โมโนเอมีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ (Monoamine reuptake inhibitor)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโมโนเอมีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์(Monoamine reuptake inhibitor ย่อว่า MRI) เป็นกลุ่มยาที่ทำหน้าที่ยับยั้งการดูดคืนกลับของสารสื่อประสาทประเภทเอมีน(สารสื่อประสาทฯ)เข้าสู่เซลล์สมอง ซึ่งสามารถแบ่งสารสื่อประสาทชนิดนี้ออกเป็น 3 กลุ่มที่สำคัญ คือ

ก. Monoamine neurotransmitters serotonin

ข. Monoamine neurotransmitters norepinephrine

ค. Monoamine neurotransmitters dopamine

คำว่า Monoamine neurotransmitters หรือสารสื่อประสาทประเภทเอมีน(Amine) ซึ่งมีหน่วยย่อยของสารโปรตีน หรือที่เรียกว่ากรดอะมิโนเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยหน้าที่สำคัญของสารสื่อประสาทประเภทเอมีน คือควบคุมเกี่ยวกับกระบวนการการรับรู้ หรือกระบวนการทางความคิด เช่น อารมณ์ ความรู้สึก สิ่งเร้า และความจำ เป็นต้น

กรณีที่สมดุลของสารสื่อประสาทประเภทเอมีนบกพร่องหรือเสียสมดุล เช่น มีปริมาณน้อยกว่าปกติที่ถูกนำออกมาใช้ หรือเซลล์ของร่างกายไม่ยอมปลดปล่อยสารสื่อประสาทเหล่านี้ออกมาทำหน้าที่ของตนเอง ย่อมทำให้เกิดความผิดปกติของกระบวนการรับรู้ของร่างกาย/สมอง หรือไม่ก็แสดงออกมาในลักษณะของภาวะทางจิต เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล

ดังนั้นยาประเภทโมโนเอมีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ จึงเป็นกลุ่มยาที่มีคุณสมบัติในการรักษาสมดุลของสารสื่อประสาทฯที่ถูกปลดปล่อยออกมาให้มีความเหมาะสม และเป็นตัวกลางช่วยให้การนำกระแสประสาทของร่างกายเป็นไปอย่างปกติ

ยาโมโนเอมีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ดังนี้

ก. กลุ่มยับยั้งการดูดคืนกลับเข้าสู่เซลล์สมองของสารสื่อประสาทฯเพียงชนิดเดียว: เช่น

  • ยับยั้งการดูดคืนกลับเข้าสู่เซลล์สมองเฉพาะสารสื่อประสาท Serotonin: ยา กลุ่มนี้เรียกว่า Selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) ทางคลินิก นำยากลุ่มนี้มาใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้า อาการวิตกกังวล ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Citalopram, Escitalopram, Fluoxetine, Fluvoxamine, Paroxetine, Sertraline
  • ยับยั้งการดูดคืนกลับเข้าสู่เซลล์สมองเฉพาะสารสื่อประสาทฯ Norepinephrine: ยากลุ่มนี้เรียกว่า Norepinephrine reuptake inhibitor (NRI หรือ NERI) หรืออาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Adrenergic reuptake inhibitor (ARI) ทางคลินิก นำกลุ่มยาประเภทนี้มารักษาอาการสมาธิสั้น และโรคลมหลับ (Narcolepsy) ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Amedalin, Amedalin, Edivoxetine, Esreboxetine, Lortalamine, Nisoxetine, Reboxetine, Talopram, Talsupram,Tandamine, Viloxazine
  • ยับยั้งการดูดคืนกลับเข้าสู่เซลล์สมองเฉพาะสารสื่อประสาทฯ Dopamine: ยา กลุ่มนี้เรียกว่า Dopamine reuptake inhibitor (DRI) ทางคลินิก ยากลุ่มนี้ถูกนำไปใช้รักษาอาการสมาธิสั้น โรคลมหลับ บำบัดโรคอ้วน บางครั้งก็ถูกนำไปใช้บำบัดอาการของโรคซึมเศร้าอีกด้วย ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Amineptine, Dexmethylphenidate, Difemetorex, Fencamfamine, Lefetamine, Levophacetoperane, Medifoxamine, Mesocarb, Methylphenidate, Nomifensine, Pipradrol, Prolintane, Pyrovalerone

ข.กลุ่มที่ยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป: เช่น

  • Serotonin-norepinephrine reuptake inhibitor (SNRI): เป็นกลุ่มยาที่ใช้ป้องกันการดูดกลับของสารสื่อประสาทฯทั้ง Serotonin และ Norepinephrine โดยถูกนำมาใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้า บำบัดอาการวิตกกังวล ภาวะสมาธิสั้น อาการปวดของเส้นประสาทแบบเรื้อรัง ภาวะ Fibromyalgia รวมถึงบำบัดอาการต่างๆในวัยหมดประจำเดือน ตัวอย่างยากลุ่ม SNRI เช่น Venlafaxine, Desvenlafaxine, Duloxetine, Milnacipran, Levomilnacipran, Sibutramine
  • Serotonin-dopamine reuptake inhibitor (SDRI): เป็นกลุ่มยาที่ใช้ป้องกันการดูดกลับของสารสื่อประสาทฯทั้ง Serotonin และ Dopamine ประโยชน์ของยากลุ่มนี้ทางคลินิก คือนำมาใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้า ตัวอย่างยากลุ่ม SDRI เช่น Medifoxamine
  • Norepinephrine-dopamine reuptake inhibitor (NDRI): เป็นกลุ่มยาที่ใช้ป้องกันการดูดกลับของสารสื่อประสาทฯทั้ง Norepinephrine และ Dopamine ถูกนำมาใช้รักษาอาการของโรคซึมเศร้า อาการสมาธิสั้น โรคลมหลับ รวมถึงโรคพาร์กินสัน ตัวอย่างยากลุ่ม NDRI เช่น Amineptine, Bupropion, Desoxypipradrol, Dexmethylphenidate,Diphenylprolinol, Difemetorex, Ethylphenidate, Fencamfamine, Fencamine,Lefetamine, Methylenedioxypyrovalerone, Methylphenidate, Nomifensine,Oxolinic acid, Pipradrol, Prolintane, Pyrovalerone, Tametraline
  • Serotonin-norepinephrine-dopamine reuptake inhibitor (SNDRI) หรือ Triple reuptake inhibitor: เป็นกลุ่มยาที่ใช้ป้องกันการดูดกลับของสารสื่อประสาททั้ง Serotonin, Norepinephrine และ Dopamine ทางคลินิกจะนำยาในกลุ่มนี้มารักษาอาการโรคซึมเศร้า บำบัดอาการของการติดยา-ติดสุรา รักษาโรคอ้วน บำบัดอาการสมาธิสั้น อาการปวดเรื้อรังจากโรคต่างๆ รักษาโรคพาร์กินสัน ตัวอย่างยาในกลุ่ม SNDRI เช่น Mazindol, Nafazodone, Nefopam, เป็นต้น

การออกฤทธิ์ของยาแต่ละตัวในกลุ่ม MRI มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงสร้างทางเคมีของตัวยา ความสามารถของการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร การกระจายตัวภายในกระแสเลือด รวมถึงอัตราการกำจัดตัวยาออกจากร่างกาย ซึ่งมีความเหมาะสมกับผู้ป่วยและอาการโรคอย่างจำเพาะเจาะจง นอกจากนี้อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ของการใช้ยากลุ่มนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการรักษาทางคลินิก เช่น ยาที่ส่งผลข้างเคียงอย่างรุนแรง ก็อาจจะไม่ได้รับการบรรจุหรือไม่สามารถขึ้นทะเบียนตำรับยาได้ บางกรณีเมื่อมีการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วย แล้วตรวจพบผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ที่รุนแรงเกิดขึ้นภายหลัง สูตรตำรับยาดังกล่าวถึงกับถูกเพิกถอนการใช้ไปเลยก็มี

ดังนั้น ก่อนการใช้ยาในกลุ่มMRIs ผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อหาแนวทางในการรักษา และในการบริหารยา/ใช้ยาในกลุ่มนี้ ยังมีประเภทยาที่ใช้รักษาเป็นครั้งคราวตามอาการ หรือไม่ก็ต้องใช้ยาตลอดชีวิต ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาและการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยานั้นๆเป็นสำคัญ ผู้ป่วยจึงควรต้องใช้ยากลุ่มนี้เฉพาะตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด ไม่ควรซื้อหายากลุ่มนี้มาใช้เองเป็นอันขาด

โมโนเอมีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โมโนเอมีนรีอัพเทคอินฮิบิเตอร์

กลุ่มยา MRI มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ทางคลินิกดังนี้ เช่น

  • บำบัดและรักษาอาการของโรคซึมเศร้า และของภาวะวิตกกังวล
  • บำบัดอาการสมาธิสั้น
  • บำบัดอาการโรคลมหลับ
  • ใช้เป็นยาลดน้ำหนักตัว ด้วยมีฤทธิ์กดการทำงานของสมองส่วนอยากอาหาร จึงลดการอยากอาหารได้
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดเรื้อรังจากโรคต่างๆ
  • บำบัดโรคพาร์กินสัน

โมโนเอมีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากลุ่ม MRI มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทฯประเภท Serotonin, Norepinephrine, และ Dopamine, ส่งผลให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางชีวเคมี(Biochemistry)ต่างๆ และมีการตอบสนองโดยเป็นไปตามสรรพคุณของแต่ละตัวยานั้นๆที่มากระตุ้นการปรับสมดุลทางชีวเคมีต่างๆ จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โมโนเอมีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโมโนเอมีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาชนิดรับประทาน เช่น ยาเม็ด
  • ยาฉีด
  • ยาอมใต้ลิ้น
  • ยาพ่นจมูก
  • ยาเหน็บทวาร
  • พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง

โมโนเอมีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การบริหารยา/ใช้ยากลุ่ม MRI กับผู้ป่วยแต่ละราย จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น โดยมีปัจจัยเรื่อง ลักษณะอาการโรค อายุ เพศ โรคประจำตัว รวมถึงยาอื่นๆที่ผู้ป่วยมีใช้อยู่ก่อน นำมาประกอบกันเพื่อที่แพทย์จะดำเนินการรักษาและสั่งจ่ายยากลุ่ม MRIได้ถูกต้องเหมาะสม-ปลอดภัยกับผู้ป่วยที่สุด ดังนั้นขนาดการบริหารยาในกลุ่มนี้ จึงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย จึงไม่ขอกล่าวถึงในบทความนี้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยากลุ่มMRI ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่มMRIอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยา/ใช้ยาในกลุ่ม MRI ผู้ป่วยสามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมรับประทาน/ที่ใช้ แล้วรับประทานยาในขนาดปกติ

อย่างไรก็ตาม การรับประทานยากลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด ผู้ป่วยควรต้องรับประทานยากลุ่มนี้ตรงเวลา และไม่ควรปรับขนาดรับประทานยา/ใช้ยาด้วยตนเอง การหยุดรับประทานยา/ใช้ยากลุ่มนี้ทันที อาจก่อให้เกิดภาวะถอนยา หรือมีอาการข้างเคียงอย่างรุนแรงเกิดขึ้น

โมโนเอมีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่ม MRI สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อหัวใจ: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำหรือไม่ก็สูง เจ็บหน้าอก หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นเร็ว
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ มีไข้ วิงเวียน เกิดลมชัก
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล กระสับกระส่าย ประสาทหลอน ซึมเศร้า
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีการเคลื่อนไหวช้า
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ท้องผูก เบื่ออาหาร
  • ผลต่อผิวหนัง: มีผื่นคัน ลมพิษ เกิดสิว
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เหงื่อออกมาก น้ำหนักตัวลด

อนึ่ง อาการข้างเคียงข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆเท่านั้น ยังมีอาการข้างเคียงต่างๆที่ไม่สามารถนำมากล่าวอ้างได้ทั้งหมด *รวมถึงกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยากลุ่มนี้เกินขนาด ที่อาจสังเกตได้จาก เกิดอาการ อาเจียนรุนแรง ตัวสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ประสาทหลอน กระสับกระส่าย หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรเต้นผิดปกติ รูม่านตาขยาย เป็นต้น ซึ่งหากพบอาการในลักษณะนี้หลังรับประทาน/ใช้ยากลุ่มนี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้โมโนเอมีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยากลุ่มโมโนเอมีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์/MRI เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยแพ้ยาในกลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ หรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามไปซื้อหายานี้มาใช้เองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • กรณีพบอาการแพ้ยานี้ เช่น มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที ฉุกเฉิน
  • หากใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • แจ้งแพทย์ถึงประวัติโรคประจำตัว และมียาชนิดใดที่ใช้อยู่บ้างโดยละเอียดก่อนที่จะเข้ารับการรักษาทุกครั้ง
  • ศึกษาเรื่องขนาดการรับประทาน ผลข้างเคียง ข้อห้าม/ข้อควรระวังของการใช้ยานี้ด้วยความเข้าใจก่อนเริ่มใช้ยานี้
  • ปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่ม MRI ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โมโนเอมีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโมโนเอมีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์/MRI มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยากลุ่ม SSRIs ร่วมกับยาที่เพิ่มการปลดปล่อย Serotonin ในสมอง อย่างเช่น ยากลุ่ม MAOIs, TCAs, Sumatriptan, Linezolid, และสมุนไพร St John’s wort ด้วยอาจเกิดภาวะ Serotonin สูงเกินปกติ (Serotonin syndrome) จนผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงที่รุนแรงตามมา
  • ห้ามใช้ยากลุ่ม SNDRIs ร่วมกับการดื่มสุรา ด้วยจะทำให้ได้รับผลข้างเคียงต่างๆ ตามมา เช่น อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงโดยอาจสูงขึ้นหรือต่ำลง รวมถึงมีอาการ วิงเวียน ง่วงนอน และซึมเศร้าตามมา
  • การใช้ยากลุ่ม NDRIs อย่างเช่นยา Bupropion กับยาสเตียรอยด์ เช่นยา Prednisolone สามารถทำให้เกิดอาการชักติดตามมาได้ การใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยากลุ่ม SNRIs อย่างเช่นยา Venlafaxine ร่วมกับยา 5 Hydroxytryptophan ด้วยจะก่อให้เกิดความเสี่ยงของภาวะ Serotonin syndrome โดยจะก่อให้เกิดอาการเช่น รู้สึกสับสน ประสาทหลอน เกิดลมชัก ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หัวใจเต้นเร็ว มีไข้ เหงื่อออกมาก ตาพร่า กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว ตัวสั่น เป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย กรณีที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะโคม่าจนถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

ควรเก็บรักษาโมโนเอมีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

เก็บยากลุ่ม MRI ตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา หรือตามคำแนะนำของแพทย์/เภสัชกร เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โมโนเอมีน รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยากลุ่ม MRI ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Concerta (คอนเซอร์ทา)Janssen-Cilag 
Rubifen (รูบิเฟน)Lab Rubio
Ritalin (ริทาลิน)Novartis
Quomem (คูโอเมม)GlaxoSmithKline
Wellbutrin XL (เวลบูทริน เอ็กซ์แอล)GlaxoSmithKline
Priligy (พริลิจี้)A.Menarini
Esidep (อีซีเดพ)Ranbaxy
Lexapro (ลีซาโพร)Lundbeck
Anzac (แอนแซค)Bangkok Lab & Cosmetic 
Deproxin (เดพร็อกซิน)Siam Bheasach 
Flulox 20 (ฟลูล็อกซ์ 20)Medicine Products
Flumed (ฟลูเมด)Medifive
Fluoxine (ฟลูโอซีน)T. O. Chemicals
Fluxetin Atlantic (ฟลูเซทิน แอทแลนติก)Atlantic Lab
Foxetin (โฟเซทิน)GPO 
Hapilux (แฮพิลักซ์)Sandoz
Loxetine-20 (โลซีไทน์-20)March Pharma  
Prozac 20 (โพรแซค 20)Eli Lilly
Faverin (ฟาเวอริน)Abbott
Fluvoxin (ฟลูโวซิน)Sun Pharma
Seroxat/Seroxat CR (ซีโรแซท/ซีโรแซท ซีอาร์)GlaxoSmithKline
SerliftRanbaxy
Serlin 50 (เซอร์ลิน 50)Zydus Cadila
Sertra (เซอร์ทรา)Medifive
Sertraline GPO (เซอร์ทราลีน จีพีโอ)GPO
Sertraline SandozSandoz
Sisalon (ไซซาลอน)Unison
StarinAtlantic Lab
ZoloftPfizer

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Monoamine_reuptake_inhibitor [2016,Aug13]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin_reuptake_inhibitor [2016,Aug13]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Selective_serotonin_reuptake_inhibitor [2016,Aug13]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Norepinephrine_reuptake_inhibitor [2016,Aug13]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Dopamine_reuptake_inhibitor [2016,Aug13]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin%E2%80%93norepinephrine_reuptake_inhibitor [2016,Aug13]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin-dopamine_reuptake_inhibitor [2016,Aug13]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Norepinephrine%E2%80%93dopamine_reuptake_inhibitor [2016,Aug13]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin%E2%80%93norepinephrine%E2%80%93dopamine_reuptake_inhibitor [2016,Aug13]
  10. http://www.rxlist.com/antidepressants-page5/drugs-condition.html [2016,Aug13]
  11. https://www.drugs.com/food-interactions/mazindol.html [2016,Aug13]
  12. https://www.drugs.com/drug-interactions/5-htp-with-venlafaxine-1-10727-2296-0.html [2016,Aug13]