการใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจดูในช่องปาก การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ
  • การสืบค้น ต่างๆเพิ่มเติม ตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจเลือด ดูค่าต่างๆ เช่น เม็ดเลือดต่างๆ/ CBC, ระดับน้ำตาลในเลือด(ดูโรคเบาหวาน)
    • การตรวจเชื้อ อาจร่วมกับการเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่งในช่องปาก และของรอยโรคในช่องปาก
    • การตัดชิ้นเนื้อที่รอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
    • การเอกซเรย์ช่องปาก ดู ฟัน กระดูกกราม
    • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน) หรือ เอมอาร์ไอ ภาพช่องปาก เพื่อวินิจฉัยรอยโรค และเพื่อดูการลุกลามของรอยโรคต่างๆ

มีแนวทางรักษาโรคของช่องปากอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคของช่องปาก คือ การรักษาสาเหตุ และ การรักษาประคับประคองตามอาการ (การรักษาตามอาการ)

ก. การรักษาสาเหตุ: จะแตกต่างกันตามแต่ละสาเหตุ แนะนำอ่านรายละเอียดของแต่ละโรค/ภาวะ ได้จากแต่ละบทความต่างๆเหล่านั้น ได้ในเว็บ haamor.com เช่น

  • แผลร้อนใน
  • ฝ้าขาว-ฝ้าแดง
  • ฟันผุ
  • เหงือกอักเสบ
  • มะเร็งช่องปาก

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น

  • ปรับประเภทอาหารเป็น อาหารอ่อน (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์)เมื่อมีแผล หรือ เจ็บในช่องปาก
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
  • ดูแลรักษาความสะอาดของช่องปาก เลือกใช้แปรงสีฟันที่ขนนุ่มมาก และยาสีฟันชนิดไม่ก่อการระคายเคืองต่อช่องปาก
  • บ้วนปากด้วย น้ำสะอาด หรือน้ำเกลือเจือจาง บ่อยๆ โดยเฉพาะหลังกินอาหารทุกมื้อ
  • ยาแก้ปวด กรณีมีอาการปวด
  • การดื่มน้ำเพิ่มขึ้น(ถ้าไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม) และ/หรือจิบน้ำบ่อยๆ กรณีปากคอแห้ง

โรคของช่องปากรุนแรงไหม?

ความรุนแรงหรือการพยากรณ์โรคของโรคช่องปาก มีตั้งแต่ไม่รุนแรง ดูแลรักษาหายด้วยตนเอง ไปจนถึงอาจรุนแรงมากจนตายได้ ทั้งนี้จะขึ้นกับสาเหตุ เช่น

ก. โรคไม่รุนแรง/การพยากรณ์โรคดี มักรักษาหายเสมอโดยไม่มีผลข้างเคียงตามมา เช่น แผลร้อนใน หรืออาการปากคอแห้งที่เกิดจากผลข้างเคียงของยาบางกลุ่ม(รักษาโดยการปรับเปลี่ยนขนาดยาหรือชนิดของยา)

ข. อาการเรื้อรัง แต่แพทย์/ทันตแพทย์สามารถรักษาดูแลได้ เช่น ช่องปากอักเสบ, เหงือกอักเสบ, ฟันผุ, เชื้อราช่องปาก

ค. โรครุนแรง/การพยากรณ์โรคไม่ดี เช่น สาเหตุจากมะเร็งช่องปากโดยเฉพาะโรคในระยะที่4

ดูแลตนเองอย่างไร? พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อมีโรคของช่องปาก ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์ /ทันตแพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • รักษาความสะอาดช่องปากเสมอที่รวมถึงกรณีเพื่อป้องกันโรคช่องปาก ที่สำคัญคือ
    • แปรงฟันอย่างถูกวิธี วันละ2ครั้ง ก่อนเข้านอน และหลังตื่นนอนเช้า
    • รู้จักใช้ไหมขัดฟัน โดยเฉพาะก่อนแปรงฟันก่อนนอน
    • บ้วนปากด้วยน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือเจือจางเสมอ หลังกินอาหารทุกครั้ง
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน ลดอาหารแป้งและน้ำตาล โดยเฉพาะไม่กินอาหารจุบจิบ
  • กินอาหารอ่อน
  • ไม่กินอาหาร/ ดื่นเครื่องดื่ม รสจัด และอาหารที่มีอุณหภูมิสูง
  • งด/เลิกบุหรี่
  • งด/เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์/สุรา
  • ดื่มน้ำสะอาดให้พอเพียงในแต่ละวัน เพื่อให้ช่องปากชุ่มชื้น เช่น วันละ 8-10 แก้วเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม อาจร่วมกับการจิบน้ำสะอาดบ่อยๆ
  • พบ แพทย์ /มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบทันตแพทย์ทุก6-12เดือน หรือตามทันตแพทย์นัด

มีการตรวจคัดกรองโรคของช่องปากไหม?

ปัจจุบัน ทั่วไปการตรวจคัดกรองโรคช่องปาก คือการแนะนำเพื่อ ดูแลป้องกัน รักษาโรคของช่องปาก ได้แก่

  • การพบทันตแพทย์ทุก6-12เดือน หรือ บ่อยตามคำแนะนำของทันตแพทย์

ป้องกันโรคของช่องปากได้อย่างไร?

การป้องกันโรคช่องปาก ต้องอาศัยหลายปัจจัยร่วมกัน ที่สำคัญ คือ

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคช่องปากดังได้กล่าวใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ โดย
    • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่
    • ไม่กินจุบจิบ โดยเฉพาะขนมและของหวาน
    • ไม่สูบบุหรี่
    • ไม่ดื่มสุรา
    • ถ้าปากคอแห้งมากจากผลข้างเคียงของยา ให้รีบกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับการใช้ยานั้นๆ
  • ป้องกันการเกิดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในแต่ละโรคในเว็บ haamor.com
  • รักษาความสะอาดช่องปากเสมอ ที่สำคัญคือ
    • แปรงฟันอย่างถูกวิธีวันละ2ครั้ง ก่อนเข้านอน และหลังตื่นนอนเช้า
    • รู้จักใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยก่อนแปรงฟันก่อนนอน
    • บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดเสมอหลังกินอาหารทุกครั้ง
  • พบทันตแพทย์ตรวจช่องปากและฟันทุก 6-12 เดือน หรือบ่อยตามทันตแพทย์แนะนำ

บรรณานุกรม

  1. https://www.fdiworlddental.org/sites/default/files/media/documents/complete_oh_atlas.pdf [2019,Dec28]
  2. https://www.cda-adc.ca/en/oral_health/talk/complications/diseases/ [2019,Dec28]
  3. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/oral-health [2019,Dec28]
  4. http://haamor.com/th/%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81/ [2019,Dec28]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Human_mouth [2019,Dec28]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/1081029-overview#showall [2019,Dec28]
  7. https://www.healthline.com/health/dental-and-oral-health#takeaway [2019,Dec28]